Saturday, December 17, 2005

สรุปสาระสำคัญของ "เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์" หนังสือรวมบทความเล่มล่าสุดของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

“จราจลทางปัญญา” และ “เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” เป็นหนังสือรวมบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์ 2 เล่มหลังสุดของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ก่อนหน้านี้คือ การผ่านพ้นของยุคสมัย, ผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์, โลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโลก และถ้าหากไม่มีวันนั้น) หลังจากยุติบทบาทในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อปลายปี 2539 เสกสรรค์ก็กลับมารับหน้าที่คอลัมนิสต์อีกครั้งในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ เมื่อประมาณกลางปี 2543 “จลาจลทางปัญญา” นั้นครอบคลุมห้วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงต้นเดือนตุลาคม 2545 ในขณะที่ “เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2545 ก่อนจะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2546

กล่าวสำหรับ เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์ ผลงานชิ้นล่าสุด บทความส่วนใหญ่นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ประจำวันเฉพาะหน้าที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่แปลก หากคนส่วนใหญ่จะเสพมันในฐานะความเคลื่อนไหวของห้วงขณะหนึ่งในความเป็นไปของบ้านเมือง หรือกระทั่งบางหมู่บางพวกอาจคิดว่ามันเป็นอีกความรื่นรมย์หนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ แต่จะมีซักกี่คนที่จะวิเคราะห์พิจารณาลึกลงไปกว่าเนื้อความที่ปรากฏอยู่ เพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเคลื่อนไหวดังกล่าว

ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต เสกสรรค์กลั่นกรองความเป็นไปในบ้านเมืองออกมาเป็นทัศนะที่เรียบง่ายคมคาย และหยั่งลึกถึงแก่นของปัญหา แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ร้อยกระหวัดกับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกจนนำมาสู่ปัญหาที่สังคมไทยกำลังพบเผชิญ

หากคุณจำเป็นต้องมีผู้มารายงานข่าวให้ฟังทุกเช้า อาวุธทางปัญญาชิ้นสำคัญชิ้นนี้จะทำให้สิ่งที่คุณรับรู้ไม่เป็นเพียงข้อความบนหน้ากระดาษอีกต่อไป

เนื้อหาของบทความใน เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์ อาจแบ่งได้เป็น 4 ปัญหาใหญ่ ตามที่เสกสรรค์ได้จัดหมวดหมู่ไว้คือ

1. ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ (Nation State) ในประเทศไทย

2. ปัญหาของการเมืองภาคประชาชน

3. ปัญหาเกี่ยวกับลูกหลานคนชั้นกลาง

4. ปัญหาความเสื่อมทรุดทางด้านจิตวิญญาณของคนไทยทั่วไป

โดยปัญหาทั้งหมดนี้มี ‘ทุนนิยมโลกาภิวัตน์’ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

สำหรับผู้ที่ติดตามผลงานของเสกสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง คงสามารถทำความเข้าใจถึงแนวคิดหรือวิธีการในการทำความเข้าใจโลกและชีวิตของเขาได้เป็นอย่างดี ด้วยกรอบคิดมุมมองที่ขยายกว้างในระดับองค์รวม เขาทำให้เราพบว่าในเหตุการณ์ปกติสามัญนั้นปิดซ่อนความหมายไว้อย่างมีนัยสำคัญ และเหตุการณ์ในระดับโลกไล่เรียงไปจนถึงเวิ้งฟ้าจักรวาลก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินกว่าหัวใจคน


ปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ (Nation State) ในประเทศไทย

นับจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ดูเหมือนปัญหาเรื่องอธิปไตยของชาติจะเป็นเรื่องที่สังคมถกเถียงกันมากพอสมควร เนื่องจากรัฐบาลไทย เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยการเดินตามแนวทางของ IMF โดยเฉพาะกฎหมาย 11 ฉบับที่ IMF กดดันให้รัฐบาลไทยเขียนขึ้นมา ซึ่งไม่ว่าจะตีความว่าเป็นการ ‘ขายชาติ’ หรือไม่ก็ตาม “เนื้อหาหลักของมันก็คือต้องการแปรประเทศไทยให้กลายเป็นลานแข่งขันเสรีของทุนจากไหนก็ได้ โดยรัฐบาลไทยจะไม่อยู่ในฐานะปกป้องคุ้มครองทั้งผู้ผลิตหรือผู้บริโภคในประเทศไทยได้เลย” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.33) และการออกมาปฏิเสธกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติและปฏิเสธที่จะยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันก็สะท้อนถึงวิธีคิดและแนวทางของรัฐไทยในอนาคตได้ชัดเจน

