Thursday, December 15, 2005

ไตรภาคของมุสิก กับพื้นที่ลี้ลับบนหน้ากระดาษของฮารูกิ มูราคามิ

1

ขณะที่กำลังชมการแข่งขันเบสบอลระหว่าง ยาคูลต์ สวอลโลว์ กับ ฮิโรชิมา คาร์ป อยู่ในสนามจิงงุ จู่ๆ ชายหนุ่มวัย 29 ปีก็นึกอยากเขียนนวนิยายขึ้นมาอย่างกะทันหัน ปีต่อมา นวนิยายเล่มแรกของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ มันได้รับรางวัล Gunzo Shinjin Sho (Gunzo New Writer Award) และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่การเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับสากลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน

วันนั้นเป็นวันที่ 1 มกราคม 1978 ขณะที่ ฮารูกิ มูราคามิ ยังคงเป็นเจ้าของกิจการแจ๊ซคลับชื่อ Peter Cat ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเซนดากายาของโตเกียว เขาก่อตั้งมันขึ้นมาในปี 1974 หลังจากจบการศึกษาด้านการละครจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ และตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิตด้วยตัวเอง “ผมไม่ต้องการทำงานในบริษัท ผมต้องการทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ผมเปิดแจ๊ซคลับเล็กๆ ขึ้นในโตเกียวและดูแลมันอยู่ 7 ปี มันสนุกมาก”

มูราคามิใช้เวลาว่างหลังจากปิดร้านนั่งเขียนนวนิยายบนโต๊ะในห้องครัว Hear the Wind Sing (1979) และ Pinball, 1973 (1980) คือผลผลิตในช่วงเวลานั้น เขาเริ่มเป็นที่รู้จักของนักอ่านและนักวิจารณ์ ด้วยรูปแบบการเขียนที่ฉีกขนบการเขียนแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมจนแทบไม่เหลือเค้า กลิ่นอายของวัฒนธรรมตะวันตกที่อบอวลตั้งแต่ย่อหน้าแรกจนบรรทัดสุดท้าย และอารมณ์ความรู้สึกที่บาดลึกจิตวิญญาณของนักอ่านร่วมยุคสมัย

เขาตัดสินใจขายกิจการในปี 1981 และตัดสินใจดำรงชีวิตด้วยการเป็นนักเขียนเต็มตัว ในปีต่อมา A Wild Sheep Chase (1982) ก็ปรากฏต่อสายตาของนักอ่าน และคว้ารางวัล Noma Bungei Shinjin Sho (Noma Literary Award for New Writers)

มูราคามิเกิดที่เกียวโตในปี 1949 แต่ย้ายไปใช้ชีวิตในวัยเด็กที่โกเบ เมืองท่าสำคัญแห่งนี้เองที่เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสกับวรรณกรรมจากฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลั่งไหลผ่านมากับกะลาสีเรือขนส่งสินค้า ใน Hear the Wind Sing มูราคามิเล่าว่า จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้เกิดจากงานเขียนของดีเร็ก ฮาร์ตฟีลด์ ที่เขาได้อ่านตอนเรียนชั้นมัธยม “หากผมไม่ได้อ่านหนังสือของดีเร็ก ฮาร์ตฟีลด์ ผมก็คงไม่คิดอยากเขียนนิยาย ผมไม่อาจหยั่งทราบได้ แต่ก็แน่ใจว่าผมคงจะดำเนินชีวิตไปทิศทางอื่น แตกต่างไปจากชีวิตในปัจจุบัน” (สดับลมขับขาน, หน้า 139)

มูราคามิเติบโตมากับการอ่านนวนิยายต่างประเทศและไม่ใส่ใจนักกับวรรณกรรมญี่ปุ่น “ในทศวรรษ 1960 เมื่อครั้งผมยังเป็นวัยรุ่นอยู่ในโกเบ ผมพบว่าผมไม่ค่อยชอบนวนิยายญี่ปุ่น ดังนั้นผมจึงตั้งใจว่าจะไม่อ่านตั้งแต่นั้น ในเมื่อพ่อและแม่ของผมเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีญี่ปุ่น คุณจะเรียกผมว่าเป็นพวกขบถก็ได้”

