Thursday, December 15, 2005

Goodbye, Lenin!: สวัสดี, โคคา โคล่า!


1

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1945 แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ แห่งสหรัฐฯ, โจเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียตและ วินสตัน เชอร์ชิล แห่งสหราชอาณาจักร ประชุมทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารเยอรมัน โดยแบ่งเยอรมันออกเป็น 3 เขตการปกครองสำหรับการยึดครองของทั้ง 3 ประเทศ มีเบอร์ลินเป็นศูนย์กลางการบริหารและกำหนดให้มีเขตการปกครองที่ 4 หากฝรั่งเศสต้องการ โดยใช้พื้นฐานจากเส้นเขตแดนที่มีอยู่ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 1937 โดยไม่รวมเขตแดนที่ฮิตเลอร์ผนวกรวมไว้ทั้งในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พื้นที่ในเขตตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต เขตตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร เขตตะวันตกเฉียงใต้เป็นเขตการปกครองของสหรัฐฯ และยอมให้รัฐบาลเฉพาะกาลของฝรั่งเศสเข้าร่วมปกครองในด้านทิศใต้ค่อนไปทางตะวันตกซึ่งติดกับฝรั่งเศส

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โลกก็เดินทางเข้าสู่สภาวะของสงครามเย็น ยุโรปถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือค่ายโลกเสรีกับค่ายโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเยอรมันทั้งประเทศ

ในวันที่ 21 กันยายน 1949 รัฐสภาของชาติมหาอำนาจตะวันตกยินยอมให้มีการสถาปนาเขตยึดครองทั้งหมดขึ้นเป็นประเทศโดยสมบูรณ์ เรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (The Federal Republic of German) หรือเยอรมันตะวันตก ในขณะที่สหภาพโซเวียตก็ประกาศให้เยอรมันทางภาคตะวันออกเป็นเขตการปกครองของตนและสถาปนาเยอรมันในส่วนนี้ขึ้นเป็นประเทศ เรียกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (The German Democratic Republic) หรือเยอรมันตะวันออก ในวันที่ 11 ตุลาคม 1949 โดยใช้ระบอบสังคมนิยมตามอย่างสหภาพโซเวียตในการปกครอง ประชาชนสี่ล้านคนถูกกีดกันการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวด วิถีชีวิตในทุกๆ ด้านถูกควบคุมโดยอำนาจเผด็จการ

สำหรับเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกแบ่งแยกและมีสถานะพิเศษเป็นศูนย์รวมของกองบัญชาการผสมของทั้ง 4 ชาติมหาอำนาจ แต่ปัญหาก็คือ เยอรมันตะวันออกต้องการมีสิทธิปกครองเบอร์ลินแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยเห็นว่าพื้นที่ของเบอร์ลินอยู่ในเขตตะวันออก ขณะที่ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกเองก็ไม่ต้องการสูญเสียเขตปกครองของตนในเบอร์ลินไป ในเดือนมิถุนายน 1948 สหภาพโซเวียตก็ประกาศนโยบายปิดกั้นเบอร์ลิน (The Berlin Blockade) ห้ามการคมนาคมทุกชนิดจากฝั่งตะวันตกผ่านเข้าสู่เบอร์ลิน แต่ฝ่ายตะวันตกก็แก้ปัญหาโดยการใช้เครื่องบินลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคไปส่งให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกตลอดระยะเวลา 11 เดือน ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะยุติการปิดกั้นเพราะเสียเปรียบทั้งด้านกำลังอาวุธและการขาดพันธมิตร

ในเดือนสิงหาคม 1964 เมื่อชาวเยอรมันตะวันออกเริ่มหลบหนีจากสภาพชีวิตที่แร้นแค้นไปยังเยอรมันและเบอร์ลินตะวันตกมากขึ้น รัฐบาลเยอรมันตะวันออกจึงสร้างกำแพงเบอร์ลินกั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันตกและตะวันออก ตัดขาดความสัมพันธ์ในทุกๆด้านของประชาชนทั้งสองฝั่งออกจากกัน ก่อนที่มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสภาวะสงครามเย็นในเวลาต่อมา


