Thursday, December 29, 2005

สรุปสาระสำคัญของ "ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมือง ในการปฏิวัติสยาม 2475"

รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียน

เป็นเวลาหลายสิบปี นับตั้งแต่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกครอบงำจากการศึกษาประวัติศาตร์และสังคมการเมืองในแนวทางที่ได้รับการวางรากฐานโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่การอธิบายความเปลี่ยนแปลงจากการกระทำของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์โดยศึกษาจากการกระทำของบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการอธิบาย

การศึกษาในแนว “สกุลดำรงราชานุภาพ” ดังกล่าว ในทัศนะของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ “ได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองและในองค์ความรู้เรื่องสยามและไทย การอธิบายประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยามจึงเน้นเรื่องของผู้มีอำนาจในวงแคบ ผู้มีอำนาจรุ่นใหม่มีความสำคัญอยู่บ้างแต่เทียบกันไม่ได้เลยกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์” (หน้า 407)

ใน “ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมือง ในการปฏิวัติสยาม 2475” ชิ้นนี้ อาจารย์นครินทร์จึงพยายามเน้นการศึกษาไปที่ภาพการเคลื่อนไหวของสังคมการเมืองโดยรวมทั้งหมด นับตั้งแต่ชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจทางการเมือง ระบบราชการ ปัญญาชน พ่อค้า ชนชั้นกลาง นักหนังสือพิมพ์ ไล่เรียงลงมาจนถึงระดับของราษฎรทั่วไป

ดังนั้น ในงานชิ้นนี้เราจึงพบการนำฎีกาและหนังสือร้องทุกข์ที่มีตัวบทหลุดพ้นไปจากเรื่องของการเรียกร้องให้มีการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” (ซึ่งในอดีตมักถูกละเลยจากผู้ศึกษาเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และชนชั้นนำ) มาเป็นหลักฐานประกอบคำอธิบายว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น แท้จริงแล้วได้หยั่งรากอยู่ในระดับของราษฎรด้วย ซึ่งขัดแย้งกับข้อสรุปเดิมที่ว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นเรื่องของชนชั้นนำ และราษฎรไม่มีความตื่นตัวและไม่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

การมุ่งสำรวจหลักฐานอย่างกว้างขวางและการขยายกรอบคิดในการศึกษาที่ก้าวพ้นจากแนวทางการศึกษาแบบเดิม ทำให้งานศึกษาการปฏิวัติสยามชิ้นนี้สามารถค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งมีข้อเท็จจริงรองรับและถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดปล่อยความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 จากพันธนาการของความคิดความรู้และคำอธิบายดั้งเดิมที่ครอบงำสังคมไทยมายาวนาน

อาจารย์นครินทร์เริ่มต้นเรื่องของ “ความรู้” โดยการนำเราไปสำรวจขอบเขตและความเป็นมาของความรู้เรื่องอดีตของการปฏิวัติสยาม 2475 ที่มีพัฒนาการสะสมอยู่แล้วในสังคมไทย เป็นการวางรากฐานให้กับผู้ที่สนใจในการเรียนรู้ว่ามีคำอธิบายแบบใดดำรงอยู่แล้วบ้าง และคำอธิบายดังกล่าวมีที่มาและพัฒนาการอย่างไร

การศึกษาในบทนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือด้านการรับรู้และด้านของโครงสร้างประวัติศาสตร์ ในส่วนแรกจะสะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนการรับรู้ในช่วงต่าง ๆ ซึ่งบางสิ่งสูญหายจากความทรงจำในปัจจุบันไปแล้ว และบางสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ สำหรับในส่วนหลังจะแสดงให้เห็นว่ามีข้อสมมติมากมายเกี่ยวกับการอธิบาย “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” “ศักดินา” “ประชาธิปไตย” และ “รัฐธรรมนูญ” ที่ต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ต่างกันในท้ายที่สุด

“ประชาธิปไตย” เป็นคำที่อาจจะมีปัญหามากที่สุดนับแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ถึงแม้รัฐไทยจะได้ชื่อว่ามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ก็เป็น “ประชาธิปไตย” ที่เดินทางมาอย่างระหกระเหินเต็มที ในบทต่อมา อาจารย์นครินทร์จะนำเรามาสำรวจ “วาทกรรมการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยของไทย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบวิธีคิดและการก่อตัวของวาทกรรมการเมือง 2 ชุดในกระบวนการทางประวัติศาสตร์สยาม/ไทย

วาทกรรมชุดแรกเป็นของสาย “สำนักคิดประเพณี” ซึ่งกำเนิดขึ้นมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 โดยกลุ่มนักคิดสายราชวงศ์และขุนนางรุ่นแรกที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดตะวันตก นักคิดกลุ่มนี้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไทยมีมาช้านานหรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มและมีการเตรียมการมายาวนานโดยองค์พระมหากษัตริย์ และพิจารณาการเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2475 ว่าเป็น “ยุคมืด” กระแสความคิดนี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้นำของระบบราชการและทหาร ซึ่งมีอำนาจสืบต่อมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใน พ.ศ. 2490

วาทกรรมอีกชุดหนึ่งคือ วาทกรรมของ “สำนักคิดตะวันตก” ซึ่งถือกำเนิดในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เช่นกัน นักคิดกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มนักเรียนนอกที่สนใจวิชากฎหมายและวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง นักคิดกลุ่มนี้จะพิจารณาการเมืองไทยก่อน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการปรับตัวของสถาบันการเมืองซึ่งมีลักษณะเฉพาะและไม่ได้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด และเห็นว่าการเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2475 เป็นยุคใหม่ ยุคแห่งความหวัง การศึกษาในบทนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการให้ “คำนิยาม” ในเรื่องของประชาธิปไตยและการยืนยันระบบความรู้ต่างๆ ที่ตามมาของทั้งสองสำนักคิด

ต่อมาในบทที่ 3-5 ก็จะเข้าสู่ส่วนของ “ความคิด” ที่ส่งอิทธิพลต่อการเมืองไทยสมัยใหม่

“ความคิดฝรั่งเศส” ดูจะส่งอิทธิพลต่อกลุ่มผู้นำของคณะราษฎรอย่างเด่นชัดที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนกฎหมายฝรั่งเศสที่เรียกร้องให้มี “กษัตริย์ใต้กฎหมาย” หลักการแบ่งแยกอำนาจถูกนำมาปรับใช้ภายหลังการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้แบ่งอำนาจอธิปไตยไว้ 4 ทางคือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล โดยมุ่งหวังให้มีการกำหนดสิทธิและอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนให้ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน และให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุด

นอกจากนี้เขายังตั้งใจจะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม โดยได้ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งสะท้อนว่าเขาได้รับอิทธิพลจากความคิดฝรั่งเศสอยู่ด้วยในหลายๆ เรื่อง นอกจากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ยังเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนผ่านระบบการศึกษาด้วย จึงได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 ซึ่งการเรียนการสอนในช่วงแรก (พ.ศ. 2477-พ.ศ. 2490) ก็ได้รับอิทธิพลความคิดฝรั่งเศสอยู่ค่อนข้างมาก กล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายกับสถาบันหนึ่งใน Institut de France ที่เรียกว่า Academic des sciences morales et politiques ซึ่งได้ถูกปรับให้มาเป็น University of Moral and Political Sciences อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความคิดฝรั่งเศสจะมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ความคิดเดียวและยังต้องเคลื่อนไหวไปตามสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ โครงสร้างอำนาจ และระบบค่านิยมของไทยเอง

ในบทที่ 4 จะเป็นการศึกษาถึงพลังทางภูมิปัญญาที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษ 2470 รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้คนในระดับต่างๆ ของสังคม การวิเคราะห์ในส่วนนี้จะตระหนักถึงคนจำนวนมากในสังคม ไม่เน้นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจารย์นครินทร์เห็นว่าจะให้ภาพสังคมที่มีความเคลื่อนไหวและใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า

และภาพที่ปรากฏก็คือ สังคมสยามมีการเปลี่ยนแปลงและมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มคนหลายระดับ และนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 7 (ก่อน พ.ศ. 2475) ที่สำคัญสองลักษณะคือ วิกฤตการณ์เกี่ยวกับความชอบธรรม (การเสื่อมศรัทธาในราชวงศ์ มีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ) และวิกฤตการณ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบอบการปกครอง (การที่ระบอบการปกครองมีข้อจำกัด ไม่สามารถแก้ปัญหาตามความคาดหวังของผู้คนได้)

จากการศึกษา ทำให้เห็นว่ากระแสภูมิปัญญาที่แสดงออกในรูปของข้อเรียกร้องให้มี “คอนสติตูชั่น” “ปาลิเมนต์” การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งมีมาก่อน พ.ศ. 2475 เป็นพลังผลักดันสำคัญ และคณะราษฎรได้ตอบสนองความคิดของผู้คนในระดับต่างๆ อย่างแข็งขันมากกว่ารัฐบาลในระบอบเก่า

เช่นเดียวกับในบทต่อมาที่เจาะจงทำการศึกษาความนึกคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจของราษฎรในทศวรรษ 2470 ที่แสดงให้เห็นว่าในหมู่ราษฎรเองก็มิได้นิ่งเฉยหรือไม่มีบทบาทต่อความเป็นไปในบ้านเมือง ในทางกลับกัน พวกเขามีผู้นำหรือปัญญาชนทำหน้าที่รายงานสถานการณ์จากเบื้องล่าง ผ่านช่องทาง “ถวายฎีกา” และต่อมาคือ “คำร้องเรียนแสดงความเห็น” ขึ้นไปถึงชนชั้นนำ ซึ่งก็ส่งผลทางจิตใจในหมู่ชนชั้นนำพอสมควร และคณะราษฎรเองก็อาศัยความรู้สึกนึกคิดลึกๆ ในหมู่ราษฎรนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาใน “ประกาศของคณะราษฎร” ฉบับที่ 1 ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงรัฐบาลในระบอบเก่าว่า “กดขี่ข่มเหงราษฎร” “ถือเอาราษฎรเป็นทาษ” หรือ “ปกครองอย่างหลอกลวง” เป็นต้น

ต่อมาในบทที่ 6-9 ก็จะเข้าสู่ส่วนของ “อำนาจการเมือง” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดการคลี่คลายของเหตุการณ์ทางการเมืองและเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในระยะต่อมา

กลุ่มเจ้านายหรือกลุ่มราชวงศ์เป็นกลุ่มอำนาจที่สำคัญที่สุดในขณะนั้นที่คณะราษฎรต้องเข้าไปเผชิญหน้าโดยตรง ซึ่งในกลุ่มคณะราษฎรเองก็มีแนวคิดร่วมกันว่าต้องการที่จะขจัดอำนาจที่ผูกขาดอยู่ในมือของเจ้านายลง หลังจากเข้าทำการยึดอำนาจ คณะราษฎรก็ทำการบั่นทอน “กำลัง” ของกลุ่มเจ้านาย โดยการเชิญเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและบารมีให้เดินทางออกนอกประเทศ ส่วนเจ้านายในระดับรองลงมาส่วนใหญ่ต้องออกจากราชการทั้งในสายพลเรือนและสายทหาร และมีส่วนน้อยที่ได้เข้าไปทำงานร่วมกับคณะรัฐบาลใหม่

ในระยะต่อมากลุ่มคนหนุ่มในคณะราษฎรก็ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มข้าราชการและทหารอาวุโสซึ่งยังสืบทอดอุดมการณ์เก่าก่อนการปฏิวัติอย่างเหนียวแน่น ความขัดแย้งดังกล่าวแสดงออกอย่างชัดเจนในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นแรงโต้กลับโดยตรงจากกลุ่มที่ไม่พอใจการกระทำของคณะราษฎร

กบฏบวรเดชเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจของการเมืองไทยสมัยใหม่ ภาระหนักของคณะราษฎรจึงมีทั้งด้านที่ต้องจัดการกับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในกลุ่มพวกเดียวกันและกับกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามรักษาสถานภาพและการปฏิบัติแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดความสัมพันธ์ภายในคณะราษฎรก็ดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดอันเนื่องมาจากความแตกต่างของแนวคิดระหว่างกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกับกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

รายละเอียดต่างๆ ของการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ยังมีอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ ความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา ทำให้อาจารย์นครินทร์สามารถค้นพบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้และคำอธิบายที่แตกต่างไปจากเดิม

นอกจากนี้ยังทำให้การปฏิวัติที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยไทยครั้งนี้ไม่เป็นเพียงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่งหรือถูกครอบงำด้วยชุดความรู้ที่ตายตัวอีกต่อไป และทำให้เราตระหนักว่ายังมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีกหลายประการที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ

พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548

แนะนำหนังสือ "เช เกวารา กับความตาย"

ธเนศ วงศ์ยานนาวา เขียน


พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ creambooks ตุลาคม 2547

“ถ้าจะว่าไปแล้ว ในโลกนี้อาจจะมีมนุษย์เพียงไม่กี่คน ที่จะคิดในแบบที่มีทางเลือกแค่สองทาง และที่ถือว่าหนึ่งในสองทางเลือกนั้นคือความตาย ก็ยิ่งน้อยลงอีก และถ้าทุกคนสามารถทำได้แบบเช ความเป็นเชที่ได้รับการยกย่อง ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาดาษดื่น และก็จะหมดความหมายไปในที่สุด” (หน้า 124)

เวลา 13.10 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม 1967 กระสุน 9 นัดของปืนกึ่งอัตโนมัติพุ่งแหวกผ่านม่านอากาศอันบางเบาของหมู่บ้านลา ฮิเกรา ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงในโบลิเวียเข้าปะทะร่างของผู้นำกองกำลังปฏิวัติโบลิเวียวัย 39 ปี กระสุนเจาะผ่านผิวเนื้อที่แขนและขา ทำให้เขาม้วนตัวลงไปที่พื้นแล้วกัดข้อมือตัวเองเพื่อไม่ให้มีเสียงร้องเล็ดลอดออกมา ก่อนที่กระสุนนัดที่เหลือจะถูกกระหน่ำยิงไปที่บริเวณลำตัว เป็นการปิดฉากชีวิตของชายหนุ่มผู้หนึ่งพร้อม ๆ กับเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานนักปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ที่ทั่วทั้งโลกไม่มีวันลืมเลือน

เออร์เนสโต เกวารา เดอ ลา เซอร์นา (Ernesto Guevara de la Serna) คือ “มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในยุคของเรา” ตามทัศนะของฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักคิดคนสำคัญชาวฝรั่งเศส และแน่นอนว่า “ความสมบูรณ์แบบ” ดังกล่าวย่อมจะคงอยู่ไปตลอดกาล ตราบใดที่เรื่องราวชีวิตของเขามีพื้นที่เพียงในความทรงจำของผู้คนและบนหน้าบันทึกของประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ที่เขายึดถือกลายเป็นอุดมคติที่มนุษย์ยุคปัจจุบันจะบรรลุถึงได้ ก็เพียงในความใฝ่ฝัน

“อุดมการณ์” คงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ในทุกยุคสมัย เออร์เนสโต เกวาราเลือกเดินบนหนทางการเป็นนักปฏิวัติด้วยความฝันที่จะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษยชาติร่วมเผ่าพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่นักปฏิวัติทุกคนต่างรู้ดีว่าหากหันกลับไปมองด้านหลัง นอกจากจะเห็นแววตาทุกข์ระทมของลูกเมียหรือญาติพี่น้องแล้ว “ความตาย” ก็คล้ายกลายเป็นเงาที่เดินตามพวกเขาอยู่ไม่ห่าง

ในยุคสมัยที่อุดมการณ์คือการไม่มีอุดมการณ์ หรืออุดมการณ์มีคุณค่าความหมายเพียงลมที่พ่นออกจากปากของนักการเมือง รูปสัญลักษณ์ของเช (ชื่อที่เราใช้เรียกเขาทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้นับญาติเป็นเพื่อนกับเรา), จิตร ภูมิศักดิ์,โฮจิมินห์ หรือเหมา เจ๋อ ตง กลายเป็นสินค้าที่ดึงดูดใจผู้คนหลากหลาย ถึงแม้สิ่งเหล่านี้อาจเป็นได้เพียงรูปสัญลักษณ์ที่ปราศจากคุณค่าความหมายของอุดมการณ์ที่เขาเหล่านั้นยึดถือ หรือกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกให้ความหมายใหม่เพื่อเป็นทาสรับใช้อุดมการณ์ที่พวกเขายอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อต้านมัน

ดวงดาวห้าแฉกบนหมวกเบเรต์ของเชดวงนั้น ถึงมันจะส่งประกายเจิดจรัสเพียงใด บางทีมันก็ไม่มีความหมายใดมากไปกว่านั้น

หากว่าเบื้องหลังรูปสัญลักษณ์เหล่านั้นจะมีอะไรหลบซ่อนอยู่บ้าง ก็อาจเป็นเพียงเสียงสะท้อนในหัวใจว่า “เราคงไม่มีวันทำได้แบบพวกเขา” หรือ “เราคงเลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่พวกเขาทำ”

กระทั่งเบื้องหลังของภาพถ่าย “ยอดนิยม” ของเชที่อัลแบร์โต กอร์ดา (Alberto Korda) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1960 ครั้งที่ผู้นำการปฏิวัติคิวบามาร่วมพิธีศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การระเบิดเรือฝรั่งเศสที่เพิ่งขนอาวุธจากเบลเยียมเข้าเทียบท่ากรุงฮาบานา และเป็นการระเบิดต่อหน้าต่อตาผู้นำการปฏิวัติที่ยืนห่างจากเรือเพียงแค่ประมาณหนึ่งร้อยเมตร ภาพถ่ายที่คุ้นตามากที่สุดภาพหนึ่งตาของผู้คนทั่วโลกภาพนี้ สาวกของเชซักกี่คนที่จะรู้ว่าเบื้องหลังของมันคือการสูญเสียชีวิตของผู้คน และฮีโร่ของพวกเขากำลังอยู่ในห้วงความรู้สึกที่ไม่ต้องการถ้อยคำบรรยาย

ในวันนั้น กอร์ดาในวัยหนุ่มพยายามกวาดสายตาผ่านเลนส์เพื่อเก็บภาพบรรยากาศของผู้คนในงานโดยเฉพาะฌอง ปอล ซาร์ตร์และซีโมน เดอ โบวัวร์ที่มาร่วมงานอยู่ด้วย แต่สายตาของเขาก็สะดุดกับใบหน้าของเชที่กำลังมองไปยังผู้คนที่มาฟังคำปราศรัยอยู่เบื้องล่าง เชทอดสายตานิ่งอยู่อย่างนั้นประมาณยี่สิบวินาที สายตาที่ให้ความรู้สึกประหนึ่งว่าจะแทรกเข้าไปในความรันทดหดหู่และเจ็บแค้นของฝูงชน

ปัจจุบันภาพภาพนี้กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงและแพร่หลายมากที่สุด มันปรากฏอยู่บนกำแพง ปกหนังสือ เสื้อยืด ของที่ระลึก ไม่เว้นแม้กระทั่งสินค้าจากโลกทุนนิยม มันกลายเป็น “ภาพแห่งยุคสมัย ภาพของการปฏิวัติ ภาพของการต่อต้าน ภาพแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ ที่มีความหมายต่อผู้คนจำนวนมาก ภาพที่เป็นได้ทั้งสัญลักษณ์ของสังคมนิยมและภาพโปสเตอร์ทั่ว ๆ ไปของโลกทุนนิยม” (หน้า 171)

ภาพที่เป็นทั้งสิ่งยึดเหนี่ยวของผู้ต่อสู้แสวงหา และเป็นเครื่องมือทำกำไรของพ่อค้านายทุน

แววตาเคร่งขรึมแต่แฝงไว้ด้วยความหดหู่รันทดของเชในภาพ ทอดยาวออกไปเบื้องหน้า สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเขาในขณะนั้นเราคงทำได้เพียงการคาดเดา ใครบางคนอาจอยากจะตะโกนถามเชบนฟากฟ้าว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นโลกเดินสวนทางกับความต้องการของเขาแทบจะทุกประการ หรือโลกสังคมนิยมที่เขาปรารถนานั้นดูเหมือนจะดับสลายไปแล้วพร้อมกับการจากไปของเขา เขาจะหัวเราะหรือร้องไห้ดีเมื่อสิ่งที่เขาลงทุนลงแรงมาทั้งชีวิตกลายเป็นเพียงแผ่นภาพโปสเตอร์และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่มีนายทุนนั่งยิ้มรอรับกำไรอยู่เบื้องหลัง

บางทีคำตอบอาจอยู่ในแววตาคู่นั้น

พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548

Tuesday, December 27, 2005


"คำถาม"

เราบางคนตั้งคำถาม มนุษย์กำเนิดมาด้วยเหตุผลใด?

