Saturday, January 21, 2006

เรื่องของ 'กลุ่ม'

ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่สำหรับรุ่นพี่ๆ อย่างพวกผม (โดยเฉพาะในช่วงที่เตรียมตัวขึ้นสู่ชั้นปีที่ 2) ก็คือการแบ่งรุ่นน้องชั้นปีที่ 1 เข้าสู่ 'กลุ่ม' ต่างๆ ทั้งหมด 18 กลุ่มที่มีอยู่ในคณะ

สำหรับรุ่นพี่ทั้งหญิงและชาย ความคาดหวังสูงสุดของกิจกรรมนี้ก็คือการเฝ้าลุ้นว่ากลุ่มของตนเองจะมีโอกาสต้อนรับรุ่นน้องหน้าตาดี (ทั้งหญิงและชาย) บ้างหรือเปล่า และหลังจากกิจกรรมนี้เสร็จสิ้นลง หัวข้อที่รุ่นพี่พูดคุยกันก็คงหนีไม่พ้นการบอกเล่าข้อมูลของน้องใหม่แต่ละคนที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม 'ดาวหรือเดือน' คนใดได้เข้าไปอยู่กลุ่มไหน คนสวยคนหล่อไปกองอยู่ที่กลุ่มไหนมากที่สุด บางปีก็มีข่าวลือถึงขนาดว่ารุ่นพี่ทำการล็อบบี้รุ่นน้องที่หน้าตาดีไปสังกัดกลุ่มของตนเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะทำการแบ่งกลุ่มอย่างเป็นทางการ

บางครั้งผมก็นึกเห็นใจรุ่นน้องคนอื่นๆ (ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่) ที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาหรือบุคลิกโดดเด่นดึงดูดความสนใจของรุ่นพี่ รุ่นน้องผู้ชายอาจไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับรุ่นน้องผู้หญิง เสียงเฮกึกก้องของชายหนุ่มที่เฝ้าลุ้นอยู่รอบๆ ซึ่งดังขึ้นทันทีที่รู้ว่าหญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มคนหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มของตน ได้สร้างรอยยิ้มเจื่อนๆ ปนความสับสนมึนงงให้กับหญิงสาวธรรมดาสามัญคนอื่นๆ ซึ่งโชคไม่มีที่ต้องมาเสี่ยงทายในรอบเดียวกัน

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คงไม่มีผลถึงขนาดสร้างปมด้อยในชีวิตที่เหลือให้กับรุ่นน้องส่วนใหญ่ที่บังเอิญเกิดมาพร้อมความธรรมดาสามัญในรูปลักษณ์ภายนอก และทันทีที่พวกเขากลายเป็นรุ่นพี่ในกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ปีถัดมา บรรยากาศการแบ่งกลุ่มก็จะยังคงดำเนินไปเหมือนกับทุกๆ ปี

'กลุ่ม' ที่ผมกล่าวถึงมีอายุราว 20 ปี มันเกิดขึ้นภายหลังการก่อเกิดของคณะที่ผมเรียนเกือบ 40 ปี สาเหตุที่ต้องตั้ง 'กลุ่ม' ขึ้นมานัยว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือรุ่นน้องในการเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตในมหาวิทยาลัย รุ่นน้องแต่ละคนจะมีเพื่อนใหม่ทันทีหลังจากได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่างๆ คือเพื่อนร่วมกลุ่มทั้งหญิงและชายราวสิบกว่าคน และตลอดระยะเวลาที่พวกเขายังเรียนอยู่ที่คณะนี้ พวกเขาก็จะมีโอกาสได้สัมผัสกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในนามของ 'กลุ่ม' ไม่มากก็น้อยตามความสนใจของแต่ละคน

การสังกัด 'กลุ่ม' ไม่ใช่สิ่งที่เป็นทางการ คือไม่มีกฎข้อบังคับใดๆ มากำหนดสถานะของตัวเราและของ 'กลุ่ม' 'กลุ่ม' อนุญาตให้เราดำเนินชีวิตได้เป็นปกติตามความต้องการของแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมร่วมกับ 'กลุ่ม' หรือกระทั่งสามารถแยกตัวออกจาก 'กลุ่ม' ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะทำความไม่พอใจให้กับผู้ใด หากเรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ 'กลุ่ม' เหล่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหากเรายอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 'กลุ่ม' ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประเพณีที่ทุกคนจำต้องยึดถือและปฏิบัติตาม

ก่อนที่จะเริ่มต้นการเรียนในชั้นปีที่ 2 เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงาน 'รับน้องกลุ่ม' ในขณะที่รุ่นพี่ปี 3 และปี 4 ก็มีหน้าที่รับฟังการบรรยายสรุปรูปแบบของงานคร่าวๆ จากน้องปี 2 พร้อมกับแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้น้องปี 2 นำไปปรับปรุงจนกว่ารุ่นพี่จะพอใจ ขณะที่เรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดซุ้มแสดงความยินดีกับรุ่นพี่ร่วมกลุ่มที่จบการศึกษาในวันพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมกับจัดงานอำลารุ่นพี่ปี 4 ที่กำลังจะจบการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว เรายังอาจต้องจัดงานเลี้ยงขอบคุณรุ่นน้องร่วมกลุ่มที่อุตส่าห์จัดงานให้กับเรา ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกิจกรรมปลีกย่อยอื่นๆ ที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย (โดยเงินที่ใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากกำไรที่ได้จากการขายสินค้าจำพวกสมุด กางเกงเล เสื้อยืด หรือสินค้าอื่นๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มลงทุนและหาช่องทางการขายกันเอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินส่วนตัวที่บางกลุ่มอาจเรียกเก็บจากสมาชิกเป็นครั้งๆ หรือบางกลุ่มอาจเรียกเก็บเป็นรายเดือน ซึ่งในแต่ละรุ่นแต่ละกลุ่มจะมีคนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการเงินของกลุ่ม)

