Thursday, August 31, 2006

การก่อรูปของขบวนการชาตินิยมในเวียดนาม ภายหลังการยึดครองของฝรั่งเศสจนถึงการประกาศเอกราชในปี 1945 (ตอน 1)

บทความนี้ปรับปรุงจากรายงานเรื่องเดียวกันซึ่งเสนอต่อ อ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวิชา ร. 430 ชนชาติ วัฒนธรรม และปัญหาการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การรุกรานของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาในเวียดนามตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยตามหลังโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ซึ่งเข้ามาทำการค้าในภูมิภาคนี้อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม การค้าของชาวตะวันตกในเวียดนามนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อังกฤษต้องปิดสำนักงานการค้าในฮานอยในปี 1697 ฮอลันดาปิดในปี 1700 มีเพียงโปรตุเกสที่ยังคงเดินเรือระหว่างมาเก๊าและเวียดนามต่อไป แต่ก็อยู่ในวงที่แคบลงมาก(1)

หลังจากพ่อค้าจากยุโรปพวกสุดท้ายออกจากเวียดนามไปในปี 1700 แล้ว กลุ่มที่มีบทบาทต่อมาก็คือ นักเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่มีฝรั่งเศสเป็นผู้นำ มีการตั้ง “สมาคมโพ้นทะเล” ขึ้นในปี 1658 เพื่อทำหน้าที่ส่งคณะเผยแพร่ศาสนามายังเวียดนาม โดยความร่วมมือของสถาบันกษัตริย์ กองทัพเรือ และบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส (The French East India Co.)(2)

อย่างไรก็ตาม ความพยายามเผยแพร่ศาสนาดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากในระยะนั้นเกิดความไม่สงบขึ้นในเวียดนาม ตั้งแต่สงครามกลางเมืองระหว่างตระกูลเหวียน (Nguyen) กับตระกูลตรินห์ (Trinh) จนถึงกบฏไตเซิน (Tay Son) แต่สำหรับฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าเวียดนามเป็นเพียงทางผ่านไปยังจีนเท่านั้น โดยมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเวียดนามนั้นนอกจากความต้องการวัตถุดิบและตลาดในเวียดนามแล้ว ฝรั่งเศสยังต้องการใช้เวียดนามเป็นทางผ่านเข้าสู่จีนผ่านทางแม่น้ำโขง เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าและเป็นที่สนใจของชาติตะวันตกในขณะนั้น(3) ในช่วงแรกฝรั่งเศสจึงยังไม่ได้เข้ามาจัดการควบคุมเวียดนามอย่างเต็มที่ บทบาทของชาวฝรั่งเศสในการขยายอำนาจในเวียดนาม จึงมีเพียงบทบาทของพ่อค้าเอกชนร่วมกับนายทหารในกองทัพเรือฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ในเขตทะเลจีนใต้เท่านั้น(4)

ฝรั่งเศสเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อบาทหลวงปิโย เดอ บาแอนน์ (Pigneau de Bahaine) นำกองทหารเข้าช่วยเหลือเหวียนแอ๊นท์ (Nguyen Anh) ปราบกบฏไตเซินได้สำเร็จ และเหวียนแอ๊นท์สามารถสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิยาลอง (Gia Long) แห่งราชวงศ์เหวียนในปี 1802 โดยจักรพรรดิยาลองได้ตอบแทนฝรั่งเศสด้วยการอนุญาตให้เผยแพร่คริสต์ศาสนาได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งก็มีชาวเวียดนามหันไปเข้ารีตเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในหมู่คนยากจน จนเกิดเป็นความขัดแย้งทางความคิดในสังคมเวียดนาม โดยเฉพาะในรัชสมัยของจักรพรรดิมินห์ หม่าง (Minh Mang) ซึ่งจักรพรรดิและขุนนางมองว่าคริสต์ศาสนาเป็นของ “ต่างชาติ” และแตกต่างจากพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของเวียดนาม

นอกจากนี้ การเผยแพร่คริสต์ศาสนายังอาจส่งผลกระทบต่ออำนาจของจักรพรรดิ เนื่องจากอุดมการณ์ณ์ขงจื้อนั้นยกย่องจักรพรรดิเป็นประมุขทั้งทางโลกและทางธรรม โดยไม่มีองค์กรศาสนามายุ่งเกี่ยว แต่คริสต์ศาสนาได้แยกประมุขทางโลกกับทางธรรมออกจากกัน โดยมีประมุขทางธรรมคือพระสันตะปาปา ทำให้จักรพรรดิมิได้มีฐานะสูงสุดเพียงผู้เดียวอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น คริสต์ศาสนายังพยายามรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนและขยายอิทธิพลกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้นำของเวียดนามเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของเวียดนาม(5)

ด้วยเหตุนี้ ผู้นำของเวียดนามจึงไม่ยินยอมให้การเผยแพร่ศาสนาทำได้อย่างเสรี มีการดำเนินการต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาของฝรั่งเศสอย่างจริงจัง ทำให้นักสอนศาสนาและประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ในปี 1825 ในรัชสมัยของจักรพรรดิมินห์ หม่าง มีการออกพระราชกฤษฎีกาประณาม “ศาสนาวิตถารของชาวยุโรป” ว่าเป็น “การทำให้จิตใจคนเลวลง” ระหว่างปี 1833-1838 นักสอนศาสนา 7 คนถูกตัดสินประหารชีวิต(6) ในขณะเดียวกัน การเผชิญหน้ากับชาวตะวันตกก็เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ในปี 1847 ซึ่งเป็นปีแรกในรัชสมัยของจักรพรรดิตื่อดึ๊ก (Tu Duc) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนาม พระองค์เน้นการปิดประเทศเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของต่างชาติ มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ต้องการยึดเวียดนามเป็นอาณานิคม ฝรั่งเศสจึงอ้างเหตุเหล่านี้เข้ารุกรานเวียดนาม โดยเข้าโจมตีเมืองตูราน (Tourane) หรือเมืองดานัง (Danang) ในปัจจุบัน เป็นแห่งแรก และเริ่มยึดครองดินแดนส่วนอื่นๆ เรื่อยมา ฝรั่งเศสใช้การบังคับให้ราชสำนักยินยอมทำสนธิสัญญา จนกระทั่งเวียดนามต้องลงนามในสนธิสัญญายอมรับอำนาจของฝรั่งเศสในดินแดนของตนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 1883 ระยะเวลา 900 ปีแห่งเอกราชของอาณาจักรเวียดนามจึงสิ้นสุดลง

การลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ แน่นอนว่าเป็นการถูกกดขี่บังคับมากกว่าโดยสมัครใจ ประชาชนหรือข้าราชการชาวเวียดนามต่างก็ไม่ต้อนรับการเข้ามายึดครองของฝรั่งเศส เมื่อมีการออกแถลงการณ์การสวรรคตของจักรพรรดิตื่อดึ๊กที่สวรรคตไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทางราชสำนักจึงแสดงความปรารถนาที่จะกู้เอกราชคืน โดยในแถลงการณ์มีข้อความตอนหนึ่งว่า “พระเจ้าตื่อดึ๊กสิ้นพระชนม์เพราะความเสียพระทัยที่ชนต่างชาติเข้ามารุกรานและทำลานอาณาจักรของพระองค์ และพระองค์สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยมีพระราชดำรัสสาปแช่งผู้รุกราน หัวใจทุกดวงจงรำลึกถึงพระองค์ และแก้แค้นให้เป็นพระราชานุสรณ์แด่พระองค์เถิด”(7)


การก่อตั้งรัฐบาลอาณานิคม (ปี 1897-1918) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ

ฝรั่งเศสยังคงต้องทำสงครามต่อไปจนกระทั่งถึงปี 1896 รัฐบาลอาณานิคมจึงสามารถสร้างฐานอำนาจขึ้นมาได้ การเข้ามาของระบบอาณานิคมฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเพียงการเข้ามาของผู้ปกครองใหม่ แต่เป็นการเข้ามาของระบบการเมือง การศึกษา วัฒนธรรม และค่านิยมแบบตะวันตก ตลอดจนเป็นการนำระบบเศรษฐกิจของเวียดนามเข้าไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ถึงแม้ว่าการยึดครองของฝรั่งเศสจะเป็นเวลาไม่นานเมื่อเทียบกับการถูกจีนยึดครองในอดีต แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในเวียดนาม

