Monday, December 12, 2005

Cyclo: โศกนาฏกรรมของความเป็นเมือง

ถึงแม้เวียดนามจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมและมีวีรบุรุษของประเทศเป็นอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ดูเหมือนประวัติศาสตร์การต่อสู้อันโหดร้ายยาวนานของชนชาวเวียดนาม เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชและอิสรภาพ ก็มิอาจต้านทานกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยเฉพาะการหลั่งไหลเข้ามาของค่านิยมและวัฒนธรรมตะวันตก—อดีตศัตรูทางการเมืองของพวกเขาเอง

หลังจากหันมาใช้นโยบายปฏิรูป “โด๋ยเม้ย” (Doi Moi) โดยเน้นการเปิดประเทศมากขึ้นตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา เวียดนามก็อาจไม่ต่างไปจากประเทศในเอเชียอาคเนย์อื่นๆ ที่เกิดการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก จนเกิดเป็นวัฒนธรรมผสมที่สอดคล้องกลมกลืนกันบ้าง ขัดแย้งลักลั่นกันบ้าง แล้วแต่เงื่อนไขที่แต่ละประเทศต้องเผชิญ

แต่สิ่งหนึ่งที่อาจไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่รับแนวทางการพัฒนาประเทศจากตะวันตกก็คือ กระบวนการสร้างความเป็นเมือง (urbanization) ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อสังคมดั้งเดิมอย่างรุนแรง

ท่ามกลางตึกสูง ยานพาหนะขวักไขว่บนท้องถนน แหล่งจับจ่ายสินค้ามากมายหลากหลาย และผู้คนใบหน้าเฉยเมยแล้ว สิ่งที่อยู่คู่กับเมืองก็คือ สภาพชีวิตอันแร้นแค้นของคนจนในเมือง

ทำไมเมืองต้องมีภาพการต่อสู้ดิ้นรนของคนทุกข์ยากพ่วงท้ายอยู่ด้วยเสมอ?

ตราน อาน ฮุง (Tran Anh Hung) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเวียดนามที่ไปเติบโตในฝรั่งเศส อาจไม่ได้ตั้งใจที่จะตอบคำถามดังกล่าวมากเท่ากับการพยายามเสนอภาพชีวิตอันแร้นแค้นของคนเดินถนนในไซ่ง่อน (นครโฮจิมินห์—เมืองหลวงของเวียดนามในปัจจุบัน) อย่างตรงไปตรงมา ในฐานะชาวเวียดนามคนหนึ่งที่ยังรักและอาลัยในมาตุภูมิของตน

หลังจากที่ The Scent of Green Papaya (1993) ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา นำเราไปสัมผัสกับกลิ่นอายความอบอุ่น เรียบง่าย และงดงามของไซ่ง่อนในทศวรรษ 1950-1960 สองปีต่อมา Cyclo (1995) ก็นำเรากลับสู่ความจริงอันโหดร้ายของไซ่ง่อนในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

“Cyclo” (ซิ-โคล) เป็นศัพท์ที่ชาวฝรั่งเศสยุคอาณานิคมใช้เรียกคนถีบจักรยานสามล้อรับจ้างชาวเวียดนามซึ่งเป็นอาชีพของตัวละครเอกในเรื่อง เขากำพร้าพ่อแม่ และอาศัยอยู่กับปู่ที่มีอาชีพเติมลมรถจักรยานร่วมกับพี่น้องอีกสองคน

พี่สาวและน้องสาวของเขาต้องทำงานตอนกลางคืนและไปเรียนในตอนกลางวัน ฉากหนึ่งตอนต้นเรื่อง ทั้งคู่กำลังทำงานอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง น้องสาวกำลังรับจ้างขัดรองเท้า ขณะที่พี่สาวก็กำลังขะมักเขม้นปรุงอาหารอยู่หน้าเตา มีชายขาพิการสองคนเดินเข้ามาในร้าน คนหนึ่งสะพายกีต้าร์ อีกคนถือเครื่องเคาะจังหวะ ทั้งสองเดินเข้ามาหยุดอยู่กลางร้าน และเริ่มต้นบรรเลงบทเพลงในท่ามกลางเสียงพูดคุย

“บนฝั่งแม่น้ำสายเก่า ใบไม้และดอกไม้เหี่ยวเฉา สุริยาไม่ฉายแสง เยือกเย็น หนาวสั่น...

...ตอนผมยังเยาว์ ผมจดจำคุณได้ ผมจดจำภาพขาวดำของคุณได้ คุณมองผม สุกสว่าง อ่อนละมุน...”

พร้อมๆ กับเสียงดนตรีบรรเลง ตรานก็อาศัยจังหวะนี้ถ่ายทอดบรรยากาศของร้านอาหาร พี่สาวที่กำลังยกแขนขึ้นปาดเหงื่อบนใบหน้า และน้องสาวที่กำลังยกแขนขึ้นปิดปากหาวนอน ข้างๆ เธอมีเด็กขัดรองเท้าอีกคนหนึ่งกำลังนอนหลับอยู่

ทั้งภาพและเสียงที่ถ่ายทอดออกมา นำจินตนาการของผู้ชมเดินทางไปไกล เสียงดนตรีจากชายพิการ เสียงพูดคุยรื่นรมย์ของคนที่กำลังกินอาหาร เด็กเร่ร่อนขอทาน หรือหญิงชราที่ขอร้องให้ช่วยซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ที่เธอเสนอขาย

จะปฏิเสธได้อย่างไร... ว่าไม่ได้เป็นภาพที่เราคุ้นเคย


เรารู้จักตัวละครเอกในชื่อ Cyclo วันหนึ่งรถสามล้อของเขาถูกขโมย เขาจึงจำเป็นต้องทำงานอื่นเพื่อชดใช้ให้กับนายหญิง ซึ่งเป็นเจ้าของรถสามล้อเช่า ภายใต้การกำกับดูแลของ Poet (เหลียงเฉาเหว่ย) นักเลงที่ทำงานให้กับเธอ