มีหลายคนที่สงสัยในการดำรงอยู่ของ 'กลุ่ม' และบางคนก็เลือกที่จะปฏิเสธการดำรงอยู่ของมันโดยเลือกที่จะมีชีวิตในวิถีทางของตัวเอง

บางครั้งผมก็คิดไปเรื่อยเปื่อยว่า 'กลุ่ม' ในสังคมคนหนุ่มสาวน่าจะสะท้อนบางสิ่งบางอย่างในสังคมชนชั้นกลางไทยได้ อยู่ๆ เราก็คิดระบบ 'กลุ่ม' ขึ้นมาในช่วงที่ประเทศกำลังมุ่งหวังตั้งใจในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยประกาศว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือรุ่นน้อง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ รุ่นพี่เกือบ 40 รุ่นก็ผ่านชีวิตช่วงนี้มาได้โดยไม่จำเป็นต้องมี 'กลุ่ม' มารองรับ หรือแท้จริงแล้ว 'กลุ่ม' ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรับใช้เป้าหมายอย่างอื่นอันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อการมองโลกมองชีวิตของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หรือมันอาจเป็นเพียงยาสมานแผลชั่วคราวของความอ้างว้างว่างเปล่าที่พวกเรากำลังพบเผชิญ

เพราะสุดท้ายแล้ว กิจกรรมในนามของ 'กลุ่ม' รวมทั้งกิจกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยไทยปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ลงรากปักฐานด้วย 'เงิน' เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในเรื่องความบันเทิงเริงรมย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะฉาบหน้าทาแป้งไว้สวยงามเพียงใด กระทั่งงานยิ่งใหญ่ระดับชาติอย่างการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ก็กลายเป็นเวทีปาหี่เสนอภาพ 'สถาบันนิยม' จอมปลอม และกลายเป็นเวทีชุบตัวของชายหนุ่มหญิงสาว มากกว่าที่จะให้อรรถรสและอารมณ์ร่วมในการแข่งขันกีฬา

ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้เขียนอะไรถึงร้านหนังสือใต้ดิน ในวาระที่ร้านต้องปิดตัวเองลง มันอาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ผมรู้สึกว่า 'กลุ่ม' น่าจะมีบางอย่างเกี่ยวโยงกับ 'ชุมชนวรรณกรรมและสื่อทางเลือก' ที่ร้านใช้อธิบายตัวเอง ในขณะที่ 'กลุ่ม' ของคนหนุ่มสาวกลายเป็นสถาบันหลักที่ได้สร้างระเบียบแบบแผนขึ้นมารองรับการดำรงอยู่ของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ วาทกรรมเรื่องการท่องเที่ยว รายการคุยข่าว สิ่งพิมพ์บันเทิง รายการเรียลลิตี้ ฯลฯ แต่สำหรับ 'ชุมชนวรรณกรรมและสื่อทางเลือก' รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการชีวิตตัวเองในทุกๆ ด้านโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรัฐบาลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รายการสารคดีดีๆ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น (ที่การท่องเที่ยวฯไม่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยโปรโมต) อีกทั้งการดำรงอยู่ของคนอีกมากมายที่อยู่นอกสังกัด 'กลุ่ม' ที่ผู้มีอำนาจก่อตั้งขึ้น

สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการฝืนต้านเพื่อการดำรงอยู่

และคงมีไม่น้อยที่ฝืนยืนอยู่ไม่ไหวเช่นเดียวกับร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้

(เรียบเรียงและปรับปรุงจากบทความที่เขียนเป็นที่ระลึกสำหรับร้านหน้งสือใต้ดิน)

ตีพิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548

Saturday, January 07, 2006
















ชาวคณะ open อพยพไปเยี่ยมภูเขา ทักทายพระอาทิตย์ และสูดอากาศบริสุทธิ์บนยอดดอย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 13-17 พฤศจิกายน 2548

รายละเอียดระหว่างทาง บ.ก.ภิญโญบันทึกไว้ที่นี่แล้วจ้า

Wednesday, January 04, 2006

การปรากฏตัวของเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% ในเช้าวันหนึ่งอันงดงามของเดือนเมษายน

แปลจาก On Seeing the 100% Perfect Girl One Beautiful April Morning ใน The Elephant Vanishes

โดย Haruki Murakami

เช้าวันหนึ่งอันงดงามของเดือนเมษายน บนถนนเส้นเล็กๆ ย่านฮาราจูกุ แหล่งรวมแฟชั่นของโตเกียว ผมเดินผ่านเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100%

ถ้าจะบอกคุณตามจริง เธอก็ไม่ได้ดูดีอะไรนัก ไม่มีอะไรโดดเด่นเลยด้วยซ้ำไป เธอใส่เสื้อผ้าธรรมดาๆ ผมของเธอยุ่งไม่เป็นทรงเหมือนกับคนเพิ่งลุกจากที่นอน อีกอย่าง เธอก็อายุไม่น้อยแล้ว น่าจะประมาณสามสิบ ถ้าจะพูดให้ถูกก็ต้องบอกว่าเธอไม่ใช่ “เด็กสาว” แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ผมรับรู้ได้จากระยะห่างห้าสิบหลา เธอเป็นเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับผม ทันทีที่ผมเห็นเธอ หัวใจของผมเต้นไม่เป็นจังหวะ และภายในปากของผมแห้งผากราวกับทะเลทราย

คุณอาจจะมีลักษณะของเด็กสาวในดวงใจของคุณอยู่แล้ว—เรียวขาเพรียวงาม หรือดวงตากลมโต หรือไม่ก็นิ้วมือที่แสนจะนุ่มนวล หรือคุณอาจจะควานหาเหตุผลไม่เจอสำหรับการที่คุณต้องร่วมโต๊ะอาหารกับผู้หญิงคนหนึ่งในทุกๆ มื้อ แน่นอน ผมก็มีแบบของผม บางครั้งเวลาอยู่ในร้านอาหาร ผมจะนั่งจ้องเด็กสาวที่นั่งอยู่ที่โต๊ะข้างๆ เพราะผมชอบรูปทรงจมูกของเธอ

แต่ไม่มีใครที่สามารถยืนยันได้ว่าเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับเขา จะตรงกับภาพที่เขาจินตนาการไว้ ยิ่งผมชอบจมูกของเธอมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งจดจำรูปทรงของมันไม่ได้ หรือแม้กระทั่งว่าเธอมีจมูกแบบนี้จริงหรือเปล่า สิ่งที่ผมจำได้แน่นอนก็คือ เธอไม่ใช่คนสวย มันประหลาดพิกล

“เมื่อวานผมเดินผ่านเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% บนถนน” ผมบอกกับใครบางคน

“เหรอ?” เขาพูด “ต้องตาตรึงใจ?”

