Friday, September 15, 2006

วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2549 เดินไปเจอ "หยิบสิบ" ชุดแคลสสิกที่เคยฟังตั้งแต่เด็กๆ โดยบังเอิญที่ห้างค้าปลีกต่างชาติ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 ก็เปิดฟังแล้วฟังอีกที่สำนักงานบ้านสีฟ้าจนคนอื่นๆ คงนึกด่าในใจ

แต่ยิ่งฟังก็ยิ่งสบายใจ ดูเหมือนยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งอยากกลับไปฟังของเก่าๆ

"บ้านนาป่าร้าง" ของไอ้หนุ้มบ้านหนองสาหร่าย ฟังแล้วอยากออกตามหาน้องนางบ้านนาในทันใด


บ้านนาป่าร้าง/นิค นิรนาม, อัลบั้ม: นิรนาม หยิบสิบ, วางแผง (ซีดี): 1 มกราคม 2543

แสงจันทร์อันกระจ่าง เคยได้แนบแอบนาง พลางผิวขลุ่ยเป็นเพลง

เสียงสะอื้น ฟังระรื่นวังเวง น้องไม่ร้องบรรเลง ให้ข้าสุขใจ...


แต่มาบัดนี้แสนเศร้า เหลือเพียงผ้ากับเงา เมื่อจันทร์ฉาย

บ้านนาเหมือนเป็นป่าร้าง เห็นแต่กองฟางขาวโพลนเรียงราย

น้องนางเจ้าลืมกลิ่นโคลนสาปควาย ลืมไอ้หนุ่มบ้านหนองสาหร่าย เสียแล้วหนา

ลืมแม้กระทั่งไอ้ทุย เจ้าลืมเสียงขลุ่ยแห่งบ้านนา

ลืมที่จันทร์แจ่มฟ้า เจ้ามา โถข้า ริมกองฟาง...


ข่าวคราวตัวเจ้าหรือนั่น เห็นเขาลือเล่ากัน ตำถากถาง

ภาพลอยหัวใจชอกช้ำ เพราะถ้อยปรักปรำเขาลือทั้งบาง

เขาลือ เองชั่วปล่อยตัวตามทาง มีผัวใหม่เปลี่ยนไปมิสร่าง เสื่อมราศรี

เอ็งช้ำเพราะชายบางกอก ถูกคนหลอนหลอก จนสิ้นดี

คนที่เอ็งเกลียดนี้ ยังมีหัวใจคอยเอ็งมา...

....................

แถมด้วย "วิมานดิน" สำหรับลูกผู้ชาย (ที่) เกิดมาทำไมต้องมีเมียจ้า!

วิมานดิน/แอ๊ด คาราบาว, อัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 8 เดอะแมนซิตี้ไลอ้อน (มีนาคม 2537)

(ไม่ได้เป็นตุ๊ด ไม่ได้เป็นตุ๊ด)

อกหักอีกแล้ว อีกแล้ว เจ้าสกุณา

แม่น้องนางบ้านป่าจากมา แล้วกลายเป็นอื่น

ทำดวงใจน้อยน้อยเหม่อคอย อยู่ข้ามวันคืน

ฟ้าฝนสะอื้นลมร้อน แห้งเหี่ยวใจหาย

ดวงใจดวงนี้บอบช้ำด้วยความโดดเดี่ยว

เหมือนข้าวรอเคียวผืนนา เฝ้าคอยคันไถ

มันเป็นวันอับเฉาสุดเหงา จับขั้วหัวใจ

โถลูกผู้ชายทำไม เกิดมาต้องมีเมีย


จะหาเมียซักคน (จะหาเมียซักคน) รวยจนไม่สนใจ (รวยจนไม่สนใจ)

จะรักไปจนตาย (จนตาย) ริ้นไรไม่ให้ตอม (ไม่ได้เป็นตุ๊ด ไม่ได้เป็นตุ๊ด)

ชีวิตเราจะหลอมรวม (ชีวิตเราจะหลอมรวม) จุดร่วม สงวนจุดต่าง (จุดร่วม สงวนจุดต่าง)

ถือไม้เท้าเคียงข้าง (เคียงข้าง) สร้างวิมานชาวดิน (ไม่ได้เป็นตุ๊ด ไม่ได้เป็นตุ๊ด) (ไม่ได้เป็นตุ๊ด) (ไม่ได้เป็นตุ๊ด)

Thursday, September 14, 2006

การก่อรูปของขบวนการชาตินิยมในเวียดนาม ภายหลังการยึดครองของฝรั่งเศสจนถึงการประกาศเอกราชในปี 1945 (2)


การก่อตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการชาตินิยมอื่นๆ

การต่อต้านฝรั่งเศสในช่วงแรกนั้นนำโดยกลุ่มปัญญาชนขงจื้อซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดสำนึกการต่อต้านต่างชาติผ่านทางประวัติศาสตร์นิพนธ์มากที่สุด นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากระบบการบริหารของฝรั่งเศสโดยตรง เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงจากระบบอุปถัมภ์ระหว่างขุนนางขงจื้อกับสามัญชนเป็นระหว่างเจ้าอาณานิคมกับชาวพื้นเมือง กลุ่มปัญญาชนขงจื้อจึงเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการปกครองของฝรั่งเศส แนวทางการต่อสู้นั้นเน้นการโค่นล้มระบอบการปกครองแบบใหม่ของฝรั่งเศสและฟื้นฟูระบอบการปกครองภายใต้จักรพรรดิแบบเดิมขึ้นมาอีกครั้ง(19)

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสในระยะแรกที่สำคัญขบวนการหนึ่งคือ ขบวนการเกิ่นเวือง (Can Vuong Movement) ขบวนการนี้ก่อตัวขึ้นภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิตื่อดึ๊กในปี 1883 นำโดยผู้สำเร็จราชการโตนเทิ้ดเทวี๊ยด (Ton That Thuyet) ขบวนการนี้พยายามเรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ด้วยการต่อสู้กับฝรั่งเศส การเรียกร้องดังกล่าวทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้ในหลายๆ พื้นที่ นำโดยนักปราชญ์ที่ทำการรวบรวมอาสาสมัครและก่อตั้งเป็นกองกำลังรบกระจายไปทั่วดินแดน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะทำการรบยืดเยื้อเป็นเวลากว่า 40 ปี คือนับตั้งแต่ปี 1858 จนถึงปี 1896 ขบวนการผู้รักชาติชาวเวียดนามก็ถูกฝรั่งเศสปราบปรามลงได้สำเร็จ การต่อต้านฝรั่งเศสในระยะแรก (ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19) มีผู้ตั้งข้อสังเกตดังนี้(20)