ในช่วงนี้เองที่ Cyclo ได้เข้าไปเกี่ยวพันกับโลกของอาชญากรรมและยาเสพติด จนกระทั่งเรื่องราวดำเนินไปจนสุดแดนของเขตศีลธรรม เมื่อเขาได้รับคำสั่งให้ฆ่าคน

สำหรับ Poet แม้จะอยู่กันคนละฐานะกับ Cyclo แต่เขาก็ต้องเผชิญกับปัญหาไม่แตกต่างกัน ครอบครัวของ Poet อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด แวดล้อมไปด้วยกองขยะและดงน้ำครำ เราแทบจะไม่รู้รายละเอียดในชีวิตของเขา ยกเว้นเรื่องที่เขามีปัญหากับพ่อ และเหตุการณ์ในวัยเด็กน่าจะเป็นปมปัญหาใหญ่ในชีวิตของเขา ภายนอกเขาอาจดูนิ่งขรึม แต่เราไม่แน่ใจว่าภายในเขาบอบช้ำเพียงใด

ในขณะที่ Cyclo ยอมรับในชะตากรรมที่ตัวเองไม่อาจหลีกเลี่ยง และในชั่วขณะหนึ่ง เขาก็ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำถึงขนาดขอเข้าร่วมแก๊งกับ Poet แต่สำหรับ Poet แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขากำลังสับสนอย่างหนักกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ โดยเฉพาะกับพี่สาวของ Cyclo (แสดงโดยภรรยาของตราน) ซึ่งยอมเป็นโสเภณีตามที่เขาขอร้อง และเมื่อเนิ่นนานเข้า ดูเหมือนเขาจะไม่มีทางออก

ตรานพยายามเสนอภาพชีวิตของไซ่ง่อนให้ผู้ชมได้รับรู้ โดยไม่พยายามตัดสินว่าสิ่งที่ดำเนินไปนั้นถูกหรือผิด ความสับสนวุ่นวายบนท้องถนน อาคารสูงที่เมื่อมองจากภายนอกในตอนกลางคืนจะเห็นเป็นช่องสี่เหลี่ยมสีนีออน กลุ่มอิทธิพลคุมรถสามล้อในแต่ละเขต แก๊งล้วงกระเป๋าคนที่ไปไหว้พระ นักเลงยกพวกตีกันบนท้องถนน โสเภณี ยาเสพติด ความยากจน หรือแม้กระทั่งภาพของห้องเรียนในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในไซ่ง่อนยุคปัจจุบัน และกำลังจะลุกลามไปสู่เมืองอื่นๆ ของเวียดนาม

แม้ว่า Cyclo จะเป็นเรื่องราวของอาชญากรรมและความรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลตามวิถีของชาวตะวันออก เนื้อเรื่องของ Cyclo นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าของหญิงชราสองคนที่ถูกคุมขังและทารุณในระหว่างสงครามทั้งกับฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ซึ่งตรานกล่าวว่า สิ่งที่เขาประทับใจที่สุดก็คือวิธีการที่หญิงชราเล่าถึงประสบการณ์ในอดีตด้วยความนุ่มนวล ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะสร้างขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้

ฉากหนึ่งที่น่าประทับใจและน่าจะแสดงแก่นแท้ของชาวเวียดนามสมัยสงครามได้ชัดเจนก็คือฉากที่ Cyclo นำเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีคนทิ้งไว้มาแนะนำให้ปู่ของเขาคอยนั่งเก็บเงินจากคนที่มาชั่งน้ำหนักแทนการสูบลมยาง ที่ดูเหมือนจะเป็นงานที่หนักเกินไปสำหรับคนในวัยปู่ Cyclo บอกกับปู่ของเขาว่า เครื่องชั่งน้ำหนักชิ้นนี้รอคนมาเก็บเอาไปนานแล้ว น่าจะเอามาใช้ได้ แต่ปู่ของเขาปฏิเสธ และบอกว่าให้รอไปอีกซักพัก

อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรหากเราจะเอาเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีคนทิ้งเอาไว้มาใช้เป็นเครื่องมือหาเงินเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนชรา แต่หากผู้พูดอยู่ในฐานะเดียวกับปู่ของ Cyclo แล้ว หัวใจของผู้พูดคงยิ่งใหญ่กว่าหัวใจของนักการเมืองในบางประเทศ

ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของเวียดนาม Cyclo และ Poet อาจเป็นตัวแทนของชาวเวียดนามในยุคปัจจุบันที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตรอด ในยุคสมัยที่ความเชื่อมั่นในอุดมการณ์เจือจางลง ประวัติศาสตร์อาจหมายถึงสิ่งที่จบสิ้นไปแล้ว และอนาคตก็อาจหมายถึงการต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไป

ในยุคสมัยที่ผู้คนไร้ที่ยึดเหนี่ยวทั้งทางการเมืองและการดำเนินชีวิตเช่นนี้ มังกรน้อยอย่างเวียดนามอาจประสบชัยชนะทางด้านเศรษฐกิจได้ไม่ยาก ด้วยรากฐานของหัวใจนักสู้และทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่ชนชาวเวียดนามได้มานั้น จะคุ้มค่ากับสิ่งที่พวกเขาต้องสูญเสียไป


ข้อมูลประกอบการเขียน
เขียน ธีระวิทย์, เวียดนาม: สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และการต่างประเทศ, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542

ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์, “หนังเวียดนามของ Tran Anh Hung ตอนที่ 1 และ 2” ใน สารคดี ฉบับเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2547