“ก็ไม่เชิง”

“ถ้าอย่างนั้นก็ตรงกับสเป็คของคุณ?”

“ผมไม่รู้ ดูเหมือนผมจะจำอะไรเกี่ยวกับเธอไม่ได้เลย ไม่ว่าจะลักษณะของดวงตาหรือขนาดของหน้าอก”

“แปลกพิกล”

“ใช่ แปลกพิกล”

“ถ้าอย่างนั้น” เขาพูดขึ้นแบบเบื่อๆ “คุณทำยังไงต่อ? เข้าไปทักทายหรือเดินตามเธอไป?”

“เปล่า แค่เดินสวนกับเธอบนถนน”

เธอเดินมาจากทิศตะวันออก มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก ส่วนผมมาจากทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก มันเป็นเช้าของวันในเดือนเมษายนที่งดงามจริงๆ

ถ้าผมได้คุยกับเธอ แค่ครึ่งชั่วโมงก็พอ ผมจะถามเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผม และสิ่งที่ผมจะทำก็คือ อธิบายให้เธอฟังถึงความซับซ้อนของโชคชะตาที่ดลบันดาลให้เราทั้งคู่เดินมาพบกันบนถนนในฮาราจูกุ ในเช้าอันงดงามของเดือนเมษายนปี 1981 แน่นอนว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นความลึกลับอันอบอุ่นมีชีวิตชีวา เหมือนกับนาฬิกาโบราณที่เกิดขึ้นเมื่อความสงบสุขแผ่คลุมโลกใบนี้

หลังจากที่คุยกัน เราจะไปกินอาหารเที่ยงด้วยกันที่ไหนซักแห่ง อาจจะไปดูหนังของวู๊ดดี อัลเลน แวะจิบค็อกเทลในบาร์ และถ้าโชคดี เส้นทางของเราทั้งคู่อาจสิ้นสุดบนเตียงนอน

ความเป็นไปได้มายืนเคาะประตูอยู่หน้าห้องหัวใจของผม

ตอนนี้ระยะทางระหว่างเราลดลงเหลือ 15 หลาแล้ว

ผมจะเข้าไปคุยกับเธอยังไงดี? ผมควรจะพูดอะไร?

“สวัสดีตอนเช้าครับคุณผู้หญิง คุณพอจะมีเวลาซักครึ่งชั่วโมงสำหรับการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ไหมครับ”

ให้ตายเถอะ ฟังดูเหมือนคนขายประกันไม่มีผิด

“ขอรบกวนนิดหนึ่งครับ คือว่าคุณพอจะรู้จักร้านซักรีดที่เปิดตลอดคืนแถวนี้บ้างไหมครับ”

ไม่ นี่มันฟังดูตลกไปหน่อย ผมไม่ได้หิ้วเสื้อผ้าที่จะซักมาด้วย ที่สำคัญ ใครจะมาเดินหาร้านแบบนั้นแถวนี้

บางที การพูดความจริงตรงๆ อาจจะเข้าท่าที่สุด “สวัสดีครับ คุณคือเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับผม”

ไม่ เธอไม่มีทางเชื่อแน่ๆ ต่อให้เธอเชื่อ เธอก็คงไม่อยากพูดกับผม ขอโทษ—เธออาจจะพูดแบบนี้—ฉันอาจจะเป็นเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับคุณ แต่คุณไม่ใช่เด็กหนุ่มสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับฉัน เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ และถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ผมคงย่อยยับป่นปี้ ผมคงเยียวยาตัวเองจากความรู้สึกแบบนั้นไม่ได้ ผมอายุ 32 แล้ว และนั่นคือสิ่งที่คนเมื่อมีอายุมากขึ้นมักเป็นกัน

เราเดินผ่านร้านขายดอกไม้ มวลอากาศอบอุ่นแผ่วจางลอยมาสัมผัสผิวของผม พื้นถนนเปียกชื้น และมีกลิ่นกุหลาบโชยมาพร้อมกับสายลม ผมไม่สามารถเข้าไปคุยกับเธอได้ เธอสวมสเวตเตอร์สีขาว และในมือขวาของเธอมีซองจดหมายสีขาวสะอาดที่ยังไม่ได้ติดแสตมป์ เธอคงจะเขียนจดหมายถึงใครบางคน อาจจะใช้เวลาทั้งคืนเมื่อดูจากแววตาสลึมสลือของเธอ ในซองจดหมายคงบรรจุความลับทั้งหมดที่เธอมี

ผมเพิ่มระยะก้าวเล็กน้อย ก่อนจะเงยหน้าขึ้นมอง เธอเลือนหายไปในฝูงชน


ณ บัดนี้—แน่นอน—ผมรู้แล้วว่าควรจะพูดอะไรกับเธอ มันค่อนข้างยาวทีเดียว ยาวเกินไปสำหรับผมที่จะบอกเล่าได้ครบสมบูรณ์ด้วยซ้ำ ความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวของผมไม่เคยมีอะไรเข้าท่าเลย

แต่ก็เอาเถอะ มันจะเริ่มต้นด้วย “ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว” และจบด้วย “เรื่องมันน่าเศร้า หรือคุณว่าไง?”


ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว มีเด็กหนุ่มกับเด็กสาวสองคน เด็กหนุ่มอายุ 18 ส่วนเด็กสาวอายุ 16 เขาไม่ได้หล่อเหลาโดดเด่น ส่วนเธอก็ไม่ได้งดงามเป็นพิเศษ ทั้งคู่เป็นเพียงเด็กหนุ่มกับเด็กสาวที่อ้างว้างโดดเดี่ยวเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป แต่พวกเขาเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า มีเด็กหนุ่มสมบูรณ์แบบ 100% กับเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับทั้งคู่อยู่ที่ไหนซักแห่งบนพื้นโลก ใช่ พวกเขาเชื่อในปาฏิหาริย์ และปาฏิหาริย์นั้นก็เกิดขึ้นจริงๆ

วันหนึ่ง ทั้งคู่ได้มาพบกันที่มุมถนน

“มันแปลกมาก” เขาพูด “ผมตามหาคุณมาตลอดทั้งชีวิตของผม คุณอาจจะไม่เชื่อ แต่คุณเป็นเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับผม”

“คุณ...” เธอพูดกับเขา “คุณก็เป็นเด็กหนุ่มสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับฉัน ภาพของคุณที่ฉันเคยคิดไว้ไม่ต่างอะไรกับตัวคุณเลย มันช่างเหมือนกับความฝัน”

พวกเขานั่งอยู่บนม้านั่งในสวนสาธารณะ กุมมือกันและกัน และผลัดเปลี่ยนบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละคนชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า พวกเขาไม่โดดเดี่ยวอ้างว้างอีกต่อไปแล้ว ทั้งคู่ค้นพบคนที่สมบูรณ์แบบ 100% และถูกค้นพบโดยคนที่สมบูรณ์แบบ 100% สำหรับทั้งคู่ จะมีอะไรวิเศษไปกว่าการได้พบและกลายเป็นผู้ที่ถูกค้นพบโดยคนที่สมบูรณ์แบบ 100% สำหรับคุณ มันคือปาฏิหาริย์ สุดยอดของปาฏิหาริย์

ขณะที่พวกเขานั่งคุยกัน ความสงสัยก็ค่อยๆ หยั่งรากเล็กๆ ลงบนหัวใจของทั้งคู่—มันเป็นความจริงแน่หรือ สำหรับการที่ความฝันของคนคนหนึ่งจะกลายเป็นความจริงได้ง่ายขนาดนี้?

และเมื่อบทสนทนาขาดห้วง เด็กหนุ่มก็บอกกับเด็กสาว “เรามาทดสอบกันเถอะ แค่ครั้งเดียว ถ้าเราต่างเป็นคนรักที่สมบูรณ์แบบ 100% ของกันและกันจริง ไม่ว่า ณ เวลาใด สถานที่แห่งไหน เราจะได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ไม่มีทางผิดพลาด และเมื่อถึงตอนนั้น เมื่อเราทั้งคู่ต่างก็รู้ว่าเราเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ 100% ของกันและกัน เราจะแต่งงานกันทันทีหลังจากที่ได้พบกัน คุณคิดยังไง”

“ใช่” เธอพูด “นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ”

ดังนั้น ทั้งคู่จึงแยกทางกัน เธอมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนเขามุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบ พวกเขาไม่ควรทำแบบนั้น เพราะพวกเขาต่างก็เป็นคนรักสมบูรณ์แบบ 100% ของกันและกันอย่างแท้จริง และการที่ทั้งคู่ได้มาพบกันก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์เกินกว่าใครจะคาดคิด แต่มันเป็นเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะรู้เรื่องนี้ พวกเขาอายุยังน้อย กระแสคลื่นเย็นยะเยียบแห่งโชคชะตาพัดกระหน่ำเข้าใส่พวกเขาอย่างไม่ปราณี

ในฤดูหนาวครั้งหนึ่ง ทั้งเด็กหนุ่มและเด็กสาวติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งระบาดอย่างรุนแรง หลังจากล่องลอยอยู่ระหว่างความเป็นกับความตายนานนับสัปดาห์ ทั้งคู่ก็สูญเสียความทรงจำทั้งหมด เมื่อพวกเขาตื่นขึ้นมา ภายในศีรษะของพวกเขาว่างเปล่าราวกับหมูออมสินของหนูน้อย ดี.เอช. ลอเรนซ์

ทั้งคู่ฉลาดและอายุยังน้อย ด้วยความพยายามอย่างหนัก พวกเขาก็สามารถกลับคืนสู่การรับรู้และมีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้ง ขอบคุณสวรรค์ พวกเขากลับสู่การเป็นประชาชนคนธรรมดาที่รู้ว่าจะเปลี่ยนสายรถไฟใต้ดินได้อย่างไร หรือมีความสามารถอย่างเต็มเปี่ยมในการส่งจดหมายพิเศษที่ที่ทำการไปรษณีย์ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาได้สัมผัสกับประสบการณ์ความรักอีกครั้ง บางครั้งก็เป็นความรักในระดับ 75% หรือบางครั้งก็ 85%

เวลาล่วงผ่านรวดเร็วจนน่าตกใจ ไม่ช้าไม่นาน เด็กหนุ่มก็อายุ 32 ส่วนเด็กสาวก็อายุ 30

เช้าอันงดงามวันหนึ่งในเดือนเมษายน ระหว่างการมองหากาแฟซักแก้วเพื่อการเริ่มต้นของวัน เด็กหนุ่มเดินมาจากทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก ขณะที่เด็กสาวซึ่งตั้งใจจะไปส่งจดหมายพิเศษ เดินมาจากทิศตะวันออก มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก ทั้งคู่อยู่บนถนนเส้นเล็กๆ สายเดียวกันในย่านฮาราจูกุของโตเกียว พวกเขาเดินสวนทางกันตรงเกือบกึ่งกลางของถนน แสงสลัวรางของความทรงจำที่สูญหายส่องวาบขึ้นในหัวใจของคนทั้งคู่ หัวใจทั้งสองดวงเต้นไม่เป็นจังหวะ และพวกเขาต่างรู้ดีว่า

เธอคือเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับผม

เขาคือเด็กหนุ่มสมบูรณ์แบบ 100% สำหรับฉัน

แต่แสงสว่างเรืองของความทรงจำปรากฏอยู่ในที่อันแสนไกล และห้วงเวลา 14 ปีก่อนหน้านี้ก็ไม่มีทางปรากฏชัดในความคิดของพวกเขา ไร้ซึ่งคำพูด พวกเขาเดินสวนทางกัน ลับหายไปในฝูงชน—ตลอดกาล

เรื่องมันน่าเศร้า หรือคุณว่าไง?


