Thursday, December 29, 2005

แนะนำหนังสือ "เช เกวารา กับความตาย"

ธเนศ วงศ์ยานนาวา เขียน


พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ creambooks ตุลาคม 2547

“ถ้าจะว่าไปแล้ว ในโลกนี้อาจจะมีมนุษย์เพียงไม่กี่คน ที่จะคิดในแบบที่มีทางเลือกแค่สองทาง และที่ถือว่าหนึ่งในสองทางเลือกนั้นคือความตาย ก็ยิ่งน้อยลงอีก และถ้าทุกคนสามารถทำได้แบบเช ความเป็นเชที่ได้รับการยกย่อง ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาดาษดื่น และก็จะหมดความหมายไปในที่สุด” (หน้า 124)

เวลา 13.10 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม 1967 กระสุน 9 นัดของปืนกึ่งอัตโนมัติพุ่งแหวกผ่านม่านอากาศอันบางเบาของหมู่บ้านลา ฮิเกรา ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงในโบลิเวียเข้าปะทะร่างของผู้นำกองกำลังปฏิวัติโบลิเวียวัย 39 ปี กระสุนเจาะผ่านผิวเนื้อที่แขนและขา ทำให้เขาม้วนตัวลงไปที่พื้นแล้วกัดข้อมือตัวเองเพื่อไม่ให้มีเสียงร้องเล็ดลอดออกมา ก่อนที่กระสุนนัดที่เหลือจะถูกกระหน่ำยิงไปที่บริเวณลำตัว เป็นการปิดฉากชีวิตของชายหนุ่มผู้หนึ่งพร้อม ๆ กับเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานนักปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ที่ทั่วทั้งโลกไม่มีวันลืมเลือน

เออร์เนสโต เกวารา เดอ ลา เซอร์นา (Ernesto Guevara de la Serna) คือ “มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในยุคของเรา” ตามทัศนะของฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักคิดคนสำคัญชาวฝรั่งเศส และแน่นอนว่า “ความสมบูรณ์แบบ” ดังกล่าวย่อมจะคงอยู่ไปตลอดกาล ตราบใดที่เรื่องราวชีวิตของเขามีพื้นที่เพียงในความทรงจำของผู้คนและบนหน้าบันทึกของประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ที่เขายึดถือกลายเป็นอุดมคติที่มนุษย์ยุคปัจจุบันจะบรรลุถึงได้ ก็เพียงในความใฝ่ฝัน

“อุดมการณ์” คงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ในทุกยุคสมัย เออร์เนสโต เกวาราเลือกเดินบนหนทางการเป็นนักปฏิวัติด้วยความฝันที่จะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษยชาติร่วมเผ่าพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่นักปฏิวัติทุกคนต่างรู้ดีว่าหากหันกลับไปมองด้านหลัง นอกจากจะเห็นแววตาทุกข์ระทมของลูกเมียหรือญาติพี่น้องแล้ว “ความตาย” ก็คล้ายกลายเป็นเงาที่เดินตามพวกเขาอยู่ไม่ห่าง

ในยุคสมัยที่อุดมการณ์คือการไม่มีอุดมการณ์ หรืออุดมการณ์มีคุณค่าความหมายเพียงลมที่พ่นออกจากปากของนักการเมือง รูปสัญลักษณ์ของเช (ชื่อที่เราใช้เรียกเขาทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้นับญาติเป็นเพื่อนกับเรา), จิตร ภูมิศักดิ์,โฮจิมินห์ หรือเหมา เจ๋อ ตง กลายเป็นสินค้าที่ดึงดูดใจผู้คนหลากหลาย ถึงแม้สิ่งเหล่านี้อาจเป็นได้เพียงรูปสัญลักษณ์ที่ปราศจากคุณค่าความหมายของอุดมการณ์ที่เขาเหล่านั้นยึดถือ หรือกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกให้ความหมายใหม่เพื่อเป็นทาสรับใช้อุดมการณ์ที่พวกเขายอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อต้านมัน

ดวงดาวห้าแฉกบนหมวกเบเรต์ของเชดวงนั้น ถึงมันจะส่งประกายเจิดจรัสเพียงใด บางทีมันก็ไม่มีความหมายใดมากไปกว่านั้น