นโยบายของฝรั่งเศสในอาณานิคม

ในด้านการเมืองการปกครอง ฝรั่งเศสได้ผนวกดินแดนลาวและกัมพูชารวมเข้ากับเวียดนามในปี 1862 เรียกว่า “อินโดจีนฝรั่งเศส” (French Indochina) จากนั้นก็แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 แคว้น ได้แก่ โคชินจีน อันนัม ตังเกี๋ย ลาว และกัมพูชา แคว้นโคชินจีนซึ่งอยู่ทางใต้ของเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสโดยตรง ในขณะที่แคว้นอื่นๆ เป็นรัฐอารักขาขึ้นต่อรัฐบาลกลางที่โคชินจีน การปกครองส่วนกลางที่โคชินจีนมีข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส (Governor) เป็นผู้ปกครอง และมีองคมนตรีกับสภาอาณานิคมทำหน้าที่เป็นสภาบริหารและสภานิติบัญญัติตามลำดับ ในขณะที่แคว้นอื่นๆ มีผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสซึ่งมีตำแหน่งที่เรียกชื่อต่างกันไปในแต่ละแคว้น กล่าวคือ Governor-General ในฮานอยและ Resident superieur ในตังเกี๋ยและอันนัม(8) โดยที่ฝรั่งเศสปกครองแบบกดขี่และใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนกันหมดทุกแคว้น

โคชินจีนถูกแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัด แต่ละจังหวัดมีเจ้าหน้าที่บริหารชาวฝรั่งเศสคอยดูแล ส่วนในอันนัมและตังเกี๋ย ฝรั่งเศสจัดการปกครองทางอ้อม โดยส่งผู้สำเร็จราชการไปดูแล แต่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการบริหารภายใต้การแนะนำของชาวฝรั่งเศส และฝรั่งเศสจะไม่พยายามแทรกแซงโดยตรงนอกจากเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในอันนัมที่ฝรั่งเศสยังคงสถาบันจักรพรรดิ ราชสำนัก และขุนนางไว้ ควบคู่กับการบริหารของผู้สำเร็จราชการ

ฝรั่งเศสได้นำโครงสร้างการปกครองแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่โครงสร้างการปกครองของชาวพื้นเมือง รัฐบาลกลางมีอำนาจมากขึ้น ในขณะที่หมู่บ้านในชนบทสูญเสียความสามารถในการปกครองตนเอง เกิดระบบอำนาจนิยมขึ้นในหมู่ข้าราชการ การปกครองของชาวเวียดนามถูกจำกัดหรือได้รับมอบหมายเพียงแต่งานรองๆ ฝรั่งเศสเป็นผู้ดูแลสภาเสนาบดีเวียดนาม และเสนาบดีแต่ละคนจะมีที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศสกำกับดูแลอยู่ การปกครองอาณานิคมแบบใหม่ต้องการบุคลากรชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะในงานบริหารระดับต่ำ ซึ่งต้องทำหน้าที่ภายใต้แบบแผนของตะวันตกโดยไม่มีการคำนึงถึงภูมิหลังทางสังคมและงานเดิม แต่คำนึงถึงคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการทำงานเป็นสำคัญ ผลก็คือผู้ที่เคยมีฐานะสูงในสังคมเดิมเกิดความไม่พอใจที่ถูกลดบทบาทลง โดยเฉพาะบรรดาขุนนางขงจื้อที่กลายเป็นกลุ่มที่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยวทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม(9)

ความต้องการบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ของระบบอาณานิคม ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมแบบตะวันตก มีการตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยซึ่งเปิดสอนโดยคณะมิชชันนารีหรือรัฐบาลของระบบอาณานิคม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาของเวียดนามคือข้าหลวงใหญ่ ปอล โบว์ (Paul Beau) ซึ่งจัดตั้งสภาส่งเสริมการศึกษาพื้นเมืองขึ้นเมื่อปี 1906 เพื่อวางระบบการศึกษาแบบใหม่ ต่อมาในปี 1915 ก็ล้มเลิกระบบการสอบชิงตำแหน่งขุนนางตามประเพณีเดิม ระบบการศึกษาตามประเพณีถูกแทนที่ด้วยระบบที่ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาคนงานและเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำๆ ในรัฐบาลอาณานิคม โดยใช้ภาษาฝรั่งเศสในการเรียนการสอน

ผลที่ตามมาก็คือ ระบบการศึกษาแบบใหม่ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมแพร่หลายขึ้นในหมู่นักศึกษา จนฝรั่งเศสต้องสั่งปิดมหาวิทยาลัยฮานอยชั่วคราวในปี 1908(10) นอกจากนี้ การศึกษาในเวียดนามก็ไม่ได้ขยายตัวอย่างทั่วถึง เพราะรัฐบาลอาณานิคมพยายามจำกัดการขยายการศึกษา ผู้ที่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเพียงคนส่วนน้อยของสังคม เยาวชนกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ และหลังจากก่อตั้งมาได้ 30 ปี มหาวิทยาลัยก็มีนักศึกษาเพียง 600 คนเท่านั้น(11) ขณะเดียวกันก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านระบบการศึกษาแบบเก่า ทำให้ไม่สามารถทำงานภายใต้ระบบอาณานิคมได้ เหล่าปัญญาชนขงจื้อที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการปกครองของฝรั่งเศสเหล่านี้ ได้กลายเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมต่อต้านฝรั่งเศสในเวลาต่อมา(12)

การปกครองระบบอาณานิคมนั้นเน้นสร้างความแข็งแกร่งของรัฐบาลกลาง ถึงแม้จะเกิดกบฏขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า อันแสดงให้เห็นว่าขบวนการชาตินิยมยังคงดำเนินการอยู่อย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยทหารฝรั่งเศสเพียง 11,000 คน กับกองทหารเวียดนามอีก 5,000 คน และตำรวจรักษาความปลอดภัยอีกจำนวนหนึ่ง ก็สามารถปกครองชาวเวียดนามถึง 24 ล้านคนได้ โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ใช้วิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อรักษาความสงบภายใน โดยเฉพาะเพื่อปราบปรามพวกชาตินิยมชาวเวียดนาม คนงาน และชาวนาที่คิดกบฏ

ในด้านเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสเริ่มแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเวียดนามอย่างเต็มที่ในช่วงทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1919-1929) โดยในช่วงแรกฝรั่งเศสยังไม่ได้จัดระบบเศรษฐกิจในเวียดนามอย่างชัดเจน จนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ซึ่งฝรั่งเศสสามารถยึดครองโคชินจีนได้แล้ว ฝรั่งเศสจึงจัดสรรระบบที่ดินใหม่เพื่อให้ชาวฝรั่งเศสมีสิทธิครอบครองที่ดินมากขึ้น ใน 1863 ฝรั่งเศสประกาศให้ชาวเวียดนามที่อพยพไปในระหว่างสงครามย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนภายในเวลาที่กำหนด ถ้าหากที่ดินใดไม่มีผู้อ้างเป็นเจ้าของก็จะถูกริบคืนแผ่นดิน แต่ผลในทางปฏิบัติปรากฏว่าแม้ชาวเวียดนามจะกลับสู่ดินแดนของตนภายในเวลาที่กำหนด แต่ก็พบว่ากรรมสิทธิ์ได้ตกแก่ชาวฝรั่งเศสไปก่อนหน้านั้นแล้ว

สำหรับในตังเกี๋ยและอันนัม ในปี 1888 ฝรั่งเศสสั่งให้จักรพรรดิออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกข้อบังคับที่จำกัดการครอบครองที่ดินของชาวฝรั่งเศสไว้ไม่เกิน 100 เอเคอร์ ทำให้ชาวฝรั่งเศสสามารถเข้าไปครอบครองที่ดินในรัฐอารักขาดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง(13)