2

เบอร์ลินตะวันออกในฤดูร้อนปี 1978 อเล็กซ์ เคอร์เนอร์ วัย 11 ปีกับ อาริแอน พี่สาว กำลังนั่งชมการถ่ายทอดการปฏิบัติภารกิจในยานอวกาศโซยูส 31 ของซิกมันด์ จาห์น (สเตฟาน วาลซ์) ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน (ตะวันออก) คนแรกที่ได้ขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ เขากลายเป็นฮีโร่ของเด็กๆ และเป็นผู้นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวเยอรมันตะวันออกทุกคน

ในขณะเดียวกัน คริสติอาเน่ (คาทริน ซาซ) แม่ของเด็กทั้งสองก็กำลังคุยเรื่องสามีของเธออยู่กับชายแปลกหน้า เธอร้องไห้และบอกกับลูกๆ ว่าพ่อของพวกเขาหนีไปอยู่ในเยอรมันตะวันตกแล้ว หลังจากนั้นเธอก็ล้มป่วยและอยู่ในอาการหดหู่ ซึมเศร้า ไม่ยอมพูดจากับใครจนต้องถูกส่งตัวเข้าไปรับการบำบัดทางจิตเป็นเวลา 8 เดือนเต็ม

หลังจากที่อาการของเธอดีขึ้น เธอก็ตัดสินใจที่จะอุทิศแรงกายแรงใจให้กับการทำงานเพื่อพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งกลายเป็นที่พึ่งเดียวและที่พึ่งสุดท้ายสำหรับเธอ จากการทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อพรรค คริสติอาเน่ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติในฐานะที่เป็นแกนนำความคิดทางสังคมนิยมชั้นสูง และกลายเป็นที่พึ่งของเพื่อนบ้านและประชาชนในการเรียกร้องสิทธิของพลเมือง

ฤดูใบไม้ร่วงปี 1989 อเล็กซ์ (เดเนียล บรูห์ล) ทำงานอยู่ในร้านซ่อมโทรทัศน์ เขาไม่ได้เลื่อมใสในระบอบสังคมนิยมเหมือนกับแม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใส่ใจกับประชาธิปไตยในฝั่งตะวันตกมากนัก เขาดำรงชีวิตในฐานะหนุ่มโสดการศึกษาระดับปานกลาง ที่มีหน้าที่เพียงทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว อเล็กซ์เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาปัญญาชนและคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะของคนรุ่นเดียวกันและในสภาวะที่บ้านเมืองยังไม่มีสถานบันเทิงให้คนหนุ่มอย่างเขาได้ปลดปล่อย

เขาถูกจับในระหว่างที่ตำรวจเข้ามาสลายการเดินขบวน พร้อมๆ กับที่แม่ของเขามาเห็นเข้าพอดี

เธอเป็นลมล้มพับไปต่อหน้าต่อตาลูกชาย และอยู่ในอาการโคม่าจากภาวะหัวใจวาย จนต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาอีก 8 เดือน!


3

ถึงแม้เยอรมันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ แต่ความรู้สึกของความเป็นชาติเยอรมันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้ ความพยายามในการรวมประเทศโดยสันติวิธีจึงยังคงมีอยู่เสมอมา นับตั้งแต่ คอนราด อเดนาวร์ ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตกในปี 1949

ความเป็นไปได้ในการรวมประเทศเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นในทศวรรษ 1980 เมื่อบรรยากาศทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียตเริ่มผ่อนคลายลง และประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจแทนการแข่งขันด้านอุดมการณ์และการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมภายในสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกัน กอร์บาชอฟก็มีนโยบายเปิดกว้าง ยินยอมให้สมาชิกในยุโรปตะวันออกมีเสรีภาพในการเลือกและตัดสินในด้วยตนเองในการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและเศรษฐกิจของตน โดยสหภาพโซเวียตจะไม่ใช้กำลังเข้าแทรกแซง

การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเริ่มมีขึ้นในปลายปี 1989 จนในที่สุดกอร์บาชอฟก็ประกาศให้ประเทศในยุโรปตะวันออกมีสิทธิในการตัดสินใจที่จะดำเนินกิจการภายในด้วยตนเอง (self-determination) มีเสรีภาพในการเลือก (freedom of choice) ระบอบการปกครองและระบอบเศรษฐกิจของตน