ประการแรก การต่อสู้ภายหลังการยึดครองของฝรั่งเศสในระยะแรกนั้น โลกทัศน์ในการต่อสู้ของประชาชนยังผูกติดกับระบบเดิม คือในสมัยการต่อต้านการรุกรานของจีน เป้าหมายของการต่อสู้จึงจำกัดอยู่ที่การขับไล่ฝรั่งเศสและฟื้นฟูระบบเดิม

ประการที่สอง จุดอ่อนที่สำคัญของการต่อต้านฝรั่งเศสคือ การขาดศูนย์กลางที่จะชี้นำการต่อสู้ ขบวนการผู้รักชาติต่างรวมกลุ่มของตนเองก่อกบฏเป็นจุดๆ ขาดการประสานร่วมมือกัน ทำให้ฝรั่งเศสปราบปรามได้ง่าย

ประการที่สาม จักรพรรดิและขุนนางเวียดนามไม่สามารถแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนระดับล่างได้อย่างกว้างขวาง เมื่อเทียบกับความสำเร็จของขบวนการชาตินิยมในสมัยต่อมา เพราะระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้แบ่งแยกชนชั้นผู้ปกครองออกจากประชาชน องค์จักรพรรดิไม่เคยเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน ส่วนหนึ่งคงเกรงว่าประชาชนจะโค่นล้ม โดยเฉพาะหลังจากที่ราชวงศ์เหวียนปราบกบฏไตเซินลงได้ ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ยังคงถือหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมแบบเก่า โดยปล่อยให้จักรพรรดิและขุนนางเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนและประเทศชาติ ช่องว่างระหว่างราชสำนักกับประชาชนทำให้การร่วมมือกันต่อต้านฝรั่งเศสไม่มีประสิทธิภาพ

ประการที่สี่ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แรงกดดันทางเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก เพราะฝรั่งเศสยังไม่สามารถจัดวางระบบได้อย่างเต็มที่ ประชาชนจึงไม่ได้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากเหมือนในระยะต่อมา

ประการที่ห้า บรรดาขุนนางในราชสำนักต่างพยายามใช้องค์จักรพรรดิเป็นศูนย์รวมจิตใจในการต่อต้านฝรั่งเศส(21) แต่เมื่อฝรั่งเศสมักจะเลือกเชื้อพระวงศ์ที่ด้อยคุณภาพมาเป็นจักรพรรดิ และอาศัยสถาบันนี้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ในเวียดนาม จึงทำให้ความศรัทธาในองค์จักรพรรดิเสื่อมลงจนไม่สามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนได้อีก

จากความล้มเหลวของขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญของชาวเวียดนาม ปัญญาชนจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามต่อสถาบันการปกครองของเวียดนามในช่วงก่อนตกเป็นอาณานิคม และเริ่มตระหนักว่าการเผชิญหน้ากับฝรั่งเศสด้วยกำลังโดยตรงเช่นเดียวกับที่เคยต่อต้านจีนมานับพันปี คงไม่ประสบความสำเร็จโดยง่าย เนื่องจากฝรั่งเศสมีอำนาจและความก้าวหน้าเหนือกว่าเวียดนามมาก อีกทั้งระบบของเวียดนามแต่เดิมเป็นระบบที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และการต่อสู้ตามแนวทางเดิมไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ พวกเขาจึงมองหาแนวทางใหม่ที่ไม่ได้เป็นเพียงการขับไล่ฝรั่งเศสออกไปเท่านั้น หากยังเป็นแนวทางที่จะสถาปนาประชาคมเวียดนามในรูปแบบใหม่ด้วย(22)

ชาวเวียดนามมีโอกาสรับรู้แนวความคิดและเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อต้านระบบอาณานิคมจากภายนอกน้อยมาก เพราะฝรั่งเศสพยายามปิดกั้น โดยไม่ยอมให้แนวความคิดหรือทฤษฎีใดๆ ที่อาจเป็นภัยต่อระบบอาณานิคมแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ปัญญาชนเวียดนามสามารถเรียนรู้แนวความคิดตะวันตกได้โดยผ่านช่องทางอื่นๆ ช่องทางที่สำคัญคือการเรียนรู้ผ่านงานเขียนของปัญญาชนชาวจีนที่เผยแพร่เข้าสู่เวียดนามทางตอนเหนือของประเทศ และการเรียนรู้จากการที่ชาวเวียดนามได้เดินทางไปสัมผัสกับตะวันตกโดยตรง

แนวความคิดของนักปฏิรูปชาวจีนที่มีอิทธิพลต่อปัญญาชนเวียดนามมากที่สุดคือ แนวความคิดของคังยู่เหวย (K’ang Yu-wei) และเหลียงฉี่เฉา (Liang Ch’i-ch’ao) ทั้งคู่มีแนวคิดเช่นเดียวกับนักปฏิรูปของประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียและแอฟริกาว่าจะต้องสร้างประชาคมขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ชาติรอดพ้นจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยกระตุ้นให้ขบวนการปฏิรูปมุ่งฟื้นฟูสังคมจากสังคมดั้งเดิมตามจารีตประเพณี ให้กลายเป็นสังคมที่ทันสมัย

ในขณะที่ปัญญาชนเวียดนามเปิดรับแนวความคิดจากภายนอกมากขึ้น แนวความคิดเรื่องความรักชาติและชาตินิยมในเวียดนามก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป แต่เดิมชาวเวียดนามจะแสดงความรู้สึกในลักษณะของ “ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์” (trung quan) ขณะที่ “ชาติ” (quoc) เป็นส่วนหนึ่งของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์เป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้นเมื่อจงรักภักดีต่อกษัตริย์ก็เท่ากับรักชาติด้วย แต่ในช่วงศตวรรษที่ 20 กษัตริย์มีความสำคัญน้อยลง ขณะที่ความรู้สึก “รักชาติ” (ai quoc) เข้ามาแทนที่ โดยมีความคิดว่ากษัตริย์เป็นเพียงผู้นำที่มีอำนาจ เมื่อสิ้นอำนาจ กษัตริย์หรือผู้นำนั้นก็ต้องจากไป หากแต่ชาติจะต้องดำรงคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง(23)