วัฒนธรรมอเมริกันในญี่ปุ่นช่วงนั้นคึกคักมาก มูราคามิเองได้รับอิทธิพลจากทั้งดนตรี รายการโทรทัศน์ รถยนต์ เสื้อผ้า ฯลฯ เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นจะเทิดทูนบูชาวัฒนธรรมแบบอเมริกัน แต่ “มันหมายถึงการที่พวกเราเพียงแค่ชื่นชอบมันเท่านั้น มันสุกสว่างและแจ่มจรัสมาก จนบางครั้งดูราวกับว่ามันเป็นโลกแห่งความฝัน พวกเรารักโลกแห่งความฝันใบนั้น ในช่วงเวลานั้น มีแต่อเมริกาเท่านั้นที่จะทำแบบนี้ได้ ผมเป็นเด็กอายุ 13 หรือ 14 ปี อาศัยอยู่คนเดียวภายในห้อง ผมฟังเพลงแจ๊ซและร็อกแอนด์โรลล์ของอเมริกา ดูรายการโทรทัศน์ของอเมริกา และอ่านนวนิยายของอเมริกา”

ในขณะที่กำลังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย มูราคามิพยายามที่จะเขียนหนังสือ จากประสบการณ์การอ่านทั้งวรรณกรรมตะวันตกและบทภาพยนตร์ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัย ดูเหมือนเขาจะอุดมไปด้วยวัตถุดิบชั้นเยี่ยม “แต่ผมทำไม่ได้ เพราะผมยังขาดประสบการณ์ ผมเลิกเขียนหนังสือตอนอายุ 21 หรือ 22 ผมแค่ลืมมันไปเท่านั้น”

แต่ 7-8 ปีต่อมา ประสบการณ์ชีวิตของเขาคงได้เวลาสุกงอมเต็มที่ เขากล่าวถึง Hear the Wind Sing นวนิยายเล่มแรกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง แต่เล่าเรื่องด้วยรูปแบบที่ผู้อ่านไม่คุ้นเคย ในสไตล์ของ Kurt Vonnegut ผมได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Vonnegut และ Richard Brautigan พวกเขาสดชื่นมีชีวิตชีวามาก”

“เรื่องราวของชายหนุ่มกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวในทศวรรษ 1970 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้ากันทางวัฒนธรรม (age of the counterculture)” คือคำอธิบายของมูราคามิถึงปฐมบทแห่งไตรภาคของมุสิกเล่มนี้


2

“นักเขียนญี่ปุ่นส่วนมากมักจะหมกมุ่นอยู่กับความงามของภาษา ผมเลยอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน มีใครที่รู้จักความงามจริงๆ บ้าง ภาษาก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการสื่อสาร ผมอ่านงานของนักเขียนอเมริกัน นักเขียนรัสเซีย ผมชอบดิคเคนส์ ผมรู้สึกได้ว่ามันต่างจากงานของนักเขียนญี่ปุ่นมาก” (Publisher’s Weekly)

‘ผม’ กับ ‘มุสิก’ พบกันครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 1967 ขณะที่ทั้งคู่ยังเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย หลังจากเมาเบียร์จนแทบไม่ได้สติ มุสิกชวน ‘ผม’ ไปขับรถกินลมตอนตีสี่ ด้วยระดับความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถเฟียต 600 สีดำมันเลื่อมก็พุ่งผ่านพุ่มไม้ของสวนสาธารณะก่อนจะสงบนิ่งที่เสาหิน ทั้งคู่ดึงตัวเองออกจากซากรถ เดินไปซื้อเบียร์กระป๋องจากตู้หยอดเหรียญ แล้วล้มตัวลงซดเบียร์ที่ริมชายหาด ขว้างกระป๋องเปล่าลงทะเล ก่อนจะหลับใหลไปอีกชั่วโมงเศษ...

8 สิงหาคม 1970 ทั้งคู่นั่งซดเบียร์อยู่ในร้านเหล้าของ ‘เจ’ แหล่งพักพิงเกือบทั้งชีวิตของวันปิดภาคฤดูร้อน มุสิกนั่งเพ่งมือตัวเองที่วางกางอยู่บนเคาน์เตอร์ พินิจพิเคราะห์เหมือนย่างฝ่ามืออยู่บนเตาถ่าน ก่อนหน้านี้เขาสบถขับไล่คนรวยให้ไปกินขี้! ก่อนจะสรุปบทสนทนาประจำวัน“แล้วไง? ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนี่ ทุกคนต้องจบชีวิตในท้ายที่สุดอยู่แล้ว แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นก็มีเวลาห้าสิบขวบปีเต็มๆ ที่จะใช้ชีวิตให้มีค่า ข้าฯจะบอกอะไรให้เอ็งฟังสักอย่างนะ การใช้ชีวิตห้าสิบปีเต็มๆ ใช้หัว ใช้ความคิดในเรื่องหลากหลาย ดึงคุณค่าชีวิตออกมาให้เจิดจรัสสดใสยิ่งไปกว่าการมีอายุยืนยาวห้าพันปีโดยไม่มีความคิดอะไรในหัว ข้าฯพูดถูกไหม?” (สดับลมขับขาน, หน้า 20)