ใช่แล้ว เรื่องนี้แหละที่ผมน่าจะเล่าให้เธอฟัง

Tuesday, January 03, 2006

สรุปสาระสำคัญของ "รัฐปัตตานี ใน 'ศรีวิชัย' เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์"

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ

พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มติชน เมษายน 2547

หลังจากจับต้นชนปลายไม่ถูกอยู่แรมปีนับตั้งแต่การปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ที่ค่ายกองพันทหารพัฒนา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส รัฐมนตรีผู้ดูแลรวมถึงแม่ทัพภาคก็มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว การปรับกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาด้วยการผนึกแนวร่วมจากทุกฝ่ายก็กำลังดำเนินการอยู่ ขณะที่เงินงบประมาณก็กำลังผันเข้าสู่พื้นที่อย่างต่อเนื่องตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ดูเหมือนปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังมองไม่เห็นหนทางคลี่คลาย

ล่าสุด รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็โชว์วิสัยทัศน์ “นกกระดาษเพื่อสันติภาพ” เชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศพับนกกระดาษคนละหนึ่งตัว เพื่อเป็นสื่อแทนใจถึงความปรารถนาดี ความห่วงใยที่คนไทยทั้งประเทศมีต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากที่ตั้งเป้าไว้หกสิบกว่าล้านตัว ในท้ายที่สุดนกกระดาษนับร้อยล้านตัวก็ถูกโปรยลงเหนือน่านฟ้าที่ยังระอุกรุ่นและปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกอันทึบทึมในวันที่ 5 ธันวาคม วันที่ถือเป็นมหามงคลฤกษ์ของปวงชนชาวไทย

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ (กอ.รมน.) เตรียมเสนอยกร่างกฎหมายพิเศษ สำหรับป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเห็นว่าประมวลกฎหมายพิจารณาความคดีอาญา ไม่สามารถบังคับใช้และปราบปรามกับอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางก่อนที่รัฐบาลจะล้มเลิกแนวคิดนี้ในที่สุด โดยชี้แจงว่าปัญหาทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน 5 ฉบับบวกกับการนำกฎอัยการศึกมาใช้บางส่วน

ทางด้านแวดวงบันเทิง ก็ส่งเพลง “ขวานไทย ใจหนึ่งเดียว” ออกมากระหึ่มไปทั่วทั้งวิทยุ โทรทัศน์ รวบรวมนักร้องนำเกือบ 50 คนกับนักร้องประสานเสียงอีกนับร้อยชีวิตร่วมกันร้องเพลงเพื่อสานใจไทยทั้งชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ยืนยง โอภากุลแต่งเนื้อร้องภายในวันเดียวก่อนส่งให้เทียรี่ เมฆวัฒนา กับพงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดูแลเรื่องดนตรี หวังที่จะสร้างบรรยากาศแบบเพลง “มิตรสัมพันธ์” ให้กลับมาอีกครั้ง

และในวันที่ 16 พฤศจิกายน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระราชกระแสเล่าถึงพระราชกรณียกิจและทุกข์สุขของราษฎรที่ได้ทรงรับทราบด้วยพระองค์เอง ขณะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งตอนหนึ่งว่า “จะวิงวอนขอร้องให้ทำอย่างไร จะไม่ขอพูดรายละเอียด แต่ขอให้แสดงความรัก ความห่วงใยราษฎรภาคใต้ ก็อยากให้สามัคคีเกิด คิดถึงท่านทั้งหลาย ผู้แทนข้าราชการ องค์กรอิสระ สมาคม นิสิต นักศึกษา ไทยอาสา สื่อมวลชน ช่วยกันคิดอ่านหาทางยุติการฆ่ารายวัน ท่านน่าจะช่วยกัน ช่วยรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สะสาง ยุติเหตุการณ์ฆ่าเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่รอรัฐบาลฝ่ายเดียว”

แต่ท่ามกลางข่าวความสับสนวุ่นวายของสถานการณ์ความไม่สงบและความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เรื่องราวบางอย่างดูเหมือนจะยังคงถูกปกปิด

“รัฐปัตตานี ใน ‘ศรีวิชัย’ เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์” เป็นการรวบรวมงานค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่นภาคใต้ เพื่อฉายภาพความเป็นมาของพื้นที่บริเวณตอนกลางของคาบสมุทรมลายูซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีบ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนใหญ่ระดับรัฐที่มีการค้าทางทะเลกับดินแดนห่างไกลมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1000 และรัฐโบราณตรงนี้เองที่พัฒนาต่อเนื่องเป็นรัฐลังกาสุกะ ก่อนที่จะเป็นรัฐปัตตานีซึ่งเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาฮินดู-พุทธเป็นศาสนาอิสลามดังเช่นในปัจจุบัน

“เรื่องเล่าจากชายแดน” บทนำเกียรติยศของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เป็นประตูบานแรกที่จะเปิดไปสู่การทำความเข้าใจ “แม่บท” ของ “ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวางไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าเหตุใดประวัติศาสตร์ไทยจึงก่อให้เกิดสำนึกดูแคลนคนอื่นในหมู่ประชาชน อันเป็นผลให้เกิดปัญหาตามมาจนกระทั่งทุกวันนี้

บทความชิ้นนี้มุ่งแสดงให้เห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างเรื่องราวในชายแดนปัจจุบันกับเรื่องราวแห่งชาติ อัน “เป็นผลมาจากการผันแปรความหมายและคุณสมบัติของบ้านเกิดเมืองนอน อย่างปัตตานีและชาติไทย กับอำนาจล้นหลามของเรื่องเล่าที่มีข้อจำกัดมากมายอย่างประวัติศาสตร์แห่งชาติ” (หน้า 8)