ความพอใจของนักปราชญ์เริ่มที่จะไม่หยุดอยู่แค่เพียงการต่อต้านการรุกราน และสนับสนุนอิสรภาพของชาติภายหลังการก่อตั้งรัฐบาลกษัตริย์และอุดมการณ์ขงจื้อเช่นในอดีตเท่านั้น พวกเขาเริ่มยื่นข้อเสนอแผนการสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและอุดมการณ์ โดยกลุ่มนักปราชญ์ได้แบ่งออกเป็นฝ่ายที่ยึดถือประเพณีโบราณ และเสนอแผนการปฏิรูปต่อรัฐบาลอาณานิคม ส่วนอีกฝ่ายเริ่มแสวงหาแนวทางการต่อสู้และอุดมการณ์ใหม่ พร้อมๆ กับเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ(24)

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีขบวนการชาตินิยมในความเข้าใจ “ชาติ” แบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ผู้นำขบวนการผู้รักชาติในระยะแรกมักจะเป็นผู้ที่เคยอยู่ร่วมเหตุการณ์ต่อต้านฝรั่งเศสของขบวนการเกิ่นเวือง ผู้นำคนสำคัญที่สุดคือ ฟานโบ่ยเจิว (Phan Boi Chau) ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1900 ได้เริ่มปรับแนวทางการต่อสู้ใหม่ โดยจัดตั้งขบวนการยวีเตินเห่ย (Duy Tan Hoi) ขึ้นเมื่อปี 1904 โดยมีเจ้าชายเกื่องเดะเป็นประธาน เหตุที่ฟานโบ่ยเจิวเลือกเชื้อพระวงศ์มาเป็นผู้นำขบวนการก็เพราะต้องการได้รับการสนับสนุนจากเชื้อพระวงศ์และขุนนางเก่า ขบวนการยวีเตินเห่ยมีการกล่าวถึงแนวความคิด “รักชาติ” ตามความเข้าใจในปัจจุบันเป็นครั้งแรก(25) และมีแนวทางต่อต้านฝรั่งเศสด้วยวิธีรุนแรง

ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ฟานโบ่ยเจิวได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการต่อต้านฝรั่งเศส เขาเป็นบุคคลที่ฝรั่งเศสถือว่าเป็นนักปฏิวัติที่อันตรายมากที่สุด(26) วิถีชีวิตทางการเมืองของเขาสิ้นสุดลงเมื่อเขาถูกจับตัวในปี 1925

“จุดจบในวิถีของเขาแสดงให้เห็นความล้มเหลวของขบวนการปฏิวัติ ซึ่งเป็นขบวนการที่ได้รับแรงกระตุ้นทางการเมืองจากชนชั้นสูงในชาติแต่เพียงอย่างเดียว ในฐานะที่โจ (เจิว) เป็นผู้ก่อตั้ง เขาไม่เพียงละเลยปัญหาที่จะเข้าถึงชาวนาที่อดอยากและกระวนกระวายโดยตรง แต่ละเลยการขยายตัวออกเป็นการปฏิวัติประชาชน...”(27)

อย่างไรก็ตาม ยังมีขบวนการผู้รักชาติบางกลุ่มที่เห็นว่าควรจะร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อพัฒนาเวียดนามทั้งในด้านการเมืองและสังคม ซึ่งนำโดยฟานจูตรินห์ (Phan Chu Trinh) ฟานจูตรินห์ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง เขาเห็นว่าการปฏิรูปโดยร่วมมือกับฝรั่งเศสเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพราะเวียดนามยังมีระดับวัฒนธรรมที่ต่ำกว่ายุโรป และยังไม่พร้อมที่จะนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ ในปี 1906 ฟานจูตรินห์ทำหนังสือเปิดผนึกถึงข้าหลวงใหญ่ ปอล โบว์ เพื่อเรียกร้องให้ฝรั่งเศสทำการปฏิรูปเวียดนาม โดยเฉพาะให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์และระบบราชการแบบจีน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ

ท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวทั้งสองแนวทางต่างก็ประสบความล้มเหลว เนื่องจากกลไกการปราบปรามของฝรั่งเศสมีประสิทธิภาพสูง และถึงแม้ว่าการจัดองค์กรของนักชาตินิยมในช่วงนี้จะมีระบบมากกว่าขบวนการเกิ่นเวืองในอดีต แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะท้าทายอำนาจของฝรั่งเศส เพราะการที่ไม่ให้ความสำคัญกับการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ไม่สามารถสร้างฐานสนับสนุนในหมู่ชาวเวียดนามได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนยังได้รับอิทธิพลจากแนวทางการต่อสู้แบบดั้งเดิมที่เน้นการลุกฮือเป็นจุดๆ มากกว่าการวางแผนปฏิบัติการทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ(28)


การเข้ามาของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์

ในขณะที่นักชาตินิยมในช่วงแรกรับแนวคิดมาจากจีน ขบวนการผู้รักชาติในระยะต่อมาก็มีโอกาสได้ศึกษาแนวความคิดของตะวันตกจากหนังสือที่ลักลอบส่งมาจากยุโรปหรือมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสกับตะวันตกโดยตรง เช่น กลุ่มนักศึกษาที่ไปเรียนในฝรั่งเศส ชาวเวียดนามที่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตลอดจนชาวเวียดนามที่ทำงานให้กับฝรั่งเศสและมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ จากการได้เรียนรู้แนวคิดของตะวันตก ทำให้พวกเขาจำนวนหนึ่งต้องการให้เวียดนามมีเอกราชและก้าวหน้าแบบตะวันตก การเคลื่อนไหวหนึ่งก็คือ การก่อตั้งพรรครัฐธรรมนูญขึ้นในปี 1923 โดยพรรคเรียกร้องให้มีกฎหมายหนังสือพิมพ์ที่เสรีมากขึ้น ให้โอกาสชาวเวียดนามมีตำแหน่งทางการเมืองมากขึ้น ให้กำหนดคุณสมบัติในการทำงานด้านกฎหมายที่เปิดกว้างมากขึ้น ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากฝรั่งเศสเท่าไรนัก

กลุ่มนักชาตินิยมที่สำคัญกลุ่มหนึ่งคือ ขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีผู้นำคนสำคัญคือ เหงียนอ๊ายก๊วก (Nguyen Ai Quoc) ที่ต่อมาใช้ชื่อว่า โฮจิมินห์ ถึงแม้กลุ่มนี้จะรวมตัวกันเป็นองค์กรในปี 1925 แต่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้าสู่เวียดนามก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมีองค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์น (Comintern)(29) เป็นผู้ประสานงาน

อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เริ่มเข้าสู่เวียดนามตั้งแต่ปี 1903 เมื่อมีการประชุมพรรคกรรมกรสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (The Russian Social Democratic Workers Party) เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทั้งในรัสเซียและในหลายประเทศรวมทั้งเวียดนาม(30) มีหลักฐานบ่งชี้ว่า โฮจิมินห์น่าจะเริ่มศึกษาแนวความคิดมาร์กซ์-เลนินอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายปี 1919 ระหว่างที่อยู่ในฝรั่งเศส เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมสมัชชาพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสที่เมืองตูร์ (Tours) ซึ่งจะจัดขึ้นในปีต่อมา อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ยืนยันว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้าสู่เวียดนามอย่างแน่นอนคือ รายงานของทางการฝรั่งเศสในปี 1920 ที่ระบุว่าฝรั่งเศสเนรเทศชาวรัสเซียออกจากอินโดจีน เพราะนำแนวความคิดมาร์กซ์-เลนินเข้าไปเผยแพร่ในไซ่ง่อน จึงอาจกล่าวได้ว่า อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้าสู่เวียดนามอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการคือ การขยายตัวของแนวความคิดสากลนิยมในขบวนการคอมมิวนิสต์ยุโรป และความพยายามแสวงหาแนวทางการต่อสู้แบบใหม่ของนักชาตินิยมเวียดนาม(31)

โฮจิมินห์เป็นบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในบรรดานักชาตินิยมที่ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดคอมมิวนิสต์ บทเรียนทางการเมืองที่สำคัญของโฮจิมินห์มี 2 ช่วง ช่วงแรกคือในระหว่างที่เขาอยู่ในฝรั่งเศส ในปี 1919 เขาได้ยื่น “ข้อเรียกร้องของชาวอันนัม” (Revendications du Peuple Annamite) ต่อที่ประชุมสันติภาพแวร์ซายส์ หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ข้อเรียกร้องของเขาได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือเลอเปิ้ปป์ (Le Peuple – ประชาชน) แต่ข้อเรียกร้องของประชาชนในประเทศอาณานิคมก็ไม่ได้รับความสนใจจากประเทศมหาอำนาจแต่อย่างใด โฮจิมินห์จึงได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการประนีประนอมระหว่างเจ้าอาณานิคมและดินแดนอาณานิคม ตลอดจนการโค่นล้มระบบอาณานิคมจำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรง ช่วงที่สองคือ เมื่อเขาเข้าร่วมประชุมสมัชชาพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสที่เมืองตูร์ ในเดือนธันวาคม ปี 1920 และได้ร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสที่แยกตัวออกจากพรรคสังคมนิยม

โฮจิมินห์มีความประทับใจเลนินในฐานะที่เป็นผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ และเริ่มศึกษางานของเลนินในปี 1920 โดย “แนวความคิดเกี่ยวกับปัญหาแห่งชาติและอาณานิคม” ของเลนินมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของเขาอย่างมาก หลังจากนั้นเขาก็ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสจัดตั้งสหภาพของชาวอาณานิคมขึ้นในฝรั่งเศส โดยเขาเป็นผู้เขียนคำประกาศ มีความตอนหนึ่งว่า

“ในการเอาหลักลัทธิมาร์กซ์มาใช้ ประชาชนจะต้องได้รับการปลดปล่อย ในการจัดตั้งสันนิบาต (สหภาพ) ประเทศอาณานิคม โดยความสนับสนุนของสหายในประเทศใหญ่ที่เห็นอกเห็นใจต่อความปรารถนาของเรา สิ่งนี้มีความหมายเอื้ออำนวยต่อท่านทั้งหลาย ในการที่จะปลกแอกประเทศชาติของท่าน สันนิบาต (สหภาพ) นี้ ตั้งขึ้นในฝรั่งเศส โดยประชาชนจากประเทศอาณานิคมที่มีจิตสำนึกต้องการปฏิวัติ”(32)

นอกจากนี้ ในปี 1921 โฮจิมินห์ยังเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ เลอ ปาเรีย (Le Paria) นอกจากจะเผยแพร่อุดมการณ์มาร์กซ์-เลนินในหมู่ชาวอาณานิคมในฝรั่งเศสโดยเฉพาะชาวเวียดนามแล้ว เลอ ปาเรีย ยังถูกส่งไปเผยแพร่อย่างลับๆ ในประเทศอาณานิคมอื่นๆ ด้วย เลอ ปาเรีย ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชาวเวียดนาม และมีอิทธิพลในการปลุกระดมมวลชนสูง ชาวเวียดนามในเมืองแม่มีโอกาสรับรู้เรื่องราวการปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 ในรัสเซีย อีกทั้งยังได้รู้จักแนวคิดมาร์กซ์-เลนินในฐานะที่เป็นเครื่องมือต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดนี้จึงเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวเวียดนามหัวก้าวหน้า

จะเห็นว่าการเผยแพร่อุดมการณ์มาร์กซ์-เลนินในระยะแรกยังจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ชาวเวียดนามที่รู้ภาษาฝรั่งเศส และยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแปลแนวคิดดังกล่าวเป็นภาษาเวียดนามแล้วส่งกลับมาเผยแพร่ในเวียดนาม จนกระทั่งกลางปี 1923 โฮจิมินห์ได้ลอบเข้าไปในโซเวียตเพื่อร่วมประชุมชาวนาชาวไร่สากลที่กรุงมอสโก ในระหว่างการประชุม เขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนชาวนาของประเทศอาณานิคม และแปลคำประกาศของการประชุมเป็นภาษาเวียดนามส่งกลับไปยังประเทศของตน ในปีต่อมา เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับแนวคิดมาร์กซ์-เลนินเป็นภาษาเวียดนามอีก 2 ชิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าแนวความคิดคอมมิวนิสต์เริ่มเผยแพร่อย่างจริงจังในเวียดนามราวกลางทศวรรษ 1920(33)

แม้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์กระแสหลักจะเข้าสู่เวียดนามผ่านขบวนการโคมินเทิร์นและโฮจิมินห์ แต่ก็ปรากฏหลักฐานว่าขบวนการเตินเหวียด (Tan Viet – เวียดนามใหม่) ก็ได้รับอุดมการณ์มาร์กซิสม์เช่นกันโดยไม่ผ่านโคมินเทิร์น พรรคนี้ก่อตั้งราวปี 1925 โดยเป็นที่รวมของนักศึกษาและอดีตนักโทษการเมือง แต่ก็เป็นการรับรู้ที่จำกัด เนื่องจากฝรั่งเศสกวดขันอย่างเข้มงวดในการป้องกันไม่ให้เอกสารเกี่ยวกับแนวคิดมาร์กซิสม์เผยแพร่เข้าสู่อาณานิคม หนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงข่าวการปฏิวัติบอลเชวิคหรือสถานการณ์ในโซเวียต อย่างไรก็ตาม เมื่อโฮจิมินห์จัดตั้งองค์กรของขบวนการคอมมิวนิสต์ขึ้นครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยได้รับการสนับสนุนจากโคมินเทิร์น อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็มีโอกาสเผยแพร่สู่ชาวเวียดนามได้มากขึ้น