ชายหนุ่มนั่งหวนคิดคำนึง

ครั้งเมื่อยังเด็ก ยายของเขาบอกเล่าว่าเขาเกิดมาพร้อมปานดำบนหน้าผาก แล้วยายว่าแต่ครั้งโบราณมา หากลูกหลานเยาว์วัยสิ้นลมหายใจ ผู้หลักผู้ใหญ่มักใช้ปูนแต้มที่หน้าผาก คล้ายเป็นสัญลักษณ์ให้ระลึกจดจำกันได้หากเด็กน้อยย้อนกลับมาจุติอีกครั้ง

หากเป็นดั่งยายว่า

ชายหนุ่มคงสัมผัสกับโลกมนุษย์มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งช่วงชีวิต และช่วงชีวิตนั้นก็อาจสั้นเพียงพริบตา จนไม่เปิดโอกาสให้เขาเปล่งเสียงร้องเรียกมารดา

ความสงสัยแลบปลาบคล้ายกระแสไฟจากฟากฟ้า

เหตุใดปานดำจึงเจือจางลงตามวันเวลาผ่านเลย หรือใครบางคนอาจกำหนดให้มันปรากฏเพียงวัยเยาว์ ไม่ปรารถนาให้เขาเป็นที่จดจำของผู้ใด

บางที คงเป็นเรื่องโหดร้ายจนสุดทน หากต้องรับรู้ว่า เด็กน้อยแบเบาะในครั้งนั้น จะถูกโลกย่ำยีได้ถึงเพียงนี้


เราบางคนตั้งคำถาม ชีวิตมีความหมายเช่นใด?

ชายหนุ่มยังจำได้ ครั้งโลดแล่นอยู่ในเรือกสวนไร่นา ดำผุดดำว่ายพร้อมเพื่อนฝูงร่วมวันเวลา

เหยียบย่ำลงบนผืนดินอันอุดม กระโจนตะกายในห้วงอากาศ ดูดซับแลกเปลี่ยนพร้อมสรรพสิ่ง

ชายหนุ่มยังจำได้ ครั้งยังกอดคอร่วมทางกับเพื่อนต่างวัย ท่ามกลางบรรยากาศคุ้นเคย ภายหลังร่างกายและจิตใจผ่านการเดินทางยาวนาน

ในขณะที่คืนวันผันผ่าน เขาเฝ้าถามตนเองว่าได้พบเจอกับสิ่งใด

ความโศกเศร้าพลันเข้าเกาะกุม

เพราะคำตอบดูเหมือนจะเลือนหายพร้อมกาลเวลา และความหมายที่เฝ้าค้นหาดูเหมือนจะฝังจมในผืนดิน


เราบางคนตั้งคำถาม สังคมมนุษย์ในอุดมคติเป็นเช่นใด?

ยายหอบหิ้วร่างกายอ่อนล้ามาอยู่ตรงนี้เกือบทุกวัน กระดาษหนังสือพิมพ์วางรองรับความหยาบกระด้างของพื้นคอนกรีต ผลหมากสุกและมวนใบพลูวางอวดสายตาอยู่ในตะกร้าหวายใบย่อม

เสื้อเชิ้ตสีหม่นดูเหว่ว้าแม้มียายเป็นเจ้าของ และนัยน์ตาอ่อนโรยดูว่างโหวงไร้จุดหมาย

ชายหนุ่มเดินผ่านยายเกือบทุกวัน ลนลานจากที่นอนหลังล้มฟุบพร้อมอาการเมามาย ตะเกียกตะกายห้อยโหนมุ่งสู่จุดหมายพร้อมเพื่อนมนุษย์ร้อยพัน

วันเวลาสับสนวุ่นวาย

ยายเฝ้ารอผลตอบแทนจากหมากพลูในตะกร้า

เขาเร่งฝีก้าวใฝ่คว้าใบเบิกทางทำมาหากิน

ยายบรรจงกดคมมีดกรีดเปลือกแข็งของผลหมาก หวังค่าตอบแทนยังชีวิตบั้นปลาย

เขาเร่งปรุงแต่งร่างกาย หวังเปลี่ยนเป็นสินค้าชิ้นเยี่ยมในตลาดแรงงาน

ยายหยุดนิ่ง หวังเพียงเรี่ยวแรงกำลังมีเหลือเผื่อวันใหม่

เขาสะบัดโยกเริงระบำ อวลกลิ่นควันคลุ้งเคล้าคลึงมวลกามา

ยายมานั่งที่นี่เกือบทุกวัน

เขาเดินผ่านยายเกือบทุกวัน


เราบางคนตั้งคำถาม ความสุขคืออะไร?

หญิงสาวปรายตามองรอบกาย พลันพบว่ารอบข้างรายล้อมไปด้วยผู้คน

เธอมั่นใจว่าชีวิตห่างไกลจากความโดดเดี่ยวลำพัง แต่ไม่เข้าใจสาเหตุของความอ้างว้างเดียวดาย

รองเท้าหรูระยับย่ำบนคอนกรีตเจิ่งนองหลังฝนซา

ดวงตาเหม่อมองระยิบไฟริมถนน

ล่องลอยไปกับจินตนาการไร้รูปทรง

ละอองฝนแผ่วเบาสัมผัสผิวกาย

คล้ายกริ่งเกรงรบกวนห้วงนิทรา

หรือชีวิตจะล่องลอยเคว้งคว้างเช่นนี้ร่ำไป

เธอเงียบเหงาเกินกว่าจะหาคำตอบ


เราบางคนตั้งคำถาม เราคือใคร?

เขาแผ่หงายเพ่งมองเวิ้งฟ้า

รอบกายเป็นภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย แต่อบอุ่นราวอยู่ในอ้อมแขน

ห้วงเวลาผ่านเลยพร้อมความคิดวุ่นวายสับสน

ไต่ถามถึงความเป็นมาและอนาคต


สายลมพลิ้วแผ่วลูบไล้เรือนกาย แต่กรีดเฉือนหัวใจ

ปุยเมฆล่องลอยก่อรูปมิอาจคาดเดา

แสงเรืองยามเย็นเริ่มอ่อนแรงหม่นเศร้า

และแผ่นน้ำเบื้องหน้ายังนิ่งสงบดุจผู้อาวุโสหยั่งรู้ความเป็นไป


เขาล่องลอยไปพร้อมกับเสียงกระซิบของสายลม แต่ก็จมดิ่งลุ่มหลง ร่ายระบำไปพร้อมกับระยิบน้ำ

โผบินตามแรงปรารถนา แต่คล้ายยิ่งถูกมัดพันธนาการ


ณ ห้วงขณะหนึ่งของกาลเวลา

สรรพสิ่งหลอมรวม ไร้ที่มาร้างที่ไป

ชีวิตร้องตะโกนว่ามืดบอดบิดใบ้

น้ำตารินหลั่งโหยไห้ถึงวันผ่านเลย


เขาแผ่หงายเพ่งมองเวิ้งฟ้า

รอบกายเป็นภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย แต่อบอุ่นราวอยู่ในอ้อมแขน

ห้วงเวลาผ่านเลยพร้อมความคิดวุ่นวายสับสน

ไต่ถามถึงความเป็นมาและอนาคต...


เขียน: กุมภาพันธ์ 2546
ปรับปรุง: กันยายน 2549

Thursday, December 22, 2005


เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ต่อแนวคิดทางการเมืองของนักศึกษายุคปัจจุบัน*


* บทความชิ้นนี้เรียบเรียงและปรับปรุงจากบทความพิเศษ เรื่อง “บทบาทของนักศึกษาไทยยุค 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เปรียบเทียบกับนักศึกษายุคปัจจุบัน” ใน จุลสาร ปXป ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2546

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ดูเหมือนว่าบทบาท ทางสังคมและการเมืองของนิสิตนักศึกษาจะค่อยๆ เลือนหายไป บรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมือง การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียเปรียบในสังคมไม่ปรากฏให้เห็นอีกภายในรั้วมหาวิทยาลัยไทย อันนำมาซึ่งข้อถกเถียงระหว่างคนต่างรุ่นหรือแม้กระทั่งคนในรุ่นเดียวกันตามมามากมายถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต่อเนื่องไปจนถึงว่าจำเป็นหรือไม่ที่นิสิตนักศึกษาต้องมีการเคลื่อนไหวหรือแสดงบทบาททางการเมือง บทความชิ้นนี้จึงพยายามศึกษาถึงเงื่อนไขต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมโดยรวมและทัศนคติอันนำไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตของนิสิตนักศึกษายุคปัจจุบัน โดยผู้เขียนหวังว่าจะสามารถช่วยสร้างความเข้าใจถึงบทบาทโดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไปของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น


โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530

หลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2520 สิ้นสุดลง ประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ระยะเวลาแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export-led growth) และดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างไปสู่ระบบการแข่งขันเสรี (liberalization) ทำให้เศรษฐกิจไทยถูกผนวกเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่น

ลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2530

1. เศรษฐกิจไทยมีลักษณะเปิดมากยิ่งกว่ายุคสมัยใดในอดีต การค้ากับต่างประเทศจากที่เคยอยู่ในระดับร้อยละ 49.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ในช่วงปี 2523-2532 ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 67.8 ในช่วงปี 2533-2539(1) ในขณะเดียวกัน ช่วงปี 2533-2538 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก็เพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 8-9 เปอร์เซ็นต์(2) นโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศทำให้การส่งออกและนำเข้ามีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับก่อนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปี 2504 ซึ่งขนาดการเปิดของประเทศอยู่ในราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ ได้เพิ่มเป็น 75.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2533 และ 102.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2542(3)

2. โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวสูงมากเมื่อเทียบกับภาคเกษตรกรรมซึ่งยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและกำลังแรงงานร้อยละ 60 อยู่ในภาคเศรษฐกิจนี้(4) สัดส่วนของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ11.4 ในปี 2504 เป็นร้อยละ 26.7 ในปี 2532 และร้อยละ 29.6 ในปี 2535 การส่งออกของไทยก็มีอัตราการขยายตัวสูงเช่นเดียวกันโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา คือร้อยละ 28.8 ในปี 2530 ร้อยละ 33.9 ในปี 2531 และร้อยละ 27.7 ในปี 2532 ในปี 2535 สินค้าส่งออกมีมูลค่าทั้งหมด 831,405 ล้านบาท สัดส่วนของสินค้าส่งออกที่มาจากภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 71.2 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด(5)

3. ทุนไหลเข้าสุทธิในช่วงปี 2533-2539 มีปริมาณสูงมากกระทั่งสูงกว่าการขาดดุลการค้าในแต่ละปี ในช่วงปี 2323-2532 มีอัตราส่วนทุนไหลเข้าสุทธิในแต่ละปีประมาณ ร้อยละ 40-80 ของยอดขาดดุลการค้า แต่ในช่วงปี 2533-2539 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 110-130 สาเหตุที่ไทยสามารถดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้มากในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นผลมาจากนโยบายที่เปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศ การเปลี่ยนไปสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้รัฐบาลยังผลักดันให้เศรษฐกิจเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นการผลิตเพื่อส่งออก อัตราภาษีศุลกากรทั้งขาเข้าและขาออกของไทยจึงลดต่ำลงโดยตลอด(6)

การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมและการเปิดเสรีทางด้านการค้าและทางด้านการเงินของไทย ในช่วงแรกได้ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการไหลเข้ามาของเงินทุนที่กู้จากต่างประเทศ ทั้งที่กู้โดยภาครัฐและเอกชน แต่เงินกู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้พัฒนาศักยภาพการผลิตหรือเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของคนไทย หากแต่กลับกลายเป็นที่มาของลัทธิบริโภคนิยมสุดขั้วและการทุจริตอย่างกว้างขวางทั้งในภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางดังกล่าวกลับทำให้การกระจายรายได้ยิ่งเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น คนส่วนน้อยที่รวยมากอยู่แล้วก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้น กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก จากที่เคยมีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 49.3 ของคนทั้งประเทศในปี 2518 มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57.8 ในปี 2533 และร้อยละ 58.5 ในปี 2542(7)

สภาพเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาประกอบกับผลสำรวจนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐ จำแนกตามอาชีพผู้ปกครองในปี 2537 จะพบว่า ร้อยละ 33 ของนักศึกษามาจากครอบครัวที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 31.42 ประกอบอาชีพรับราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.23 มีอาชีพเกษตรกรและร้อยละ 12.55 มีอาชีพรับจ้าง อีกร้อยละ 8.78 ประกอบอาชีพอื่น ๆ(8) จะเห็นว่า มีนักศึกษาถึงประมาณร้อยละ 60 ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดสองอันดับแรก ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าแวดวงของนักศึกษาในยุคปัจจุบันนั้นเป็นที่รวมของกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ได้เปรียบในสังคมอันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา


โลกาภิวัตน์กับผลกระทบต่อบทบาทของนักศึกษา

นักศึกษายุคปัจจุบันเติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสการพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจ-สังคมไทยถูกผูกโยงเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการเชื่อมโยงส่วนต่างๆเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน(9)

กระบวนการโลกาภิวัตน์ในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเกิดขึ้นเร็วมาก ประการแรก อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการคมนาคม โลกถูกย่อส่วนลงทั้งเวลาและพื้นที่ การแผ่ถึงกันของโลกจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและครอบคลุมไปทั่ว ประการที่สองคือ การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2532 ทำให้โลกสังคมนิยมผนึกเข้ากับโลกทุนนิยมและสร้างเครือข่ายของกระบวนการโลกาภิวัตน์ออกไปอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) เป็นกระแสที่ครอบงำยุคโลกาภิวัตน์ บรรษัทข้ามชาติหรือทุนใหญ่ระดับโลกใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการทำให้ประเทศที่อ่อนแอเปิดประตูการค้าเสรี เปิดระบบการเงินเสรี องค์กรสำคัญของทุนข้ามชาติ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) แท้จริงแล้วล้วนทำหน้าที่วางกรอบกฎเกณฑ์และกดดันให้ประเทศที่เสียเปรียบยกเลิกมาตรการป้องกันตนเอง(10)

พร้อมๆกับกระแสการเปิดเสรีทางด้านการค้าและการเงิน กระแสคลื่นวัฒนธรรมจากซีกโลกที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกันก็หลั่งไหลแผ่คลุมไปทั่วโลก คนชั้นกลางในเมืองเป็นตลาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ดังกล่าว พวกเขาผูกพันตนเองเข้ากับกระแสทุนนิยมสากลและวัฒนธรรมสากล ผูกพันกับสินค้าต่างประเทศ บุคคลต่างประเทศผ่านการทำธุรกิจ การบริโภคข้อมูลข่าวสารทั้งสาระและบันเทิงผ่านสื่อสากล ในขณะเดียวกันก็ยิ่งตัดขาดจากสายใยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชาติที่เสียเปรียบจากการพัฒนาไปเรื่อยๆ

จากผลแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ประกอบกับการผูกสายใยสัมพันธ์กับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทย โลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของนักศึกษาในยุคปัจจุบันถูกครอบงำโดยกรอบแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในด้านหนึ่ง ชีวิตของพวกเขาขึ้นตรงกับเรื่องราวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า การเงิน การลงทุนในเกือบทุกมิติ กิจกรรมการดำเนินชีวิตกลายเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกระบวนการวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสีย ไม่ยกเว้นแม้แต่เรื่องการศึกษาหรือสายใยสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อีกด้านหนึ่ง พวกเขากลายเป็นลูกค้าชั้นดีของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เสรีนิยมที่มุ่งหวังเพียงผลกำไรสูงสุด เนื่องจากเป็นกลุ่มชนที่มีอำนาจซื้อสูงและเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นที่ทำการแยกตัวออกจากรากเหง้าของสังคมวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมจนแทบไม่เหลือเยื่อใย พวกเขาจึงกลายเป็นตลาดใหญ่ที่รองรับสินค้าทุกประเภท รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากสังคมตะวันตก

การโหมกระพือของลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยมและปัจเจกชนนิยมล้วนเป็นการตอบสนองและดำรงไว้ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราเป็นใหญ่ นักศึกษาถูกชักนำให้ยึดติดกับการบริโภคเพื่อตอบสนองความพอใจเฉพาะตน ยึดติดกับความสุขที่ได้รับจากการมีวัตถุปรนเปรอภายนอกและยินดีทำทุกอย่างเพื่อเงินทอง


ภาพรวมของนิสิตนักศึกษายุคปัจจุบัน

มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอย่างน้อย 3 ประการที่ควรพิจารณาคือ

ประการแรก นักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือก ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพมหานครมีประชากรเพียงประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ประการที่สอง นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียง 5 - 8% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีถึงร้อยละ 75 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ

ประการที่สาม นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีและฐานะปานกลาง ส่วนผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนมีไม่ถึง 5% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด(11)

แนวโน้มดังกล่าวมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2514 - 2516 แต่สัดส่วนอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นชนชั้นผู้ได้เปรียบเหมือนกัน แต่ด้วยบริบททางสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ทั้งสองยุคสมัยแตกต่างกันไม่น้อย

รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าเยาวชนไทยปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงและอันตราย จากการถูกหล่อหลอมจากสังคมที่ถูกครอบงำจากลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยม นอกจากนี้ระบุว่าเมื่อนำผลการศึกษาวิจัยในเรื่องเด็กไทยพันธุ์ใหม่ ค.ศ. 2000 เป็นแกนหลักและเชื่อมโยงกับผลการศึกษาวิจัยกว่า 15 ชิ้น ทำให้สามารถเสนอภาพของเด็กไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะที่เด่นชัดดังนี้

1. ระดับสติปัญญาของเด็กไทยมีแนวโน้มลดต่ำลง

2. สภาพร่างกายที่อ่อนแอลง ขาดภูมิต้านทานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์