อ.ธงชัยชี้ว่า ความรู้ประวัติศาสตร์ไทยแบบสมัยใหม่ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 อยู่ภายใต้ตรรกะที่ผิดหรือไม่เข้าใจระบบการเมืองของรัฐก่อนสมัยใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าซึ่งเป็นลำดับชั้น (hierarchy) คือเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะของเจ้าพ่อกับเจ้าพ่อในเขตต่าง ๆ ที่ยอมจงรักภักดีต่อกันตามระดับอำนาจของตน และเขตอิทธิพลของเจ้าพ่อแต่ละรายก็สามารถซ้อนทับกันได้หรือเปลี่ยนมือไปมาได้ ตามแต่ความผันผวนภายในกลุ่มเจ้าพ่อหนึ่ง ๆ และท่ามกลางการแข่งขันระหว่างเจ้าพ่อกลุ่มต่าง ๆ

ตัวอย่างของตรรกะที่ผิด เช่น พรมแดนของประวัติศาสตร์ไทย คือเขตแดนของดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ดินแดนนอกประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์มายาวนานกับสยามจึงอาจถูกมองข้าม เพราะปัจจุบันไม่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ในขณะที่อารยธรรมดั้งเดิมถูกละเลยหรือแยกเป็นเสี่ยงตามเขตแดนสมัยใหม่ หรือองค์ประธาน (subject) ของประวัติศาสตร์ คือรัฐเอกภาพแบบสมัยใหม่ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกไม่เกิน 300 ปีมานี้ ในกรณีของประเทศไทยก็ไม่เกิน 100 ปีเศษ เมื่อถือว่าเป็นรัฐเอกภาพ จึงมีราชธานีในเวลาหนึ่ง ๆ เพียงแห่งเดียว ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่เห็นหรือไม่เน้นศูนย์อำนาจหลากหลายที่แข่งขันชิงความเป็นใหญ่กันตลอดเวลา

ด้วยเหตุดังกล่าว “บทบรรยายประวัติศาสตร์ไทยจึงมักจัดความสัมพันธ์ระหว่างประวัติของหนึ่งราชธานีกับเมืองใหญ่น้อยต่าง ๆ ราวกับว่าศูนย์อำนาจอื่น ๆ และเมืองขึ้นทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามมาแต่ไหนแต่ไรตลอดหลายร้อยปี” (หน้า 11)

การที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติอยู่ได้ด้วยตรรกะที่ผิด ทำให้มีข้อจำกัด (limits) ในการอธิบายข้อเท็จจริงในอดีต ในอีกด้านหนึ่งก็คือมีอดีตหรือประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงรอยกับตรรกะชุดดังกล่าว ซึ่งสามารถเผยให้เห็นข้อจำกัด ความไม่สมเหตุสมผลของความรู้และคำอธิบายประวัติศาสตร์แบบที่เชื่อกันอยู่ จนอาจทำให้อำนาจของประวัติศาสตร์แห่งชาติถูกท้าทาย ด้วยเหตุนี้ อดีตที่ลักลั่นไม่ลงรอยจึงมักถูกกำจัดหรือจำกัด หรืออธิบายกลบเกลื่อนจนหมดพิษภัยต่อตรรกะของประวัติศาสตร์แห่งชาติ

“การศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานีในภาษาไทยจนถึงปัจจุบัน มีไม่มากนัก แทบทั้งหมดอยู่ในกรอบของตรรกะทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวมา และอยู่ในกรอบของมุมมองของเจ้ากรุงเทพฯ ส่วนด้านที่ไม่เข้ากรอบไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์แห่งชาติก็หลีกเลี่ยงหรือมองข้ามไปเสีย

“ภาพพจน์รวบยอด (trope) ของปัตตานีในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย คือแขก-ประเทศราช-ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายภายใน-และชอบเป็นขบถ” (หน้า 15)

“ประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เป็น ‘แขก’ จึงเป็นประวัติศาสตร์ฉบับดูแคลนตั้งแต่ต้น” (หน้า 16)

ที่ผ่านมาเราจึงแทบไม่รู้จักและไม่เข้าใจความเป็นมาที่แท้จริงของปัตตานี รวมถึงชายแดนอีกหลายแห่งในปัจจุบัน เพราะประวัติศาสตร์แห่งชาติได้บดบังประวัติศาสตร์ชนิดอื่น ๆ มาตลอดหนึ่งร้อยปี อ.ธงชัยเห็นว่าเราควรยอมรับว่า “ประวัติศาสตร์ คือเรื่องราวของอดีตอันหลากหลาย รวมถึงที่แตกต่างขัดแย้งกัน ชาติในปัจจุบัน คือจุดนัดพบในปัจจุบันของความหลากหลายเหล่านั้น เรื่องราวของชาติจึงได้แก่กรอบกว้าง ๆ ของปัจจุบันที่อนุญาตให้อดีตอันแตกต่างขัดแย้งหลากหลายสามารถดำรงอยู่ได้” (หน้า 24)

ความสำนึกต่ออดีตแบบที่ไม่ต้องมีประวัติศาสตร์แห่งชาติครอบงำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ การศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อความสามัคคีผิวเผินหรือเพื่อค้ำจุนชาติ ด้วยการบดบังอดีตที่ไม่ลงรอยกับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองจึงควรถูกยกเลิก และวิชาประวัติศาสตร์ควรสอนให้ประชาชนเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายและสามารถจัดการกับความขัดแย้งได้

นกกระดาษเพื่อสันติภาพ (แถมโปรโมชั่นทานข้าวกับท่านนายกฯ หากเก็บนกที่มีลายเซ็นท่านได้) และนโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาของรัฐไทย รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่เสนอผ่านวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น (แบบไม่ต้องรับผิดชอบ) สะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติยังมีอิทธิพลครอบงำอยู่มากเพียงใดนั้นคงไม่ต้องการคำตอบ


