Saturday, January 21, 2006

เรื่องของ 'กลุ่ม'

ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่สำหรับรุ่นพี่ๆ อย่างพวกผม (โดยเฉพาะในช่วงที่เตรียมตัวขึ้นสู่ชั้นปีที่ 2) ก็คือการแบ่งรุ่นน้องชั้นปีที่ 1 เข้าสู่ 'กลุ่ม' ต่างๆ ทั้งหมด 18 กลุ่มที่มีอยู่ในคณะ

สำหรับรุ่นพี่ทั้งหญิงและชาย ความคาดหวังสูงสุดของกิจกรรมนี้ก็คือการเฝ้าลุ้นว่ากลุ่มของตนเองจะมีโอกาสต้อนรับรุ่นน้องหน้าตาดี (ทั้งหญิงและชาย) บ้างหรือเปล่า และหลังจากกิจกรรมนี้เสร็จสิ้นลง หัวข้อที่รุ่นพี่พูดคุยกันก็คงหนีไม่พ้นการบอกเล่าข้อมูลของน้องใหม่แต่ละคนที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม 'ดาวหรือเดือน' คนใดได้เข้าไปอยู่กลุ่มไหน คนสวยคนหล่อไปกองอยู่ที่กลุ่มไหนมากที่สุด บางปีก็มีข่าวลือถึงขนาดว่ารุ่นพี่ทำการล็อบบี้รุ่นน้องที่หน้าตาดีไปสังกัดกลุ่มของตนเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะทำการแบ่งกลุ่มอย่างเป็นทางการ

บางครั้งผมก็นึกเห็นใจรุ่นน้องคนอื่นๆ (ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่) ที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาหรือบุคลิกโดดเด่นดึงดูดความสนใจของรุ่นพี่ รุ่นน้องผู้ชายอาจไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับรุ่นน้องผู้หญิง เสียงเฮกึกก้องของชายหนุ่มที่เฝ้าลุ้นอยู่รอบๆ ซึ่งดังขึ้นทันทีที่รู้ว่าหญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มคนหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มของตน ได้สร้างรอยยิ้มเจื่อนๆ ปนความสับสนมึนงงให้กับหญิงสาวธรรมดาสามัญคนอื่นๆ ซึ่งโชคไม่มีที่ต้องมาเสี่ยงทายในรอบเดียวกัน

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คงไม่มีผลถึงขนาดสร้างปมด้อยในชีวิตที่เหลือให้กับรุ่นน้องส่วนใหญ่ที่บังเอิญเกิดมาพร้อมความธรรมดาสามัญในรูปลักษณ์ภายนอก และทันทีที่พวกเขากลายเป็นรุ่นพี่ในกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ปีถัดมา บรรยากาศการแบ่งกลุ่มก็จะยังคงดำเนินไปเหมือนกับทุกๆ ปี

'กลุ่ม' ที่ผมกล่าวถึงมีอายุราว 20 ปี มันเกิดขึ้นภายหลังการก่อเกิดของคณะที่ผมเรียนเกือบ 40 ปี สาเหตุที่ต้องตั้ง 'กลุ่ม' ขึ้นมานัยว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือรุ่นน้องในการเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตในมหาวิทยาลัย รุ่นน้องแต่ละคนจะมีเพื่อนใหม่ทันทีหลังจากได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่างๆ คือเพื่อนร่วมกลุ่มทั้งหญิงและชายราวสิบกว่าคน และตลอดระยะเวลาที่พวกเขายังเรียนอยู่ที่คณะนี้ พวกเขาก็จะมีโอกาสได้สัมผัสกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในนามของ 'กลุ่ม' ไม่มากก็น้อยตามความสนใจของแต่ละคน

การสังกัด 'กลุ่ม' ไม่ใช่สิ่งที่เป็นทางการ คือไม่มีกฎข้อบังคับใดๆ มากำหนดสถานะของตัวเราและของ 'กลุ่ม' 'กลุ่ม' อนุญาตให้เราดำเนินชีวิตได้เป็นปกติตามความต้องการของแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมร่วมกับ 'กลุ่ม' หรือกระทั่งสามารถแยกตัวออกจาก 'กลุ่ม' ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าจะทำความไม่พอใจให้กับผู้ใด หากเรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ 'กลุ่ม' เหล่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหากเรายอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 'กลุ่ม' ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประเพณีที่ทุกคนจำต้องยึดถือและปฏิบัติตาม