3. วุฒิภาวะทางอารมณ์ พฤติกรรมและการแสดงออกแฝงไว้ด้วยความก้าวร้าวรุนแรง

4. เด็กอยู่ในวัยเยาว์แต่เรียนรู้เรื่องเพศไวกว่าวัยที่ควรจะเป็น ต่อกรณีนี้มีรายงานการศึกษาและผลการสำรวจของสถาบันการศึกษาหลายแห่งพบว่าเด็กหญิง-ชายอายุ 10-11 ปีบางคนเริ่มเรียนรู้การมีเพศสัมพันธ์แล้วและอายุเฉลี่ยของเด็กไทยที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลดน้อยลงตามลำดับ ในปัจจุบันสถิติของเด็กชายอยู่ที่ 16 ปีส่วนเด็กหญิงอยู่ที่ 17 ปี

5. มุ่งแสวงหาความรู้ ความสุขและการมีเพื่อนใหม่ทางอินเตอร์เน็ต

6. วัตถุนิยมถูกใช้เป็นหลักในการสร้างคุณค่าเชิงปริมาณ

7. การให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าส่วนรวม

8. เด็กจำนวนมากขาดรากเหง้าทางศีลธรรม ศาสนาและวัฒนธรรม

9. เด็กเกิดภาวะความเครียดและการกดดันจากการแข่งขัน มีวัฒนธรรมเงียบ แยกตนจากคนในครอบครัว

10.การมองความสำเร็จในเชิงตัวบุคคลมากกว่าความเป็นหลักการและเหตุผล ชอบลอกเลียนและแสวงหาความสำเร็จโดยไม่เลือกวิธีการ

11. ชอบการพนัน

12. เด็กทำงานหนักไม่เป็น

“เด็กและเยาวชน” ที่กล่าวถึงข้างต้น โดยแท้จริงแล้วก็ไม่อาจไม่นับรวมนิสิตนักศึกษาเข้าอยู่ในสังกัดด้วยได้ พฤติกรรมหลายๆด้านนั้นพบเห็นได้ชัดเจนในหมู่คนหนุ่มสาววัย 18-25 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ภาพสะท้อนไม่ได้มีเพียงบทบาททางการเมืองและสังคมที่เลือนหายไป แต่ยังมีปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาอีกมากมายที่สังคมเห็นว่าจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไข

แน่นอนว่าคงไม่มีผู้ใดเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาต้องออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหรือจับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่เหมือนที่นิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 เคยทำ แต่ด้วยพันธกิจและแม้กระทั่งคำป่าวประกาศของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเองก็เป็นที่รับรู้เสมอมาว่า หน้าที่ของมหาวิทยาลัยนอกจากจะผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อใช้ความรู้ในการพัฒนาประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีหน้าที่รับในการช่วยเหลือและรับใช้ประชาชนผู้เสียเปรียบหรือตกทุกข์ได้ยากด้วย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทหนึ่งของนิสิตนักศึกษาไทยที่ทุกคนยอมรับก็คือ การเป็นผู้มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากและการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบัน บทบาทดังกล่าวยังคงได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังต่อนักศึกษาในยุคต่อ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในงานรับเพื่อนใหม่หรือกิจกรรมการรับน้องใหม่ของคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ การฉายภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคมและ 6 ตุลาคมพร้อมรายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์ให้กับนักศึกษาใหม่ได้รับรู้ พร้อมกันนั้น วลีอย่างเช่น 'ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน', 'มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน' ก็จะได้รับการบอกกล่าวให้นักศึกษาใหม่ได้ยินอยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คณะผู้จัดงานจะละเลยมิได้ เช่นเดียวกับการปิดท้ายงานด้วยการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องจากค่ายเทปใหญ่ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่านักศึกษายุคปัจจุบันไม่ปฏิเสธบทบาทที่ตนควรมีต่อสังคมเสียทั้งหมด (ไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม) วาทกรรมการรับใช้ประชาชนนั้นยังคงอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยไทยเสมอมา แต่จะมีการกระทำรองรับหรือไม่นั้นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


“มหาลัย…ที่ดับวิญญาณนักศึกษา” ซีรี่ย์ข่าวเชิงวิเคราะห์ชุด : มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 รายงานว่า แนวโน้มของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มุ่งเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองทุนนิยม และระบบการตลาดมากขึ้นทุกที ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“ขณะที่การเข้ามหาวิทยาลัยเป็นแค่การชุบตัว ซื้อใบปริญญาเพื่อเป็นใบผ่านทางในการทำงานเท่านั้น ทุกคนมุ่งเน้นแต่การเรียนเพื่อให้ได้เกรดสูงๆ ได้เกียรตินิยมและสนในเฉพาะหนังสือที่อาจารย์ให้อ่าน อ่านยังไงให้ได้เกรดดี ตอบข้อสอบยังไงให้ตรงใจอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะไม่สนใจความรู้อื่นๆ ที่จะสะสมและพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์” ตัวอย่างที่บทความเสนอคือในช่วงใกล้จะถึงวันสอบของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บางกลุ่ม) นิสิตลูกคนรวยจะไปเปิดจองห้องในโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส เพื่อใช้เป็นสถานที่ติวข้อสอบและเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางเมื่อถึงวันสอบจริง ทั้งนี้ทางโรงแรมยังมีส่วนลดพิเศษสำหรับนิสิตจุฬาฯเป็นพิเศษประมาณ 10% อีกด้วย


รศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “โครงสร้างของจุฬาฯเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพของมหาวิทยาลัยและก็เห็นความเข้มข้นหลายอย่าง อยู่กลางเมือง อยู่ในความสะดวกที่สุด ถูกขนาบข้างด้วยศูนย์การค้า เวลาที่เรียนในห้องเรียนแล้วเบื่อก็ไปเดินเล่น โอกาสที่จะทำกิจกรรมหรือคิดเพื่อสังคมมีน้อยลงทุกที... ระบบมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน สิ่งที่เชิดหน้าชูตาก็คือเกียรตินิยม เชียร์ลีดเดอร์ อัญเชิญพระเกี้ยว เรื่องอื่นๆไม่ได้อยู่ในความสนใจของนักศึกษา จำนวนคนที่สนใจทำกิจกรรมน้อยลงทุกที เด็กๆหลายคนที่มาคุยกับผมบอกเลยว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นที่ดับวิญญาณของนักศึกษา”


“นิสิตนักศึกษายุครับใช้ตนเอง” โดยรศ.สมพงษ์ จิตระดับ หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ฉบับวันที่12 ธันวาคม 2545

รศ.สมพงษ์ ชี้ว่า ในปัจจุบัน “ยิ่งมหาวิทยาลัยอ้างถึงประชาชนมากเท่าใดมหาวิทยาลัยนั้นจะยิ่งฟุ้งเฟ้อไร้สาระและบ้าวัตถุมากขึ้นเท่านั้น ไม่มียุคใดสมัยใดที่นิสิตนักศึกษาจะไร้จิตสำนึกต่อประชาชนและสังคมมากเท่ายุคนี้” นอกจากนี้รศ.สมพงษ์ยังวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่นิสิตนักศึกษาไม่สนใจสังคมและประชาชนเพราะเป็นความตั้งใจของผู้บริหาร นักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่อไปนี้

1. กิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัยและนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาล้วนต้องการดึงความสนใจของนักศึกษาจากปัญหาของบ้านเมืองมาสู่กิจกรรมความบันเทิง การประกวด การแข่งขันกีฬา การรับน้องและอื่นๆ อันเนื่องมาจากการไม่ไว้วางใจนิสิตนักศึกษาซึ่งเคยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางสังคม การเมือง การต่อต้านเผด็จการและเป็นพลังสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

2. บรรยากาศของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อธิการบดีจำนวนไม่น้อยมุ่งไปสู่การนำมหาวิทยาลัยไปสู่ยุคธุรกิจการศึกษา การขยายวิทยาเขต เปิดหลักสูตรพิเศษเพื่อหารายได้ การหาลูกค้าทางการศึกษา การลงทุนร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาจารย์ยุคใหม่ไม่มีใครลงมาทำกิจกรรมทางสังคมดังแต่ก่อน ทุกคนมุ่งหวังสร้างเนื้อสร้างตัวในเวลาอันสั้นจากหลักสูตรพิเศษ การคุมวิทยานิพนธ์และการวิจัยของภาคธุรกิจเอกชน

3. มหาวิทยาลัยมีระบบหลักสูตรที่เน้นแต่ภาควิชาการเป็นหลัก กิจกรรมในมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นเรื่องตัวบุคคลที่ทำด้วยตนเอง “มหาวิทยาลัยที่เน้นเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ให้ไปดูความเจือจางแห่งอุดมการณ์ได้ทุกตารางนิ้วเช่นเดียวกัน” นิสิตนักศึกษาไม่ชอบทำกิจกรรม “ผู้เขียนไปแทบทุกมหาวิทยาลัยล้วนแต่เห็นสภาพความอ่อนแอทางปัญญาที่ผู้ใหญ่เสนอกิจกรรมแบบแยบยลให้ติดกับความฟุ้งเฟ้อ สนุกสนานจนถอนตัวไม่ขึ้นและสายพันธุ์นี้จะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ”


มองบทบาทนิสิตนักศึกษาผ่านสิ่งพิมพ์ในมหาวิทยาลัย

อาจไม่เป็นการยุติธรรมต่อนิสิตนักศึกษานักหากจะศึกษาภาพรวมของพวกเขาผ่านมุมมองของ ‘ผู้ใหญ่’ เพียงด้านเดียว

ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง จะพบเห็นสิ่งพิมพ์ของนักศึกษาวางจำหน่ายหรือแจกฟรีให้กับผู้ที่สนใจอยู่เป็นระยะ โดยมีรูปแบบและเนื้อหาแตกต่างกันไป ส่วนหนึ่งของสิ่งพิมพ์ดังกล่าวผู้เขียนได้ทำการรวบรวมและศึกษาเนื้อหาของสิ่งพิมพ์เหล่านั้น ดังนี้

1. โดม’43 จัดทำโดยสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดประสงค์หลักของการจัดพิมพ์คือการแนะนำให้นักศึกษาทั่วไปรู้จักกับสภานักศึกษา “เพราะหลายคนยังไม่รู้เลยว่ามีองค์กรนี้อยู่หรือบางคนรู้ว่ามีแต่ก็ไม่รู้ว่ามีไว้ทำอะไร” (บทบรรณาธิการ, โดม’43 ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2543)

เนื้อหาโดยรวมนอกจากจะเป็นการแนะนำสภานักศึกษาแล้วยังมีบทความและบทกวีตีพิมพ์รวมอยู่ด้วย เช่นบทกวี ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ของวิทยากร เชียงกูล, ข้อเขียนจากเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเพื่อการเลือกตั้ง, บทสัมภาษณ์เชียร์ลีดเดอร์งานฟุตบอลประเพณีและคอลัมน์ Gossip

2. Common จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปกติแล้วจะพิมพ์แจกฟรีภายในหมู่นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์เฉลี่ยเดือนละ 1 ฉบับ เนื้อหาภายในส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับแวดวงนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ คอลัมน์ซุบซิบ นินทา เรื่องราวเบาสมอง เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านอาหาร เป็นต้น ตัวอย่างเนื้อหา เช่น สัมภาษณ์คู่รักที่ไม่ล้มเหลวในการบอกรัก, แอบรักเพื่อน...จะบอกเขาไปหรือรักษามิตรภาพไว้, แฉวิธีการไดเอ็ด, เทียบความหล่อ&น่ารักของหนุ่มสาวจุฬาฯ&ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

3. จุลสารกระดานดำ จัดทำโดยชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับแรกตีพิมพ์ในปี 2544 เนื้อหาของจุลสารค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องสั้น การนำเสนอประเด็นการย้าย-ไม่ย้าย การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ความรักของหนุ่มสาว วิถีชีวิตนักศึกษาทั้งที่ศูนย์รังสิตและท่าพระจันทร์ บทความแนะนำหนังสือดี เป็นต้น จุดเด่นที่สุดของจุลสารฉบับนี้คือการรวบรวมบทกวีที่แต่งโดยนักศึกษาซึ่งมีเนื้อหาที่แตกต่างหลากหลายตามความสนใจของแต่ละบุคคล

ตัวอย่างแนวคิดของนักศึกษาที่สะท้อนผ่านบทความและบทกวีในจุลสารฉบับนี้ มีดังนี้

“ยุคนี้คำว่า ‘ธรรมศาสตร์’ ในความหมายของนักศึกษาคือมหาวิทยาลัยมีอันดับในประเทศไทย คือความหรูหราฟุ่มเฟือยของการแข่งกันเรียน แข่งขันกันแต่งตัว ฯลฯ ... จิตวิญญาณรับใช้ประชาชนน่ะเหรอ เอาไปรับใช้ GSM 2 วัตต์ซะจะดีกว่า! อุดมการณ์ทางการเมืองน่ะเหรอ!!! เอาไปไกลๆฉันดีกว่าน่า นี่แหละคือภาพที่ฉันเห็นส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ท่าพระจันทร์” ( จุลสารกระดานดำ ฉบับท่าพระจันทร์ ฉบับที่ 1 ปี 2544)

“... แต่ลูกชายคนนี้ทำใจไม่ได้ที่ลูกชายลูกสาวของแม่หลายๆคนปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงอยู่เหนือการควบคุม พวกเขาไม่ใส่ใจ ไม่ไยดีว่าแม่จะเป็นอย่างไร พวกเขาลืมรากเหง้าลืมตัวของแม่…ตอนนี้พวกเขาเต้นรำ บ้าบอกับการทุ่มเงินทำงานฟุตบอลประเพณีเป็นแสนๆ พวกเขาสนุกกับชีวิตเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
วันนี้โดมพระจันทร์เงียบสงัด สายลมพัดอดีตห่างจากใจฉัน

วันนี้ดินแดนโดมช่างเงียบงัน

เพราะพวก “มัน” คิดเอาแต่ทำลาย

ฉันตื่น ฉันรู้ จึงลองสู้

แต่ก็ดูเหมือนแรงร้างละลายหาย

พบคนใหม่ให้สลดน่าละอาย

พวกเขาตายในความคิดสู่เสรี

ขอให้สุขกับสิ่งแสนสะดวก

สุขกับพวกพ้องเพื่อนให้เต็มที่

เมเจอร์ฯ ฟิวเจอร์ฯ คือชีวี

แล้วเฉยเมยท่าทีต่อสังคม

ใช้สิทธิเสรีให้เต็มที่

ชีวิตนี้เพื่อดูหนัง-กินขนม

ใช้ชีวิตเสเพล…ถ้าชื่นชม

สุขอารมณ์ตามสบายในเมืองแมน

จงรู้ไว้ธรรมศาสตร์จะตายหาย

เหลือแต่กายเอาไว้ใช้ทำเงินแสน

เหล่าลูกโดมก็ให้ใช้ชื่ออื่นแทน

สร้างดินแดนเสื่อมโทรมแห่ง “ทุนนิยม”

(จุลสารกระดานดำ ฉบับสัมภาระ ฉบับที่ 3 ปี 2545)

เนื้อหาในจุลสารกระดานดำเริ่มพบเรื่องราวทางสังคมและการเมืองมากขึ้น ที่สำคัญคือมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและความประพฤติของนักศึกษาอย่างตรงไปตรงมาจากนักศึกษาด้วยกันเอง โดยมุมมองการวิพากษ์วิจารณ์นั้นส่วนมากก็ไม่ต่างจากมุมมองของ ‘ผู้ใหญ่’ มากนัก

4. จุลสารการะเวก จัดทำโดยนักศึกษากลุ่มอิสระ จุดประสงค์การจัดพิมพ์นั้นสะท้อนผ่านบทบรรณาธิการดังนี้ “ฉบับแรกนี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวทางอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดอีกเล็กน้อยของคนที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับชีวิต... ชีวิตที่ถูกห้อมล้อมด้วยคำป่าวประกาศถึงเสรีภาพแต่แท้ที่จริงกลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดและการลงทัณฑ์ ชีวิตที่ไม่ต้องซีเรียสอะไรเพราะสิ่งที่น่าซีเรียสอย่างสุดยอดกลับถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ” จุลสารฉบับนี้เป็นการรวบรวมบทความของนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนความเปลี่ยวเหงาในชีวิตและความแตกต่างแปลกแยกจากสังคมของคนส่วนใหญ่ บทความบางชิ้นยังได้วิพากษ์วิจารณ์บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยและค่านิยมที่นักศึกษาส่วนใหญ่ยึดถือ

5. Cheer Tham จัดทำโดยชุมนุมเชียร์และแปรอักษร พิมพ์แจกฟรีในช่วง 4-5 เดือนก่อนการแข่งขันฟุตบอลประเพณีในแต่ละปี วัตถุประสงค์หลักคือต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับชุมนุมเชียร์ฯและรายละเอียดต่างๆของการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ท่ามกลางกระแสการต่อต้านการจัดงานฟุตบอลประเพณีจากนักศึกษาส่วนหนึ่งและสังคมภายนอก แต่ Cheer Tham และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานฟุตบอลประเพณีอื่นๆก็ยังคงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนักศึกษาส่วนใหญ่ สิ่งที่เห็นชัดเจนคือการคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยยังคงมีนักศึกษาชาย-หญิงสมัครเข้าคัดเลือกเป็นจำนวนมากทุกปี

6. หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย จัดทำโดยนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จัดพิมพ์จำหน่ายเป็นประจำทุกปี หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เปรียบเสมือนเวทีทดลองฝีมือสำหรับนักศึกษาภาควิชาหนังสือพิมพ์ เนื้อหาที่เสนอส่วนใหญ่เป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวภายในรั้วมหาวิทยาลัย ประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนหรือข่าวคราวของชุมชนรอบๆมหาวิทยาลัย การนำเสนอประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมพบเห็นได้บ้างแต่ก็ไม่เข้มข้นมากนัก

หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยนั้นจวบจนปีปัจจุบันมีอายุยาวนานถึง 46 ปีแล้ว แต่เดิมหนังสือพิมพ์เคยมีบทบาทสูงมากในการเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา โดยเฉพาะในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าหนังสือพิมพ์เหลือเพียงบทบาทในการเป็นเวทีฝึกงานสำหรับนักศึกษาและไม่เป็นที่แพร่หลายนักในหมู่ผู้อ่านปัญญาชน

7. วารสารลานโพ ฉบับ Dome See Through ฉบับนี้ตีพิมพ์ในปี 2545 จัดทำโดยนักศึกษากลุ่มอิสระ วารสารฉบับนี้เริ่มต้นตีพิมพ์ในปี 2540 และอาจกล่าวได้ว่า ‘ลานโพ’ เป็นแหล่งรวบรวมบทความที่วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของนักศึกษายุคปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาและเข้มข้นมากที่สุดฉบับหนึ่งในแวดวงสิ่งพิมพ์ของนักศึกษา บทความส่วนใหญ่ให้ภาพของความตกต่ำในหลายๆด้านของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้มีการยังนำเสนอประเด็นปัญหาของสังคม เช่น กรณีเด็กขายพวงมาลัยหรือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคู่รักนักศึกษา ตัวอย่างของบทความมีดังนี้

“…สถาบันทางการศึกษาเองก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนให้ต้องรับรู้ต่อสถานการณ์ของประเทศ จะเห็นได้จากกิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาในปัจจุบันให้ความสนใจ และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย จะเป็นกิจกรรมประเภทที่ไม่ต้องคิดมากในเรื่องการเมือง ยกตัวอย่างเช่น งานฟุตบอลประเพณีและกีฬามหาวิทยาลัย” (ฟ้ารุ่ง ศรีขาว, ธรรมศาสตร์ที่หายไปจากความเคลื่อนไหวทางการเมือง, น.13)