เรื่องราวของ สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 1970 ก่อนจะจบลงในวันที่ 26 สิงหาคมปีเดียวกัน—สิบแปดวันของบทบันทึกชีวิตวัยหนุ่มที่กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน—มูราคามิชักชวนผู้อ่านให้ร่วมเดินทางไปในโลกของ ‘ผม’ กับ ‘มุสิก’ โลกที่ดูเหมือนจะไม่กว้างใหญ่ไปกว่าบาร์เหล้า แต่ทั้งคู่รวมทั้งคนอื่น ๆ ต่างหลงทางอยู่บนถนนสายที่พาดผ่านหัวใจตนเอง

“สวัสดี...มิตรรักนักเพลงทั้งหลาย” เสียงดีเจรายการสายด่วนเพลงป็อปยอดนิยมของสถานี Radio NEB โผล่เข้ามาในตอนที่ 11 เขากล่าวต้อนรับผู้ฟังซึ่งเพิ่งผ่านพ้น 37 องศาเซลเซียสของวันด้วยน้ำเสียงคึกคักเช่นเคย

1 ทุ่มตรง—เวลาในขณะนี้— ‘ผม’ อาจนั่งอยู่บนเก้าอี้ปลายเคาน์เตอร์ในบาร์เหล้าของเจ และมุสิกอาจนั่งคิดโครงเรื่องนิยายอยู่ที่ไหนซักแห่ง

Rainy Night in Georgia ของ Brook Benton ขับกล่อมต้อนรับค่ำคืนอันยาวนานจนเสมือนไร้ที่สิ้นสุดของผู้คนบนโลก

I find me a place in a box car,

so I take my guitar to pass some time

Late at night when it's hard to rest

I hold your picture to my chest and I feel fine

……………

Oh, have you ever been lonely, people?

And you feel that it was rainin' all over this man's world

You're talking 'bout rainin', rainin', rainin', rainin',

rainin', rainin', rainin', rainin', rainin'

ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1972 ‘ผม’ กับเพื่อนเช่าคอนโดมิเนียมเพื่อเปิดศูนย์การแปลเล็กๆ ในโตเกียว ธุรกิจไปได้ดี มีงานให้ทำหลากรส แต่ ‘ผม’ ก็ยังเป็น ‘ผม’ “นับเดือน นานหลายปี ผมนั่งอยู่ที่นั่น โดดเดี่ยวเดียวดายในบ่อน้ำลึกหยั่งก้นไม่ถึง น้ำอุ่น กรองแสงเรื่อนวล ความเงียบ…เงียบงัน ความเงียบ…” (พินบอล, 1973, หน้า 44)

‘ผม’ เดินทางเข้าไปในอาณาจักรพินบอลในฤดูหนาวปี 1970 ตู้พินบอล ‘ยานอวกาศ’ แบบเดียวกับตู้ในบาร์เหล้าของเจดึงดูด ‘ผม’ ลงไปในหลุมมืดดำ “เธอยอดเยี่ยมเป็นที่สุด ตู้พินบอล ‘ยานอวกาศ’ ผมเข้าใจเธอและเธอก็เข้าใจผม เมื่อใดที่ผมกดปุ่มเริ่มเล่น เธอจะครางเสียงหวานออกมา ปรับช่องคะแนนให้ลดต่ำเป็นศูนย์ จากนั้น เธอยิ้มให้ผม ผมดึงสปริงดีดลูกออกมาเพียงไม่กี่เซนติเมตร ลูกบอลสีเงินวาววับไหลแล่นผ่านรางเข้าไปในสนามรบ ในระหว่างที่ลูกบอลกระดอนชนทุ่นกระดิ่งพล่านไปทั่วสนาม หัวของผมว่างเปล่าปลอดโปร่งเหมือนสูบกัญชาทั้งมัด” (พินบอล, 1973, หน้า 129)

เดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา เธอหายตัวไป ศูนย์เกมกลายเป็นร้ายขายโดนัต “ร้านประเภทที่เด็กสาวมัธยมปลายในชุดกะลาสีจะซื้อโดนัตไร้รสชาติ บนจานไร้รสนิยม ร้านนั้นกลายเป็นที่ชุมนุมของเด็กสาวมัธยมปลายผู้จอดจักรยานเรียงหน้าร้าน ร้านของคนขับแท็กซี่กลางคืน สาวบาร์ และพวกฮิปปีหลงยุค นั่งจิบกาแฟด้วยสายตาไร้ประกายสิ้นหวังในชีวิตดุจกัน” (พินบอล, 1973, หน้า 130)

‘ผม’ ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเลิกเล่นพินบอล ดำเนินชีวิตต่อไป แต่ในอีกสามปีถัดมา ตู้พินบอล ‘ยานอวกาศ’ ครีบเตะสามอัน รุ่นปี 1968 โดยกิลเบิร์ตและแซนด์ส, ชิคาโก อิลลินอยส์ เลื่องชื่อในฐานะตู้พินบอลเคราะห์ร้ายก็ “กระซิบเว้าวอน วันแล้ววันเล่า เธอส่งเสียงเพรียกเรียกหาผม” (พินบอล, 1973, หน้า 135)

แล้วปฏิบัติการค้นหาตู้พินบอลก็เริ่มต้นขึ้น


3

เดือนกรกฎาคม ปี 1978 หลังกลับจากงานศพที่ชินจูกุ ระยะทางสิบหกก้าวจากห้องโถงไปยังบานประตูอพาร์ตเมนต์ ‘ผม’ ในวัยย่างสามสิบ ตาปิดสนิท ก้าวเดินเป็นเส้นตรงท่ามกลางหมอกควันของวิสกี้เลอะเลือนในความทรงจำ “เธอนอนฟุบหน้าอยู่ที่โต๊ะในครัว หน้าผากวางทาบท่อนแขน เสี้ยวหน้าด้านข้างซ่อนอยู่ในพุ่มผม เนื้อต้นคอสีขาวที่ไม่ได้อบไอแดดลอดผ่านปอยผม บนหัวไหล่ของชุดลายดอกมีแถบขาวที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เส้นสีขาวของสายยกทรง” (แกะรอยแกะดาว, หน้า 39)

เธอเข้ามาเก็บของบางอย่าง หลังจากที่ ‘ผม’ ยินยอมเซ็นใบหย่า

หนึ่งเดือนผ่านไป “ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่มีแม้สักอย่างเดียว ผมตื่นนอนเจ็ดโมงเช้า ปิ้งขนมปัง ชงกาแฟ ออกไปทำงาน กินอาหารเย็นนอกบ้าน แวะดื่มแก้วสองแก้ว กลับบ้าน อ่านหนังสือหนึ่งชั่วโมง ปิดไฟ เข้านอน วันเสาร์อาทิตย์ ในเมื่อไม่ได้ทำงาน ผมออกนอกบ้าน ฆ่าเวลาด้วยการตระเวนเข้าโรงหนัง กินอาหารเย็น กลับบ้าน อ่านหนังสือ แล้วก็เข้านอน…ตามลำพัง ชีวิตดำเนินต่อไปเช่นนี้ ผมผ่านเวลาหนึ่งเดือนเต็มเหมือนคนที่กากบาทขีดฆ่าทีละวันในปฏิทิน หนึ่งกากบาท หนึ่งวัน” (แกะรอยแกะดาว, หน้า 47)

ชีวิตธรรมดาสามัญของ ‘ผม’ ยังดำเนินต่อไป ราบเรียบนิ่งสงบเหมือนผิวน้ำในบ่อน้ำครำ

แต่แล้ววันหนึ่ง บุรุษลึกลับก็ปรากฏตัวขึ้นในสำนักงาน พร้อมกับปริศนาพิสดารเกี่ยวกับรูปแกะที่มุสิกส่งมาให้


4

“อย่างที่คุณทราบ ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ยึดถือในเรื่องของความเป็นกลุ่ม (group-conscious society) ซึ่งการแยกตัวเป็นอิสระนั้นทำได้ยากมาก อย่างเช่นตอนที่ผมหาอพาร์ตเมนต์ในโตเกียว พวกนายหน้าต่างไม่ให้ความเชื่อถือผม เพราะในฐานะของนักเขียน ผมเป็นนายจ้างตัวเองและไม่ได้ทำงานกับบริษัทใดๆ คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ต้องการที่จะมีอิสระมากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากมากและพวกเขาก็ต้องเจ็บปวดกับความรู้สึกแปลกแยก ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมงานของผมจึงได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาเหล่านั้น” (The New York Time Book Review)