อันที่จริงการรวมตัวกันเป็น ‘รัฐชาติ’ และการสถาปนา ‘ระบบทุนนิยมแห่งชาติ’ ตามแบบตะวันตก ก็คือปฏิกิริยาตอบสนองของประชาชนในโลกที่ถูกรุกรานจากกระแสล่าอาณานิคมในห้วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 การพัฒนาทุนนิยม และการสะสมทุนในกรอบของรัฐชาติดำเนินมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งสิ้นสุดยุคสงครามเย็น ตลาดโลกจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และบรรษัทข้ามชาติก็เริ่มขยายตัวเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเล็งเห็นช่องทางในการทำกำไร โดยพยายามทำลายเครื่องกีดขวางที่ถูกกำหนดขึ้นในยุคทุนนิยมแห่งชาติ

เสกสรรค์เห็นว่า รัฐไทยในปัจจุบันกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หนึ่งคือการใช้ตรรกะเหตุผลแห่งทุนมาแทนที่เหตุผลแห่งชาติจนเกือบจะสมบูรณ์ สองคือการที่รัฐไทยไม่เพียงมีลูกค้าทางการเมืองภายในประเทศเท่านั้น หากยังต้องเอา ‘ผลประโยชน์’ ของลูกค้าต่างประเทศมาพิจารณาด้วยเสมอ และดูเหมือนบัดนี้รัฐไทยจะเกรงใจลูกค้าภายนอกมากกว่าลูกค้าภายใน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ อุดมคติและอุดมการณ์เรื่องชาติของคนไทยก็กำลังเสื่อมทรุดลงเช่นกัน โดยมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในสังคมเป็นสาเหตุหลัก คนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนแรก ๆ ที่ถอนตัวออกจากสังกัดชาติ เนื่องจากพวกเขาคือผู้เปิดประตูรับการเข้ามาของทุนข้ามชาติตั้งแต่แรกและนำประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจฟองสบู่ “ในเมื่อผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาที่ดำเนินมาในนามชาติ ไม่รู้สึกผูกพันกับชาติเสียแล้ว มันก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกคนที่เหลือให้มายอมรับการเสียสละหรือพันธกิจต่าง ๆ เพื่อความเจริญเติบโตของชาติอีกต่อไป” (ประเทศไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย : บทสำรวจปัญหาและทางออก, ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2546, น.30)


ปัญหาของการเมืองภาคประชาชน

‘การเมืองภาคประชาชน’ คงจะเป็นสิ่งที่เสกสรรค์พูดถึงมาตลอดในช่วงหลายปีหลัง ในฐานะทางออกของระบอบประชาธิปไตยไทยและการขืนต้านการรุกคืบของกระแสทุนโลกาภิวัตน์ เขาเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ใช้อยู่ในเวลานี้นั้นยัง ‘ไม่พอเพียง’ สำหรับการดูแลสังคมโดยรวม เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันไม่อาจพึ่งกระบวนการทางการเมืองในสภาต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว หากจำเป็นต้องขยายกรอบประชาธิปไตยให้กว้างขึ้น เร่งขยายสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน เปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่ามีโอกาสได้ใช้อำนาจบางด้านโดยไม่ต้องต้องผ่านตัวแทน และกระตุ้นให้ผู้กุมอำนาจเลิกใช้ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นฐานความชอบธรรมในการตัดสินใจ หากต้องคำนึงถึงการสร้างฉันทามติ (Consensus) เพื่อเป็นความชอบธรรมในกระบวนการใช้อำนาจในเรื่องใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนบางหมู่เหล่า

เสกสรรค์ใช้พื้นที่ค่อนข้างมากในการอธิบายถึงความจำเป็นที่สังคมไทยและผู้กุมอำนาจรัฐจะต้องทำความเข้าใจกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาประธิปไตยของประเทศ ที่ยิ่งพัฒนา ก็ยิ่งดูเหมือนจะซ้ำเติมปัญหาให้หนักหน่วงซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

“...ความเจริญทางการเมืองไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการกระจายโอกาสในการมีส่วนร่วมที่จะกำหนดชะตากรรมของประเทศ กำหนดชะตากรรมของชุมชนที่ตัวเองสังกัด ตลอดจนกำหนดชะตากรรมของตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคล ทั้งนี้โดยมีรัฐบาลเป็นผู้จัดสร้างบรรยากาศและคอยประสานผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.62)