“ระหว่างเรียนเธอก็ใช้ชีวิตสนุกสนาน เฮฮา ฟู่ฟ่า ตามยถาประดามี แต่มันก็คงบังเอิญที่เหล่าเธอทั้งหลายมีกะตังกันมากอยู่ซักหน่อย จึงพอจะมีเงินเจียดมาซื้อกระเป๋าราคาแพงๆ แต่งตัวให้โก้หรูหรา เดินหาของกินดีๆ เที่ยวห้าง ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวเธค ผับ RCA ซื้อมือถือราคาแพง อวดแข่งความทันสมัย…” ( พงศธร ศรเพชรนรินทร์, หนุ่มสาวเอยเธอจะไปสู่หนใด, น.17)

“ในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่หล่อหลอมระบบความคิดของนักศึกษาให้หนีห่างจากความเป็นจริงมากขึ้น ความเป็นจริงของมหาวิทยาลัยที่กำลังเดินผิดทาง แต่นักศึกษาก็ไม่ได้สนใจ ในขณะที่มหาวิทยาลัยกำลังเข้มข้นด้วยเกมการเมืองจะย้าย-ไม่ย้าย นักศึกษาก็เพิกเฉย ถึงแม้เรื่องทุกเรื่องที่เกิดขึ้นล้วนข้องเกี่ยวกับนักศึกษาโดยตรง แต่ไม่มีใครคิดจะใส่ใจเพราะไม่มีใครมีจิตสำนึกของความเป็นธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง” (อภิชัย อาภรณ์ศรี, ธรรมศาสตร์วันนี้, น.87)

จากบทสำรวจสิ่งพิมพ์ของนักศึกษาเท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ พบว่านักศึกษาส่วนหนึ่งแสดงออกถึงความผิดหวังและความไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ภายในมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ถึงแม้จะเป็นคนส่วนน้อยแต่ข้อเขียนที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของนักศึกษายุคปัจจุบันนั้นปรากฏออกมามากพอสมควร ไม่ว่าจะแพร่หลายหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้เราคงพอมองเห็นภาพของนิสิตนักศึกษาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านทางมุมมองของส่วนหนึ่งของพวกเขาเอง


บทสรุป

บทบาทและแนวคิดทางการเมืองของนักศึกษาผูกพันเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางการเมือง-เศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัยอย่างแยกกันไม่ออก ทัศนคติที่มีต่อโลก ต่อสังคมและต่อตนเองล้วนได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล

บรรยากาศทางการเมืองที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและสามารถควบคุมสังคมได้ในเกือบทุกมิติ ประกอบกับการเริ่มต้นพัฒนาประเทศในแนวทางทุนนิยมที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ นักศึกษาจึงเป็นผลิตผลโดยตรงของกระบวนการพัฒนาประเทศและกลายมาเป็นผู้ตั้งคำถามต่อโครงสร้างดังกล่าวในเวลาต่อมา

แม้ในความเป็นจริง คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมด แต่ก็เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลังและสามารถเชื่อมโยงแนวคิดเข้ากับคนส่วนที่เหลือได้ ด้วยรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่ยังไม่ถูกตัดขาดจากคนส่วนใหญ่ของประเทศมากเท่ากับในปัจจุบันและด้วยฐานะของปัญญาชนผู้แสวงหาความรู้ ทำให้นักศึกษากลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้และกลายเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่

พลังดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และนำมาซึ่งการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สงครามอุดมการณ์ในยุคสงครามเย็น ได้ผนวกเอาการต่อสู้ดังกล่าวข้ากับสงครามอุดมการณ์ในระดับโลก แต่การล่มสลายของอาณาจักรโซเวียตก็ทำให้สงครามดังกล่าวจบสิ้นลงอย่างเป็นทางการ โลกเดินทางเข้าสู่สมรภูมิรบในรูปแบบใหม่ที่ไร้ขอบเขตและทารุณโหดร้ายยิ่งกว่าเดิม ประเทศต่าง ๆ เริ่มก่อสงครามทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยมเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยเข้าสู่สมรภูมิดังกล่าวอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ทุนนิยมกลายเป็นอุดมการณ์เดียวที่ครอบงำคนส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศจนถึงกรรมกร ชาวไร่ชาวนา 'เงิน' กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการวัดความสุขและความสำเร็จในชีวิตของปัจเจกบุคคล คนชั้นกลางที่เริ่มก่อตัวขึ้นในทศวรรษ 2510 เป็นกลุ่มชนที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศในแนวทางทุนนิยมโดยตรง ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่นับวันจะขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พวกเขาเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าทุกประเภทและนับวันสังคมของพวกเขาก็ยิ่งถอยห่างออกจากสังคมของผู้เสียเปรียบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เช่นเดียวกับนักศึกษาในปัจจุบัน ด้วยเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อบทบาทและพฤติกรรมของพวกเขาด้วย นักศึกษาส่วนใหญ่เติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจและท่ามกลางวัฒนธรรมซึ่งตัดขาดจากวัฒนธรรมดั้งเดิมแทบจะสิ้นเชิง โลกทรรศน์ของพวกเขาถูกเชื่อมโยงอยู่กับเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการตอบสนองความสุขส่วนตนจากการใช้จ่ายและการบริโภคมากกว่าที่จะสนใจปัญหาความเป็นไปของบ้านเมืองหรือกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสในสังคม คำว่า 'ส่วนรวม' แทบจะถูกตัดออกจากระบบคิดของพวกเขาเนื่องจากไม่สอดคล้องกับแนวคิดของนักธุรกิจผู้หวังผลกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง

โครงสร้างของระบบการศึกษาไทยเองก็เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าคนจน ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมบริษัทธุรกิจต่าง ๆ จึงหวังช่วงชิงส่วนแบ่งของตลาดระดับอุดมศึกษา ไม่ยกเว้นแม้แต่ธุรกิจการประกวดนางงาม ปัจจุบันเราจึงพบเห็นบรรยากาศงานเปิดตัวสินค้าในรั้วมหาวิทยาลัยมากยิ่งกว่าบรรยากาศทางวิชาการ

ด้วยเหตุดังกล่าว การเรียกร้องให้นักศึกษากลับมามีบทบาทเช่นในอดีตจึงเป็นสิ่งที่ขัดกับเงื่อนไขทั้งหมดในสังคม ซึ่งออกแบบให้นักศึกษาถอยห่างออกจากเรื่องราวของชาติบ้านเมืองและของส่วนรวมมาตั้งแต่ต้น อย่าว่าแต่ความทุกข์สุขของเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน

บทบาททางการเมืองและสังคมของนักศึกษาที่หายไป จึงเป็นผลิตผลโดยตรงจากกระบวนการพัฒนาประเทศในระยะประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่มันเคยเป็นต้นกำเนิดของพลังนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 2510 ระยะเวลาต่อจากนี้ไปคงต้องขึ้นอยู่กับว่าแนวทางการพัฒนาประเทศของไทยจะเป็นไปในทิศทางใด และผลกระทบต่อบทบาทของนักศึกษาจะเป็นเช่นไร แต่หากสังคมยังคงหวังให้พลังนักศึกษากลับคืนมาพร้อม ๆ กับอนาคตที่ดีขึ้นของเยาวชนรุ่นใหม่ เราคงต้องหันกลับมาทบทวนกันใหม่ว่ากระบวนการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้นเดินมาถูกทิศผิดทางอย่างไร


เชิงอรรถ

1) พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, “วิกฤตเศรษฐกิจไทย : โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลง”, ใน ทุนนิยมฟองสบู่: ปรัชญาและทางออก. (สถาบันวิถีทรรศน์, 2544), น.3

2) วิทยากร เชียงกูล, ข้อเท็จจริงและอนาคตเศรษฐกิจสังคมไทย. (สำนักพิมพ์มิ่งมิตร,2544), น.17 อาจารย์วิทยากรยังชี้ว่า ถ้ามองผลิตภัณฑ์มวลรวมอย่างจำแนก ภาคอุตสาหกรรม, ก่อสร้าง, บริการและอื่นๆ จะมีสัดส่วนสูงและเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภาคการเกษตรมาก ผู้ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการและผู้ปฏิบัติงานระดับสูงและระดับกลาง เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเกษตรกรและคนจนในเมือง โดยนัยนี้แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้คนชั้นกลางในเมือง (ซึ่งมีเหลือกินเหลือใช้อยู่แล้วและเป็นที่มาของนักศึกษาส่วนใหญ่) ร่ำรวยมากขึ้นกว่าคนชั้นกลางในช่วงปี 2516-2519 โดยเปรียบเทียบ

3) เล่มเดียวกัน, น.21

4) วรวิทย์ เจริญเลิศ, “เศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกานุวัตร”, ใน สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ), โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย. (ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538), น.98

5) เล่มเดียวกัน, น.99

6) พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, อ้างแล้ว, น.5

7) วิทยากร เชียงกูล, อ้างแล้ว, น.35

8) เล่มเดียวกัน, น.76

9) โลกานุวัตร (Globalization) เป็นกระบวนการเชื่อมโยงส่วนต่างๆของโลกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดู รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, “โลกานุวัตรกับสังคมเศรษฐกิจไทย”, ใน สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ), โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย. (ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2538), น.61

10) เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ก่อนสิ้นศตวรรษ. (สำนักพิมพ์สามัญชน, 2544), น.276

11) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร. (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2544), น.346


บรรณานุกรม

ทุนนิยมฟองสบู่: ปรัชญาและทางออก
, สถาบันวิถีทรรศน์, 2544

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2544

วิทยากร เชียงกูล, ข้อเท็จจริงและอนาคตเศรษฐกิจสังคมไทย, สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, 2544

สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ), โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย, ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ก่อนสิ้นศตวรรษ, สำนักพิมพ์สามัญชน, 2544

Monday, December 19, 2005



เมฆหมอกพาดผ่าน กาลเวลาพลัดหาย

อ้างว้างเปล่าดาย จุดหมายมืดมน


เขาล้มตัวลงนอนเหม่อมองแผ่นฟ้าเมื่อดวงตะวันเริ่มโรยแสง บรรยากาศยามเย็นทำให้จิตใจของเขาผ่อนคลายลงและเปิดโอกาสให้เขาได้ครุ่นคิดถึงช่วงชีวิตที่ผ่านเลยมา

เบื้องหน้าของเขาเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มันกำลังสะท้อนเงาของขุนเขาสีดำทะมึนที่อยู่ถัดออกไป เส้นขอบของขุนเขาสีดำตัดกับแผ่นฟ้าที่ฉาบทาสีแดงส้มเบื้องบน ให้ความรู้สึกราวกับกำลังชมงานศิลปะของจิตรกรนิรนาม ฝูงนกกำลังโผบินประดับฟากฟ้า และมวลหมู่แมลงเริ่มต้นบรรเลงบทเพลงยามสนธยา


เขาปลีกตัวออกมาเดินเล่นคนเดียวหลังจากงานประจำวันเสร็จสิ้นลง งานที่เริ่มต้นตั้งแต่เก้าโมงเช้าไปสิ้นสุดเอาในเวลาบ่าย หนุ่มสาวหลากหลายที่มาและความคิดสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทำหน้าที่ที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย ตั้งแต่หุงข้าว ทำกับข้าว เลี้ยงเด็ก และบางส่วนต้องออกไปกรำแดดก่อสร้างศาลากลางของหมู่บ้าน

ชีวิตประจำวันบางส่วนของพวกเขา ณ หมู่บ้านแห่งนี้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่นอกเหนือจากเวลางาน แต่ละคนก็มีเวลาว่างที่จะเลือกทำกิจกรรมที่ตนสนใจ หลายคนเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยสัมผัสกับวิถีชีวิตเช่นนี้มาก่อน พวกเขาออกเดินทางมาด้วยกันพร้อมๆ กับความหวัง ความฝัน และความมุ่งมั่นตามประสาคนหนุ่มสาวที่ชีวิตยังต้องการสิ่งเติมเต็ม

เกือบสองสัปดาห์แล้วที่แต่ละคนได้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตของคนเมือง และส่วนใหญ่กำลังเพลิดพลินอยู่กับวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่คุ้นเคย สำหรับเขาแล้ว การที่ได้มาอยู่ที่นี่มันเป็นเหมือนการได้รับพรจากสวรรค์ มันทำให้เขามีชีวิตชีวา กระตือรือร้น และเบิกบานใจอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน


เย็นวันนั้น...

หลังจากงานประจำวันเสร็จสิ้นลง เขาเดินกลับมานั่งพักเหนื่อยที่บ้านซึ่งเขาขออาศัยเป็นที่หลับนอนตลอดระยะเวลาของการใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ บ้านหลังนี้มีเจ้าของบ้านเป็นยายและหลานอีก 3 ชีวิต พ่อกับแม่ของเด็กๆ ทิ้งลูกไปทำงานในกรุงเทพฯเช่นเดียวกับอีกหลายๆ ครอบครัว ประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่จึงมีแต่เด็กและคนชรา

ช่วงขณะนั้น ในหมู่บ้านเต็มไปด้วยจักจั่นส่งเสียงร้องระงมไปทั่ว และสำหรับเด็กๆ ที่นั่น การจับจักจั่นก็เป็นความเพลิดเพลินอีกอย่างหนึ่งของชีวิตลูกทุ่ง แถมจับมาแล้วยังเอามาคั่วกินได้อีก เขาเองด้วยความที่อยากหากิจกรรมทำกับน้องๆ เลยออกตัวไว้กับน้องร่วมบ้านทั้งสามว่าถ้ามีโอกาสขอติดตามออกไปไล่จับจักจั่นด้วยคน

โอกาสนั้นมาถึงในเย็นวันนั้นเอง เมื่อเด็กน้อยน้อยวัย 6 ขวบเดินเข้ามาชวนเขาออกไปจับจักจั่นด้วยกัน

อุปกรณ์สำหรับจับจักจั่นไม่มีอะไรมาก ใช้ถุงพลาสติกผูกติดไว้ที่ปลายด้านหนึ่งของไม้ขนาดยาวพอเหมาะ และเอาปุยนุ่นจากต้นนุ่นที่ขึ้นอยู่ทั่วหมู่บ้านใส่ไว้ข้างใน เด็กน้อยบอกว่าใส่ไว้เพื่อป้องกันจักจั่นบินออกจากถุงหลังจากที่เราครอบมันได้แล้ว เขากับเด็กน้อยร่วมกันออกตะลุยตามล่าเจ้านักดนตรีตัวจ้อย โดยเด็กน้อยทำหน้าที่เป็นพรานนำทาง ส่วนเขาคอยระวังหลังและช่วยมองหาว่าต้นกำเนิดของเสียงร้องนั้นมันอยู่ตรงไหน

เด็กน้อยพาเขาลัดเลาะไปเกือบทั่วหมู่บ้าน เข้าหน้าบ้านนี้ออกหลังบ้านนั้น จากขนุนต้นนี้ย้ายไปหมากต้นนั้น จากทางเดินเตียนๆ เด็กน้อยก็พาเข้าไปลุยในดงหนามไผ่ (ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่รองเท้า) และหากในระหว่างทางพอมีอะไรพอให้เก็บใส่ปากได้ก็แวะพักชิมกันพอชื่นใจ แดดอ่อนๆ ยามเย็นทำให้บรรยากาศรอบหมู่บ้านดูสวยงามเพลินตา หลายๆ บ้านกำลังเตรียมอาหารเย็น ได้ยินเสียงครกเสียงสากกำลังบรรเลงบทเพลงแห่งชีวิต บางบ้านก็กำลังจับกลุ่มนั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประจำวัน และเด็กๆ ส่วนใหญ่กับพี่ๆ นักศึกษารวมตัวกันอยู่ที่บึงน้ำที่อยู่ติดกับหมู่บ้าน

ดวงตะวันเริ่มคล้อยต่ำลง ในขณะที่เขาเริ่มสงสัยว่าทำไมจึงรู้สึกสนุกกับการจับจักจั่นได้ถึงเพียงนี้ เขาเพลิดเพลินกับการได้วิ่งสำรวจความเป็นไปของชีวิตที่นี่โดยไร้ซึ่งความวิตกกังวลใดๆ มารบกวน ณ ช่วงเวลานั้นเขารู้สึกเหมือนตัวเองได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เป้าหมายที่จะจับจักจั่นให้ได้เลือนหายไปพร้อมๆ กับภาพความสนุกสนานในวัยเด็กที่ผุดขึ้นมาจากความทรงจำ ลำคลองที่เคยดำผุดดำว่าย การออกเดินทางเพื่อค้นหาสมบัติในสวนกล้วยน้ำว้า จักรยานคู่ใจกับเพื่อนร่วมแก็ง วันนัดดวลปลากัด บ้านบนต้นไม้ หรือไม้แขวนเสื้อที่ทิ้งรอยแดงไว้บนแก้มก้น

แล้วจู่ๆ ดวงตาเขาก็พร่ามัวด้วยม่านน้ำที่เข้ามาบดบัง หนทางเบื้องหน้าหมองหม่น ความเศร้าจู่โจมเข้าสู่จิตใจโดยไม่รู้สาเหตุ ขับไล่ความร่าเริงจนหนีเตลิดไปพร้อมกับบรรยากาศยามเย็น

ทำไมเขาจึงไม่เคยรับรู้ความรู้สึกแบบนี้เลยในรอบหลายปีที่ผ่านมา

บางทีมันอาจยาวนานเกินไปจนกระทั่งเขาลืมไปแล้วว่าความรู้สึกที่กำลังสัมผัสอยู่นั้นมันคืออะไร และเมื่อมันย้อนกลับมาหาเขาอีกครั้ง เขาก็อ่อนแอเกินกว่าจะยอมรับว่าที่ผ่านมาเขาหรือความรู้สึกนั้นที่เป็นฝ่ายเดินจากไป เขาถามตัวเองว่าที่ผ่านมาไปทำอะไรที่ไหนมา? ชีวิตผ่านพบเจอสิ่งใดมาบ้างก่อนจะมาถึงวันนี้? เขากำลังมุ่งหน้าเดินไปสู่แห่งหนใด? และทำไมความสุข ความเบิกบานจึงหายไปจากชีวิตเขาจนแทบหมดสิ้น?

เขาพยายามคิดหาคำตอบ แต่ดูเหมือนคำตอบจะล่องลอยอยู่เป็นเพื่อนสายลม เขาบอกตัวเองได้เพียงว่าชีวิตคงกำลังหลงทาง มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชีวิตจะไม่เคยสัมผัสกับความร่าเริงเบิกบานเช่นนี้มาก่อน

ยิ่งคิดก็ยิ่งเศร้า ทำไมอยู่ดีๆ ความเบิกบานก็หายไปจากชีวิตเรา ทิ้งไว้เพียงซากความทรงจำตกค้างอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ พอมาวันหนึ่ง เมื่อเราค้นพบว่าซากเหล่านั้นยังคงอยู่และเราต่างก็โหยหามันอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ทำได้ก็เหลือเพียงการไว้อาลัยให้กับชีวิตที่ผ่านเลยมา

หรือว่าพอร่างกายเราเติบใหญ่ หัวใจเราก็ยิ่งฝ่อเล็กลง


เย็นวันนั้น...