ในบริเวณที่ราบสูงภาคกลาง รัฐบาลอาณานิคมได้นำที่ดินมาแจกจ่ายให้กับชาวฝรั่งเศสผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและชาวเวียดนามที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ผลก็คือในระหว่างปี 1897-1913 ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและบริษัทต่างๆ สามารถยึดครองที่ดินได้ถึง 470,000 เฮกตาร์ (306,000 เฮกตาร์ [1 เฮกตาร์ = 1.5 เอเคอร์] อยู่ในโคชินจีน)(14)

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ฝรั่งเศสเร่งพัฒนาเวียดนามเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเอง ค่าเงินฟรังค์ที่ต่ำลงและการเก็งกำไรยางพาราในตลาดโลกทำให้ฝรั่งเศสเร่งมาลงทุนในอินโดจีน การลงทุนในเวียดนามขยายตัวทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในช่วงปี 1888-1918 ฝรั่งเศสนำเงินมาลงทุนในอินโดจีน 490 ล้านฟรังค์ และเพิ่มเป็น 4,000 ล้านฟรังค์ในช่วงปี 1919-1929 เงินทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในด้านกิจการเหมืองแร่และสวนยางพารา เพื่อตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติของเวียดนามส่งออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเหล่านี้ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจของเวียดนาม เนื่องจากผลประโยชน์จากการลงทุนมากกว่าครึ่งตกเป็นของฝรั่งเศส และถึงแม้ฝรั่งเศสจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไว้หลายด้าน เช่น ถนน การชลประทาน ตลอดจนการตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันการเงิน แต่ชาวเวียดนามกลับได้ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย ชาวเวียดนามจำนวนมากกลายเป็นชาวนาที่ต้องเช่าที่ดินผู้อื่น หรือเป็นกรรมกรในโรงงานของชาวฝรั่งเศส

ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ของชาวเวียดนาม เนื่องจากที่ดินได้เปลี่ยนมือจากจักรพรรดิและขุนนางไปเป็นของชาวฝรั่งเศสหรือชาวเวียดนามที่เป็นพันธมิตรกับข้าราชการชาวฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยังคงรักษาโครงสร้างระบบเจ้าที่ดินไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์หรือเก็บภาษีต่อไป ชนชั้นเจ้าของที่ดินมีจำนวน 3-5% ของประชากรทั้งหมด แต่ครอบครองที่ดินประมาณครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมด ส่วนจำนวนชาวนานั้นมีประมาณ 90% ของประชากรทั้งหมด(15) ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่าได้กลายเป็นความขัดแย้งกันมากขึ้น เนื่องจากเจ้าของที่ดินสามารถกำหนดค่าเช่าในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่ตน ด้วยอัตราค่าเช่าถึงครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้ ทำให้ชาวนากลายเป็นผู้มีหนี้สินมาก จากที่เคยมีที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยก็กลายเป็นชาวนาผู้ไร้ที่ดิน เพราะถูกช่วงชิงไปหมด

ความทุกข์ยากของชาวเวียดนามยังถูกซ้ำเติมด้วยระบบภาษีของรัฐบาลที่เก็บเป็นเงินสดในอัตราที่แน่นอน โดยไม่มีการผ่อนปรนแม้ในยามที่เกิดทุพภิกขภัย ภาษีของรัฐบาลอาณานิคมมี 3 ประเภทคือ ภาษีรายหัว ภาษีที่ดิน และภาษีการผูกขาดเหล้าเกลือ ซึ่งอัตราภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้นไม่ว่าราคาของผลผลิตจะตกต่ำหรือไม่ก็ตาม หากปีใดผลผลิตตกต่ำ ชาวนาก็จะต้องจำนองหรือขายที่นาไปทีละส่วน เพื่อจ่ายภาษีและดอกเบี้ยเงินกู้

สภาพดังกล่าวจึงทำให้ชาวเวียดนามแทบจะไม่มีโอกาสทางการศึกษา จากที่แต่เดิม เด็กชายทุกคนไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจนก็มีโอกาสเป็นขุนนางได้ แต่ในสมัยเป็นอาณานิคม มีครอบครัวชาวนาไม่กี่ครอบครัวที่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาเรียกเก็บได้ โดยในปี 1940 มีชาวเวียดนามไม่ถึง 3% ที่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน(16) แรงกดดันของสังคมศักดินาและอาณานิคมโถมทับลงบนชีวิตชาวนาเวียดนามผู้ไร้ที่ดินจำนวนหลายล้านคน ซึ่งชาวนาที่ถูกกดขี่ทารุณเหล่านี้ ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวิติเพื่อชาติและประชาธิปไตยในเวียดนาม(17)

ในด้านสังคม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้โครงสร้างทางสังคมของเวียดนามเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจของเวียดนามได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดชนกลุ่มใหม่ คือชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพ ในปี 1929 มีกรรมกรประมาณ 222,000 คนทั่วทั้งเวียดนาม แม้จะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่กรรมกรเหล่านี้อยู่รวมกันในบริเวณที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของอาณานิคม เช่น ในเหมืองแร่ สวนยางพารา และในเมืองใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นคนกลุ่มเดียวในสังคมที่เผชิญหน้าโดยตรงกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส พวกเขาจึงอยู่ในฐานะที่สำคัญยิ่งในสังคมเวียดนาม

กรรมกรส่วนใหญ่ของเวียดนามต้องยินยอมทำสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบกับตัวแทนของบริษัทฝรั่งเศส เนื่องจากพวกเขาอ่านเขียนไม่ได้ และคนที่ว่างงานและต้องการทำงานนั้นมีมาก พวกชาวนาที่เซ็นสัญญาเข้าทำงานเหล่านี้จะถูกส่งไปทำงานในสวนยางพาราหรือในเหมืองแร่ พวกเขาต้องทำงานในสภาพที่ยากลำบาก หากคนงานปฏิเสธไม่ยอมทำงานก็จะถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณ ผู้จัดการชาวฝรั่งเศสสามารถสั่งฆ่าคนงานชาวเวียดนามได้ ถ้าคนงานหลบหนีจะถูกตามจับโดยตำรวจอาณานิคม ไม่มีกฎหมายใดๆ ที่ให้ความคุ้มครองแรงงาน ไม่มีเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงานจะถูกลงโทษเสมือนเป็นอาชญากร เช่น การจำคุก การทรมาน และการเนรเทศ(18)

สำหรับชนชั้นกลางเวียดนาม ในระยะแรกคือช่วงปี 1919-1929 นั้นยังไม่เข้มแข็งมากนัก ถึงแม้จะเติบโตขึ้นมากนับจากอดีต เนื่องจากต้องเผชิญกับระบบการผูกขาดของฝรั่งเศสและการแข่งขันกับนายทุนชาวจีน แต่ในช่วงหลังคือระหว่างปี 1924-1929 ก็เริ่มมีห้างร้านของชาวเวียดนามเกิดขึ้นบ้าง กลุ่มชนชั้นกลางนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือกลุ่มนายทุนชาติที่ต้องการลงทุนทำการผลิตหรือการค้าแต่ประสบกับอุปสรรคจากการบริหารของรัฐบาลอาณานิคม อีกประเภทหนึ่งคือกลุ่มนายทุนนายหน้า (comprador) ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการติดต่อกับฝรั่งเศส โดยรับสินค้าจากฝรั่งเศสมาจำหน่าย หรือรับช่วงประมูลการก่อสร้างต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนอพยพหรือชาวเวียดนามเชื้อสายจีน ชนชั้นกลางประเภทสุดท้ายคือชนชั้นนายทุนน้อย (petty-bourgeoisie) ประกอบด้วยพ่อค้ารายย่อย ช่างฝีมือ และนักศึกษาปัญญาชนซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดก้าวหน้าจากฝรั่งเศสผ่านทางการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