จุดกำเนิดของขบวนการคอมมิวนิสต์

ผู้นำในขบวนการต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสในเวียดนามมีทั้งผู้นำเดิมของเวียดนามที่สูญเสียอำนาจและกลุ่มปัญญาชน โดยปรากฏออกมาในรูปของขบวนการผู้รักชาติรูปแบบต่างๆ แต่ต่อมาก็พบว่าขบวนการชาตินิยมเหล่านี้ไม่สามารถต่อต้านฝรั่งเศสได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นขบวนการที่อาศัยชนชั้นสูงชาวเวียดนามเป็นหลัก มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการระดมพลังมวลชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อขบวนการชาตินิยมดังกล่าวถูกฝรั่งเศสกำจัด จึงเหลือเพียงขบวนการคอมมิวนิสต์ซึ่งได้เปรียบขบวนการชาตินิยมอื่นๆ ในเวียดนามตรงที่สามารถรวมตัวกันได้อย่างกว้างขวางและค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะต้องสืบทอดภารกิจต่อไป

ฝรั่งเศสได้ทำลายอารยธรรมดั้งเดิมของเวียดนามไปจนแทบจะหมดสิ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนเวียดนามจากสังคมหมู่บ้านที่เป็นปึกแผ่นและผสมผสานกลมกลืนกัน มาเป็นรัฐที่มีอำนาจควบคุมอย่างใกล้ชิดและเก็บภาษีอย่างเข้มงวด และการที่ฝรั่งเศสมีฐานสนับสนุนเพียงกลุ่มเจ้าที่ดินและขุนนางกลุ่มน้อย จึงเปิดโอกาสให้แนวความคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะจากตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่เวียดนาม ซึ่งรวมทั้งอุดมการณ์มาร์กซ์-เลนินด้วย โฮจิมินห์นั้นเห็นว่าแนวคิดด้านเศรษฐกิจของเลนินสามารถนำไปสู่การปลดแอกอาณานิคมและนำมาซึ่งอำนาจรัฐ แนวคิดนี้ถือว่าขบวนการชาตินิยมที่ไม่ได้อยู่ในโลกตะวันตกมีศักยภาพที่จะเป็นพันธมิตรต่อต้านศัตรูร่วมกัน เลนินได้เสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในสังคมก่อนอุตสาหกรรมควรจะร่วมมือกับพลังชาตินิยมอื่นๆ เพื่อดำเนินการปฏิวัติตามแนวทางประชาธิปไตยทุนนิยม หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จะแยกตัวเองออกมาเพื่อดำเนินการปฏิวัติในขั้นต่อไปตามแนวทางสังคมนิยม(34)

ภารกิจแรกในการดำเนินงานปฏิวัติคือ การจัดตั้งองค์กรเพื่อเป็นศูนย์กลางในการระดมการสนับสนุนจากกลุ่มพลังชาตินิยมในเวียดนาม โดยในปี 1925 โฮจิมินห์จัดตั้ง “สันนิบาตเพื่อการปฏิวัติของกลุ่มคนหนุ่มเวียดนาม” หรือแทนห์เนียน (Viet Nam Thanh Nien Cach Menh Dong Chi Hoi – Thanh Nien) ขึ้นที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ประกอบด้วยผู้ลี้ภัยกลุ่มย่อยๆ ในจีนตอนใต้ อดีตสมาชิกของกลุ่มขบวนการผู้รักชาติอื่นๆ และนักศึกษาปัญญาชน เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์และฝึกอบรมชาวเวียดนามให้กลับไปปฏิบัติการในประเทศ โดยเยาวชนชาวเวียดนามจะถูกส่งไปประเทศจีนเพื่อฝึกหัดวิธีการปฏิวัติ ก่อนที่พวกเขาจะถูกส่งกลับเวียดนามเพื่อวางรากฐานขบวนการปฏิวัติภายในประเทศ ในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี แทนห์เนียนก็สามารถสร้างองค์กรใต้ดินที่มีสมาชิกหลายพันคน

การจัดตั้งองค์กรของขบวนการคอมมิวนิสต์นับเป็นพัฒนาการที่มีความสำคัญสำหรับการต่อต้านฝรั่งเศส แต่เดิม อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นเพียงแนวความคิดที่เผยแพร่ในหมู่ชาวเวียดนามจำนวนน้อย และมิได้มีการรวมกลุ่มเพื่อทำการปฏิวัติอย่างชัดเจน โฮจิมินห์ตระหนักดีว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นไม่ได้ในสภาพดังกล่าว เนื่องจากการปฏิวัติจะต้องเป็นการรวมพลังกันของปัจเจกชน และหากปราศจากการจัดตั้งองค์กรก็จะไม่มีการปฏิวัติ(35)

การก่อตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงปี 1925-1930 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การต่อต้านฝรั่งเศส เพราะนอกจากขบวนการนี้จะเสนออุดมการณ์ใหม่แล้ว ยังมีวิธีการต่อสู้ที่ชัดเจนกว่าขบวนการชาตินิยมอื่นๆ ในอดีต ดังที่ปรากฏในข้อเขียนของโฮจิมินห์ในหนังสือชื่อ แนวทางปฏิวัติ (Duong Kach Menh – เดื่องแก๊จแหม่นห์) ซึ่งเน้นถึงหลัก 3 ประการดังนี้(36)

1. การปฏิวัติเป็นหน้าที่ของมวลชนผู้เป็นชาวนาและกรรมกร และมิใช่เป็นของวีรบุรุษไม่กี่คน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมมวลชนให้เข้าร่วมในการปฏิวัติ

2. เพื่อให้ประสบความสำเร็จ การปฏิวัติจำเป็นต้องมีพรรคมาร์กซ์-เลนินเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องก่อตั้งพรรคในรูปแบบใหม่

3. การปฏิวัติเพื่อชาติจำเป็นต้องจัดร่วมไปกับการปฏิวัติในโลก และชาวเวียดนามต้องกระทำการร่วมกันพร้อมกับชนชั้นกรรมกรทั่วโลก