เขากับเด็กน้อยจับจักจั่นไม่ได้เลย เนื่องจากออกไปจับกันในเวลาเย็นแล้ว และเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นตัวจักจั่นได้ชัดเจน เขาบ่นว่าคงหมดโอกาสที่จะได้ชิมจักจั่นคั่วซะแล้ว เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงเวลาต้องโบกมืออำลา

เย็นวันต่อมา เขาเดินกลับมานั่งพักที่แคร่ใต้ถุนบ้านเหมือนทุกวัน แต่วันนี้มีถุงพลาสติกมัดปากถุงแน่นหนาวางอยู่บนแคร่ มองทะลุถุงไปก็เห็นจักจั่นหลายสิบตัวนอนกองรวมกันอยู่ในนั้น

จักจั่นคั่วทำให้รสชาติของอาหารในมื้อนั้นอร่อยเป็นพิเศษ เขากับเพื่อนนักศึกษาที่พักอยู่ด้วยกันอีกสามชีวิต จัดการกินมันจนหมด ตอบแทนน้ำใจของเพื่อนต่างวัยที่ทั้งชีวิตนี้อาจไม่มีโอกาสได้พบกันอีก


เขาล้มตัวลงนอนเหม่อมองแผ่นฟ้าเมื่อดวงตะวันเริ่มโรยแสง บรรยากาศยามเย็นทำให้จิตใจของเขาผ่อนคลายลงและเปิดโอกาสให้เขาได้ครุ่นคิดถึงช่วงชีวิตที่ผ่านเลยมา

เบื้องหน้าของเขาเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มันกำลังสะท้อนเงาของขุนเขาสีดำทะมึนที่อยู่ถัดออกไป เส้นขอบของขุนเขาสีดำตัดกับแผ่นฟ้าที่ฉาบทาสีแดงส้มเบื้องบน ให้ความรู้สึกราวกับกำลังชมงานศิลปะของจิตรกรนิรนาม ฝูงนกกำลังโผบินประดับฟากฟ้า และมวลหมู่แมลงเริ่มต้นบรรเลงบทเพลงยามสนธยา

เขาหวนคิดถึงเย็นวันนั้น...

อีกเนิ่นนานเพียงใด กว่าความรู้สึกแบบนั้นจะกลับคืนมา

Saturday, December 17, 2005

สรุปสาระสำคัญของ "เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์" หนังสือรวมบทความเล่มล่าสุดของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

“จราจลทางปัญญา” และ “เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” เป็นหนังสือรวมบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์ 2 เล่มหลังสุดของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ก่อนหน้านี้คือ การผ่านพ้นของยุคสมัย, ผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์, โลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโลก และถ้าหากไม่มีวันนั้น) หลังจากยุติบทบาทในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อปลายปี 2539 เสกสรรค์ก็กลับมารับหน้าที่คอลัมนิสต์อีกครั้งในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ เมื่อประมาณกลางปี 2543 “จลาจลทางปัญญา” นั้นครอบคลุมห้วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงต้นเดือนตุลาคม 2545 ในขณะที่ “เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2545 ก่อนจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2546

กล่าวสำหรับ เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์ ผลงานชิ้นล่าสุด บทความส่วนใหญ่นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ประจำวันเฉพาะหน้าที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่แปลก หากคนส่วนใหญ่จะเสพมันในฐานะความเคลื่อนไหวของห้วงขณะหนึ่งในความเป็นไปของบ้านเมือง หรือกระทั่งบางหมู่บางพวกอาจคิดว่ามันเป็นอีกความรื่นรมย์หนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ แต่จะมีซักกี่คนที่จะวิเคราะห์พิจารณาลึกลงไปกว่าเนื้อความที่ปรากฏอยู่ เพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเคลื่อนไหวดังกล่าว

ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต เสกสรรค์กลั่นกรองความเป็นไปในบ้านเมืองออกมาเป็นทัศนะที่เรียบง่ายคมคาย และหยั่งลึกถึงแก่นของปัญหา แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ร้อยกระหวัดกับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกจนนำมาสู่ปัญหาที่สังคมไทยกำลังพบเผชิญ

หากคุณจำเป็นต้องมีผู้มารายงานข่าวให้ฟังทุกเช้า อาวุธทางปัญญาชิ้นสำคัญชิ้นนี้จะทำให้สิ่งที่คุณรับรู้ไม่เป็นเพียงข้อความบนหน้ากระดาษอีกต่อไป

เนื้อหาของบทความใน เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์ อาจแบ่งได้เป็น 4 ปัญหาใหญ่ ตามที่เสกสรรค์ได้จัดหมวดหมู่ไว้คือ

1. ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ (Nation State) ในประเทศไทย

2. ปัญหาของการเมืองภาคประชาชน

3. ปัญหาเกี่ยวกับลูกหลานคนชั้นกลาง

4. ปัญหาความเสื่อมทรุดทางด้านจิตวิญญาณของคนไทยทั่วไป

โดยปัญหาทั้งหมดนี้มี ‘ทุนนิยมโลกาภิวัตน์’ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

สำหรับผู้ที่ติดตามผลงานของเสกสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง คงสามารถทำความเข้าใจถึงแนวคิดหรือวิธีการในการทำความเข้าใจโลกและชีวิตของเขาได้เป็นอย่างดี ด้วยกรอบคิดมุมมองที่ขยายกว้างในระดับองค์รวม เขาทำให้เราพบว่าในเหตุการณ์ปกติสามัญนั้นปิดซ่อนความหมายไว้อย่างมีนัยสำคัญ และเหตุการณ์ในระดับโลกไล่เรียงไปจนถึงเวิ้งฟ้าจักรวาลก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินกว่าหัวใจคน


ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ (Nation State) ในประเทศไทย

นับจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ดูเหมือนปัญหาเรื่องอธิปไตยของชาติจะเป็นเรื่องที่สังคมถกเถียงกันมากพอสมควร เนื่องจากรัฐบาลไทย เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยการเดินตามแนวทางของ IMF โดยเฉพาะกฎหมาย 11 ฉบับที่ IMF กดดันให้รัฐบาลไทยเขียนขึ้นมา ซึ่งไม่ว่าจะตีความว่าเป็นการ ‘ขายชาติ’ หรือไม่ก็ตาม “เนื้อหาหลักของมันก็คือต้องการแปรประเทศไทยให้กลายเป็นลานแข่งขันเสรีของทุนจากไหนก็ได้ โดยรัฐบาลไทยจะไม่อยู่ในฐานะปกป้องคุ้มครองทั้งผู้ผลิตหรือผู้บริโภคในประเทศไทยได้เลย” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.33) และการออกมาปฏิเสธกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติและปฏิเสธที่จะยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันก็สะท้อนถึงวิธีคิดและแนวทางของรัฐไทยในอนาคตได้ชัดเจน

อันที่จริงการรวมตัวกันเป็น ‘รัฐชาติ’ และการสถาปนา ‘ระบบทุนนิยมแห่งชาติ’ ตามแบบตะวันตก ก็คือปฏิกิริยาตอบสนองของประชาชนในโลกที่ถูกรุกรานจากกระแสล่าอาณานิคมในห้วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 การพัฒนาทุนนิยม และการสะสมทุนในกรอบของรัฐชาติดำเนินมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งสิ้นสุดยุคสงครามเย็น ตลาดโลกจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และบรรษัทข้ามชาติก็เริ่มขยายตัวเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเล็งเห็นช่องทางในการทำกำไร โดยพยายามทำลายเครื่องกีดขวางที่ถูกกำหนดขึ้นในยุคทุนนิยมแห่งชาติ

เสกสรรค์เห็นว่า รัฐไทยในปัจจุบันกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หนึ่งคือการใช้ตรรกะเหตุผลแห่งทุนมาแทนที่เหตุผลแห่งชาติจนเกือบจะสมบูรณ์ สองคือการที่รัฐไทยไม่เพียงมีลูกค้าทางการเมืองภายในประเทศเท่านั้น หากยังต้องเอา ‘ผลประโยชน์’ ของลูกค้าต่างประเทศมาพิจารณาด้วยเสมอ และดูเหมือนบัดนี้รัฐไทยจะเกรงใจลูกค้าภายนอกมากกว่าลูกค้าภายใน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ อุดมคติและอุดมการณ์เรื่องชาติของคนไทยก็กำลังเสื่อมทรุดลงเช่นกัน โดยมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในสังคมเป็นสาเหตุหลัก คนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนแรก ๆ ที่ถอนตัวออกจากสังกัดชาติ เนื่องจากพวกเขาคือผู้เปิดประตูรับการเข้ามาของทุนข้ามชาติตั้งแต่แรกและนำประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจฟองสบู่ “ในเมื่อผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาที่ดำเนินมาในนามชาติ ไม่รู้สึกผูกพันกับชาติเสียแล้ว มันก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกคนที่เหลือให้มายอมรับการเสียสละหรือพันธกิจต่าง ๆ เพื่อความเจริญเติบโตของชาติอีกต่อไป” (ประเทศไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย : บทสำรวจปัญหาและทางออก, ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2546, น.30)


ปัญหาของการเมืองภาคประชาชน

‘การเมืองภาคประชาชน’ คงจะเป็นสิ่งที่เสกสรรค์พูดถึงมาตลอดในช่วงหลายปีหลัง ในฐานะทางออกของระบอบประชาธิปไตยไทยและการขืนต้านการรุกคืบของกระแสทุนโลกาภิวัตน์ เขาเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ใช้อยู่ในเวลานี้นั้นยัง ‘ไม่พอเพียง’ สำหรับการดูแลสังคมโดยรวม เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันไม่อาจพึ่งกระบวนการทางการเมืองในสภาต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว หากจำเป็นต้องขยายกรอบประชาธิปไตยให้กว้างขึ้น เร่งขยายสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน เปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่ามีโอกาสได้ใช้อำนาจบางด้านโดยไม่ต้องต้องผ่านตัวแทน และกระตุ้นให้ผู้กุมอำนาจเลิกใช้ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นฐานความชอบธรรมในการตัดสินใจ หากต้องคำนึงถึงการสร้างฉันทามติ (Consensus) เพื่อเป็นความชอบธรรมในกระบวนการใช้อำนาจในเรื่องใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนบางหมู่เหล่า

เสกสรรค์ใช้พื้นที่ค่อนข้างมากในการอธิบายถึงความจำเป็นที่สังคมไทยและผู้กุมอำนาจรัฐจะต้องทำความเข้าใจกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาประธิปไตยของประเทศ ที่ยิ่งพัฒนา ก็ยิ่งดูเหมือนจะซ้ำเติมปัญหาให้หนักหน่วงซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

“...ความเจริญทางการเมืองไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการกระจายโอกาสในการมีส่วนร่วมที่จะกำหนดชะตากรรมของประเทศ กำหนดชะตากรรมของชุมชนที่ตัวเองสังกัด ตลอดจนกำหนดชะตากรรมของตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคล ทั้งนี้โดยมีรัฐบาลเป็นผู้จัดสร้างบรรยากาศและคอยประสานผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.62)

“กระจายอำนาจไม่ได้หมายความแค่การตั้งสถาบันผู้แทนขึ้นในท้องถิ่น หากหมายถึงการขยายสิทธิของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากร ขยายโอกาสที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย ซึ่งส่งผลกระทบถึงพวกเขา...” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.255)


ปัญหาเกี่ยวกับลูกหลานคนชั้นกลาง

ในฐานะของอาจารย์ที่คลุกคลีอยู่กับนักศึกษามาเป็นเวลานานนับสิบปี และในฐานะของพ่อที่มีลูกชายอยู่ในช่วงวัยรุ่น 2 คน ทำให้เสกสรรค์มองเห็นถึงปัญหาที่คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันกำลังพบเผชิญ เขาพยายามที่จะอธิบาย ทำความเข้าใจในสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งแสวงหาทางออกและกระตุ้นให้สังคมไทยเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

เสกสรรค์ย้อนอธิบายให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อลักษณะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ เขาชี้ว่าการต่อสู้ของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แต่ยังเป็นการต่อสู้กับการผูกขาดทางเศรษฐกิจของคนไม่กี่ตระกูลและต่อสู้กับการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยรัฐ ซึ่งปิดโอกาสการแสวงหาอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล ผลที่ได้ก็คือระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น นอกจากนี้ผู้คนยังมีโอกาสค้นหาอัตลักษณ์ของตนเองได้ตามความพอใจ

แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยมากขึ้น กระแสทุนโลกาภิวัตน์ซึ่งกลายเป็นพลังผลักดันให้ยกเลิกกฎเกณฑ์ระดับชาติที่ขัดขวางการเข้ามาสะสมกำไรของทุนสากล ผลักดันให้ทุกประเทศแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน และใช้กลไกตลาดตัดสินคุณค่าทั้งหมดของชีวิต เช่นนี้แล้วคนรุ่นใหม่ในยุคนี้จึงเติบโตขึ้นมาบนรากฐานของเศรษฐกิจและการเมืองที่ถือทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว (privatization) ไม่มีกฎเกณฑ์การใช้ชีวิต (deregulation) ส่วนในรูปการณ์จิตสำนึกก็ยังถอนตัวออกจากสังกัดส่วนรวมที่เรียกกันว่าชาติ และรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม (liberalization)

“ถามว่าเช่นนั้นแล้ว พวกเขาเหลืออะไรบ้างอันเป็นพื้นที่แสดงออกของตัวตน ตอบสั้น ๆ ก็คือ เหลือแค่เรือนร่างสังขารที่ปรุงแต่งกันไปอย่างไม่มีขอบเขตทิศทาง... ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภค กับสิ่งของที่ปรากฏอยู่ในตลาดสินค้าและบริการ” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.244)

เสกสรรค์เน้นว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาทั้งหมด ส่งผลสำคัญต่อความเสื่อมทรุดทางจิตวิญญาณของคนไทย โดยปรากฏชัดเจนในหมู่ลูกหลานคนชั้นกลาง ซึ่งสะท้อนว่าการได้เปรียบในเชิงโครงสร้างไม่ได้ช่วยให้มนุษย์วิวัฒน์ไปสู่ขั้นตอนที่สูงขึ้นในด้านจิตใจและจิตวิญญาณเสมอไป เขาเชื่อว่า การเสื่อมสลายของจินตภาพในเรื่อง ‘ส่วนรวม’ ของสังคม ซึ่งเคยประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนรุ่นเก่า ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันเลิกยึดถือในเรื่องผิดถูก และการมีชีวิตรวมหมู่ไม่ว่าจะในสังกัดไหน ๆ รวมทั้งจงใจเพิกเฉยต่อสำนึกทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่เห็นทั้งคุณค่าและความสำคัญ

การขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนหนุ่มสาว คงเป็นสิ่งที่ค้างคาใจเสกสรรค์มากที่สุดจนนำมาสู่การตั้งชื่อของหนังสือรวมบทความเล่มนี้ เขาเห็นว่าการขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์จะนำไปสู่พฤติกรรมของผู้คนที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น เนื่องจากไม่มีสำนึกของการเป็นพวกเดียวกันหลงเหลืออยู่ อีกทั้งยังไม่มีใครถือว่าตัวเองมีหน้าที่สืบทอดรักษาและพัฒนาสิ่งดี ๆ ที่มีมา

“สุดท้าย การไม่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์ทำให้เราไม่มีจุดหมายทางยุทธศาสตร์สำหรับขับเคลื่อนสังคมที่ตนเองสังกัด หากจะมีก็แค่กลยุทธ์ในการค้นหาความอยู่รอดไปวัน ๆ” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.57)


ปัญหาความเสื่อมทรุดทางด้านจิตวิญญาณของคนไทยทั่วไป

เช่นเดียวกับทั้ง 3 ปัญหาข้างต้น กระแสทุนโลกาภิวัตน์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตปัญหาให้กับสังคมไทย

รัฐไทยที่เริ่มต้นการพัฒนาประเทศในแนวทางทุนนิยมแบบตะวันตกในปี 2504 ยังคงยึดถือแนวทางดังกล่าวจวบจนกระทั่งปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่จะทำตัวสนิทแนบแน่นกับกระแสทุนนิยมโลกมากขึ้น ตลอดระยะเวลา 40 ปีของการพัฒนา ผลสรุปที่ได้ในตอนนี้ก็คือ เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างสุดขั้วในสังคมไทย สังคมไทยถูกแบ่งออกเป็นสังคมที่ได้เปรียบและเสียเปรียบจากการพัฒนา และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งถ่างห่างออกไปมากขึ้นทุกวัน

แต่สรุปรวมความแล้ว ทั้งคนรวยและคนจนต่างก็ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยมเหมือน ๆ กัน การพัฒนาพลังการผลิตของโลกทุนนิยมนั้น จำเป็นต้องอาศัยลัทธิบริโภคนิยมเป็นกลไกในการเปิดพื้นที่ให้การผลิตขยายตัว และเมื่อการผลิตดำเนินมาสู่ภาวะล้นเกินก็ย่อมเรียกร้องให้เกิดการบริโภคที่ล้นเกิน เพื่อรักษาความอยู่รอดของระบบ ดังนั้น กระบวนการกระตุ้นการบริโภคจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ระบบยังคงดำเนินต่อไป

“ภายใต้ลัทธิบริโภคนิยมดังกล่าว ผู้คนจะถูกกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอยในเรื่องเครื่องแต่งกายมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม เสียเงินไปกับสิ่งประเทืองลิ้นมากกว่าอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เสียค่าโทรศัพท์มากมายเพื่อจะพูดถ้อยคำที่ว่างเปล่า ยังมิพักต้องเอ่ยถึงการสะสมของใช้ที่ได้มาจากการลดแลกแจกแถม มากกว่าเจตนาใช้สอยมันอย่างแท้จริง ฯลฯ” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.37)

เสกสรรค์เห็นว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมากระตุ้นให้คนเรายึดติดกับเปลือกนอกของชีวิตมากเกินไป เราแยกการศึกษาออกจากศีลธรรม และตัดขาดมิติทางด้านจิตวิญญาณออกจากวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง


“เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” อาจถือได้ว่าเป็นการทำให้แนวคิดของเสกสรรค์ที่เขาพยายามนำเสนอในระยะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “วิหารที่ว่างเปล่า” เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากยิ่งขึ้น ทุก ๆ ปัญหา ทุก ๆ เรื่องราวที่เขากล่าวถึง ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากหลักการพื้นฐานเดียวกัน นั่นคือความคิดความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง หากยังถือสังกัดอยู่กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นับตั้งแต่ครอบครัวไล่เรียงไปถึงจักรวาลเอกภพ และการดำรงอยู่ของมนุษย์ไม่อาจแยกขาดจากมิติที่อยู่ภายใน “...จิตวิญญาณเป็นสิ่งสำคัญของการเกิดเป็นคน และการเติบโตทางจิตวิญญาณเป็นจุดหมายอย่างหนึ่ง กระทั่งอาจจะเป็นจุดหมายสำคัญที่สุดของการดำรงอยู่บนพื้นพิภพแห่งนี้

“แน่นอน ผมไม่ได้ปฏิเสธความเจริญทางวัตถุ ในกรณีที่มันช่วยแก้ปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิต และในขอบเขตที่มันเกื้อหนุนสันติสุขทางสังคม