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มประเทศพันธมิตรซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำสำคัญ สหรัฐฯต้องการเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นประชาธิปไตยและคาดหวังให้ญี่ปุ่นมีสถานภาพเป็นประเทศเป็นกลาง ท่ามกลางไฟสงครามเย็นที่กำลังคุกรุ่น

ญี่ปุ่นถูกยึดครองเป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 1945 จนถึงวันที่ 28 เมษายน 1952

12 มกราคม 1949 ฮารูกิ มูราคามิ ลืมตาดูโลกที่เกียวโต ในยุคที่ญี่ปุ่นกำลังเร่งฟื้นตัวจากภาวะสงคราม

ปี 1955—สิบปีหลังสงคราม—สังคมญี่ปุ่นเริ่มพบกับความสุขสงบ เศรษฐกิจอยู่ในขั้นดีจนเรียกขานกันว่า “เศรษฐกิจจิมมุ” ซึ่งหมายถึงนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมาในสมัยจักรพรรดิจิมมุ ไม่มีช่วงเวลาใดอีกแล้วที่เศรษฐกิจจะดีเท่ายามนี้

หากงานเขียนเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นไปในสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและวันเวลาอันสุขสงบหลังสงคราม ก็ทำให้นวนิยายเรื่อง ฤดูกาลของดวงตะวัน ของ อิชิฮารา ชินทาโร นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ กลายเป็นผลงานยอดนิยมของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น นวนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยการชกมวย เซ็กซ์ การขับรถแล่นเรือยอร์ชของบรรดาชายหนุ่มลูกหลานผู้มีอันจะกินในย่านโชนัน จังหวัดคานากาวา สำนวนการเขียนที่แตกต่างจากนักเขียนยุคก่อนหน้า การแหวกขนบประเพณีที่ว่าการเป็นนักเขียนจำต้องผ่านการฝึกฝนอย่างอดทนเป็นเวลาหลายปี และบุคลิกหนุ่มเจ้าสำราญฐานะดีของชินทาโร กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ต้องการต่อต้านสังคมของผู้ใหญ่สมัยหลังสงคราม

มูราคามิอาจไม่มีรูปลักษณ์ภายนอกโฉบเฉี่ยวเหมือนกับชินทาโร และคงมีวัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนไม่มากที่อยากจะเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในนวนิยายของเขาเช่นเดียวกับที่วัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเคยทำตัวเลียนแบบตัวละครใน ฤดูกาลของดวงตะวัน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเขียนหน้าใหม่ (ในยุคสมัยของตน) ของทั้งคู่ก็แทบไม่ต่างกัน คณะกรรมการรางวัลอากุตางาวาส่วนหนึ่งลงความเห็นว่างานเขียนของชินทาโร ‘ไม่ใช่วรรณกรรม’ (ถึงแม้ว่างานชิ้นนี้จะได้รับรางวัลนี้ในท้ายที่สุดก็ตาม) ในขณะที่มูราคามิก็ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบทั้งจากนักเขียนและนักวิจารณ์ เคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนรางวัลโนเบลเคยวิจารณ์ว่า งานเขียนของมูราคามิเป็นเพียง “ภาพจำลองอนาคตญี่ปุ่นที่สะเปะสะปะไร้ทิศทาง” และ “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเรียกร้องความสนใจจากกลุ่มปัญญาชน” รวมทั้งกล่าวตำหนิความลุ่มหลงแบบฉาบฉวยของมูราคามิที่มีต่อวัฒนธรรมอเมริกัน โดยเปรียบเทียบว่าเป็น “เนยที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่าชวนอดสู”

มูราคามิเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียวเมื่อปลายทศวรรษ 1960 ช่วงเวลาเดียวกับที่กระแสตื่นตัวทางการเมืองของเหล่าปัญญาชนในสถาบันการศึกษากำลังเข้มข้น ในช่วงนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม อีกทั้งเกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นในหมู่ประชาชนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือ นักศึกษาสมัยนี้เกิดขึ้นในยุคเบบี้บูม ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงไร้น้ำใจมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม “เด็กรุ่นนี้จะมีปฏิกิริยาไวต่อการขัดแย้งในสังคม และจะแสดงความหุนหันพลันแล่นต่อการถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในสงครามเวียดนาม ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการที่มหาวิทยาลัยขึ้นค่าเล่าเรียน บรรยากาศในการเรียนที่บรรดาศาสตราจารย์ทั้งหลายไม่เปลี่ยนวิธีการสอน และท้ายที่สุด พวกเขาก็จะโมโหโกรธาต่อการไร้อำนาจของฝ่ายซ้าย รวมทั้งไม่พอใจการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเข้าไปมีสัมพันธ์ลึกๆ กับวงการอุตสาหกรรม” (ญี่ปุ่นสมัยโชวะ: ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากพ่อสู่ลูก, หน้า 205)