ในเดือนตุลาคมปี 1989 ชาวเยอรมันตะวันออกได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสังคมนิยม (SED) เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสังคมนิยมเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้มีการรวมเยอรมันทั้งสองประเทศเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน การเรียกร้องดังกล่าวสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อรัฐบาลของ อิริค โฮเนคเกอร์ ซึ่งบริหารประเทศมานานถึง 18 ปีและมีท่าทีแข็งกร้าวต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย อีกทั้งยังต่อต้านการรวมประเทศ แต่ในที่สุด โฮเนคเกอร์ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งในกลางเดือนตุลาคม ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่ของเอกอน เครนซ์ (Econ Krenz) จะเปิดกำแพงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989


4

ในขณะที่คริสติอาเน่นอนไม่ได้สติอยู่ในโรงพยาบาล โลกรอบตัวเธอก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปจนสุดที่เธอจะจินตนาการได้ พรรคคอมมิวนิสต์ที่เธอเทิดทูนถึงการล่มสลาย และกำแพงเบอร์ลินที่เคยเป็นปราการกั้นกระแสอันเชี่ยวกรากของลัทธิทุนนิยมก็ถูกทำลายลง ผู้คนจากฝั่งตะวันตกและตะวันออกของเบอร์ลินสามารถเดินทางติดต่อกันได้ตามปกติอีกครั้ง ขณะที่กระแสทุนนิยมจากฝั่งตะวันตกก็ไหลบ่าสู่ฝั่งตะวันออกทั้งในรูปของอาหาร เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คน

อเล็กซ์เปลี่ยนอาชีพจากช่างซ่อมโทรทัศน์ไปเป็นช่างติดตั้งจานดาวเทียม อาริแอน (มาเรีย ซิมอน) พี่สาว ก็ตัดสินใจเลิกเรียนไปทำงานอยู่ในร้านเบอร์เกอร์ คิง และมีแฟนเป็นชายหนุ่มจากฝั่งตะวันตก ขณะที่วีรบุรุษนักบินอวกาศกลับกลายไปเป็นคนขับรถแท็กซี่

แต่ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อคริสติอาเน่ฟื้นคืนสติ แต่หมอที่ทำการรักษาเตือนอเล็กซ์ว่าหากแม่ของเขาเกิดอาการช็อกและหัวใจวายอีกครั้ง คราวนี้มันจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแน่นอน อเล็กซ์ตัดสินใจนำแม่ของเขากลับมาอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ เพราะเกรงว่าหากอยู่ที่โรงพยาบาลแม่จะต้องรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงและอาจช็อกไปอีก

อเล็กซ์จัดการตกแต่งอพาร์ตเมนต์ด้วยเฟอร์นิเจอร์ย้อนยุคสมัยเมื่อครั้งพรรคคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ เปลี่ยนสีวอลเปเปอร์ ประดับห้องนอนของแม่ด้วยภาพของเช กูวารา บังคับให้พี่สาวเปลี่ยนไปสวมชุด (ที่อาริแอนบอกว่าเชย) แบบเดิมเมื่ออยู่ในห้องของแม่ หาอาหารยี่ห้อดั้งเดิมที่ผลิตจากฝั่งตะวันออกเท่านั้น (ซึ่งในซุปเปอร์มาเก็ตโละออกจากชั้นหมดแล้ว) หรือไม่ก็ไปค้นขวดหรือซองสินค้าในระบอบเก่าจากถังขยะมาล้าง แล้วเอาของใหม่ใส่แทน

อเล็กซ์พยายามรักษาบรรยากาศภายในอพาร์ตเมนต์ให้เหมือนเดิมมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปิดกั้นสัญลักษณ์แห่งทุนนิยมที่อยู่ภายนอกไม่ให้แม่ได้รับรู้ โดยเฉพาะป้ายโฆษณาทั้งหลายที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะต้องเจอ และในที่สุด อเล็กซ์ก็ได้เรียนรู้ว่าสื่อที่มีพลังมากที่สุดก็คือโทรทัศน์ที่เขาคลุกคลีมาตลอดทั้งชีวิต