“แต่ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การก่อเกิดของมนุษย์เรา ไม่ว่าในฐานะของปัจเจกบุคคลหรือในฐานะของมนุษยชาติ ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมร้อยกับการดำรงอยู่ของเอกภพ... และการเติบโตไปสู่ความเข้าใจในสัมพันธภาพข้อนี้ คือสันติสุขแท้จริงของการเกิดเป็นคน คือความหมายแท้จริงของการก่อเกิดและการผ่านพ้น... คือการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตเฉพาะส่วนเพื่อค้นหาส่วนทั้งหมดของตัวตน” (ตัวตนและจิตวิญญาณ, น.204-205)

พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548

Friday, December 16, 2005



Nobody Knows: เราต่างเดียวดายอยู่บนโลกเหมือนๆ กัน


ในฐานะนักดูหนังมือใหม่ ผมยังไม่มีโอกาสได้ดูผลงานของผู้กำกับ ฮิโรคาสุ โคริเอดะ (Hirokazu Kore-eda) มาก่อน แต่เมื่อได้ดูผลงานชิ้นล่าสุดของเขาเรื่องนี้ ผมก็สัญญากับตัวเองไว้ว่าจะต้องหาผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขามาดูให้ได้ (Moborosi, After Life และ Distance)

โคริเอดะได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้จากเรื่องจริงที่ตกเป็นข่าวเกรียวกราวในญี่ปุ่นเมื่อปี 1988 เมื่อพี่น้องหญิงชาย 4 คนซึ่งกำพร้าพ่อตั้งแต่เกิด ถูกแม่ทิ้งให้อยู่กันตามลำพังในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว โดยที่โลกภายนอกไม่เคยรับรู้ถึงความมีตัวตนของพวกเขาเลยตั้งแต่เล็กจนโต เนื่องจากแม่ไม่เคยพาพวกเขาไปแจ้งเกิด ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนในโรงเรียน ไม่ว่าที่ใดก็ตาม

ทั้ง 4 พี่น้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันยาวนานถึง 6 เดือน กว่าที่โลกภายนอกจะรับรู้เรื่องราวของพวกเขา

ในหนังเรื่องนี้ โคริเอดะใช้กล้องแฮนด์เฮลด์ในการถ่ายทำเพื่อสื่อถึงความสมจริงตามลักษณะของหนังกึ่งสารคดีที่เขาถนัด รวมทั้งใช้การโคลสอัพช่วยในการสื่อสารทางอารมณ์ โดยเฉพาะสีหน้าและแววตาของเด็กๆ

ผมชอบวิธีการนี้มาก เพราะทุกครั้งที่ภาพจับไปที่ใบหน้าของเด็กแต่ละคน นอกจากความน่ารักที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาในแต่ละสถานการณ์ก็สามารถส่งผ่านมาถึงคนดูได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องอาศัยคำพูดที่ล้นเกิน

แววตาของ ยูยะ ยากิระ ที่รับบทเป็นอากิระ พี่ชายคนโตวัย 12 ปี น่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากที่สุด อากิระเป็นคนแบกโลกของน้องๆ อีก 3 คนที่เหลือไว้ในยามที่แม่ไม่อยู่ แววตาของยูยะบ่งบอกชัดว่า ไม่ว่าโลกจะเล่นตลกกับเขาแค่ไหน เขาก็พร้อมที่จะยืนหยัดฝืนต้านมันเสมอ มันไม่บ่งบอกว่าเขากำลังสุขหรือเศร้า มีหวังหรือสิ้นหวัง แต่มันเป็นเพียงแววตาของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังเรียนรู้และทำความเข้าใจกับชีวิต และคงเป็นเพราะแววตาเช่นนี้เองที่มีส่วนส่งให้เขาเป็นม้ามืดคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2547 ไปครอง

เรื่องราวของ Nobody Knows เริ่มต้นเมื่อคุณแม่พาลูกๆ ทั้ง 4 คนย้ายเข้าอพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ เหตุการณ์ในครอบครัวดูเหมือนจะเรียบร้อยและมีความสุขดี (ถึงแม้จะต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่บ้าง เพราะเจ้าของไม่ต้องการให้มีเด็กเล็กเข้ามาพัก) อากิระ ทำหน้าที่ดูแลน้อง ๆ และความเรียบร้อยภายในห้องพักแทนแม่เวลาที่แม่ไม่อยู่ แต่เมื่อไหร่ที่แม่กลับมาอยู่พร้อมหน้า ภาพความรักความอบอุ่นในครอบครัวก็จะปรากฏขึ้นเสมอ

แต่แล้วจู่ ๆ แม่ก็จากพวกเขาไป โดยทิ้งเงินไว้จำนวนหนึ่งและคำฝากฝังให้อากิระช่วยดูแลน้องแทนแม่

ครับ ต่อจากนี้หนังก็จะพาเราไปสัมผัสกับชีวิตในห้องพักเล็ก ๆ ของเด็ก 4 คน มีเพียงอากิระเท่านั้นที่สามารถออกไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระในขณะที่คนอื่นๆ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หรือไม่ก็ต้องโกหกเจ้าของห้องพักว่าเป็นญาติที่มาพักอยู่ชั่วคราว ฉากที่อากิระพาน้องๆ หลบออกมาวิ่งเล่นข้างนอกพร้อมกันเป็นครั้งแรก ไม่เพียงแสดงถึงการปลดปล่อยตัวเองจากห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ หรือของเล่นที่แสนจะจำเจของพวกเด็กๆ เท่านั้น แต่ผมเชื่อว่าความรู้สึกของคนดูก็คงจะได้รับการปลดปล่อยไปพร้อมๆ กัน หลังจากร่วมชะตากรรมกับเด็กๆ อยู่ในห้องแคบๆ มาระยะหนึ่ง

ใครที่ได้ดูหนังก็คงรู้สึกไม่ต่างกันว่าโลกที่แท้จริงของเด็กทุกคนนั้นอยู่ภายนอก พวกเขาล้วนต้องการพื้นที่สำหรับวิ่งเล่นและแสดงออกซึ่งความรู้สึกภายใน เท้าของเขาควรจะได้สัมผัสกับพื้นดิน ผิวหนังของเขาควรจะได้รับการห่มคลุมด้วยสายลมและแสงแดด และที่สำคัญคือ จิตใจของเขาควรจะได้รับการทะนุถนอมทั้งจากผู้ใหญ่และสิ่งแวดล้อมรอบกาย

ผมไม่แน่ใจว่าโคริเอดะต้องการบอกอะไรจากต้นไม้ที่เด็กๆ ช่วยกันปลูกไว้ที่ระเบียงห้อง ผมไม่รู้ว่าทำไมการได้ออกมาวิ่งเล่นข้างนอกครั้งแรก พวกเขาจึงเก็บเอาดินและเมล็ดพืชไปปลูกต้นไม้ มันอาจเป็นเพียงความทรงจำในวัยเด็กของโคริเอดะที่ได้ปลูกต้นไม้ส่งครูในสมัยเรียนชั้นประถม หรืออาจเป็นเพราะโลกของเด็กๆ ในเรื่องนั้นโดดเดี่ยวและแห้งแล้งเกินไป

โคริเอดะไม่ได้ทำร้ายคนดูไปมากกว่านี้ด้วยการซ้ำเติมเรื่องร้ายๆ ให้กับเด็กๆ จากสังคมภายนอก กลับกัน เขาพยายามแสดงให้เห็นถึงความช่วยเหลือที่อากิระได้รับจากผู้คนรอบข้าง เป็นความเอื้ออารีที่ผู้คนพอจะมีให้กันได้บ้างในขณะที่การต่อสู้ของแต่ละคนยังต้องดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าโคริเอดะก็ได้ซ่อนพิษภัยจากสังคมภายนอกไว้มากพอสมควร หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่าทั้งอากิระ, เคียวโกะ, ชิเกรุ และยูกิ ต่างก็ต้องได้พบกับสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าพวกเขาจะมีหรือไม่มีพ่อและแม่ก็ตาม ทั้งวิดีโอเกมที่ผลาญเวลาของเด็กๆ ไปอย่างไร้คุณค่า การต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน หรือการหาเงินด้วยวิธีการง่ายๆ ของเด็กนักเรียนหญิง

ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของเด็กๆ จะเป็นอย่างไรต่อไป เช่นเดียวกับเราทุกคนที่ต่างก็ก้าวย่ำไปบนหนทางที่ไม่มีใครรู้ว่าจะนำไปสู่แห่งหนใดเหมือนๆ กัน

Thursday, December 15, 2005

Goodbye, Lenin!: สวัสดี, โคคา โคล่า!


1

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1945 แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ แห่งสหรัฐฯ, โจเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียตและ วินสตัน เชอร์ชิล แห่งสหราชอาณาจักร ประชุมทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารเยอรมัน โดยแบ่งเยอรมันออกเป็น 3 เขตการปกครองสำหรับการยึดครองของทั้ง 3 ประเทศ มีเบอร์ลินเป็นศูนย์กลางการบริหารและกำหนดให้มีเขตการปกครองที่ 4 หากฝรั่งเศสต้องการ โดยใช้พื้นฐานจากเส้นเขตแดนที่มีอยู่ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 1937 โดยไม่รวมเขตแดนที่ฮิตเลอร์ผนวกรวมไว้ทั้งในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พื้นที่ในเขตตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต เขตตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร เขตตะวันตกเฉียงใต้เป็นเขตการปกครองของสหรัฐฯ และยอมให้รัฐบาลเฉพาะกาลของฝรั่งเศสเข้าร่วมปกครองในด้านทิศใต้ค่อนไปทางตะวันตกซึ่งติดกับฝรั่งเศส

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โลกก็เดินทางเข้าสู่สภาวะของสงครามเย็น ยุโรปถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือค่ายโลกเสรีกับค่ายโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเยอรมันทั้งประเทศ

ในวันที่ 21 กันยายน 1949 รัฐสภาของชาติมหาอำนาจตะวันตกยินยอมให้มีการสถาปนาเขตยึดครองทั้งหมดขึ้นเป็นประเทศโดยสมบูรณ์ เรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (The Federal Republic of German) หรือเยอรมันตะวันตก ในขณะที่สหภาพโซเวียตก็ประกาศให้เยอรมันทางภาคตะวันออกเป็นเขตการปกครองของตนและสถาปนาเยอรมันในส่วนนี้ขึ้นเป็นประเทศ เรียกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (The German Democratic Republic) หรือเยอรมันตะวันออก ในวันที่ 11 ตุลาคม 1949 โดยใช้ระบอบสังคมนิยมตามอย่างสหภาพโซเวียตในการปกครอง ประชาชนสี่ล้านคนถูกกีดกันการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวด วิถีชีวิตในทุกๆ ด้านถูกควบคุมโดยอำนาจเผด็จการ

สำหรับเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกแบ่งแยกและมีสถานะพิเศษเป็นศูนย์รวมของกองบัญชาการผสมของทั้ง 4 ชาติมหาอำนาจ แต่ปัญหาก็คือ เยอรมันตะวันออกต้องการมีสิทธิปกครองเบอร์ลินแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยเห็นว่าพื้นที่ของเบอร์ลินอยู่ในเขตตะวันออก ขณะที่ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกเองก็ไม่ต้องการสูญเสียเขตปกครองของตนในเบอร์ลินไป ในเดือนมิถุนายน 1948 สหภาพโซเวียตก็ประกาศนโยบายปิดกั้นเบอร์ลิน (The Berlin Blockade) ห้ามการคมนาคมทุกชนิดจากฝั่งตะวันตกผ่านเข้าสู่เบอร์ลิน แต่ฝ่ายตะวันตกก็แก้ปัญหาโดยการใช้เครื่องบินลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคไปส่งให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกตลอดระยะเวลา 11 เดือน ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะยุติการปิดกั้นเพราะเสียเปรียบทั้งด้านกำลังอาวุธและการขาดพันธมิตร

ในเดือนสิงหาคม 1964 เมื่อชาวเยอรมันตะวันออกเริ่มหลบหนีจากสภาพชีวิตที่แร้นแค้นไปยังเยอรมันและเบอร์ลินตะวันตกมากขึ้น รัฐบาลเยอรมันตะวันออกจึงสร้างกำแพงเบอร์ลินกั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันตกและตะวันออก ตัดขาดความสัมพันธ์ในทุกๆด้านของประชาชนทั้งสองฝั่งออกจากกัน ก่อนที่มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสภาวะสงครามเย็นในเวลาต่อมา


2

เบอร์ลินตะวันออกในฤดูร้อนปี 1978 อเล็กซ์ เคอร์เนอร์ วัย 11 ปีกับ อาริแอน พี่สาว กำลังนั่งชมการถ่ายทอดการปฏิบัติภารกิจในยานอวกาศโซยูส 31 ของซิกมันด์ จาห์น (สเตฟาน วาลซ์) ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน (ตะวันออก) คนแรกที่ได้ขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ เขากลายเป็นฮีโร่ของเด็กๆ และเป็นผู้นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวเยอรมันตะวันออกทุกคน

ในขณะเดียวกัน คริสติอาเน่ (คาทริน ซาซ) แม่ของเด็กทั้งสองก็กำลังคุยเรื่องสามีของเธออยู่กับชายแปลกหน้า เธอร้องไห้และบอกกับลูกๆ ว่าพ่อของพวกเขาหนีไปอยู่ในเยอรมันตะวันตกแล้ว หลังจากนั้นเธอก็ล้มป่วยและอยู่ในอาการหดหู่ ซึมเศร้า ไม่ยอมพูดจากับใครจนต้องถูกส่งตัวเข้าไปรับการบำบัดทางจิตเป็นเวลา 8 เดือนเต็ม

หลังจากที่อาการของเธอดีขึ้น เธอก็ตัดสินใจที่จะอุทิศแรงกายแรงใจให้กับการทำงานเพื่อพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งกลายเป็นที่พึ่งเดียวและที่พึ่งสุดท้ายสำหรับเธอ จากการทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อพรรค คริสติอาเน่ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติในฐานะที่เป็นแกนนำความคิดทางสังคมนิยมชั้นสูง และกลายเป็นที่พึ่งของเพื่อนบ้านและประชาชนในการเรียกร้องสิทธิของพลเมือง

ฤดูใบไม้ร่วงปี 1989 อเล็กซ์ (เดเนียล บรูห์ล) ทำงานอยู่ในร้านซ่อมโทรทัศน์ เขาไม่ได้เลื่อมใสในระบอบสังคมนิยมเหมือนกับแม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใส่ใจกับประชาธิปไตยในฝั่งตะวันตกมากนัก เขาดำรงชีวิตในฐานะหนุ่มโสดการศึกษาระดับปานกลาง ที่มีหน้าที่เพียงทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว อเล็กซ์เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาปัญญาชนและคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะของคนรุ่นเดียวกันและในสภาวะที่บ้านเมืองยังไม่มีสถานบันเทิงให้คนหนุ่มอย่างเขาได้ปลดปล่อย

เขาถูกจับในระหว่างที่ตำรวจเข้ามาสลายการเดินขบวน พร้อมๆ กับที่แม่ของเขามาเห็นเข้าพอดี

เธอเป็นลมล้มพับไปต่อหน้าต่อตาลูกชาย และอยู่ในอาการโคม่าจากภาวะหัวใจวาย จนต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาอีก 8 เดือน!


3

ถึงแม้เยอรมันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ แต่ความรู้สึกของความเป็นชาติเยอรมันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้ ความพยายามในการรวมประเทศโดยสันติวิธีจึงยังคงมีอยู่เสมอมา นับตั้งแต่ คอนราด อเดนาวร์ ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตกในปี 1949

ความเป็นไปได้ในการรวมประเทศเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นในทศวรรษ 1980 เมื่อบรรยากาศทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียตเริ่มผ่อนคลายลง และประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจแทนการแข่งขันด้านอุดมการณ์และการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมภายในสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกัน กอร์บาชอฟก็มีนโยบายเปิดกว้าง ยินยอมให้สมาชิกในยุโรปตะวันออกมีเสรีภาพในการเลือกและตัดสินในด้วยตนเองในการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและเศรษฐกิจของตน โดยสหภาพโซเวียตจะไม่ใช้กำลังเข้าแทรกแซง

การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเริ่มมีขึ้นในปลายปี 1989 จนในที่สุดกอร์บาชอฟก็ประกาศให้ประเทศในยุโรปตะวันออกมีสิทธิในการตัดสินใจที่จะดำเนินกิจการภายในด้วยตนเอง (self-determination) มีเสรีภาพในการเลือก (freedom of choice) ระบอบการปกครองและระบอบเศรษฐกิจของตน

ในเดือนตุลาคมปี 1989 ชาวเยอรมันตะวันออกได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสังคมนิยม (SED) เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสังคมนิยมเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้มีการรวมเยอรมันทั้งสองประเทศเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน การเรียกร้องดังกล่าวสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อรัฐบาลของ อิริค โฮเนคเกอร์ ซึ่งบริหารประเทศมานานถึง 18 ปีและมีท่าทีแข็งกร้าวต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย อีกทั้งยังต่อต้านการรวมประเทศ แต่ในที่สุด โฮเนคเกอร์ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งในกลางเดือนตุลาคม ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่ของเอกอน เครนซ์ (Econ Krenz) จะเปิดกำแพงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989


4

ในขณะที่คริสติอาเน่นอนไม่ได้สติอยู่ในโรงพยาบาล โลกรอบตัวเธอก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปจนสุดที่เธอจะจินตนาการได้ พรรคคอมมิวนิสต์ที่เธอเทิดทูนถึงการล่มสลาย และกำแพงเบอร์ลินที่เคยเป็นปราการกั้นกระแสอันเชี่ยวกรากของลัทธิทุนนิยมก็ถูกทำลายลง ผู้คนจากฝั่งตะวันตกและตะวันออกของเบอร์ลินสามารถเดินทางติดต่อกันได้ตามปกติอีกครั้ง ขณะที่กระแสทุนนิยมจากฝั่งตะวันตกก็ไหลบ่าสู่ฝั่งตะวันออกทั้งในรูปของอาหาร เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คน

อเล็กซ์เปลี่ยนอาชีพจากช่างซ่อมโทรทัศน์ไปเป็นช่างติดตั้งจานดาวเทียม อาริแอน (มาเรีย ซิมอน) พี่สาว ก็ตัดสินใจเลิกเรียนไปทำงานอยู่ในร้านเบอร์เกอร์ คิง และมีแฟนเป็นชายหนุ่มจากฝั่งตะวันตก ขณะที่วีรบุรุษนักบินอวกาศกลับกลายไปเป็นคนขับรถแท็กซี่

แต่ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อคริสติอาเน่ฟื้นคืนสติ แต่หมอที่ทำการรักษาเตือนอเล็กซ์ว่าหากแม่ของเขาเกิดอาการช็อกและหัวใจวายอีกครั้ง คราวนี้มันจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแน่นอน อเล็กซ์ตัดสินใจนำแม่ของเขากลับมาอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ เพราะเกรงว่าหากอยู่ที่โรงพยาบาลแม่จะต้องรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงและอาจช็อกไปอีก

อเล็กซ์จัดการตกแต่งอพาร์ตเมนต์ด้วยเฟอร์นิเจอร์ย้อนยุคสมัยเมื่อครั้งพรรคคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ เปลี่ยนสีวอลเปเปอร์ ประดับห้องนอนของแม่ด้วยภาพของเช กูวารา บังคับให้พี่สาวเปลี่ยนไปสวมชุด (ที่อาริแอนบอกว่าเชย) แบบเดิมเมื่ออยู่ในห้องของแม่ หาอาหารยี่ห้อดั้งเดิมที่ผลิตจากฝั่งตะวันออกเท่านั้น (ซึ่งในซุปเปอร์มาเก็ตโละออกจากชั้นหมดแล้ว) หรือไม่ก็ไปค้นขวดหรือซองสินค้าในระบอบเก่าจากถังขยะมาล้าง แล้วเอาของใหม่ใส่แทน

อเล็กซ์พยายามรักษาบรรยากาศภายในอพาร์ตเมนต์ให้เหมือนเดิมมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปิดกั้นสัญลักษณ์แห่งทุนนิยมที่อยู่ภายนอกไม่ให้แม่ได้รับรู้ โดยเฉพาะป้ายโฆษณาทั้งหลายที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะต้องเจอ และในที่สุด อเล็กซ์ก็ได้เรียนรู้ว่าสื่อที่มีพลังมากที่สุดก็คือโทรทัศน์ที่เขาคลุกคลีมาตลอดทั้งชีวิต

เขากับเดนิสเพื่อนสนิท ช่วยกันทำข่าวทางโทรทัศน์ฉายให้แม่ดูแต่เพียงผู้เดียว เพื่ออธิบายในสิ่งที่แม่ได้เห็น เช่น เมื่อแม่ของเขาเห็นผืนผ้าโฆษณาเครื่องดื่มโคคา-โคล่าขนาดมหึมานอกหน้าต่าง วันต่อมาอเล็กซ์กับเพื่อนก็จัดการทำข่าวว่าแท้จริงแล้ว โคคา-โคล่าคิดค้นขึ้นโดยคนจากฝั่งตะวันออก และตอนนี้โลกตะวันตกได้คืนลิขสิทธิ์มาให้แล้ว หรือที่แม่เห็นคนจากฝั่งตะวันตกเข้ามาเดินอยู่เต็มถนนก็เพราะพวกเขาบอกลาระบบทุนนิยมแล้ว ขณะที่ฝั่งตะวันออกก็อ้าแขนรับพวกเขาเต็มที่!