ความสำเร็จของขบวนการคอมมิวนิสต์นั้นเนื่องมาจากความชัดเจนของทฤษฎีมาร์กซ์-เลนินที่เน้นการปฏิบัติ และความสามารถของนักปฏิวัติชาวเวียดนามที่สามารถปรับทฤษฎีดังกล่าวให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางสังคมของเวียดนาม การปรับทฤษฎีให้สอดคล้องกับการปฏิบัติที่สำคัญคือ ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามจะเน้นเรื่องคุณธรรมมาก การฝึกอบรมสมาชิกของขบวนการจึงเน้นที่ความมัธยัสถ์ ความยุติธรรม ความไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ความถ่อมตน และจิตสำนึกแห่งการเสียสละ ในปี 1925 ขบวนการแทนห์เนียนประกาศว่า สมาชิกของขบวนการต้องปฏิญาณว่าจะเสียสละเจตจำนงส่วนตัว ผลประโยชน์ส่วนตัว และชีวิตของตัว เพื่อการปลดปล่อยชาติเป็นอันดับแรก (โค่นล้มระบอบอาณานิคมฝรั่งเศสและนำเสรีภาพมาสู่ประชาชน) และเพื่อการปฏิวัติโลกในลำดับต่อไป (โค่นล้มระบบทุนนิยมและสถาปนาระบบสังคมนิยม)

การปรับทฤษฎีให้สอดคล้องกับการปฏิบัติที่สำคัญอีกประการคือ ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามไม่เน้นเรื่องการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพอย่างเคร่งครัดตามทฤษฎี พวกเขาถือว่าการปฏิวัติเวียดนามจะต้องปฏิวัติทั้งทางด้านการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดชาตินิยมและสังคมนิยม เนื่องจากในระยะนั้นผู้นำของขบวนการเชื่อว่าเวียดนามยังไม่พร้อมที่จะปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ ความจำเป็นของเวียดนามคือปัญหาเรื่องเอกราชและปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน เมื่อขบวนการคอมมิวนิสต์เสนอประเด็นดังกล่าว จึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนระดับล่างของสังคม และแนวคิดการปฏิวัติทั้งทางด้านการเมืองและสังคมก็ได้พัฒนาเป็นแนวคิด “การปฏิวัติทวิภาค” (Dual Revolution) ซึ่งกลายเป็นแนวทางหลักของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในเวลาต่อมา(37)


ขบวนการแทนห์เนียน

ขบวนการแทนห์เนียนนับเป็นก้าวแรกของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม แต่ก็ยังไม่ใช่รูปแบบของขบวนการคอมมิวนิสต์ตามแนวคิดของเลนินอย่างสมบูรณ์ โคมินเทิร์นประเมินว่าเวียดนามยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการปฏิวัติ เพราะเวียดนามยังไม่มีขบวนการชาตินิยมที่เข้มแข็ง และเห็นว่าเวียดนามควรจัดตั้งองค์กรที่มีผู้นำเป็นมาร์กซิสต์และมีเป้าหมายในการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนทุกชนชั้นขึ้นมาเสียก่อน ในปี 1924 โฮจิมินห์ได้รับมอบภารกิจจากโคมินเทิร์นให้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างองค์กรคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคอยให้คำแนะนำสำหรับการก่อตั้งองค์กรคอมมิวนิสต์องค์กรแรกขึ้นในอินโดจีน(38)

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1925 โฮจิมินห์ก็ก่อตั้งองค์กรคอมมิวนิสต์องค์กรแรกขึ้น โดยมีสมาชิก 9 คน หลังจากนั้นเขาก็ขยายองค์กรขึ้นเป็น 3 ระดับ องค์กรแรกเป็นองค์กรระดับนานาชาติ คือ “สมาคมผู้กูกกดขี่แห่งเอเชีย” โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับชาวเกาหลี จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ภายใต้แรงผลักดันจากโคมินเทิร์น เพื่อที่จะจัดตั้ง “ขบวนการคอมมิวนิสต์ของเอเชียทั้งมวล” (Pan-Asian Communist Movement) แต่สมาคมนี้ก็ไม่มีบทบาทมากนัก และสลายตัวลงอย่างรวดเร็วภายในปีเดียวกันนั้นเอง
องค์กรที่สองคือ “สันนิบาตเพื่อการปฏิวัติของกลุ่มคนหนุ่มเวียดนาม” หรือ “แทนห์เนียน” ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1925 และองค์กรสุดท้ายคือ “สันนิบาตคนหนุ่มคอมมิวนิสต์” (Thanh Nien Cong San Doan) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำระดับสูงของขบวนการแทนห์เนียน มีสมาชิกประมาณ 6-8 คน(39)

ภารกิจที่สำคัญของขบวนการแทนห์เนียนมี 3 ประการ ประการแรกคือ การเผยแพร่และอบรมอุดมการณ์แก่สมาชิก มีการก่อตั้งโรงเรียนเพื่อการปฏิวัติขึ้นที่มณฑลกวางตุ้ง และเปิดหลักสูตรการอบรมทางการเมืองเพื่อการปฏิวัติของเวียดนาม ประการที่สองคือ การเคลื่อนไหวในอินโดจีนและไทย โดยการตั้งหน่วยงานของขบวนการขึ้นตามโรงงานและเขตนิคมการเกษตร เพื่อทำการปลุกระดมและกระตุ้นจิตสำนึกของมวลชน ภารกิจประการสุดท้ายคือ การก่อความไม่สงบและการโฆษณาชวนเชื่อภายในอินโดจีน

นอกจากขบวนการแทนห์เนียนแล้ว ยังมีขบวนการชาตินิยมที่สำคัญอีกอย่างน้อย 2-3 ขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในระยะเวลาเดียวกัน ขบวนการแรกคือ ขบวนการเตินเหวียด (Tan Viet Cach Menh Dang – พรรคปฏิวัติใหม่) ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เดิมมีชื่อว่า ฝุกเหวียด (Phuc Viet – การฟื้นฟูเวียดนาม) ต่อมาเมื่อรับแนวคิดมาร์กซิสม์ก็เปลี่ยนชื่อเป็น เหวียดนามแก๊กเหม่นด๋าง (Vietnam Cach Menh Dang – พรรคปฏิวัติเวียดนาม) ในปี 1926 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นขบวนการเตินเหวียดในปี 1958