เขากับเดนิสเพื่อนสนิท ช่วยกันทำข่าวทางโทรทัศน์ฉายให้แม่ดูแต่เพียงผู้เดียว เพื่ออธิบายในสิ่งที่แม่ได้เห็น เช่น เมื่อแม่ของเขาเห็นผืนผ้าโฆษณาเครื่องดื่มโคคา-โคล่าขนาดมหึมานอกหน้าต่าง วันต่อมาอเล็กซ์กับเพื่อนก็จัดการทำข่าวว่าแท้จริงแล้ว โคคา-โคล่าคิดค้นขึ้นโดยคนจากฝั่งตะวันออก และตอนนี้โลกตะวันตกได้คืนลิขสิทธิ์มาให้แล้ว หรือที่แม่เห็นคนจากฝั่งตะวันตกเข้ามาเดินอยู่เต็มถนนก็เพราะพวกเขาบอกลาระบบทุนนิยมแล้ว ขณะที่ฝั่งตะวันออกก็อ้าแขนรับพวกเขาเต็มที่!

แต่ท่ามกลางความพยายามสร้างฉากแห่งความจริงของอเล็กซ์ สิ่งหนึ่งที่เขาไม่รู้ก็คือ คริสติอาเน่เองก็มีความจริงหลบซ่อนอยู่เช่นกัน

Goodbye, Lenin! เสียดเย้ยการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอุดมการณ์ได้อย่างถึงใจ จนสามารถกวาดรายได้ถล่มทลายในเยอรมันและหลายประเทศในยุโรป หนังไม่ได้ให้เพียงอารมณ์ตลกขบขันธรรมดา แต่ยังแฝงแนวคิดที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเยอรมัน และอาจรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เคยอยู่ใต้ร่มเงาคอมมิวนิสต์


5

เมื่อถึงคราวที่เลนินจำต้องโบกมืออำลา

เราจะเลือกกล่าวต้อนรับใครดี...

จอร์จ ดับเบิลยู บุช! หรือ ทักษิณ ชินวัตร!



Genre Comedy, Drama

Category Feature Film Cinema

Year of Production 2003

Director Wolfgang Becker

Principal Cast Alexander Beyer, Daniel Bruehl, Michael Gwisdek, Chulpan Khamatova, Burghart Klaussner, Florian Lukas, Katrin Sass, Maria Simon

Length 118 min, 3,245 m

Festival Screenings Berlin 2003 (in competition), Belgrade 2003, Moscow 2003, Karlovy Vary 2003 (Horizons), Toronto 2003 (Contemporary World Cinema), Pusan 2003, Rio 2003, Jerusalem 2003, Warsaw 2003, Sao Paulo 2003, Valladolid 2003, Tokyo 2003, Havana 2003, Sundance 2004, Shanghai 2004, Osaka 2005

Awards Blue Angel Award for Best European Film Berlin 2003, 8 German Film Awards 2003, German Screenplay Award 2003, FIPRESCI Award Belgrade 2003, Premi Internazionali Flaiano for Best Foreign Language Film & Best New Talent Pescara 2003, Special Jury Prize & Youth Award Valladolid 2003, 6 European Film Awards 2003, Goya 2003 for Best Foreign Film, Best Non-American Film from the Danish Film Critics' Society 2004, César for Best European Film 2004With backing from Filmfoerderungsanstalt (FFA), BKM, Filmboard Berlin-Brandenburg, FilmFernsehFonds Bayern, Filmstiftung NRW, MEDIA Program


ข้อมูลประกอบการเขียน

นันทขว้าง สิรสุนทร, "Goodbye, Lenin! 1 ใน 10 หนังตลก(ร้าย)แห่งปี", กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 มิถุนายน 2547

ทิพย์วรรณ เปี่ยมปัญญาศิลป์, การรวมประเทศเยอรมัน, สารนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาระหว่างประเทศและการทูต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534

รุ่งมณี เมฆโสภณ, "เพื่อแม่!", ผู้จัดการรายวัน วันที่ 3 สิงหาคม 2547

ฮูแบร์ตุส ซู เลอเวนสไตน์, ประวัติศาสตร์เยอรมัน, นิธิ เอียวศรีวงศ์ แปล, สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2511