ปัตตานีเป็นเมืองท่าเก่าแก่ที่เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นลังกาสุกะซึ่งเป็นเครือข่ายของอาณาจักรศรีวิชัยที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14-15 ลงมา เรื่องราวของศรีวิชัยนั้นมีปริมณฑลกว้างขวางมาก คือมีอาณาบริเวณครอบคลุมคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบัน ขณะนี้เราสามารถสรุปได้ว่า “ศรีวิชัย” เป็นชื่อกว้าง ๆ ทางศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มบ้านเมือง หรือแว่นแคว้น หรือรัฐน้อยใหญ่ที่มีวัฒนธรรมบางประการร่วมกัน เช่น การนับถือพุทธศาสนาในลัทธิมหายาน โดยกลุ่มรัฐเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยมีศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมืองในแต่ละยุคสมัย

กลุ่มแคว้น “ศรีวิชัย” ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” การค้าทางทะเลระหว่างจีนกับตะวันตกซึ่งนำความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองมาให้เป็นอย่างมาก แต่ทันทีที่จีนเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการส่งเรือออกทะเลค้าขายกับบ้านเมืองในเขตชายทะเลโดยตรงก็ทำให้บ้านเมืองในเขตคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองขึ้น เกิดชุมชนบ้านเมืองใหม่ ๆ บริเวณคาบสมุทร จนเส้นทางการค้าเปลี่ยนไปเป็นการขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรแทน ศรีวิชัยที่เคยมั่งคั่งจึงล่มสลายในที่สุด

ขณะที่ “ลังกาสุกะ” เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารจีนว่า “หลังหยาชูว” ในพุทธศตวรรษที่ 11 เคยเป็นรัฐอิสระที่มีเอกราชในการปกครองและมีความสัมพันธ์กับอีกสองรัฐได้แก่ ลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) และสิงขระ (สงขลา) แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่สามารถบอกได้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะ และราชอาณาจักรปัตตานีตั้งขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้ก่อตั้ง มีเพียงบันทึกของ วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เดินทางเข้ามาประจำสำนักงานการค้าอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 เรื่องท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทองที่เล่าไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองเดิมมีพระนามว่าเจ้าอู่ เป็นโอรสของจักรพรรดิจีน ต่อมาถูกเนรเทศไปอยู่เมืองปัตตานี เพราะกระทำความผิดร้ายแรง หลังจากนั้นจึงเสด็จไปสร้างเมืองนครศรีธรรมราช เมืองกุยบุรี เมืองพริบพรี เมืองคองขุดเทียม (บางขุนเทียน) เมืองบางกอก และเมืองอยุธยา แล้วเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของสยาม มีพระนามว่าสมเด็จพระราชารามาธิบดี โดยมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต ซึ่งถือเป็นนิทานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด

ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าดินแดนแห่งนี้เป็นที่อยู่ของผู้คนเชื้อสายมลายูที่เคยนับถือลัทธิภูตผี (animism) ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธซึ่งโดดเด่นมากในสมัยอาณาจักรลังกาสุกะ หลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าลังกาสุกะเป็นราชอาณาจักรมลายู-ฮินดูแห่งแรกของคาบสมุทร ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ปตานี” (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีในปัจจุบันส่วนคำว่า “ปตานี” ปรากฏแทนชื่อ “ลังกาสุกะ” ครั้งแรกเมื่อย่างเข้าสู่คริสตศตวรรษที่ 13 โดยไม่มีหลักฐานว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร) ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปากอ่าวเหมาะแก่การเป็นเมืองท่า นับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 8 ลังกาสุกะจึงเป็นศูนย์กลางการเดินเรือและกิจกรรมการค้าทางทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธ (รวมถึงศาสนาอิสลามในภายหลัง) เผยแพร่เข้าสู่สังคมลังกาสุกะ

ต่อมาใน พ.ศ. 2021 เมื่ออาณาจักรมัชปาหิตซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวาล่มสลาย อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธจึงเบาบางลง เปิดโอกาสให้นักการศาสนาอิสลามในปตานีเผยแพร่แนวคิดของศาสนาอิสลามได้สะดวกขึ้น จนในที่สุดศาสนาอิสลามก็เข้าไปแทนที่ศาสนาพุทธในราชสำนัก และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2043 เป็นต้นมา ชาวปตานีก็เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง และปตานีจึงเป็นที่รู้จักกันในนามราชอาณาจักรมลายู-อิสลาม มีกษัตริย์ปกครอง 2 ราชวงศ์คือราชวงศ์ศรีวังสา (พ.ศ. 2043-2229) และราชวงศ์กลันตัน (พ.ศ. 2231-2272)

ในสมัยการปกครองของราชวงศ์กลันตัน ปตานีทำสงครามกับสยามหลายครั้ง นอกจากนั้นยังมีการทำสงครามระหว่างพี่น้องเพื่อแย่งชิงอำนาจ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อย่างเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 24 ปตานีมีชื่อเสียงมากในฐานะศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลาม รวมทั้งศูนย์กลางของวรรณกรรมแนวอิสลามซึ่งให้กำเนิดนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามหลายท่าน แต่เมื่ออำนาจของราชวงศ์กลันตันสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2272 ปตานีก็เข้าสู่ยุคแห่งการปราบปรามหัวเมืองมลายูอย่างจริงจังของสยาม

สยามสามารถปราบปตานีได้สำเร็จเมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์เพียงไม่กี่ปี และนำมาซึ่งสงครามกอบกู้เอกราชใน พ.ศ. 2334 นำโดยตึงกู ลามิดดีน และ พ.ศ. 2351 นำโดยดาโตะ ปึงกาลัน สงครามทั้งสองครั้งปตานีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และนำมาซึ่งการปรับโครงสร้างการปกครองหัวเมืองปตานีใหม่ของสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อ พ.ศ. 2351 พระองค์มีพระบรมราโชบายโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเมืองปตานีเป็นเจ็ดหัวเมือง ดังนี้

1. เมืองปัตตานี

2. เมืองยะลา (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยะลา)