แต่ท่ามกลางความพยายามสร้างฉากแห่งความจริงของอเล็กซ์ สิ่งหนึ่งที่เขาไม่รู้ก็คือ คริสติอาเน่เองก็มีความจริงหลบซ่อนอยู่เช่นกัน

Goodbye, Lenin! เสียดเย้ยการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอุดมการณ์ได้อย่างถึงใจ จนสามารถกวาดรายได้ถล่มทลายในเยอรมันและหลายประเทศในยุโรป หนังไม่ได้ให้เพียงอารมณ์ตลกขบขันธรรมดา แต่ยังแฝงแนวคิดที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเยอรมัน และอาจรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เคยอยู่ใต้ร่มเงาคอมมิวนิสต์


5

เมื่อถึงคราวที่เลนินจำต้องโบกมืออำลา

เราจะเลือกกล่าวต้อนรับใครดี...

จอร์จ ดับเบิลยู บุช! หรือ ทักษิณ ชินวัตร!



Genre Comedy, Drama

Category Feature Film Cinema

Year of Production 2003

Director Wolfgang Becker

Principal Cast Alexander Beyer, Daniel Bruehl, Michael Gwisdek, Chulpan Khamatova, Burghart Klaussner, Florian Lukas, Katrin Sass, Maria Simon

Length 118 min, 3,245 m

Festival Screenings Berlin 2003 (in competition), Belgrade 2003, Moscow 2003, Karlovy Vary 2003 (Horizons), Toronto 2003 (Contemporary World Cinema), Pusan 2003, Rio 2003, Jerusalem 2003, Warsaw 2003, Sao Paulo 2003, Valladolid 2003, Tokyo 2003, Havana 2003, Sundance 2004, Shanghai 2004, Osaka 2005

Awards Blue Angel Award for Best European Film Berlin 2003, 8 German Film Awards 2003, German Screenplay Award 2003, FIPRESCI Award Belgrade 2003, Premi Internazionali Flaiano for Best Foreign Language Film & Best New Talent Pescara 2003, Special Jury Prize & Youth Award Valladolid 2003, 6 European Film Awards 2003, Goya 2003 for Best Foreign Film, Best Non-American Film from the Danish Film Critics' Society 2004, César for Best European Film 2004With backing from Filmfoerderungsanstalt (FFA), BKM, Filmboard Berlin-Brandenburg, FilmFernsehFonds Bayern, Filmstiftung NRW, MEDIA Program


ข้อมูลประกอบการเขียน

นันทขว้าง สิรสุนทร, "Goodbye, Lenin! 1 ใน 10 หนังตลก(ร้าย)แห่งปี", กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 มิถุนายน 2547

ทิพย์วรรณ เปี่ยมปัญญาศิลป์, การรวมประเทศเยอรมัน, สารนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาระหว่างประเทศและการทูต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534

รุ่งมณี เมฆโสภณ, "เพื่อแม่!", ผู้จัดการรายวัน วันที่ 3 สิงหาคม 2547

ฮูแบร์ตุส ซู เลอเวนสไตน์, ประวัติศาสตร์เยอรมัน, นิธิ เอียวศรีวงศ์ แปล, สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2511

ไตรภาคของมุสิก กับพื้นที่ลี้ลับบนหน้ากระดาษของฮารูกิ มูราคามิ

1

ขณะที่กำลังชมการแข่งขันเบสบอลระหว่าง ยาคูลต์ สวอลโลว์ กับ ฮิโรชิมา คาร์ป อยู่ในสนามจิงงุ จู่ๆ ชายหนุ่มวัย 29 ปีก็นึกอยากเขียนนวนิยายขึ้นมาอย่างกะทันหัน ปีต่อมา นวนิยายเล่มแรกของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ มันได้รับรางวัล Gunzo Shinjin Sho (Gunzo New Writer Award) และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่การเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับสากลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน

วันนั้นเป็นวันที่ 1 มกราคม 1978 ขณะที่ ฮารูกิ มูราคามิ ยังคงเป็นเจ้าของกิจการแจ๊ซคลับชื่อ Peter Cat ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเซนดากายาของโตเกียว เขาก่อตั้งมันขึ้นมาในปี 1974 หลังจากจบการศึกษาด้านการละครจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ และตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิตด้วยตัวเอง “ผมไม่ต้องการทำงานในบริษัท ผมต้องการทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ผมเปิดแจ๊ซคลับเล็กๆ ขึ้นในโตเกียวและดูแลมันอยู่ 7 ปี มันสนุกมาก”

มูราคามิใช้เวลาว่างหลังจากปิดร้านนั่งเขียนนวนิยายบนโต๊ะในห้องครัว Hear the Wind Sing (1979) และ Pinball, 1973 (1980) คือผลผลิตในช่วงเวลานั้น เขาเริ่มเป็นที่รู้จักของนักอ่านและนักวิจารณ์ ด้วยรูปแบบการเขียนที่ฉีกขนบการเขียนแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมจนแทบไม่เหลือเค้า กลิ่นอายของวัฒนธรรมตะวันตกที่อบอวลตั้งแต่ย่อหน้าแรกจนบรรทัดสุดท้าย และอารมณ์ความรู้สึกที่บาดลึกจิตวิญญาณของนักอ่านร่วมยุคสมัย

เขาตัดสินใจขายกิจการในปี 1981 และตัดสินใจดำรงชีวิตด้วยการเป็นนักเขียนเต็มตัว ในปีต่อมา A Wild Sheep Chase (1982) ก็ปรากฏต่อสายตาของนักอ่าน และคว้ารางวัล Noma Bungei Shinjin Sho (Noma Literary Award for New Writers)

มูราคามิเกิดที่เกียวโตในปี 1949 แต่ย้ายไปใช้ชีวิตในวัยเด็กที่โกเบ เมืองท่าสำคัญแห่งนี้เองที่เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสกับวรรณกรรมจากฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลั่งไหลผ่านมากับกะลาสีเรือขนส่งสินค้า ใน Hear the Wind Sing มูราคามิเล่าว่า จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้เกิดจากงานเขียนของดีเร็ก ฮาร์ตฟีลด์ ที่เขาได้อ่านตอนเรียนชั้นมัธยม “หากผมไม่ได้อ่านหนังสือของดีเร็ก ฮาร์ตฟีลด์ ผมก็คงไม่คิดอยากเขียนนิยาย ผมไม่อาจหยั่งทราบได้ แต่ก็แน่ใจว่าผมคงจะดำเนินชีวิตไปทิศทางอื่น แตกต่างไปจากชีวิตในปัจจุบัน” (สดับลมขับขาน, หน้า 139)

มูราคามิเติบโตมากับการอ่านนวนิยายต่างประเทศและไม่ใส่ใจนักกับวรรณกรรมญี่ปุ่น “ในทศวรรษ 1960 เมื่อครั้งผมยังเป็นวัยรุ่นอยู่ในโกเบ ผมพบว่าผมไม่ค่อยชอบนวนิยายญี่ปุ่น ดังนั้นผมจึงตั้งใจว่าจะไม่อ่านตั้งแต่นั้น ในเมื่อพ่อและแม่ของผมเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีญี่ปุ่น คุณจะเรียกผมว่าเป็นพวกขบถก็ได้”

วัฒนธรรมอเมริกันในญี่ปุ่นช่วงนั้นคึกคักมาก มูราคามิเองได้รับอิทธิพลจากทั้งดนตรี รายการโทรทัศน์ รถยนต์ เสื้อผ้า ฯลฯ เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นจะเทิดทูนบูชาวัฒนธรรมแบบอเมริกัน แต่ “มันหมายถึงการที่พวกเราเพียงแค่ชื่นชอบมันเท่านั้น มันสุกสว่างและแจ่มจรัสมาก จนบางครั้งดูราวกับว่ามันเป็นโลกแห่งความฝัน พวกเรารักโลกแห่งความฝันใบนั้น ในช่วงเวลานั้น มีแต่อเมริกาเท่านั้นที่จะทำแบบนี้ได้ ผมเป็นเด็กอายุ 13 หรือ 14 ปี อาศัยอยู่คนเดียวภายในห้อง ผมฟังเพลงแจ๊ซและร็อกแอนด์โรลล์ของอเมริกา ดูรายการโทรทัศน์ของอเมริกา และอ่านนวนิยายของอเมริกา”

ในขณะที่กำลังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย มูราคามิพยายามที่จะเขียนหนังสือ จากประสบการณ์การอ่านทั้งวรรณกรรมตะวันตกและบทภาพยนตร์ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัย ดูเหมือนเขาจะอุดมไปด้วยวัตถุดิบชั้นเยี่ยม “แต่ผมทำไม่ได้ เพราะผมยังขาดประสบการณ์ ผมเลิกเขียนหนังสือตอนอายุ 21 หรือ 22 ผมแค่ลืมมันไปเท่านั้น”

แต่ 7-8 ปีต่อมา ประสบการณ์ชีวิตของเขาคงได้เวลาสุกงอมเต็มที่ เขากล่าวถึง Hear the Wind Sing นวนิยายเล่มแรกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง แต่เล่าเรื่องด้วยรูปแบบที่ผู้อ่านไม่คุ้นเคย ในสไตล์ของ Kurt Vonnegut ผมได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Vonnegut และ Richard Brautigan พวกเขาสดชื่นมีชีวิตชีวามาก”

“เรื่องราวของชายหนุ่มกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวในทศวรรษ 1970 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้ากันทางวัฒนธรรม (age of the counterculture)” คือคำอธิบายของมูราคามิถึงปฐมบทแห่งไตรภาคของมุสิกเล่มนี้


2

“นักเขียนญี่ปุ่นส่วนมากมักจะหมกมุ่นอยู่กับความงามของภาษา ผมเลยอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน มีใครที่รู้จักความงามจริงๆ บ้าง ภาษาก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการสื่อสาร ผมอ่านงานของนักเขียนอเมริกัน นักเขียนรัสเซีย ผมชอบดิคเคนส์ ผมรู้สึกได้ว่ามันต่างจากงานของนักเขียนญี่ปุ่นมาก” (Publisher’s Weekly)

‘ผม’ กับ ‘มุสิก’ พบกันครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 1967 ขณะที่ทั้งคู่ยังเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย หลังจากเมาเบียร์จนแทบไม่ได้สติ มุสิกชวน ‘ผม’ ไปขับรถกินลมตอนตีสี่ ด้วยระดับความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถเฟียต 600 สีดำมันเลื่อมก็พุ่งผ่านพุ่มไม้ของสวนสาธารณะก่อนจะสงบนิ่งที่เสาหิน ทั้งคู่ดึงตัวเองออกจากซากรถ เดินไปซื้อเบียร์กระป๋องจากตู้หยอดเหรียญ แล้วล้มตัวลงซดเบียร์ที่ริมชายหาด ขว้างกระป๋องเปล่าลงทะเล ก่อนจะหลับใหลไปอีกชั่วโมงเศษ...

8 สิงหาคม 1970 ทั้งคู่นั่งซดเบียร์อยู่ในร้านเหล้าของ ‘เจ’ แหล่งพักพิงเกือบทั้งชีวิตของวันปิดภาคฤดูร้อน มุสิกนั่งเพ่งมือตัวเองที่วางกางอยู่บนเคาน์เตอร์ พินิจพิเคราะห์เหมือนย่างฝ่ามืออยู่บนเตาถ่าน ก่อนหน้านี้เขาสบถขับไล่คนรวยให้ไปกินขี้! ก่อนจะสรุปบทสนทนาประจำวัน“แล้วไง? ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนี่ ทุกคนต้องจบชีวิตในท้ายที่สุดอยู่แล้ว แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นก็มีเวลาห้าสิบขวบปีเต็มๆ ที่จะใช้ชีวิตให้มีค่า ข้าฯจะบอกอะไรให้เอ็งฟังสักอย่างนะ การใช้ชีวิตห้าสิบปีเต็มๆ ใช้หัว ใช้ความคิดในเรื่องหลากหลาย ดึงคุณค่าชีวิตออกมาให้เจิดจรัสสดใสยิ่งไปกว่าการมีอายุยืนยาวห้าพันปีโดยไม่มีความคิดอะไรในหัว ข้าฯพูดถูกไหม?” (สดับลมขับขาน, หน้า 20)

เรื่องราวของ สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 1970 ก่อนจะจบลงในวันที่ 26 สิงหาคมปีเดียวกัน—สิบแปดวันของบทบันทึกชีวิตวัยหนุ่มที่กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน—มูราคามิชักชวนผู้อ่านให้ร่วมเดินทางไปในโลกของ ‘ผม’ กับ ‘มุสิก’ โลกที่ดูเหมือนจะไม่กว้างใหญ่ไปกว่าบาร์เหล้า แต่ทั้งคู่รวมทั้งคนอื่น ๆ ต่างหลงทางอยู่บนถนนสายที่พาดผ่านหัวใจตนเอง

“สวัสดี...มิตรรักนักเพลงทั้งหลาย” เสียงดีเจรายการสายด่วนเพลงป็อปยอดนิยมของสถานี Radio NEB โผล่เข้ามาในตอนที่ 11 เขากล่าวต้อนรับผู้ฟังซึ่งเพิ่งผ่านพ้น 37 องศาเซลเซียสของวันด้วยน้ำเสียงคึกคักเช่นเคย

1 ทุ่มตรง—เวลาในขณะนี้— ‘ผม’ อาจนั่งอยู่บนเก้าอี้ปลายเคาน์เตอร์ในบาร์เหล้าของเจ และมุสิกอาจนั่งคิดโครงเรื่องนิยายอยู่ที่ไหนซักแห่ง

Rainy Night in Georgia ของ Brook Benton ขับกล่อมต้อนรับค่ำคืนอันยาวนานจนเสมือนไร้ที่สิ้นสุดของผู้คนบนโลก

I find me a place in a box car,

so I take my guitar to pass some time

Late at night when it's hard to rest

I hold your picture to my chest and I feel fine

……………

Oh, have you ever been lonely, people?

And you feel that it was rainin' all over this man's world

You're talking 'bout rainin', rainin', rainin', rainin',

rainin', rainin', rainin', rainin', rainin'

ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1972 ‘ผม’ กับเพื่อนเช่าคอนโดมิเนียมเพื่อเปิดศูนย์การแปลเล็กๆ ในโตเกียว ธุรกิจไปได้ดี มีงานให้ทำหลากรส แต่ ‘ผม’ ก็ยังเป็น ‘ผม’ “นับเดือน นานหลายปี ผมนั่งอยู่ที่นั่น โดดเดี่ยวเดียวดายในบ่อน้ำลึกหยั่งก้นไม่ถึง น้ำอุ่น กรองแสงเรื่อนวล ความเงียบ…เงียบงัน ความเงียบ…” (พินบอล, 1973, หน้า 44)

‘ผม’ เดินทางเข้าไปในอาณาจักรพินบอลในฤดูหนาวปี 1970 ตู้พินบอล ‘ยานอวกาศ’ แบบเดียวกับตู้ในบาร์เหล้าของเจดึงดูด ‘ผม’ ลงไปในหลุมมืดดำ “เธอยอดเยี่ยมเป็นที่สุด ตู้พินบอล ‘ยานอวกาศ’ ผมเข้าใจเธอและเธอก็เข้าใจผม เมื่อใดที่ผมกดปุ่มเริ่มเล่น เธอจะครางเสียงหวานออกมา ปรับช่องคะแนนให้ลดต่ำเป็นศูนย์ จากนั้น เธอยิ้มให้ผม ผมดึงสปริงดีดลูกออกมาเพียงไม่กี่เซนติเมตร ลูกบอลสีเงินวาววับไหลแล่นผ่านรางเข้าไปในสนามรบ ในระหว่างที่ลูกบอลกระดอนชนทุ่นกระดิ่งพล่านไปทั่วสนาม หัวของผมว่างเปล่าปลอดโปร่งเหมือนสูบกัญชาทั้งมัด” (พินบอล, 1973, หน้า 129)

เดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา เธอหายตัวไป ศูนย์เกมกลายเป็นร้ายขายโดนัต “ร้านประเภทที่เด็กสาวมัธยมปลายในชุดกะลาสีจะซื้อโดนัตไร้รสชาติ บนจานไร้รสนิยม ร้านนั้นกลายเป็นที่ชุมนุมของเด็กสาวมัธยมปลายผู้จอดจักรยานเรียงหน้าร้าน ร้านของคนขับแท็กซี่กลางคืน สาวบาร์ และพวกฮิปปีหลงยุค นั่งจิบกาแฟด้วยสายตาไร้ประกายสิ้นหวังในชีวิตดุจกัน” (พินบอล, 1973, หน้า 130)

‘ผม’ ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเลิกเล่นพินบอล ดำเนินชีวิตต่อไป แต่ในอีกสามปีถัดมา ตู้พินบอล ‘ยานอวกาศ’ ครีบเตะสามอัน รุ่นปี 1968 โดยกิลเบิร์ตและแซนด์ส, ชิคาโก อิลลินอยส์ เลื่องชื่อในฐานะตู้พินบอลเคราะห์ร้ายก็ “กระซิบเว้าวอน วันแล้ววันเล่า เธอส่งเสียงเพรียกเรียกหาผม” (พินบอล, 1973, หน้า 135)