การจัดตั้งระบบอาณานิคมของฝรั่งเศส ในด้านหนึ่งก็คือการสถาปนา “ประชาคม” (community) แบบใหม่ในเวียดนามซึ่งมีลักษณะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ลักษณะของประชาคมที่ฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นนั้นเอื้อประโยชน์แก่ชาวฝรั่งเศสและชาวเวียดนามบางกลุ่ม ในขณะที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ภายใต้ประชาคมใหม่นี้ ดังนั้นจึงเกิดกระแสการต่อต้านขึ้น


เชิงอรรถ

1. โจเซฟ บัตตินเจอร์, ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม แปลจาก Vietnam: A Political History, ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี (บรรณาธิการ), มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2522), น. 44

2. โกสุมภ์ สายจันทร์, จักรพรรดินิยมกับการปฏิวัติสังคมนิยมเวียดนาม (ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2532), น. 69

3. เชิดเกียรติ อัตถากร, ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม. (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540), เชิงอรรถที่ 19, น. 24

4. โกสุมภ์ สายจันทร์, อ้างแล้ว, น. 69

5. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 25

6. โจเซฟ บัตตินเจอร์, อ้างแล้ว, น. 54

7. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 73

8. โกสุมภ์ สายจันทร์, อ้างแล้ว, น. 81

9. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 28

10. เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน

11. เหงียน คัก เวียน, เวียดนาม: ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร แปลจาก Vietnam: A Long History โดย เพ็ชรี สุมิตร (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2545), น. 173

12. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 28

13. เรื่องเดียวกัน, น. 30

14. เหงียน คัก เวียน, อ้างแล้ว, น. 177

15. เรื่องเดียวกัน, น. 196-197

16. โกสุมภ์ สายจันทร์, อ้างแล้ว, น. 84

17. เหงียน คัก เวียน, อ้างแล้ว, น. 198

18. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 34

Wednesday, August 16, 2006




ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า ส. อาสนจินดา


เรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านโลกมาจวบจนบั้นปลายของชีวิต มักจะมีความน่าสนใจเสมอ ประสบการณ์ชีวิตหลายสิบปี อาจทำให้มนุษย์คนหนึ่งตระหนักรู้ความจริงบางอย่างของชีวิต โดยผ่านการเดินทางของกาลเวลาหรือประสบการณ์อันเข้มข้นเท่านั้น จึงจะบรรลุถึงความจริงนั้นได้

ส. อาสนจินดา บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองก่อนจะถึงกิโลเมตรสุดท้ายของการเดินทาง ฝากฝังไว้เป็น “นิทัศน์อุทาหรณ์” สำหรับคนรุ่นหลัง

“ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า” ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในนิตยสารดิฉัน ช่วงปี 2533-2534 ก่อนจะตีพิมพ์รวมเล่ม (แบ่งเป็นสองเล่ม) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

ใน “บทนำส่ง” สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรมชี้แจงว่า งานชิ้นนี้มีชื่อเต็มๆ เมื่อสมัยตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉันว่า “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า และเธอคือลมหายใจ” แต่เนื่องจากในส่วนของ “เธอคือลมหายใจ” ไม่ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ชนิดที่ผู้อ่านต่างก็งงงวย “เพราะเป็นการจบแบบไม่จบ เพราะผู้เขียนยังเขียนไม่จบ” เมื่อตีพิมพ์รวมเล่มจึงมีเพียงส่วนของ “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า”

ผมมี “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า” ทั้งสองเล่มอยู่ในมือ และยังไม่เคยเห็น “เธอคือลมหายใจ” เลย ไม่ทราบว่ามีผู้อ่านท่านใดเคยพบเห็นหรือมีเก็บไว้บ้างหรือเปล่า

ผมอ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ครั้งแรกตอนเรียนอยู่ชั้น ม.2 ประสบการณ์ชีวิตอันเข้มข้นของป๋า ส. ทำให้ผมแทบไม่อยากวางหนังสือ และเรื่องราวชีวิตของป๋าก็ยังอยู่ในความทรงจำของผมตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ศาสนากับคนเดิน “ทางขนาน” ...ไม่ยอมเดินทางเดียวกัน...

คนมุ่งหน้าสู่ความเร็ว-อิ่ม-สมหวัง โดยไม่คำนึงว่าจะลุยไปบนผ้าขาวหรือหยาดเลือดของผู้อื่น...

“เงิน” ไม่ใช่ “ปัจจัย” แต่กลายเป็น “อาวุธ” ...เอาไว้ประหัตประหารความถูกต้อง-เอาชนะความดีและความยุติธรรมได้อย่างหน้าด้านๆ และโจ๋งครึ่ม...

“เงิน” พรั่งพรูเข้ามาทางหน้าต่าง... “ความรักดี” ต่างๆ ก็วิ่งหนีหายออกไปทางประตู...

ค่านิยมทางสกุลรุนชาติไม่สำคัญ-ไม่คิดกันแล้ว...

คิดกันแต่ว่าความจน (เงิน) คือความอัปยศ...ไม่คิดบ้างว่าความจนที่บังคับให้ต้องต่อสู้กับชีวิตแบบว่า-“สู้กับคนเพื่อดำรงชาติ-สู้กับธรรมชาติเพื่อดำรงตน” นั้น บรรพชนโลกยึดถือกันมาเป็นคติประจำใจ และภาคภูมิ... [บางส่วนของ “ยังไม่ถึง ‘พรุ่งนี้’ (สักที...)”]

ที่มาของ “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า” เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 23 มกราคม 2531 ในห้องอาหารเรือนต้นของโรงแรมมณเฑียร เมื่อป๋าได้มีโอกาสพบกับคุณชาลี บรรณาธิการบริหารของนิตยสารดิฉัน คุณชาลีอยากรู้จักและพูดคุยกับป๋ามานาน อีกทั้งยังอยากสัมภาษณ์ป๋าลงตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉันด้วย แต่เนื่องจากเห็นนิตยสารฉบับอื่นทำกันมามากแล้ว คุณชาลีจึงเอ่ยปากขอ “เรื่อง” กับป๋าเสียเลย

“จะให้เขียนเรื่องอะไรดีล่ะ เพราะเวลานี้ก็เขียนให้แก่คนอื่น (ฉบับอื่น) มากพอดูอยู่แล้ว”

“ก็เขียนเรื่องชีวิตของคุณสอเอง...” เธอว่า

“ได้ครับ”

ปากบอกไปตามใจบริสุทธิ์เลยว่า ‘ยินดี...’ แต่ในใจยัง ‘หนัก’ อยู่ในปัญหาที่ว่า

“จะเอาอะไรมาเขียนอีก”

ทันใด เธอก็ควักนามบัตรของเธอส่งให้ข้าพเจ้า

นามบัตรนี้ค่อนข้างแปลกตาสำหรับ ‘คนเก่า’ อย่างข้าพเจ้า ก็คือ มันพิมพ์สองสี (แดง-น้ำเงิน...เอ...หรือดำก็ไม่รู้...) อยู่บนแผ่นพลาสติกบางๆ แต่แข็ง...อ่านลำบาก เพราะมันสะท้อนแสงกับไฟ

เลยพูดไปอย่างกันเองว่า

“หาเรื่องให้คนแก่อ่านลำบากแท้ๆ”

(หัวเราะกันนิดหน่อย...)

แต่เมื่อมาอ่าน (เขม้น) ออกแล้วก็เห็นชื่อจริงของเธอ...มัน-‘ชุลิตา...’