ในยุคนี้มีการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับตำรวจปราบจลาจลอย่างต่อเนื่อง จนกล่าวได้ว่าในปี 1968 ขบวนการต่อสู้ร่วมกันของนักศึกษาได้แผ่ขยายไปในทุกพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ เกิดการแบ่งเป็นกลุ่มองค์กรต่างๆ เช่น สมาพันธ์ผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์แนวปฏิวัติ (ชูคาขุ), สมาพันธ์ผู้นิยมลัทธิมาร์กซิสต์แนวปฏิวัติ (คาขุมารุ), กลุ่มแนวหน้า (Front), กลุ่มต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น มูราคามิเล่าถึงช่วงเวลานี้ว่า “ในช่วงปี 1968 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะหนุ่มสาวนักอุดมคติทั้งหลาย พวกเรารู้สึกว่าถ้าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องในเวลาเช่นนี้ ช่วงเวลาที่ดีก็จะเกิดขึ้นตามมา มันเป็นเรื่องของสังคมอุดมคติ ดังนั้นการเดินขบวนหรือการต่อต้านจึงเกิดขึ้น เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจ ผมจะพูดคำว่า ‘ไม่’ เสมอนับตั้งแต่ผมเริ่มเขียนหนังสือ ผมไม่มีความเชื่อในเรื่องใดทั้งสิ้นเมื่อผมเริ่มเขียนหนังสือ”

“ผมไม่ได้เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา ตอนนั้นผมรู้สึกว่าสิ่งใหม่ๆ กำลังจะเกิดขึ้น และผมก็ตื่นเต้นมาก แต่ผมไม่ชอบองค์กรหรือกลุ่ม ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมไม่เข้าไปยุ่งด้วย แต่ผมก็เห็นด้วยกับนักศึกษาหัวก้าวหน้าเหล่านั้นนะ ช่วงนั้นผมกำลังมองหาสิ่งใหม่ เส้นทางชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในแนวทางของผมเอง แต่ผมก็หามันไม่พบ ผมเพิ่งจะอายุ 18 หรือ 19 ยังเป็นเด็กและยังไม่รู้อะไรเลย”


5

“ข้าฯจะต้องรู้เหตุผลไปทำไม? คงเบื่อกระมัง แต่เอ็งก็รู้นะว่า ข้าฯพยายามดีที่สุดแล้ว ข้าฯพยายามหนักกว่าที่ข้าฯเชื่อว่าจะทำได้ ข้าฯคิดถึงตัวเองมากเท่าเทียมกับการคิดถึงผู้อื่นด้วยนะ ข้าฯทำเพื่อผู้อื่นจนสุดความสามารถแล้ว อย่างไร ข้าฯก็ต้องขอบคุณกระบองของตำรวจปราบจลาจล หวดเลาะฟันหน้าของข้าฯออกมา ข้าฯเลยสะดุ้งตื่นจากฝัน คนเราทุกคนจะไหลลงไปสู่ที่เฉพาะตัวของตน...มีแต่ข้าฯที่ไม่รู้ว่าสถานที่ของข้าฯอยู่ที่ไหน ไม่มีที่ใดที่ข้าฯจะเรียกว่าบ้านได้ หัวหมุนวิ่งพล่านเหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี” (สดับลมขับขาน, หน้า 103)

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้อ่านจะสัมผัสได้จากการอ่านนวนิยายของมูราคามิก็คือ อารมณ์ความรู้สึกซึ่งสะท้อนผ่านการบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแต่ละตัว ชีวิตประจำวันธรรมดาสามัญของ ‘ผม’ หรือมุสิก หรือของใครก็ตาม อาจเป็นเพียงวิถีชีวิตปกติของมนุษย์คนหนึ่ง และอาจไม่มีเรื่องราวใดที่ดึงดูดความสนใจจากเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้ แต่ในความราบเรียบธรรมดาของชีวิตนั้น กลับมีบางสิ่งบางอย่างถูกปิดซ่อนอยู่ในม่านหมอกแผ่วจาง พร่าเลือน ไม่ชัดเจน และตราบจนสิ้นสุดแห่งการเดินทางของชีวิต ตัวละครแต่ละตัวก็อาจไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามันคือสิ่งใด