“กระจายอำนาจไม่ได้หมายความแค่การตั้งสถาบันผู้แทนขึ้นในท้องถิ่น หากหมายถึงการขยายสิทธิของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากร ขยายโอกาสที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย ซึ่งส่งผลกระทบถึงพวกเขา...” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.255)


ปัญหาเกี่ยวกับลูกหลานคนชั้นกลาง

ในฐานะของอาจารย์ที่คลุกคลีอยู่กับนักศึกษามาเป็นเวลานานนับสิบปี และในฐานะของพ่อที่มีลูกชายอยู่ในช่วงวัยรุ่น 2 คน ทำให้เสกสรรค์มองเห็นถึงปัญหาที่คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันกำลังพบเผชิญ เขาพยายามที่จะอธิบาย ทำความเข้าใจในสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งแสวงหาทางออกและกระตุ้นให้สังคมไทยเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

เสกสรรค์ย้อนอธิบายให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อลักษณะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ เขาชี้ว่าการต่อสู้ของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แต่ยังเป็นการต่อสู้กับการผูกขาดทางเศรษฐกิจของคนไม่กี่ตระกูลและต่อสู้กับการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยรัฐ ซึ่งปิดโอกาสการแสวงหาอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล ผลที่ได้ก็คือระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น นอกจากนี้ผู้คนยังมีโอกาสค้นหาอัตลักษณ์ของตนเองได้ตามความพอใจ

แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยมากขึ้น กระแสทุนโลกาภิวัตน์ซึ่งกลายเป็นพลังผลักดันให้ยกเลิกกฎเกณฑ์ระดับชาติที่ขัดขวางการเข้ามาสะสมกำไรของทุนสากล ผลักดันให้ทุกประเทศแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน และใช้กลไกตลาดตัดสินคุณค่าทั้งหมดของชีวิต เช่นนี้แล้วคนรุ่นใหม่ในยุคนี้จึงเติบโตขึ้นมาบนรากฐานของเศรษฐกิจและการเมืองที่ถือทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว (privatization) ไม่มีกฎเกณฑ์การใช้ชีวิต (deregulation) ส่วนในรูปการณ์จิตสำนึกก็ยังถอนตัวออกจากสังกัดส่วนรวมที่เรียกกันว่าชาติ และรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม (liberalization)

“ถามว่าเช่นนั้นแล้ว พวกเขาเหลืออะไรบ้างอันเป็นพื้นที่แสดงออกของตัวตน ตอบสั้น ๆ ก็คือ เหลือแค่เรือนร่างสังขารที่ปรุงแต่งกันไปอย่างไม่มีขอบเขตทิศทาง... ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภค กับสิ่งของที่ปรากฏอยู่ในตลาดสินค้าและบริการ” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.244)

เสกสรรค์เน้นว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาทั้งหมด ส่งผลสำคัญต่อความเสื่อมทรุดทางจิตวิญญาณของคนไทย โดยปรากฏชัดเจนในหมู่ลูกหลานคนชั้นกลาง ซึ่งสะท้อนว่าการได้เปรียบในเชิงโครงสร้างไม่ได้ช่วยให้มนุษย์วิวัฒน์ไปสู่ขั้นตอนที่สูงขึ้นในด้านจิตใจและจิตวิญญาณเสมอไป เขาเชื่อว่า การเสื่อมสลายของจินตภาพในเรื่อง ‘ส่วนรวม’ ของสังคม ซึ่งเคยประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนรุ่นเก่า ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันเลิกยึดถือในเรื่องผิดถูก และการมีชีวิตรวมหมู่ไม่ว่าจะในสังกัดไหน ๆ รวมทั้งจงใจเพิกเฉยต่อสำนึกทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่เห็นทั้งคุณค่าและความสำคัญ

การขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนหนุ่มสาว คงเป็นสิ่งที่ค้างคาใจเสกสรรค์มากที่สุดจนนำมาสู่การตั้งชื่อของหนังสือรวมบทความเล่มนี้ เขาเห็นว่าการขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์จะนำไปสู่พฤติกรรมของผู้คนที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น เนื่องจากไม่มีสำนึกของการเป็นพวกเดียวกันหลงเหลืออยู่ อีกทั้งยังไม่มีใครถือว่าตัวเองมีหน้าที่สืบทอดรักษาและพัฒนาสิ่งดี ๆ ที่มีมา

“สุดท้าย การไม่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์ทำให้เราไม่มีจุดหมายทางยุทธศาสตร์สำหรับขับเคลื่อนสังคมที่ตนเองสังกัด หากจะมีก็แค่กลยุทธ์ในการค้นหาความอยู่รอดไปวัน ๆ” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.57)