ข้าพเจ้าก็ว่า...(เงยมองคุณจุรี—ผู้ที่พาคุณชาลีมาพบป๋า—แล้วถาม)

“เอ...ไหนว่าชื่อชาลี ทำไมนามบัตรนี่พิมพ์ว่า...ชุลิตาล่ะ”

คุณจุรีไม่ทันได้ตอบ บรรณาธิการบริหารของ ‘ดิฉัน’ ก็ตอบเองว่า

“เขาเรียกผวนกันค่ะ...ชุลิตา...ก๊อ...ชาลีตุ๊ไงล่ะคะ”

ทันทีที่ได้ยินคำว่า ‘ตุ๊’ ...ตนเองก็ ‘ทะลึ่ง’ พูดขึ้นว่า

“ชื่อเหมือนเมียผมเลย”

(เสียง...ใครต่อใครก็ไม่รู้...หัวเราะทั้งฮาทั้งเฮขึ้นมาทันที)

และใครก็ไม่รู้เปรยว่า

“เอาเข้าแล้วไหมล่ะ” (เล่ม 1, หน้า 2-3)

อันที่จริงป๋าเพิ่งจะมาเพิ่มชื่อ “และ ‘เธอ’ คือ ‘ลมหายใจ’ ” ในตอนแรกของบทละครชีวิตชิ้นนี้ เหตุผลคืออะไร ป๋าอธิบายไว้ดังนี้ครับ

มีอยู่สองประการที่ข้าพเจ้าต้องขอให้ ‘ชื่อเรื่อง’ หรือ ‘หัวข้อเขียน’ ที่ค่อนข้างยาว และ ‘พิสดาร’ อย่างนี้

ประการแรก-ตลอดชีวิตการแสดงของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยเล่าเรื่องของข้าพเจ้า ‘ขายกิน’ มาหลายครั้งแล้ว ทั้งในรูปแบบ ‘อนุทินบันเทิง’ (ภาพยนตร์และโทรทัศน์), ‘ขายชีวิต’ (เดลิไทม์), ‘สลับหลังม่าน’ (ดาราไทย) ฯลฯ จนจะซ้ำเซ็งไปหมดแล้ว

อีตอนล้มละลายนี่ยิ่งมีคนขอให้เขียนให้เล่าถึงชีวิตนักแสดง-นักหนังสือพิมพ์อย่างข้าพเจ้ามันเป็นไงมาไงถึงได้ ‘ตกต่ำ’ ถึงขนาดนี้ให้ฟังกันซ้ำแล้วซ้ำอีก

ตอนนี้ก็เล่าให้ฟังถึงสองสามแห่งในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่ ‘เฉพาะกิจ’ หรือไม่ ‘พิสดาร’ เหมือนกับที่เขียนให้ ‘ดิฉัน’ นี่ อย่างน้อยก็เป็น ‘ชีวิต’ ที่จริงจังกว่า จึงอยากให้ชื่อคอลัมน์หรือชื่อเรื่องผิดแผกแปลกต่างกันออกไปจากที่อื่น


ประการหลัง-มีน้อยครั้งที่ข้าพเจ้าเขียนถึงชีวิตของข้าพเจ้าแล้ว จะแปลกพิสดารไปถึงกับเปิดเผยเรื่องของ ‘คุณตุ๊’ ของข้าพเจ้า หรือไปเปิดเผยถึงชีวิตของเธอที่เกี่ยวพันมากับข้าพเจ้า

เมื่อมาเขียนเจาะจงถึงเรื่อง ‘ชีวิตรัก’ ระหว่างเธอกับข้าพเจ้าเข้าเช่นนี้ ก็อยากจะให้หัวข้อเรื่องเน้นชัดลงไปถึง ‘เธอ’ ผู้ซึ่งเสมือน ‘ลมหายใจ’ ของข้าพเจ้า
ว่า ‘เธอ’ นั้นสำคัญอย่างไร?


อีกประการ...ข้าพเจ้าว่ามันเหมาะสมที่ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่องนี้ให้ ‘ดิฉัน’ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นหนังสือ ‘ของผู้หญิง’-โดยผู้หญิง และเพื่อผู้หญิง

ขอสบถอีกหน่อย...(มันถึงจะแน่และมัน...ส์)

คือ...ให้ตาย...ไม่ได้ประจบสอพลอ ‘ผู้หญิง’ หรือพลอย ‘ชิ่ง’ ประจบไปถึง ‘คุณต๊’ ของข้าพเจ้าหรอก

ไม่รู้จะประจบไปหาอะไร

เราไม่อยู่กันด้วย ‘เซ็กส์ประจบ’ แล้ว

เราอยู่กันมาแล้วอีกสิบเอ็ดเดือนก็จะครบ ๔o ปี

ที่เหลืออยู่คือความรักอันแนบแน่น-ยังกำหนดไม่ถูกว่ามันเป็นความรักของ ‘เพื่อน’ หรือของอะไรกันแน่...

รู้แต่ว่า...เวลาใครคนหนึ่งตายจากไป...อีกคนหนึ่งจะอยู่เป็น ‘ผู้เป็นคน’ ได้อย่างไร?

เรารู้แต่ว่า...เราหายใจอยู่ในลมหายใจของหัวใจดวงเดียวกัน

เราไม่ตั้งใจจะ ‘รัก’ และ ‘เป็นเพื่อน’ กันด้วยการร่วม ‘ลมหายใจ’ กันถึงขนาดนี้...แต่อะไรก็ไม่รู้ซี-ทำให้เราเป็น...? (เล่ม 1, หน้า 10-11)

ต้องขอโทษท่านผู้อ่านด้วยที่คัดลอกมายาวๆ แบบนี้ (และคงจะมีอีกหลายตอน) เพราะยิ่งอ่านหนังสือของป๋า ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าน่าจะเป็นการดีที่สุดหากผู้อ่านได้อ่านตัวหนังสือของป๋าเอง เพราะนอกจากจะได้เห็นสำนวนการใช้ภาษาและรูปแบบการเขียนของนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ชั้นครูแล้ว ผู้อ่านยังสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งก็คงมีแต่ป๋าคนเดียวเท่านั้นที่จะถ่ายทอดได้

ในวัย 13 ปี ผมจำได้ว่านั่งอ่านชีวิตรัก (ทรหด) ของป๋าด้วยความรู้สึกสุขระคนเศร้าอย่างบอกไม่ถูก อ่านไปอ่านมาผมก็อดนึกไปไม่ได้ว่าชีวิตรักของตัวเองมันจะออกมาในรูปแบบไหน ความทุกข์ยากลำบากจะต้องเดินทางผ่านเข้ามาทักทายบ่อยครั้งเพียงใดกว่าจะมีโอกาสกลับมานั่งย้อนรำลึกถึงชีวิตที่ผ่านเลย หรือแม้กระทั่งผมจะได้เจอกับ “คุณตุ๊” ของผมเมื่อไหร่

“คุณตุ๊” คือลมหายใจของป๋า และคนเราก็คงต้องการใครสักคนเป็น “ลมหายใจ” ของตนด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็มักจะถูกมองข้ามมากที่สุด—จะมีสักกี่คนใส่ใจกับทุกลมหายใจเข้าออก ทั้งๆ ที่รู้ดีว่ามันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของชีวิต

ภาพชีวิตในความทรงจำของคุณตุ๊กับป๋ามีอะไรบ้าง ต้องให้ป๋าเล่าให้ฟังครับ

ภาพแรก

– ก่อนที่เราจะบอกรักซึ่งกันและกันได้หนึ่งนาที ข้าพเจ้าอยู่กับเธอสองต่อสอง บอกกับเธอ...แบบ ‘ยื่นคำขาด’ ว่า

“ผมรักคุณ...ผมมีเวลาแค่นาทีเดียวให้คุณตัดสินใจ ในหนึ่งนาทีนี้ ถ้ารักผมแล้ว ก็จงอย่าได้ดัดจริต...จงบอกผมเลยว่า รักผมหรือไม่...เดินมาหาผม...แล้วมาซบที่อกผม...กอดผมไว้ แล้วบอกรักผมเสียโดยไว ไม่งั้น...เร็วซี...หนึ่งนาทีเท่านั้นนะ...”