อีกขบวนการหนึ่งก็คือ พรรคชาตินิยมเวียดนาม (Viet Nam Quoc Dan Dang) ตั้งขึ้นเมื่อปี 1927 พรรคนี้เป็นที่รวมของกลุ่มนักศึกษาปัญญาชน ข้าราชการในชนบท และนักชาตินิยม โดยได้รับอิทธิพลมาจากพรรคก๊กมินตั๋งในประเทศจีน จึงมีแนวโน้มต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีเป้าหมายในการแสวงหาเอกราชและจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย พรรคชาตินิยมเวียดนามมุ่งสร้างเอกภาพของชาติตามทัศนะของชนชั้นกลางเป็นสำคัญ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาของชาวนาและกรรมกร แนวทางการต่อสู้คือการก่อความไม่สงบและต่อต้านฝรั่งเศสด้วยอาวุธทางภาคใต้ของเวียดนามก็มีขบวนการทางการเมืองและศาสนา คือสมาคมกาวด่าย (Cao Dai) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้นับถือศาสนาต่างๆ รวมไปถึงลัทธิบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือภูตผีวิญญาณ องค์กรนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่ชาวนา เนื่องจากสอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวเวียดนามในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ


เชิงอรรถ

19. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 37

20. เรื่องเดียวกัน, น. 40-42

21. ต่อเรื่องนี้ โจเซฟ บัตตินเจอร์ ได้กล่าวถึงข้าราชการ (ที่เต็มไปด้วยเล่ห์อุบาย) 2 คน ในสภาผู้สำเร็จราชการ คือโตนเทิ้ดเทวี๊ยด (Ton That Thuyet) และเหงียนวันเตื่อง (Nguyen Van Tuong) ว่าทั้งสองจัดการแต่งตั้งและปลดจักรพรรดิถึง 3 พระองค์นับตั้งแต่พระเจ้าตื่อดึ๊กสวรรคต และในปี 1885 ก็จัดการให้จักรพรรดิฮัมงีเป็นหัวหน้ากบฏ เพื่อทำการลดอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสในบางพื้นที่ของอันนำ ดู โจเซฟ บัตตินเจอร์, อ้างแล้ว, น. 111

22. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 45

23. เรื่องเดียวกัน, น. 49

24. เหงียน คัก เวียน, อ้างแล้ว, น. 183

25. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 4, น. 49

26. เรื่องเดียวกัน, น. 52

27. โจเซฟ บัตตินเจอร์, อ้างแล้ว, น. 119

28. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 58

29. โคมินเทิร์น ก่อตั้งเมื่อปี 1919 ภายหลังการปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซียเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1917 เพื่อเป็นสถาบันส่งเสริมการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย มีที่มาจากแนวคิดสากลนิยมของเลนิน ที่เห็นว่ากลุ่มชาตินิยมในประเทศอาณานิคมก็มีความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านทุนนิยมโลกเช่นกัน

30. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 59

31. เรื่องเดียวกัน, น. 60

32. วินัย คุณอุดม (บรรณาธิการ), โฮจิมินห์ (สำนักพิมพ์ประกายพรึก, ไม่ระบุปีที่พิมพ์), น. 32

33. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 66

34. โกสุมภ์ สายจันทร์, อ้างแล้ว, น. 93

35. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 68

36. เหงียน คัก เวียน, อ้างแล้ว, น. 207

37. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 68-71

38. เรื่องเดียวกัน, น. 74

39. เรื่องเดียวกัน, น. 74

Friday, September 08, 2006

2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสแวะเข้าโรงหนังอยู่หลายรอบ และหลายต่อหลายครั้งก็คิดว่าจะพยายามเขียนถึงหนังที่ได้ดูบ้าง เก็บเอาไว้เป็นความทรงจำส่วนตัว จะได้ไม่ลืมว่าคิดและรู้สึกกับหนังแต่ละเรื่องอย่างไร

ช่วงนี้ที่สำนักงานบ้านสีฟ้าเริ่มเงียบเหงา เพราะหนังสือที่ทำเตรียมไว้สำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 11 ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้เกือบเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ภาระหน้าที่ที่มีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก (ขาดก็แต่คอลัมน์ที่ปั่นไม่ออก อ่านหนังสือไป 2 เล่มแล้ว แต่ก็ยังเขียนไม่ได้อยู่ดี ช่วงนี้เลยต้องขออนุญาตท่านบรรณาธิการเอารายงานที่ทำเอาไว้มาลงแก้ขัดไปก่อน) ช่วงนี้จึงเหมาะที่จะเขียนอะไรบ้าง หัวสมองจะได้ใช้งาน ไม่ต้องคิดวุ่นวายเรื่องอื่นๆ ให้ปวดหัว

11 โมงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2549 อากาศในกรุงเทพฯร้อนเป็นปกติ ผมนั่งรถเมล์คู่ชีพมุ่งหน้าสู่สยามสแควร์ ตั้งใจว่าจะหาหนังรอบเที่ยงดูซักเรื่อง ก่อนที่จะคิดทำอะไรต่อไปสำหรับวันที่เหลือ หนังเรื่องล่าสุดที่ผมดูก่อนหน้านี้คือ United 93 ย้อนไปก่อนหน้านี้อีกก็คือ The Wind That Shakes the Barley ทั้งสองเรื่องล้วนมีแง่มุมให้เขียนถึงมากมาย แต่ถ้าจะเขียนให้สนุก ผมก็คงต้องกลับไปหาข้อมูลทั้งกรณีเหตุการณ์ 11 กันยายน เมื่อ 5 ปีก่อน และกรณีขบวนการกู้ชาติของไอร์แลนด์ ซึ่งจังหวะชีวิตช่วงนี้ไม่มีความมุ่งมั่นมากขนาดนั้นครับ

ใครที่ยังไม่ได้ดู ผมแนะนำให้ลองไปดู The Wind That Shakes the Barley หนังยังฉายอยู่ที่ Lido ครับ

ผมไปถึงโรงหนังประมาณ 10 นาทีก่อนเที่ยง และหนังที่เวลาฉายเหมาะสมที่สุดในเวลานั้นก็คือ Me and You and Everyone We Know

ผมเคยผ่านตาชื่อหนังเรื่องนี้มาแล้วจากคอลัมน์ “ดูหนังอย่างคนป่วย” ของคุณวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ใน open online แต่ถึงแม้ผมจะเป็นคนตรวจทานบทความชิ้นนี้ก่อนจะส่งขึ้นเว็บไซต์ แต่ว่ากันตรงๆ แล้วก็แทบจดจำอะไรไม่ได้เลย ใครที่เคยอ่านหนังสือเพื่อตรวจความถูกต้องคงจะพอเข้าใจได้ว่ามันแตกต่างกับการอ่านหนังสือเพื่อเอาเนื้อหาสาระมากพอสมควร และนั่นแหละครับ สิ่งแรกที่ผุดขึ้นในใจผมตอนที่เห็นโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ที่หน้าโรงก็คือแค่คุ้นๆ ว่าเคยเห็นโปสเตอร์แบบนี้กับชื่อหนังเรื่องนี้ใน open online ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