หากว่าเบื้องหลังรูปสัญลักษณ์เหล่านั้นจะมีอะไรหลบซ่อนอยู่บ้าง ก็อาจเป็นเพียงเสียงสะท้อนในหัวใจว่า “เราคงไม่มีวันทำได้แบบพวกเขา” หรือ “เราคงเลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่พวกเขาทำ”

กระทั่งเบื้องหลังของภาพถ่าย “ยอดนิยม” ของเชที่อัลแบร์โต กอร์ดา (Alberto Korda) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1960 ครั้งที่ผู้นำการปฏิวัติคิวบามาร่วมพิธีศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การระเบิดเรือฝรั่งเศสที่เพิ่งขนอาวุธจากเบลเยียมเข้าเทียบท่ากรุงฮาบานา และเป็นการระเบิดต่อหน้าต่อตาผู้นำการปฏิวัติที่ยืนห่างจากเรือเพียงแค่ประมาณหนึ่งร้อยเมตร ภาพถ่ายที่คุ้นตามากที่สุดภาพหนึ่งตาของผู้คนทั่วโลกภาพนี้ สาวกของเชซักกี่คนที่จะรู้ว่าเบื้องหลังของมันคือการสูญเสียชีวิตของผู้คน และฮีโร่ของพวกเขากำลังอยู่ในห้วงความรู้สึกที่ไม่ต้องการถ้อยคำบรรยาย

ในวันนั้น กอร์ดาในวัยหนุ่มพยายามกวาดสายตาผ่านเลนส์เพื่อเก็บภาพบรรยากาศของผู้คนในงานโดยเฉพาะฌอง ปอล ซาร์ตร์และซีโมน เดอ โบวัวร์ที่มาร่วมงานอยู่ด้วย แต่สายตาของเขาก็สะดุดกับใบหน้าของเชที่กำลังมองไปยังผู้คนที่มาฟังคำปราศรัยอยู่เบื้องล่าง เชทอดสายตานิ่งอยู่อย่างนั้นประมาณยี่สิบวินาที สายตาที่ให้ความรู้สึกประหนึ่งว่าจะแทรกเข้าไปในความรันทดหดหู่และเจ็บแค้นของฝูงชน

ปัจจุบันภาพภาพนี้กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงและแพร่หลายมากที่สุด มันปรากฏอยู่บนกำแพง ปกหนังสือ เสื้อยืด ของที่ระลึก ไม่เว้นแม้กระทั่งสินค้าจากโลกทุนนิยม มันกลายเป็น “ภาพแห่งยุคสมัย ภาพของการปฏิวัติ ภาพของการต่อต้าน ภาพแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ ที่มีความหมายต่อผู้คนจำนวนมาก ภาพที่เป็นได้ทั้งสัญลักษณ์ของสังคมนิยมและภาพโปสเตอร์ทั่ว ๆ ไปของโลกทุนนิยม” (หน้า 171)

ภาพที่เป็นทั้งสิ่งยึดเหนี่ยวของผู้ต่อสู้แสวงหา และเป็นเครื่องมือทำกำไรของพ่อค้านายทุน

แววตาเคร่งขรึมแต่แฝงไว้ด้วยความหดหู่รันทดของเชในภาพ ทอดยาวออกไปเบื้องหน้า สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเขาในขณะนั้นเราคงทำได้เพียงการคาดเดา ใครบางคนอาจอยากจะตะโกนถามเชบนฟากฟ้าว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นโลกเดินสวนทางกับความต้องการของเขาแทบจะทุกประการ หรือโลกสังคมนิยมที่เขาปรารถนานั้นดูเหมือนจะดับสลายไปแล้วพร้อมกับการจากไปของเขา เขาจะหัวเราะหรือร้องไห้ดีเมื่อสิ่งที่เขาลงทุนลงแรงมาทั้งชีวิตกลายเป็นเพียงแผ่นภาพโปสเตอร์และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่มีนายทุนนั่งยิ้มรอรับกำไรอยู่เบื้องหลัง

บางทีคำตอบอาจอยู่ในแววตาคู่นั้น

พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548

1 Comments:

At 1/31/2006 12:44 PM, Anonymous Anonymous said...

อ่าน"จาก เช ถึง ซุปเปอร์ฮีโร่: กรอบร่างความคิดเกี่ยวกับยอดคน :เวอร์ชั่นทดลอง "
ใน http://www.fxxknoevil.blogspot.com
เข้ากันได้ดี

 

Post a Comment

<< Home