“แล้วเธอก็หัวเราะ...แล้วเธอก็เดินมา...แล้วก็มา...(ไม่ทันได้ซบอกแล้วบอกรักข้าพเจ้าหรอกครับ...ข้าพเจ้าดึงเธอเข้าหาอก) และวันนั้น...จูบเธอซะห้าสิบทีเลย”

ภาพที่สอง

– พอบอกรักกันแล้ว ก็พาเธอนั่งสามล้อจากบางลำพูบ้านเธอไปดูหนังถึงโอเดียนสามแยก...ขากลับ – แกล้งบอกเธอว่า ไม่มีค่ารถ...พาเธอเดินกลับ

จนจากสามแยกถึงบ้านบางลำพู รองเท้าส้นสูงกัดส้นเท้าของเธอจนหนังเปิดเลือดไหลโทรม เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า

“...จะเป็นคู่ชีวิตนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ จะต้องอดต้องทน และต้องจน...ให้ได้”

ภาพที่สาม

– ก่อนวันแต่งงานได้คืนเดียว...ข้าพเจ้าเหิมใจจะปล้ำให้เธอเป็นเมีย (ล่วงหน้า ๑ วัน)

แต่เธอรักตัวสงวนกาย-ไม่ยอม

พอวันรุ่งขึ้น-แต่งงาน-เข้าเรือนหอแล้ว...เธอยอมเป็นเมีย

แต่ข้าพเจ้าไม่มีปัญญา ‘จะทำ...’ …?

ภาพที่สี่– ตอนเรามีลูกกันได้หลายคนแล้ว...ฐานะทางการเงินของข้าพเจ้าล้มเหลว (เพราะอุตริฮึกเหิมไปเป็น ‘นายทุนหนัง’ เสียเอง) ถูกตำรวจจับเช็คเด้ง...ไปอยู่โรงพักพญาไท

เธออุ้มท้องลูกคนที่สี่-โอ้โย้ไปยืนเกาะลูกกรงห้องขังเยี่ยมข้าพเจ้า...ด้วยห่วงใย...น่าเวทนา

ภาพที่ห้า

– เมื่อจนถึงขนาดถูกโรงไฟฟ้าตัดไฟ บ้านทั้งสองสามหลังติดกันนั้นมืดหมด เราเอาลูกสี่ห้าคนเข้ามานอนในห้องเดียวกัน...เปิดหน้าต่างประตูหมด

ข้าพเจ้าเคยนอนแต่ห้องแอร์...ร้อนทุรนทุราย...เธอนอนประคองอยู่เคียงข้าง เอาพัดโบกลมให้ข้าพเจ้าบรรเทาร้อน...จนข้าพเจ้างีบไปได้


และเธอทำอย่างนั้นอยู่ทั้งคืน...ไม่ปริปาก (ไม่สะอื้นไห้ให้ได้ยิน...) ไม่ว่าเธอจะเศร้ารันทดสักแค่ไหน

ภาพที่หก

– เธอเล่าถึงชีวิต ‘ตกยาก’ ใน ‘ดงผู้ดี’ ของเธอ...ชนิดที่ข้าพเจ้าเองยังคาดไม่ถึง นึกว่าเธอเป็นลูกสาวพระยาพานทองนั้นคงจะมี ‘ช้อนทองคาบในปาก’ มาเช่นลูกผู้ลากมากดีคนอื่นๆ

แต่เธอเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงชีวิตหนหลังของเธอ...ชีวิตของลูกผู้หญิงที่เป็นพี่ ลูกที่ยึดมั่นในความกตัญญูต่อพ่อแม่พ่อเป็น ‘เจ้าคุณ’ ก็จริง แต่ ‘เหลาซิด’ ชนิดใครจะมาให้คอร์รัปชั่นสักเฟื้องหรือสลึงก็ไม่ยอม

ใครยกถาดของกำนัลขึ้นบ้าน...พ่อก็โยนทิ้งตามหลังมา-ไม่ยอมรับ...ถือความบริสุทธิ์ และหยิ่งในเกียรติแห่งสกุลเป็นที่ยิ่ง

เธอจึงเป็นพี่และลูกที่เสมือน ‘คนรับใช้’ ของแม่และน้องๆ

คนอื่น (น้อง) ไม่ว่าแม่ใด...เจ้าคุณพ่อเรียก ‘หนู’ นั่น-หนูนี่ แต่สำหรับเธอแล้ว...พ่อจิกหัวเรียกเธอว่า ‘อี’ ...อีตุ๊ทุกคำไป

สมัยยังเป็นเด็กและเป็นสาว...เธอไม่มีแม้จะมีมุ้งนอนสำหรับตัวเอง ตอนกลางคืน-จะนอน-ต้องเที่ยวมุดมุ้งขออาศัยนอนกับน้อง และก็ถูกน้องถีบและขับไสเอา-หาว่าเหม็นสาบ

อาหารประจำวันคือ ข้าวเย็นก้นหม้อคลุกกับน้ำปลาพริก-บีบมะนาว...

เป็นสาว...อยากจะมียกทรงใส่กับเขาบ้าง...แอบขโมยยกทรงน้องสาวคนโปรดของพ่อและแม่ใส่ ก็ถูกด่าสาดเสียเทเสีย

ภาพที่เจ็ด

– หวนนึกไปถึงสมัยข้าพเจ้าเล่นละคร...‘สมสู่’ อยู่กับการสร้างและแสดงละครเวที ทั้งๆ ที่แต่งงานกับเธอใหม่...ไม่ได้นอน ‘ร่วม’ เรียงเคียงหมอนกับเธอเหมือนเจ้าบ่าว-เจ้าสาวหรือผัวเมียอื่นๆ อยู่หนึ่งปีเต็ม

เธอได้แต่ร้องไห้น้อยอกน้อยใจอยู่คนเดียวเป็นปี...แต่ไม่ปริปาก

ตอนที่ร้ายที่สุดคือ ตอนจนยาก-ข้าพเจ้ามา ‘ซุกหัว’ อยู่กับเธอ...ให้เธอปรนนิบัติวัตถากสารพัด แต่อีตอนมีเงิน-ฟุ้งเฟ้อ...ดันไป ‘มีอีหนู’ เสียนี่
เจ็บปวดไหม?
(เล่ม 1, หน้า 12-15)

นอกจากเรื่องราวของคุณตุ๊แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ผมยังจำได้ดีคือ ฉากชีวิตสุดแสนคลาสสิกที่จังหวัดเพชรบูรณ์

ปลายปี พ.ศ. 2482 ป๋าลาออกจากการเป็นครูที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และสมัครเข้าเป็นเสมียนแผนกส่งเสริมกิจการสหกรณ์ตามความต้องการของคุณพระพิจารณ์พาณิชย์ (เพื่อนของคุณพ่อป๋า) ซึ่งเพิ่งขึ้นเป็นอธิบดีกรมสหกรณ์

เมื่อย่างเข่าสู่ปี พ.ศ. 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายลับต้องการกู้ชาติจากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น ท่านเริ่มต้นด้วยการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ กรมสหกรณ์ต้นสังกัดของป๋าได้รับนโยบายด่วนจากกระทรวงเกษตรฯให้จัดคณะเจ้าหน้าที่พนักงานสหกรณ์ไปสำรวจและจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมนโยบายย้ายเมืองหลวง

แต่... ให้ตาย

เมืองเพชรบูรณ์ในตอนนั้นเขากำลังเรียกกันว่า ‘เมืองหม้อใหม่แขวนคอ’ คือถ้าใครไปที่เมืองนั้น ต้องมีหม้อใหม่เอาไปสำหรับใส่กระดูกผูกเชือกแขวนคอไปด้วย เผื่อตาย ชาวบ้านจะได้ช่วยเผา เอากระดูกคนที่เป็นเจ้าของหม้อนั้นใส่หม้อส่งกลับไปยังบ้านเดิมของตนได้สะดวก (เล่ม 1, หน้า 234)

ป๋าได้รับคำสั่งย้ายเหมือนกัน แต่ให้ย้ายไปประจำสำนักงานสหกรณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่—เมืองสวรรค์ที่ใครๆ ก็อยากไป

เสียงนินทาป๋าดังกระหึ่ม เนื่องจากใกล้ชิดกับเจ้ากรม

เมื่อเป็นดังนั้น ป๋าปราดขึ้นไปหาคุณพระพิจารณ์พาณิชย์ และประกาศกร้าว

“ผมไม่ไปเชียงใหม่”

เถียงกันไปเถียงกันมา เมื่อคุณพระพิจารณ์พาณิชย์เห็นท่าว่าป๋าเอาจริงแน่ จึงพูดประชดขึ้นว่า