ธรรมชาติของสังคมมนุษย์โดยทั่วไป อาจไม่อนุญาตให้มนุษย์ตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของตนมากนัก บ้านที่คุ้นเคย คนที่รู้จัก หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ผูกพันมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งวิถีชีวิตสงบสุขราบเรียบ อาจเป็นหลักประกันสำหรับการดำรงอยู่ในห้วงเวลาหนึ่ง แต่หากจำเป็นต้องทำความรู้จักกับแก่นแท้ของการดำรงอยู่แล้ว บางทีเราอาจต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจตัวเราเอง

บางท่านเลือกที่จะสละทิ้งเพื่อเริ่มต้นใหม่ บางท่านเลือกที่จะปลีกวิเวกเพื่อเยียวยาบาดแผลที่ไม่มีวันสมานปิด หรือบางท่านอาจจ่อมจมอยู่กับวันคืนที่ผันผ่านเนื่องจากเงื่อนไขของชีวิตแน่นหนาเกินไป

แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รู้สึกร่วมกัน และตัวละครของมูราคามิอาจพยายามที่จะบอกก็คือ ท้ายที่สุดแล้วสำหรับปุถุชนธรรมดา ชีวิตมีพื้นที่เว้าแหว่งอยู่มากจนยากจะเติมเต็ม‘ผม’ รวมทั้งตัวละครอื่นๆ ไม่เคยบอกชัดเจนถึงความทุกข์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ (แม้แต่กับตัวละครด้วยกัน) และสำหรับ ‘ผม’ ก็ดูจะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างเข้าใจ และดูเหมือนจะเป็นฝ่ายรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับชีวิตตนเองแค่ไหนก็ตาม

แต่สำหรับมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง การที่ ‘ผม’ ทำราวกับว่าชีวิตเป็นเพียงต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ท่ามกลางผืนดินแตกระแหงและเปลวแดดแผดเผา กระทั่งไม่สนใจว่ากิ่งก้านจะถูกสายลมลิดรอนไปมากเพียงใด กลับกลายเป็นคมมีดกรีดเฉือนผู้อ่าน สร้างบาดแผลใหม่หรือกระทั่งเผยแผลเก่าซึ่งกดเก็บมาเนิ่นนาน มันเหมือนกับ ‘ผม’ กำลังประกาศว่าชีวิตเป็นเรื่องเหลวไหลเกินกว่าจะพรรณนาถึง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเป็นเรื่องโง่เง่าเพียงใดสำหรับการพร่ำเพ้อถึงอนาคต

มูราคามิประสบความสำเร็จในการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ด้วยการนำเสนอบุคลิกแบบคนชั้นกลางทั่วไป เพราะสำหรับคนกลุ่มนี้ การคิดคำนึงเรื่องชีวิตอาจเป็นได้ทั้งเรื่องใกล้และไกลตัวในเวลาเดียวกัน พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ห่างจากรากเหง้าดั้งเดิมของเผ่าพันธุ์ที่ตนสังกัด และติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะของสากลที่แผ่คลุมตามพัฒนาการของเทคโนโลยี ที่สำคัญก็คือ พวกเขาคิดว่าตัวเองอยู่ในโลกซึ่งความสุขเป็นสิ่งที่บันดาลให้เกิดขึ้นได้ด้วยสิ่งภายนอก

ถึงแม้จะอยู่ในโลกที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แต่แท้จริงแล้วพื้นที่สำหรับคนกลุ่มนี้ดูเหมือนจะหดแคบลง สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯลฯ อาจมีให้เลือกไม่รู้จบสิ้น แต่พื้นที่สำหรับวางตัวและวางใจ อาจยิ่งค้นหาเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพบเจอ

ใน ‘ไตรภาคของมุสิก’ แทบไม่มีตอนใดที่มูราคามิกล่าวถึงบ้าน (ในความหมายที่เคร่งครัด) และ ‘ผม’ ก็ไม่เคยพูดถึงพ่อและแม่ให้ได้ยิน หญิงสาวจึงน่าจะเป็นตัวแทนของเพื่อนมนุษย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ ‘ผม’ มากที่สุด เด็กสาวเก้านิ้ว, เด็กสาวผู้สูญคอนแทกเลนส์, เพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลาย, สาวฮิปปี้, สาวเอกฝรั่งเศส, คู่แฝด 208-209, สาวออฟฟิศ, ผู้หญิงที่นอนกับใครก็ได้, สาวหูสวย ฯลฯ ทุกคนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ‘ผม’ มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ใครเลยจะแน่ใจได้ว่า ‘ผม’ กับพวกเธอรู้จักกันจริงๆ