ปัญหาความเสื่อมทรุดทางด้านจิตวิญญาณของคนไทยทั่วไป

เช่นเดียวกับทั้ง 3 ปัญหาข้างต้น กระแสทุนโลกาภิวัตน์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตปัญหาให้กับสังคมไทย

รัฐไทยที่เริ่มต้นการพัฒนาประเทศในแนวทางทุนนิยมแบบตะวันตกในปี 2504 ยังคงยึดถือแนวทางดังกล่าวจวบจนกระทั่งปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่จะทำตัวสนิทแนบแน่นกับกระแสทุนนิยมโลกมากขึ้น ตลอดระยะเวลา 40 ปีของการพัฒนา ผลสรุปที่ได้ในตอนนี้ก็คือ เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างสุดขั้วในสังคมไทย สังคมไทยถูกแบ่งออกเป็นสังคมที่ได้เปรียบและเสียเปรียบจากการพัฒนา และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งถ่างห่างออกไปมากขึ้นทุกวัน

แต่สรุปรวมความแล้ว ทั้งคนรวยและคนจนต่างก็ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยมเหมือน ๆ กัน การพัฒนาพลังการผลิตของโลกทุนนิยมนั้น จำเป็นต้องอาศัยลัทธิบริโภคนิยมเป็นกลไกในการเปิดพื้นที่ให้การผลิตขยายตัว และเมื่อการผลิตดำเนินมาสู่ภาวะล้นเกินก็ย่อมเรียกร้องให้เกิดการบริโภคที่ล้นเกิน เพื่อรักษาความอยู่รอดของระบบ ดังนั้น กระบวนการกระตุ้นการบริโภคจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ระบบยังคงดำเนินต่อไป

“ภายใต้ลัทธิบริโภคนิยมดังกล่าว ผู้คนจะถูกกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอยในเรื่องเครื่องแต่งกายมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม เสียเงินไปกับสิ่งประเทืองลิ้นมากกว่าอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เสียค่าโทรศัพท์มากมายเพื่อจะพูดถ้อยคำที่ว่างเปล่า ยังมิพักต้องเอ่ยถึงการสะสมของใช้ที่ได้มาจากการลดแลกแจกแถม มากกว่าเจตนาใช้สอยมันอย่างแท้จริง ฯลฯ” (เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์, น.37)

เสกสรรค์เห็นว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมากระตุ้นให้คนเรายึดติดกับเปลือกนอกของชีวิตมากเกินไป เราแยกการศึกษาออกจากศีลธรรม และตัดขาดมิติทางด้านจิตวิญญาณออกจากวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง


“เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” อาจถือได้ว่าเป็นการทำให้แนวคิดของเสกสรรค์ที่เขาพยายามนำเสนอในระยะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “วิหารที่ว่างเปล่า” เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากยิ่งขึ้น ทุก ๆ ปัญหา ทุก ๆ เรื่องราวที่เขากล่าวถึง ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากหลักการพื้นฐานเดียวกัน นั่นคือความคิดความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง หากยังถือสังกัดอยู่กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นับตั้งแต่ครอบครัวไล่เรียงไปถึงจักรวาลเอกภพ และการดำรงอยู่ของมนุษย์ไม่อาจแยกขาดจากมิติที่อยู่ภายใน “...จิตวิญญาณเป็นสิ่งสำคัญของการเกิดเป็นคน และการเติบโตทางจิตวิญญาณเป็นจุดหมายอย่างหนึ่ง กระทั่งอาจจะเป็นจุดหมายสำคัญที่สุดของการดำรงอยู่บนพื้นพิภพแห่งนี้

“แน่นอน ผมไม่ได้ปฏิเสธความเจริญทางวัตถุ ในกรณีที่มันช่วยแก้ปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิต และในขอบเขตที่มันเกื้อหนุนสันติสุขทางสังคม

“แต่ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การก่อเกิดของมนุษย์เรา ไม่ว่าในฐานะของปัจเจกบุคคลหรือในฐานะของมนุษยชาติ ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมร้อยกับการดำรงอยู่ของเอกภพ... และการเติบโตไปสู่ความเข้าใจในสัมพันธภาพข้อนี้ คือสันติสุขแท้จริงของการเกิดเป็นคน คือความหมายแท้จริงของการก่อเกิดและการผ่านพ้น... คือการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตเฉพาะส่วนเพื่อค้นหาส่วนทั้งหมดของตัวตน” (ตัวตนและจิตวิญญาณ, น.204-205)

พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548