ก่อนที่จะเริ่มต้นการเรียนในชั้นปีที่ 2 เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงาน 'รับน้องกลุ่ม' ในขณะที่รุ่นพี่ปี 3 และปี 4 ก็มีหน้าที่รับฟังการบรรยายสรุปรูปแบบของงานคร่าวๆ จากน้องปี 2 พร้อมกับแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้น้องปี 2 นำไปปรับปรุงจนกว่ารุ่นพี่จะพอใจ ขณะที่เรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดซุ้มแสดงความยินดีกับรุ่นพี่ร่วมกลุ่มที่จบการศึกษาในวันพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมกับจัดงานอำลารุ่นพี่ปี 4 ที่กำลังจะจบการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว เรายังอาจต้องจัดงานเลี้ยงขอบคุณรุ่นน้องร่วมกลุ่มที่อุตส่าห์จัดงานให้กับเรา ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกิจกรรมปลีกย่อยอื่นๆ ที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย (โดยเงินที่ใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากกำไรที่ได้จากการขายสินค้าจำพวกสมุด กางเกงเล เสื้อยืด หรือสินค้าอื่นๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มลงทุนและหาช่องทางการขายกันเอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินส่วนตัวที่บางกลุ่มอาจเรียกเก็บจากสมาชิกเป็นครั้งๆ หรือบางกลุ่มอาจเรียกเก็บเป็นรายเดือน ซึ่งในแต่ละรุ่นแต่ละกลุ่มจะมีคนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการเงินของกลุ่ม)

มีหลายคนที่สงสัยในการดำรงอยู่ของ 'กลุ่ม' และบางคนก็เลือกที่จะปฏิเสธการดำรงอยู่ของมันโดยเลือกที่จะมีชีวิตในวิถีทางของตัวเอง

บางครั้งผมก็คิดไปเรื่อยเปื่อยว่า 'กลุ่ม' ในสังคมคนหนุ่มสาวน่าจะสะท้อนบางสิ่งบางอย่างในสังคมชนชั้นกลางไทยได้ อยู่ๆ เราก็คิดระบบ 'กลุ่ม' ขึ้นมาในช่วงที่ประเทศกำลังมุ่งหวังตั้งใจในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยประกาศว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือรุ่นน้อง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ รุ่นพี่เกือบ 40 รุ่นก็ผ่านชีวิตช่วงนี้มาได้โดยไม่จำเป็นต้องมี 'กลุ่ม' มารองรับ หรือแท้จริงแล้ว 'กลุ่ม' ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรับใช้เป้าหมายอย่างอื่นอันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อการมองโลกมองชีวิตของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หรือมันอาจเป็นเพียงยาสมานแผลชั่วคราวของความอ้างว้างว่างเปล่าที่พวกเรากำลังพบเผชิญ

เพราะสุดท้ายแล้ว กิจกรรมในนามของ 'กลุ่ม' รวมทั้งกิจกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยไทยปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ลงรากปักฐานด้วย 'เงิน' เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในเรื่องความบันเทิงเริงรมย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะฉาบหน้าทาแป้งไว้สวยงามเพียงใด กระทั่งงานยิ่งใหญ่ระดับชาติอย่างการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ก็กลายเป็นเวทีปาหี่เสนอภาพ 'สถาบันนิยม' จอมปลอม และกลายเป็นเวทีชุบตัวของชายหนุ่มหญิงสาว มากกว่าที่จะให้อรรถรสและอารมณ์ร่วมในการแข่งขันกีฬา

ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้เขียนอะไรถึงร้านหนังสือใต้ดิน ในวาระที่ร้านต้องปิดตัวเองลง มันอาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ผมรู้สึกว่า 'กลุ่ม' น่าจะมีบางอย่างเกี่ยวโยงกับ 'ชุมชนวรรณกรรมและสื่อทางเลือก' ที่ร้านใช้อธิบายตัวเอง ในขณะที่ 'กลุ่ม' ของคนหนุ่มสาวกลายเป็นสถาบันหลักที่ได้สร้างระเบียบแบบแผนขึ้นมารองรับการดำรงอยู่ของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ วาทกรรมเรื่องการท่องเที่ยว รายการคุยข่าว สิ่งพิมพ์บันเทิง รายการเรียลลิตี้ ฯลฯ แต่สำหรับ 'ชุมชนวรรณกรรมและสื่อทางเลือก' รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการชีวิตตัวเองในทุกๆ ด้านโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรัฐบาลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รายการสารคดีดีๆ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น (ที่การท่องเที่ยวฯไม่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยโปรโมต) อีกทั้งการดำรงอยู่ของคนอีกมากมายที่อยู่นอกสังกัด 'กลุ่ม' ที่ผู้มีอำนาจก่อตั้งขึ้น

สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการฝืนต้านเพื่อการดำรงอยู่

และคงมีไม่น้อยที่ฝืนยืนอยู่ไม่ไหวเช่นเดียวกับร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้

(เรียบเรียงและปรับปรุงจากบทความที่เขียนเป็นที่ระลึกสำหรับร้านหน้งสือใต้ดิน)

ตีพิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548