3. เมืองยะหริ่ง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)

4. เมืองระแงะ (ปัจจุบันเป็นอำภอหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส)

5. เมืองราห์มัน (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดยะลา)

6. เมืองสายบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)

7. เมืองหนองจิก (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)

แต่ละเมืองดังกล่าวมีฐานะเป็นเมืองระดับสาม ซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลา เจ้าเมืองของแต่ละเมืองได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากรัฐสยามที่กรุงเทพฯ เจ้าเมือง (ราฌา) ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองมลายูมุสลิมแต่ดั้งเดิมจึงสิ้นสุดลง ในยุคนี้สยามได้เริ่มย้ายชาวไทยพุทธเข้าไปอยู่ในเจ็ดหัวเมืองเหล่านี้ เพื่อสร้างความสมดุลแห่งอำนาจ และป้องกันการคุกคามจากชาวพื้นเมืองที่ไม่พอใจ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนเจ็ดหัวเมืองกับรัฐสยามเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ระยะทางที่ห่างไกลช่วยให้เมืองเหล่านี้มีอิสระในการปกครองตนเองและมีความสะดวกในการทำการอย่างอื่นด้วย ดังนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเกิดสงครามกอบกู้เอกราชขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2374

สงครามครั้งนี้เป็นความร่วมมือของเจ้าเมืองทั้งเจ็ดและสุลต่าน อัหมัด ตาฌุดดีน (Sultan Ahmad Tajuddin) แห่งเคดาห์ โดยได้รับความสนับสนุนทางด้านกำลังทหารจากกลันตันและตรังกานูในฐานะที่เมืองเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ แต่ทางสยามก็ส่งเจ้าพระคลัง ว่าที่สมุหกลาโหม (ดิศ บุนนาค) พร้อมกำลังทหาร 300,000 คนมาปราบได้สำเร็จ หลังจากสงครามครั้งนี้ ใน พ.ศ. 2334 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาให้แบ่งไทรบุรี (เคดาห์) ออกเป็น 4 เขต ได้แก่ เปอร์ลิส สตูล ไทรบุรี และกูบังปาสู โดยให้ขึ้นต่อนครศรีธรรมราชและพระองค์ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองทุกคน ส่วนปตานีทั้งเจ็ดเมืองยังให้ขึ้นกับสงขลาและถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้นานหลายสิบปี (พ.ศ. 2351-2449)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกการปกครองแบบเก่าที่ให้เจ้าเมืองมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครอง มาเป็นการปกครองแบบ “มณฑลเทศาภิบาล” โดยในระยะแรกทั้งเจ็ดหัวเมืองขึ้นต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลนครศรีธรรมราช ในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ตราข้อบังคับสำหรับการปกครองดินแดนส่วนนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444 เรียกว่า “กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณหัวเมืองทั้งเจ็ด” จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงแบ่งอาณาเขตการปกครองภาคใต้ใหม่ โดยปรับเจ็ดหัวเมืองให้เหลือสี่เมือง ได้แก่

1. เมืองปัตตานี ประกอบด้วย หนองจิก และยะหริ่งเดิม

2. เมืองยะลา ประกอบด้วย ยะลา และราห์มัน

3. เมืองสายบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอตะลุบัน จังหวัดปัตตานี)

4. เมืองระแงะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนราธิวาส)

เมืองทั้งสี่นี้รวมกันเป็นมณฑลปัตตานี ก่อนที่ปีถัดมาจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2476 มีการจัดระเบียบราชการบริหารออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มณฑลทั่วราชอาณาจักรจึงถูกยุบลงในปีนี้และมณฑลปัตตานีจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 จังหวัด คือจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ขึ้นตรงต่อส่วนกลางมาจนกระทั้งในปัจจุบัน

สยามใช้อำนาจปกครองจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสอย่างเต็มที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2445 เป็นต้นมา ผู้คนที่นี่จึงต้องเป็น “คนสยามเชื้อสายมลายู” ก่อนที่จะถูกกำหนดให้เป็นคนสัญชาติไทย เชื้อชาติไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม และถูกเรียกว่า “คนไทยมุสลิม” ในเวลาต่อมา

ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับเจ้าหน้าที่รัฐในสมัยหลังเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยใช้นโยบายการสร้างชาติแบบ “รัฐนิยม” ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวมลายูมุสลิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 ที่ห้ามชาวมลายูแต่งกายแบบมลายู ห้ามใช้นามสกุลเป็นภาษามลายูหรืออาหรับ ห้ามใช้ภาษามลายู และห้ามนับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้ปฏิบัติการที่รุนแรงเพื่อบีบคั้นให้ประชาชนละทิ้งสถานภาพของความเป็นมุสลิมและความเป็นมลายู และใน พ.ศ. 2487 รัฐบาลไทยได้ยกเลิกตำแหน่ง “กอฎี” ที่มีอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล โดยบังคับให้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายไทยและอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับประชาชนชาวมลายูมุสลิมก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ. 2497 ที่เกิดขบวนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชนในพื้นที่ขึ้น เช่น ขบวนการปลดแอกแห่งชาติปตานี (National Front Liberation of Patani), ขบวนการปฏิวัติแห่งประชาชาติ (Barisan Revolusi Nasional: BRN), องค์การร่วมเพื่อกอบกู้อิสรภาพปตานี (Patani United Liberation Organization: PULO) เป็นต้น ก่อนที่รัฐบาลไทยจะใช้นโยบาย “ใต้ร่มเย็น” เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมขบวนการวางอาวุธแลกกับการนิรโทษกรรม ในทศวรรษ 2530

ในทศวรรษต่อมา ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีก ยิ่งไปกว่านั้น เราคงไม่อาจมั่นใจได้ว่า แนวนโยบายอย่าง “ใต้ร่มเย็น” จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้อีกอย่างที่เคยเป็นมา ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าแนวนโยบายเช่นนี้จะมีอยู่ในหัวสมองชนชั้นนำปัจจุบันของไทยหรือไม่

พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548