วิถีชีวิตของตัวละครที่ถอดแบบมาจากชีวิตจริงทั้งในด้านโลกทัศน์และชีวทัศน์ดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลงานของมูราคามิจะเป็นที่นิยมของผู้อ่านในหลายประเทศทั่วโลก และแน่นอน ผลงานของเขาได้รับการต้อนรับในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่กำลังสับสนกับวิถีทางแห่งชีวิตในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่ามูราคามิจะตั้งใจหรือไม่ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมมนุษย์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง หรือในเรื่องใดก็ตาม แต่ผลงานของเขาก็สามารถเจาะทะลุเข้าไปในจิตใจของผู้อ่าน และเป็นที่มาของคำถามมากมายเกี่ยวกับวิถีชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน

……………

ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในงานของมูราคามิสำหรับคำถามที่ว่า ถึงที่สุดแล้ว มนุษย์ควรจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคใหม่อย่างไร โลกที่ทั้งพรมแดนทางภูมิศาสตร์และพรมแดนในจิตใจเริ่มพร่าเลือน โลกที่ดูเหมือนจะไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยว และความคิด ความเชื่อ กำลังถูกแปรรูปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โลกที่กำลังคับแคบขึ้นทุกวันสำหรับมนุษย์

แต่ก็ว่างโหวงเว้าแหว่งมากขึ้นทุกทีในจิตใจของผู้คน…


ข้อมูลประกอบการเขียน

’ปราย พันแสง, "Haruki Murakami (1) คำสารภาพของศาสดาเบสต์เซลเลอร์ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ ", มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 11-17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1195

ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami), สดับลมขับขาน, แปลจาก Hear the Wind Sing โดย นพดล เวชสวัสดิ์, แม่ไก่ขยัน, 2545

ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami), พินบอล, 1973, แปลจาก Pinball, 1973 โดย นพดล เวชสวัสดิ์, แม่ไก่ขยัน, 2545

ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami), แกะรอยแกะดาว, แปลจาก A Wild Sheep Chase โดย นพดล เวชสวัสดิ์, แม่ไก่ขยัน, 2546

โฮะซะกะ มะซะยะสุ (Hosaka Masayasu), ญี่ปุ่นสมัยโชวะ: ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากพ่อสู่ลูก, แปลจาก Chichi Ga Ko Ni Kataru Showashi โดย สร้อยสุดา ณ ระนอง และปราณี จงสุจริตธรรม, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544

Elizabeth Devereaux, "PW Interviews: Haruki Murakami", Publisher’s Weekly, September 21, 1991

Matt Thompson, "The Elusive Murakami", The Guardian (liberal), May 26, 2001

"Roll Over Basho: Who Japan is Reading, and Why, A Dialogue Between Jay Mclnerney and Haruki Murakami", The New York Times Book Review, September 27, 1992

Sinda Gregory, Toshifumi Miyawaki, and Larry McCaffery, "It Don’t Mean a Thing, If It Ain’t Got that Swing: An Interview with Haruki Murakami", www.centerforbookculture.org

3 Comments:

At 1/13/2006 2:29 PM, Anonymous Anonymous said...

ลองดูเด็กหนุ่มอย่าง "มุสิก" กับผู้ชายอย่าง "Gatsby" ใน 'The Great Gatsby', Fitzgerald
น่าสนใจ

 
At 3/21/2010 1:04 AM, Anonymous Anonymous said...

Making money on the internet is easy in the underground world of [URL=http://www.www.blackhatmoneymaker.com]blackhat internet marketing[/URL], Don’t feel silly if you have no clue about blackhat marketing. Blackhat marketing uses alternative or little-understood methods to produce an income online.

 
At 2/06/2013 6:52 PM, Anonymous Anonymous said...

top [url=http://www.xgambling.org/]casino online[/url] check the latest [url=http://www.realcazinoz.com/]casino online[/url] unshackled no deposit reward at the chief [url=http://www.baywatchcasino.com/]free casino games
[/url].

 

Post a Comment

<< Home