การที่ได้ดูหนังแบบ “ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น” ก็เป็นเรื่องดีเรื่องหนึ่งของชีวิต ไม่มีการคาดหวัง คาดเดา นึก คิด จินตนาการ แบบที่ทำกันอยู่ทั่วไปในเหตุการณ์ชีวิตประจำวัน (ซึ่งมักนำความทุกข์หรือความไม่สบายใจมาให้เสมอ) ชะตากรรมของคนดูขึ้นอยู่กับภาพเคลื่อนไหวตรงหน้า ซึ่งผมพยายามคิดว่าชีวิตเราก็น่าจะเป็นแบบนั้น ต่อให้เราวางแผนชีวิตไว้แน่นหนารัดกุมมากเพียงใด แต่สุดท้ายแล้วการควบคุมก็ไม่ได้เป็นของเราไปเสียทั้งหมด

ลำพังการควบคุมตัวเราเอง เราก็ยังทำไม่ได้เลยนี่ครับ นับประสาอะไรกับปัจจัยภายนอกร้อยแปดที่เราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ผมจะเริ่มต้นการเขียนถึงหนังเรื่องนี้อย่างไรดี...

น่าจะเป็นการดีหากจะเริ่มต้นด้วยฉากที่ผมประทับใจมากที่สุด

“ปลาทอง”

ปลาทอง 1 ตัวในถุงพลาสติก พ่อกับลูกสาวถือมันออกมาจากร้านค้า ก่อนจะลืมมันเอาไว้บนหลังคารถ รถวิ่งไปบนถนน คน 2 คนในรถอีกคันหนึ่งมองเห็นมัน—คริสตีน เจสเปอร์สัน (มิแรนดา จูลี) กับชายชรา (เฮกเตอร์ อีเลียส) ทั้งคู่เป็นห่วงว่ามันจะตกลงมาบนพื้นถนน คริสตีนบอกมันว่า “เจ้าปลาทอง ฉันไม่รู้จักเธอ แต่อยากให้เธอรู้ว่าเธอจะจากไปพร้อมกับความรักจากฉัน”

รถเบรก ปลาทองในถุงพลาสติกกระเด็นไปตกที่ท้ายรถของคันข้างหน้า รถวิ่งไปอีกครั้ง พ่อกับลูกสาว คริสตีนกับชายชรา เฝ้ามองมัน ในขณะที่สามีภรรยาในรถคันข้างหน้าไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ท้ายรถของพวกเขา รถทั้งสามคันวิ่งต่อไปเรื่อยๆ ก่อนที่ถุงพลาสติกที่ภายในบรรจุน้ำและปลาทอง 1 ตัว จะค่อยๆ เคลื่อนไปที่ท้ายรถ...

หลังจากดูฉากนี้จบลง ผมก็รู้ได้ทันทีว่าผมชอบหนังเรื่องนี้มาก

ปลาทองในถุงพลาสติก—ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

มิแรนดา จูลี (ผู้กำกับและนักแสดงของหนังเรื่องนี้) สร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายประเภท และทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ก็สะท้อนความเป็นศิลปินของเธอได้อย่างชัดเจน ผมไม่กล้าบอกว่าเธอต้องการจะส่งสารอะไรถึงผู้ชม แค่การ “ขี้ใส่กันชั่วนิรันดร์” ของหนูน้อยร็อบบี้ (แบรนดอน แรตคลิฟฟ์) ก็เกินกว่าสติปัญญาของผมจะตีความได้

บางทีความคลุมเครือก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน บางครั้งผมก็คิดเข้าข้างตัวเองว่าชีวิตคงไม่ต้องการความชัดเจนไปเสียทุกเรื่อง เพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็คงตัดสินใจให้ชัดเจนลงไปในบางเรื่องไม่ได้ อย่างเรื่องของชะตากรรมในตอนต้น นี่ก็เป็นเรื่องคลุมเครืออีกเรื่องหนึ่งของชีวิต คลุมเครือจนอาจจะเรียกว่ามืดทึบได้ด้วยซ้ำไป ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป หนทางข้างหน้าจะยังมีให้เดินต่อไปอีกนานเท่าไหร่ หรือคนที่ได้เจอะเจอกันในวันนี้ วันหนึ่งวันใดข้างหน้าก็อาจจะไม่มีโอกาสได้พบเจอกันอีก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็คิดว่าในความคลุมเครือก็จำเป็นต้องมีความชัดเจนเหมือนกัน อย่างเช่นที่มิแรนดา จูลี ทำในหนังเรื่องนี้ เราอาจจะบอกได้ว่าเธอกำลังเสนอเรื่องความรัก เรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ เรื่องความต้องการมีใครซักคนของมนุษย์ ฯลฯ เราคงบอกได้ เพราะในความคลุมเครือของมิแรนดา จูลี มันก็มีความชัดเจนบางอย่างอยู่ อย่างน้อย ความชัดเจนในฐานะของคนทำงานศิลปะก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมสัมผัสได้

ความคลุมเครือกับความชัดเจนจึงอาจเป็นสิ่งตรงข้ามที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน เหมือนกับถ้าไม่มีขาว ก็ไม่มีดำ หรือถ้าไม่มีผู้ชายเจ้าชู้ ก็อาจจะไม่มีผู้ชายรักเดียวใจเดียว

บางทีโลกของเราคือการทำงานร่วมกันของสิ่งตรงกันข้าม หลักใหญ่ใจความของทุกสิ่งทุกอย่างจึงอาจจะอยู่ที่การรักษาสมดุลของทั้งสองฝั่ง ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้จนจบสิ้นกระบวนการ

ร่างกายและจิตใจก็คงไม่ต่างกัน สมองซีกซ้ายควบคุมการทำงานของร่างกายซีกขวา สมองซีกขวาควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย ความโกรธย่อยสลายได้ด้วยการให้อภัย และเมื่อเราต้องการเป็นผู้รับ เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้การเป็นผู้ให้

คู่ตรงข้ามอาจจะไม่ใช่คู่ตรงข้าม และความคลุมเครือกับความชัดเจนก็อาจจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน

“เรายังไม่เหม็นขี้หน้ากันซักหน่อย” คริสตีนบอกกับริชาร์ด (จอห์น ฮอว์เกส) ในขณะที่ทั้งคู่กำลังเดินไปที่รถ ก่อนที่ริชาร์ดจะบอกว่าเขาเป็นฆาตกรโรคจิตและไล่คริสตีนลงจากรถของเขา


ผมกำลังเขียนถึงอะไร?

Me and You and Everyone We Know หนังเรื่องล่าสุดที่ผมไปดูมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2549—ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น