แล้วปฏิบัติการค้นหาตู้พินบอลก็เริ่มต้นขึ้น


3

เดือนกรกฎาคม ปี 1978 หลังกลับจากงานศพที่ชินจูกุ ระยะทางสิบหกก้าวจากห้องโถงไปยังบานประตูอพาร์ตเมนต์ ‘ผม’ ในวัยย่างสามสิบ ตาปิดสนิท ก้าวเดินเป็นเส้นตรงท่ามกลางหมอกควันของวิสกี้เลอะเลือนในความทรงจำ “เธอนอนฟุบหน้าอยู่ที่โต๊ะในครัว หน้าผากวางทาบท่อนแขน เสี้ยวหน้าด้านข้างซ่อนอยู่ในพุ่มผม เนื้อต้นคอสีขาวที่ไม่ได้อบไอแดดลอดผ่านปอยผม บนหัวไหล่ของชุดลายดอกมีแถบขาวที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เส้นสีขาวของสายยกทรง” (แกะรอยแกะดาว, หน้า 39)

เธอเข้ามาเก็บของบางอย่าง หลังจากที่ ‘ผม’ ยินยอมเซ็นใบหย่า

หนึ่งเดือนผ่านไป “ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่มีแม้สักอย่างเดียว ผมตื่นนอนเจ็ดโมงเช้า ปิ้งขนมปัง ชงกาแฟ ออกไปทำงาน กินอาหารเย็นนอกบ้าน แวะดื่มแก้วสองแก้ว กลับบ้าน อ่านหนังสือหนึ่งชั่วโมง ปิดไฟ เข้านอน วันเสาร์อาทิตย์ ในเมื่อไม่ได้ทำงาน ผมออกนอกบ้าน ฆ่าเวลาด้วยการตระเวนเข้าโรงหนัง กินอาหารเย็น กลับบ้าน อ่านหนังสือ แล้วก็เข้านอน…ตามลำพัง ชีวิตดำเนินต่อไปเช่นนี้ ผมผ่านเวลาหนึ่งเดือนเต็มเหมือนคนที่กากบาทขีดฆ่าทีละวันในปฏิทิน หนึ่งกากบาท หนึ่งวัน” (แกะรอยแกะดาว, หน้า 47)

ชีวิตธรรมดาสามัญของ ‘ผม’ ยังดำเนินต่อไป ราบเรียบนิ่งสงบเหมือนผิวน้ำในบ่อน้ำครำ

แต่แล้ววันหนึ่ง บุรุษลึกลับก็ปรากฏตัวขึ้นในสำนักงาน พร้อมกับปริศนาพิสดารเกี่ยวกับรูปแกะที่มุสิกส่งมาให้


4

“อย่างที่คุณทราบ ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ยึดถือในเรื่องของความเป็นกลุ่ม (group-conscious society) ซึ่งการแยกตัวเป็นอิสระนั้นทำได้ยากมาก อย่างเช่นตอนที่ผมหาอพาร์ตเมนต์ในโตเกียว พวกนายหน้าต่างไม่ให้ความเชื่อถือผม เพราะในฐานะของนักเขียน ผมเป็นนายจ้างตัวเองและไม่ได้ทำงานกับบริษัทใดๆ คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ต้องการที่จะมีอิสระมากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากมากและพวกเขาก็ต้องเจ็บปวดกับความรู้สึกแปลกแยก ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมงานของผมจึงได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาเหล่านั้น” (The New York Time Book Review)

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มประเทศพันธมิตรซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำสำคัญ สหรัฐฯต้องการเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นประชาธิปไตยและคาดหวังให้ญี่ปุ่นมีสถานภาพเป็นประเทศเป็นกลาง ท่ามกลางไฟสงครามเย็นที่กำลังคุกรุ่น

ญี่ปุ่นถูกยึดครองเป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 1945 จนถึงวันที่ 28 เมษายน 1952

12 มกราคม 1949 ฮารูกิ มูราคามิ ลืมตาดูโลกที่เกียวโต ในยุคที่ญี่ปุ่นกำลังเร่งฟื้นตัวจากภาวะสงคราม

ปี 1955—สิบปีหลังสงคราม—สังคมญี่ปุ่นเริ่มพบกับความสุขสงบ เศรษฐกิจอยู่ในขั้นดีจนเรียกขานกันว่า “เศรษฐกิจจิมมุ” ซึ่งหมายถึงนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมาในสมัยจักรพรรดิจิมมุ ไม่มีช่วงเวลาใดอีกแล้วที่เศรษฐกิจจะดีเท่ายามนี้

หากงานเขียนเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นไปในสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและวันเวลาอันสุขสงบหลังสงคราม ก็ทำให้นวนิยายเรื่อง ฤดูกาลของดวงตะวัน ของ อิชิฮารา ชินทาโร นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ กลายเป็นผลงานยอดนิยมของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น นวนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยการชกมวย เซ็กซ์ การขับรถแล่นเรือยอร์ชของบรรดาชายหนุ่มลูกหลานผู้มีอันจะกินในย่านโชนัน จังหวัดคานากาวา สำนวนการเขียนที่แตกต่างจากนักเขียนยุคก่อนหน้า การแหวกขนบประเพณีที่ว่าการเป็นนักเขียนจำต้องผ่านการฝึกฝนอย่างอดทนเป็นเวลาหลายปี และบุคลิกหนุ่มเจ้าสำราญฐานะดีของชินทาโร กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ต้องการต่อต้านสังคมของผู้ใหญ่สมัยหลังสงคราม

มูราคามิอาจไม่มีรูปลักษณ์ภายนอกโฉบเฉี่ยวเหมือนกับชินทาโร และคงมีวัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนไม่มากที่อยากจะเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในนวนิยายของเขาเช่นเดียวกับที่วัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเคยทำตัวเลียนแบบตัวละครใน ฤดูกาลของดวงตะวัน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเขียนหน้าใหม่ (ในยุคสมัยของตน) ของทั้งคู่ก็แทบไม่ต่างกัน คณะกรรมการรางวัลอากุตางาวาส่วนหนึ่งลงความเห็นว่างานเขียนของชินทาโร ‘ไม่ใช่วรรณกรรม’ (ถึงแม้ว่างานชิ้นนี้จะได้รับรางวัลนี้ในท้ายที่สุดก็ตาม) ในขณะที่มูราคามิก็ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบทั้งจากนักเขียนและนักวิจารณ์ เคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนรางวัลโนเบลเคยวิจารณ์ว่า งานเขียนของมูราคามิเป็นเพียง “ภาพจำลองอนาคตญี่ปุ่นที่สะเปะสะปะไร้ทิศทาง” และ “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเรียกร้องความสนใจจากกลุ่มปัญญาชน” รวมทั้งกล่าวตำหนิความลุ่มหลงแบบฉาบฉวยของมูราคามิที่มีต่อวัฒนธรรมอเมริกัน โดยเปรียบเทียบว่าเป็น “เนยที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่าชวนอดสู”

มูราคามิเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียวเมื่อปลายทศวรรษ 1960 ช่วงเวลาเดียวกับที่กระแสตื่นตัวทางการเมืองของเหล่าปัญญาชนในสถาบันการศึกษากำลังเข้มข้น ในช่วงนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม อีกทั้งเกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นในหมู่ประชาชนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือ นักศึกษาสมัยนี้เกิดขึ้นในยุคเบบี้บูม ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงไร้น้ำใจมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม “เด็กรุ่นนี้จะมีปฏิกิริยาไวต่อการขัดแย้งในสังคม และจะแสดงความหุนหันพลันแล่นต่อการถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในสงครามเวียดนาม ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการที่มหาวิทยาลัยขึ้นค่าเล่าเรียน บรรยากาศในการเรียนที่บรรดาศาสตราจารย์ทั้งหลายไม่เปลี่ยนวิธีการสอน และท้ายที่สุด พวกเขาก็จะโมโหโกรธาต่อการไร้อำนาจของฝ่ายซ้าย รวมทั้งไม่พอใจการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเข้าไปมีสัมพันธ์ลึกๆ กับวงการอุตสาหกรรม” (ญี่ปุ่นสมัยโชวะ: ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากพ่อสู่ลูก, หน้า 205)

ในยุคนี้มีการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับตำรวจปราบจลาจลอย่างต่อเนื่อง จนกล่าวได้ว่าในปี 1968 ขบวนการต่อสู้ร่วมกันของนักศึกษาได้แผ่ขยายไปในทุกพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ เกิดการแบ่งเป็นกลุ่มองค์กรต่างๆ เช่น สมาพันธ์ผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์แนวปฏิวัติ (ชูคาขุ), สมาพันธ์ผู้นิยมลัทธิมาร์กซิสต์แนวปฏิวัติ (คาขุมารุ), กลุ่มแนวหน้า (Front), กลุ่มต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น มูราคามิเล่าถึงช่วงเวลานี้ว่า “ในช่วงปี 1968 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะหนุ่มสาวนักอุดมคติทั้งหลาย พวกเรารู้สึกว่าถ้าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องในเวลาเช่นนี้ ช่วงเวลาที่ดีก็จะเกิดขึ้นตามมา มันเป็นเรื่องของสังคมอุดมคติ ดังนั้นการเดินขบวนหรือการต่อต้านจึงเกิดขึ้น เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจ ผมจะพูดคำว่า ‘ไม่’ เสมอนับตั้งแต่ผมเริ่มเขียนหนังสือ ผมไม่มีความเชื่อในเรื่องใดทั้งสิ้นเมื่อผมเริ่มเขียนหนังสือ”

“ผมไม่ได้เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา ตอนนั้นผมรู้สึกว่าสิ่งใหม่ๆ กำลังจะเกิดขึ้น และผมก็ตื่นเต้นมาก แต่ผมไม่ชอบองค์กรหรือกลุ่ม ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมไม่เข้าไปยุ่งด้วย แต่ผมก็เห็นด้วยกับนักศึกษาหัวก้าวหน้าเหล่านั้นนะ ช่วงนั้นผมกำลังมองหาสิ่งใหม่ เส้นทางชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในแนวทางของผมเอง แต่ผมก็หามันไม่พบ ผมเพิ่งจะอายุ 18 หรือ 19 ยังเป็นเด็กและยังไม่รู้อะไรเลย”


5

“ข้าฯจะต้องรู้เหตุผลไปทำไม? คงเบื่อกระมัง แต่เอ็งก็รู้นะว่า ข้าฯพยายามดีที่สุดแล้ว ข้าฯพยายามหนักกว่าที่ข้าฯเชื่อว่าจะทำได้ ข้าฯคิดถึงตัวเองมากเท่าเทียมกับการคิดถึงผู้อื่นด้วยนะ ข้าฯทำเพื่อผู้อื่นจนสุดความสามารถแล้ว อย่างไร ข้าฯก็ต้องขอบคุณกระบองของตำรวจปราบจลาจล หวดเลาะฟันหน้าของข้าฯออกมา ข้าฯเลยสะดุ้งตื่นจากฝัน คนเราทุกคนจะไหลลงไปสู่ที่เฉพาะตัวของตน...มีแต่ข้าฯที่ไม่รู้ว่าสถานที่ของข้าฯอยู่ที่ไหน ไม่มีที่ใดที่ข้าฯจะเรียกว่าบ้านได้ หัวหมุนวิ่งพล่านเหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี” (สดับลมขับขาน, หน้า 103)

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้อ่านจะสัมผัสได้จากการอ่านนวนิยายของมูราคามิก็คือ อารมณ์ความรู้สึกซึ่งสะท้อนผ่านการบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแต่ละตัว ชีวิตประจำวันธรรมดาสามัญของ ‘ผม’ หรือมุสิก หรือของใครก็ตาม อาจเป็นเพียงวิถีชีวิตปกติของมนุษย์คนหนึ่ง และอาจไม่มีเรื่องราวใดที่ดึงดูดความสนใจจากเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้ แต่ในความราบเรียบธรรมดาของชีวิตนั้น กลับมีบางสิ่งบางอย่างถูกปิดซ่อนอยู่ในม่านหมอกแผ่วจาง พร่าเลือน ไม่ชัดเจน และตราบจนสิ้นสุดแห่งการเดินทางของชีวิต ตัวละครแต่ละตัวก็อาจไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามันคือสิ่งใด

ธรรมชาติของสังคมมนุษย์โดยทั่วไป อาจไม่อนุญาตให้มนุษย์ตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของตนมากนัก บ้านที่คุ้นเคย คนที่รู้จัก หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ผูกพันมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งวิถีชีวิตสงบสุขราบเรียบ อาจเป็นหลักประกันสำหรับการดำรงอยู่ในห้วงเวลาหนึ่ง แต่หากจำเป็นต้องทำความรู้จักกับแก่นแท้ของการดำรงอยู่แล้ว บางทีเราอาจต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจตัวเราเอง

บางท่านเลือกที่จะสละทิ้งเพื่อเริ่มต้นใหม่ บางท่านเลือกที่จะปลีกวิเวกเพื่อเยียวยาบาดแผลที่ไม่มีวันสมานปิด หรือบางท่านอาจจ่อมจมอยู่กับวันคืนที่ผันผ่านเนื่องจากเงื่อนไขของชีวิตแน่นหนาเกินไป

แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รู้สึกร่วมกัน และตัวละครของมูราคามิอาจพยายามที่จะบอกก็คือ ท้ายที่สุดแล้วสำหรับปุถุชนธรรมดา ชีวิตมีพื้นที่เว้าแหว่งอยู่มากจนยากจะเติมเต็ม‘ผม’ รวมทั้งตัวละครอื่นๆ ไม่เคยบอกชัดเจนถึงความทุกข์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ (แม้แต่กับตัวละครด้วยกัน) และสำหรับ ‘ผม’ ก็ดูจะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างเข้าใจ และดูเหมือนจะเป็นฝ่ายรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับชีวิตตนเองแค่ไหนก็ตาม

แต่สำหรับมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง การที่ ‘ผม’ ทำราวกับว่าชีวิตเป็นเพียงต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ท่ามกลางผืนดินแตกระแหงและเปลวแดดแผดเผา กระทั่งไม่สนใจว่ากิ่งก้านจะถูกสายลมลิดรอนไปมากเพียงใด กลับกลายเป็นคมมีดกรีดเฉือนผู้อ่าน สร้างบาดแผลใหม่หรือกระทั่งเผยแผลเก่าซึ่งกดเก็บมาเนิ่นนาน มันเหมือนกับ ‘ผม’ กำลังประกาศว่าชีวิตเป็นเรื่องเหลวไหลเกินกว่าจะพรรณนาถึง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเป็นเรื่องโง่เง่าเพียงใดสำหรับการพร่ำเพ้อถึงอนาคต

มูราคามิประสบความสำเร็จในการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ด้วยการนำเสนอบุคลิกแบบคนชั้นกลางทั่วไป เพราะสำหรับคนกลุ่มนี้ การคิดคำนึงเรื่องชีวิตอาจเป็นได้ทั้งเรื่องใกล้และไกลตัวในเวลาเดียวกัน พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ห่างจากรากเหง้าดั้งเดิมของเผ่าพันธุ์ที่ตนสังกัด และติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะของสากลที่แผ่คลุมตามพัฒนาการของเทคโนโลยี ที่สำคัญก็คือ พวกเขาคิดว่าตัวเองอยู่ในโลกซึ่งความสุขเป็นสิ่งที่บันดาลให้เกิดขึ้นได้ด้วยสิ่งภายนอก

ถึงแม้จะอยู่ในโลกที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แต่แท้จริงแล้วพื้นที่สำหรับคนกลุ่มนี้ดูเหมือนจะหดแคบลง สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯลฯ อาจมีให้เลือกไม่รู้จบสิ้น แต่พื้นที่สำหรับวางตัวและวางใจ อาจยิ่งค้นหาเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพบเจอ

ใน ‘ไตรภาคของมุสิก’ แทบไม่มีตอนใดที่มูราคามิกล่าวถึงบ้าน (ในความหมายที่เคร่งครัด) และ ‘ผม’ ก็ไม่เคยพูดถึงพ่อและแม่ให้ได้ยิน หญิงสาวจึงน่าจะเป็นตัวแทนของเพื่อนมนุษย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ ‘ผม’ มากที่สุด เด็กสาวเก้านิ้ว, เด็กสาวผู้สูญคอนแทกเลนส์, เพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลาย, สาวฮิปปี้, สาวเอกฝรั่งเศส, คู่แฝด 208-209, สาวออฟฟิศ, ผู้หญิงที่นอนกับใครก็ได้, สาวหูสวย ฯลฯ ทุกคนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ‘ผม’ มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ใครเลยจะแน่ใจได้ว่า ‘ผม’ กับพวกเธอรู้จักกันจริงๆ

วิถีชีวิตของตัวละครที่ถอดแบบมาจากชีวิตจริงทั้งในด้านโลกทัศน์และชีวทัศน์ดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลงานของมูราคามิจะเป็นที่นิยมของผู้อ่านในหลายประเทศทั่วโลก และแน่นอน ผลงานของเขาได้รับการต้อนรับในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่กำลังสับสนกับวิถีทางแห่งชีวิตในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่ามูราคามิจะตั้งใจหรือไม่ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมมนุษย์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง หรือในเรื่องใดก็ตาม แต่ผลงานของเขาก็สามารถเจาะทะลุเข้าไปในจิตใจของผู้อ่าน และเป็นที่มาของคำถามมากมายเกี่ยวกับวิถีชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน

……………

ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในงานของมูราคามิสำหรับคำถามที่ว่า ถึงที่สุดแล้ว มนุษย์ควรจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคใหม่อย่างไร โลกที่ทั้งพรมแดนทางภูมิศาสตร์และพรมแดนในจิตใจเริ่มพร่าเลือน โลกที่ดูเหมือนจะไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยว และความคิด ความเชื่อ กำลังถูกแปรรูปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โลกที่กำลังคับแคบขึ้นทุกวันสำหรับมนุษย์

แต่ก็ว่างโหวงเว้าแหว่งมากขึ้นทุกทีในจิตใจของผู้คน…


ข้อมูลประกอบการเขียน

’ปราย พันแสง, "Haruki Murakami (1) คำสารภาพของศาสดาเบสต์เซลเลอร์ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ ", มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 11-17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1195

ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami), สดับลมขับขาน, แปลจาก Hear the Wind Sing โดย นพดล เวชสวัสดิ์, แม่ไก่ขยัน, 2545

ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami), พินบอล, 1973, แปลจาก Pinball, 1973 โดย นพดล เวชสวัสดิ์, แม่ไก่ขยัน, 2545

ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami), แกะรอยแกะดาว, แปลจาก A Wild Sheep Chase โดย นพดล เวชสวัสดิ์, แม่ไก่ขยัน, 2546

โฮะซะกะ มะซะยะสุ (Hosaka Masayasu), ญี่ปุ่นสมัยโชวะ: ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากพ่อสู่ลูก, แปลจาก Chichi Ga Ko Ni Kataru Showashi โดย สร้อยสุดา ณ ระนอง และปราณี จงสุจริตธรรม, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544

Elizabeth Devereaux, "PW Interviews: Haruki Murakami", Publisher’s Weekly, September 21, 1991

Matt Thompson, "The Elusive Murakami", The Guardian (liberal), May 26, 2001

"Roll Over Basho: Who Japan is Reading, and Why, A Dialogue Between Jay Mclnerney and Haruki Murakami", The New York Times Book Review, September 27, 1992

Sinda Gregory, Toshifumi Miyawaki, and Larry McCaffery, "It Don’t Mean a Thing, If It Ain’t Got that Swing: An Interview with Haruki Murakami", www.centerforbookculture.org