“อ๋อ ยืนยันอยากไปที่อื่น-อยู่เชียงใหม่เพื่อนฝูงพี่น้องของเอ็งเต็มเมือง ไม่ชอบ งั้นไปเพชรบูรณ์เอาไหม เพชรบูรณ์นี่แน่ะเฮ้ยว่างตั้ง ๑๔ ตำแหน่ง ไม่มีหมาสมัครไปสักตัว ข้าสั่งให้คนไหนไป-มันร้องไห้โฮทุกราย บางคนอยากลาออก”ข้าพเจ้าโพล่งพรวด, “ผมอยากไป”

พระพิจารณ์พาณิชย์สะอึก มีอาการตาค้าง เหมือนช็อค ยังกะหนังสต๊อปโมชั่น (เล่ม 1, หน้า 236)

ป๋ากับพรรคพวกอีกสิบสามคนขึ้นรถไฟสายเหนือไปถึงตะพานหินตอนย่ำรุ่ง ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากโรงแรมแถวหัวลำโพงที่เพิ่งเช็กเอาต์ออกมาโดนระเบิดจากเครื่องบินพันธมิตรแหลกเป็นผุยผง

พวกเราทั้งสิบสี่คน มองนิ่งไปเบื้องหน้า ตะวันออก มองเห็นทางลูกรังสายยาวทอดจากหน้าโรงแรมไปสู่ทิศ ‘เมืองหม้อใหม่’ ยาวและเหยียดไปไม่มีโค้งและเลี้ยว ไปสู่ไอดินและหมอกขมัวข้างหน้า ซึ่งมีทิวเขายาวเหยียดขวางอยู่

เสียงปั่นหม้อถ่านเพื่อเป็นพลังแทนน้ำมันเบนซินที่ขาดแคลนของรถเมล์ดังแว่วมา อีกสักครู่มันจะเป็นพาหนะให้เราเดินทางไปสู่จุดหมายอันมืดมนข้างหน้า

ครู่หนึ่งนั้น ขณะที่พวกเราหยิบกระเป๋าจากที่วางบนรางรถไฟขึ้น เพื่อจะข้ามทางรถไฟไปสู่หน้าโรงแรมนั้น ลมหนาวพัดกรูมาวูบใหญ่วูบหนึ่ง

มันเย็นจนเยือก ปนร้อนระอุอยู่ภายใน

เป็น ‘ลมชีวิต’ ใหม่ที่พัดมาต้อนรับเรา มันให้บรรยากาศที่ว้าเหว่ เดียวดายเหมือนถูกเนรเทศและทอดทิ้ง

ไม่มีใครจะเดาชีวิตข้างหน้าของตนได้ในครั้งนั้น พวกเราเหมือนถูกนรกหรือผีร้ายบันดาลและหยิบยกชีวิตเรามาวางอยู่บนโลกอีกโลกหนึ่ง โลกพิสดาร
ใช่แล้ว


โลกของใครจะพิสดาร หรือวิบัติร้ายกาจสักแค่ไหนก็ช่างหัว

แต่โลกใหม่ที่ชีวิตข้าพเจ้ากำลังจะพบข้างหน้า มันเป็นโลกแห่งชีวิตที่แสนจะบัดซบอย่างพิสดารที่ข้าพเจ้ากำลังจะเล่า (อย่างสารภาพ) ให้ท่านได้รู้ได้อ่านกันต่อไป (เล่ม 1, หน้า 248-249)

จบแบบนี้ หวังว่าคงไม่ทำให้ท่านผู้อ่านอยากอ่านต่อจนส่งคนมาปล้นหนังสือจากผมนะครับ

ฉากชีวิตของป๋าที่เพชรบูรณ์ทั้งสนุก เข้มข้น และน่าตื่นเต้น ซึ่งผมก็คงทำอะไรไม่ได้ดีไปกว่าคัดลอกเอามาให้ผู้อ่านได้อ่านต่อ แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ฉากที่ผมชอบมากที่สุดฉากหนึ่งในเพชรบูรณ์ก็คือฉากนี้ครับ

งานของพรรคพวกและป๋าดำเนินไปค่อนข้างน่าพอใจ แต่ยังเหลือพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ที่ยังไม่มีใครเข้าไป—ดงมูลเหล็ก ซึ่งกำนันเจ้าของพื้นที่บอกกับพวกป๋าเมื่อเข้ามาประชุมในตัวเมืองว่า

“หนุ่มๆ ทั้งนั้น ไหวหรือ”

เรายังเซ่อ ถามเขาว่า

“ไม่ไกลไม่ใช่รึ แค่ไหนเราก็ไปได้น่ะ พรุ่งนี้นะ พอจะรวบรวมราษฎรได้ทันไหม”

กำนันว่า “เรื่องหนทางคิดว่าพวกคุณไปไหว ก็ออกหนุ่มแน่นอย่างนี้ แต่มันต้องพิสูจน์กันก่อนนะ ว่าพวกเราควรจะร่วมมือกับพวกคุณหรือไม่น่ะ ไหวหรือไม่ไหวยังไม่รู้”

พวกเรางง ปลัดสมัยสะกิดข้าพเจ้าไปกระซิบ

“พวกนี้ยังไม่ยอมใครง่ายๆ หรอก เขาต้องลองก่อน”

“ลองอะไร”

“ลองดีน่ะซี อย่างนักเลงทั่วไปน่ะแหละ เขาอยากจะรู้ว่าพวกเราจะแน่สักแค่ไหน”

ขณะนั้น กำนันและพวกกำลังลงไปจากอำเภอ เขาเปรยขึ้นว่า

“จะลองดูก็ได้นะคุณ พรุ่งนี้ไปดงมูลเหล็ก จะได้ประชุมราษฎรอย่างที่พวกคุณอยากทำ ได้หรือไม่ รู้กันมะรืนนี้แหละ” (เล่ม 2, หน้า 272)

เอก อนันตวงษ์ ‘นักเลงชีวิต’ จากแม่โจ้ เป็นคนแรกที่อาสาจะเข้าไป เขากวาดตามองไปรอบๆ แล้วถามว่า “ว่าแต่ว่า จะมีใครไปกับผมบ้างล่ะ”

และเพียงคนเดียวที่พยักหน้าจะไปกับเขาด้วยก็เห็นจะเป็นใครไปไม่ได้...

แต่โชคร้าย คืนนั้นฝนถล่มลงมาอย่างหนัก น้ำท่วมสูง และตามขอนไม้ก็เต็มไปด้วยงูจงอาง แม้แต่ม้าก็ยังต้องถอย สหายเอกของป๋าเห็นท่าว่าคงจะไปไม่ไหว เตรียมยกเลิกการเดินทาง แต่เด็กหนุ่มอายุยี่สิบเอ็ดอย่างป๋าไม่ฟัง และยืนยันว่าตนเองจะเดินต่อไปคนเดียว

ในสถานการณ์เช่นนั้น เดินทางบุกน้ำแค่อกที่เชี่ยวกรากไปอย่างนั้น ไม่ว่าข้าพเจ้าหรือใครก็ตาม มันต้องบ้า ไม่บ้า-ไม่มีใครทำได้

แต่เป็นบ้าที่มีสาเหตุ บ้าที่รู้อยู่กับใจตนเอง อยากจะพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายให้แก่ตัวเอง เพื่อให้ตัวเองนับถือตัวเอง ก็ต้องฉวยโอกาสวิกฤติเช่นนี้ อายุของเราไม่มากเกินกว่าที่จะรอให้ใครมาเติมใส่ความเป็นลูกผู้ชายให้แก่ตัวเองได้หรอก

ข้าพเจ้าบุกป่าน้ำเหนือหลากท่วมอกนั้นไปเป็นชั่วโมงๆ อย่างบ้าดีเดือด บอกกับตัวเองว่า ‘เอ็งต้องทำ...ทำอย่างที่ไม่มีใครกล้าที่ทำได้ เอ็งจะได้นับถือตัวเองว่าเป็นนักเลงชีวิตกับเขาอื่นได้สักที ต่อไปนี้ไม่มีใครจะมาวิ่งไล่จับไล่จูบแก้มแดงๆ ของข้าได้อีก ข้าเป็นลูกผู้ชายชาตินักสู้ได้เต็มตัวแล้ว’ (เล่ม 2, หน้า 276)

4-5 ชั่วโมงต่อมา ป๋าก็เข้าไปถึงดงมูลเหล็ก โดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านรอต้อนรับ พร้อมกับไหเหล้า 5-6 ไห ขวดเหล้าประมาณ 20 ขวด และตะกร้ากระบุงใส่ปลากรอบสำหรับเป็นกับแกล้ม

เห็นแบบนั้น ป๋าก็ถึงบางอ้อทันทีว่าไอ้ “ลองดี” ที่ว่ามันเป็นอย่างไร

ครับ ไหนๆ ก็ไหนๆ (อีกแล้ว) ไม่มีทางที่ผมจะบรรยายฉากนี้ได้เลย นอกจากต้องยกพื้นที่นี้ให้กับป๋าครับ

เหล้า ‘ลองดี’ ข้าพเจ้าเริ่มกินจอกหรือแก้วแรก โดยยังมีวางเรียงเป็นตับบนโต๊ะอีกไม่ต่ำกว่า ๒o ขวดนั้น มีสีเหลือง เหนียวข้น

พอกระดกเข้าปาก มันลื่นไหลอย่างช้าๆ ไปที่ลำคอแล้วก็ติด รู้สึกมันร้อนระอุเหมือน ‘น้ำไฟ’ ลืมตัวต้องเอามือซ้ายของเราไปช่วยลูบมันนอกลำคอ

เสียงพวกกำนันผู้ใหญ่หันเราะกันอย่างครื้นเครง

สารวัตรกำนันรีบรินจอกใหม่ให้ข้าพเจ้าดื่มต่ออีก

“มันติดคอ ต้องกระแทกซ้ำ เอาเลยคุณ ไม่งั้นมันเผาคอคุณพังแน่”

ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อเขา รับจอกมากระดกเข้าปากอีก คราวนี้แก้วสองกระแทกที่หนึ่งที่ติดที่ลำคอ ไหลเรื่อยลงไปที่หน้าอก แล้วก็ติดอยู่ที่นั่น มันเหมือนน้ำไฟที่กำลังระเหยและเผาอยู่ในอกเรา แล้วทำท่าจะทะลุออกมา

“ติดอีกแล้ว” กำนันร้อง แล้วสั่งสารวัตรกำนัน “เฮ้ย รินช่วยคุณอีกสิ ซ้ำลงไปอีก ให้มันไหลลงท้อง ไม่งั้นหน้าอกหน้าใจพัง”

มีการรินซ้ำ และดื่มซ้ำลงไปอีกอย่างรวดเร็ว กว่าน้ำไฟนั้นจะไหลลงไปถึงท้อง ก็ล่อเข้าไปห้าแก้ว (เล่ม 2, หน้า 279)

จากสองโมง กินแบบเวียนจอกกันไปถึงสองทุ่ม ปลากรอบเป็นกระบุงและเหล้าหรืออุที่มีอยู่ทั้งหมู่บ้านหายวับไร้ร่องรอย

สองยาม ป๋าเปลี่ยนจากนั่งห้อยเท้ามาเป็นนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ไม้ตัวใหญ่หัวโต๊ะ ในขณะที่จอกยังถูกเวียนไปเรื่อย

ประมาณตีหนึ่ง เหล้าที่เพิ่งถูกต้มใหม่ๆ ถูกส่งมาเติมอีกสิบกว่าขวด ป๋าบรรยายไว้ว่า “ดีกรีมันแรงกว่าเก่า กินแล้วเหงื่อแตกสู้กับน้ำค้างหยาด”

ตีสอง เสียงกำนันและพวกผู้ใหญ่บ้านเริ่มอ้อแอ้ ป๋ายังคงยิ้มดื่ม ในขณะที่จอกยังคงเวียนต่อไป

น้ำเหล้ามาหยุดขังอยู่แค่ลำคอ เผาคอ มันไม่ยอมลง หรือลงไปไม่ค่อยไหว เพราะกินจนล้นกระเพาะ ไม่ได้เยี่ยว-ไม่ได้ตด ไม่มีใครเขาห้ามเยี่ยวห้ามตดหรอก แต่ลุกจากเก้าอี้ไปไม่ได้ ถ้าลุกเป็นล้ม (เล่ม 2, หน้า 282)

ตีสี่ ผู้ใหญ่บ้านจากคนละหมู่บ้านช่วยชีวิตป๋าไว้ได้ทัน ทั้งคู่พูดขัดคอกัน ก่อนที่จะสาวมือสาวเท้าเข้าใส่กันจนหมอบ

ตีห้า กำนันเถียงกับสารวัตรกำนัน ผลก็คือสารวัตรกำนันเตะกำนันเข้าให้ ที่เหลือไม่มีใครห้าม แต่แบ่งออกเป็นสองพวก—พวกกำนันกับพวกสารวัตรกำนัน—เปิดฉากตะลุมบอนกันนัวเนียวุ่นวาย ป๋ายังคงนั่งยิ้ม แต่น้ำตาคลอ

ป๋านั่งหลับจนถึงหกโมงเช้า ลูกเมียของใครบ้างก็ไม่รู้ลุกออกมาลากผัวของตนกลับเข้าบ้าน

ประมาณเจ็ดโมงเช้า “แสงแดดสีเหลืองเริ่มกราดมาแต่ขอบฟ้า ข้าพเจ้าหันหน้าตรงกับดวงอาทิตย์พอดี น้ำตาข้าพเจ้าไหลพราก ไม่รู้ว่าร้องไห้ทำไม ชนะหรือแพ้ ภูมิใจหรือเสียใจ

“มันเศร้า เหงา อ้างว้าง บอกไม่ถูก”

ที่ดงมูลเหล็กและพื้นที่โดยรอบ ป๋ากับพรรคพวกสามารถตั้งสหกรณ์ได้อีกเกือบสิบสมาคม และได้รับการยอมรับจากชาวบ้านแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แต่นั่นก็อาจจะยังไม่มีค่าเท่ากับการที่สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า “ข้าพเจ้าเหมือนคนผ่านปริญญาเอกแห่งชีวิต ได้เป็น ‘นักเลงชีวิต’ ในป่าดงเช่นเพชรบูรณ์ได้ เมื่ออายุ ๒๑ ปี” อย่างน่าภาคภูมิ

ครับ ผมอ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี และก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสกลับมาพิจารณามันอีกครั้งในอีกสิบกว่าปีต่อมา กลับมาอ่านอีกครั้งหลังจากสิบปีล่วงเลยไป เรื่องราวชีวิตของป๋าก็ยังสนุกสนานเข้มข้นไม่ต่างจากเดิม แถมยังได้ข้อคิดและเกร็ดความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก

และปรัชญานักเลงแบบนี้ ก็คงมีเฉพาะ “นักเลงตัวจริง” แบบป๋าเท่านั้นที่จะเข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้ง

อย่าไปคิดว่า ลูกผู้ชายต้องร้องไห้ไม่ได้ อย่าคิดว่า ‘น้ำตา’ คือ ‘ความอ่อนแอ’

คนเรามีทั้ง ‘จุดเดือด’ และ ‘จุดอ่อน’ ข้าพเจ้าเชื่อว่า คนมี ‘จุดอ่อน’ มีสติยิ่งกว่าคนมี ‘จุดเดือด’

น้ำตาจะมาพร้อมกับคุณธรรมและความสำนึก

เป็นความอ่อนที่ละมุนละไม

พูดกันอย่าง ‘นักเลงเอากำปั้นทุบดิน’ ก็ต้องว่า ถ้าลูกผู้ชายหาควรมีน้ำตาไม่แล้ว ‘ลูกกะตา’ จะมีเอาไว้ให้มนุษย์ผู้ชายหา (ส้น) เท้าอะไร (เล่ม 2, หน้า 381-382)

ขอขอบคุณป๋า—สมชาย อาสนจินดา—สำหรับ “นิทัศน์อุทาหรณ์” อันมีคุณค่ายิ่งครับ


เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com