Thursday, December 22, 2005


เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ต่อแนวคิดทางการเมืองของนักศึกษายุคปัจจุบัน*


* บทความชิ้นนี้เรียบเรียงและปรับปรุงจากบทความพิเศษ เรื่อง “บทบาทของนักศึกษาไทยยุค 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เปรียบเทียบกับนักศึกษายุคปัจจุบัน” ใน จุลสาร ปXป ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2546

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ดูเหมือนว่าบทบาท ทางสังคมและการเมืองของนิสิตนักศึกษาจะค่อยๆ เลือนหายไป บรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมือง การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียเปรียบในสังคมไม่ปรากฏให้เห็นอีกภายในรั้วมหาวิทยาลัยไทย อันนำมาซึ่งข้อถกเถียงระหว่างคนต่างรุ่นหรือแม้กระทั่งคนในรุ่นเดียวกันตามมามากมายถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต่อเนื่องไปจนถึงว่าจำเป็นหรือไม่ที่นิสิตนักศึกษาต้องมีการเคลื่อนไหวหรือแสดงบทบาททางการเมือง บทความชิ้นนี้จึงพยายามศึกษาถึงเงื่อนไขต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมโดยรวมและทัศนคติอันนำไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตของนิสิตนักศึกษายุคปัจจุบัน โดยผู้เขียนหวังว่าจะสามารถช่วยสร้างความเข้าใจถึงบทบาทโดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไปของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น


โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530

หลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2520 สิ้นสุดลง ประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ระยะเวลาแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export-led growth) และดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างไปสู่ระบบการแข่งขันเสรี (liberalization) ทำให้เศรษฐกิจไทยถูกผนวกเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่น

ลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2530

1. เศรษฐกิจไทยมีลักษณะเปิดมากยิ่งกว่ายุคสมัยใดในอดีต การค้ากับต่างประเทศจากที่เคยอยู่ในระดับร้อยละ 49.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ในช่วงปี 2523-2532 ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 67.8 ในช่วงปี 2533-2539(1) ในขณะเดียวกัน ช่วงปี 2533-2538 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก็เพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 8-9 เปอร์เซ็นต์(2) นโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศทำให้การส่งออกและนำเข้ามีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับก่อนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปี 2504 ซึ่งขนาดการเปิดของประเทศอยู่ในราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ ได้เพิ่มเป็น 75.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2533 และ 102.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2542(3)

2. โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวสูงมากเมื่อเทียบกับภาคเกษตรกรรมซึ่งยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและกำลังแรงงานร้อยละ 60 อยู่ในภาคเศรษฐกิจนี้(4) สัดส่วนของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ11.4 ในปี 2504 เป็นร้อยละ 26.7 ในปี 2532 และร้อยละ 29.6 ในปี 2535 การส่งออกของไทยก็มีอัตราการขยายตัวสูงเช่นเดียวกันโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา คือร้อยละ 28.8 ในปี 2530 ร้อยละ 33.9 ในปี 2531 และร้อยละ 27.7 ในปี 2532 ในปี 2535 สินค้าส่งออกมีมูลค่าทั้งหมด 831,405 ล้านบาท สัดส่วนของสินค้าส่งออกที่มาจากภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 71.2 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด(5)

3. ทุนไหลเข้าสุทธิในช่วงปี 2533-2539 มีปริมาณสูงมากกระทั่งสูงกว่าการขาดดุลการค้าในแต่ละปี ในช่วงปี 2323-2532 มีอัตราส่วนทุนไหลเข้าสุทธิในแต่ละปีประมาณ ร้อยละ 40-80 ของยอดขาดดุลการค้า แต่ในช่วงปี 2533-2539 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 110-130 สาเหตุที่ไทยสามารถดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้มากในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นผลมาจากนโยบายที่เปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศ การเปลี่ยนไปสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้รัฐบาลยังผลักดันให้เศรษฐกิจเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นการผลิตเพื่อส่งออก อัตราภาษีศุลกากรทั้งขาเข้าและขาออกของไทยจึงลดต่ำลงโดยตลอด(6)

การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมและการเปิดเสรีทางด้านการค้าและทางด้านการเงินของไทย ในช่วงแรกได้ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการไหลเข้ามาของเงินทุนที่กู้จากต่างประเทศ ทั้งที่กู้โดยภาครัฐและเอกชน แต่เงินกู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้พัฒนาศักยภาพการผลิตหรือเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของคนไทย หากแต่กลับกลายเป็นที่มาของลัทธิบริโภคนิยมสุดขั้วและการทุจริตอย่างกว้างขวางทั้งในภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางดังกล่าวกลับทำให้การกระจายรายได้ยิ่งเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น คนส่วนน้อยที่รวยมากอยู่แล้วก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้น กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก จากที่เคยมีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 49.3 ของคนทั้งประเทศในปี 2518 มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57.8 ในปี 2533 และร้อยละ 58.5 ในปี 2542(7)

สภาพเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาประกอบกับผลสำรวจนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐ จำแนกตามอาชีพผู้ปกครองในปี 2537 จะพบว่า ร้อยละ 33 ของนักศึกษามาจากครอบครัวที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 31.42 ประกอบอาชีพรับราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.23 มีอาชีพเกษตรกรและร้อยละ 12.55 มีอาชีพรับจ้าง อีกร้อยละ 8.78 ประกอบอาชีพอื่น ๆ(8) จะเห็นว่า มีนักศึกษาถึงประมาณร้อยละ 60 ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดสองอันดับแรก ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าแวดวงของนักศึกษาในยุคปัจจุบันนั้นเป็นที่รวมของกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ได้เปรียบในสังคมอันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา


โลกาภิวัตน์กับผลกระทบต่อบทบาทของนักศึกษา

นักศึกษายุคปัจจุบันเติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสการพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจ-สังคมไทยถูกผูกโยงเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการเชื่อมโยงส่วนต่างๆเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน(9)

กระบวนการโลกาภิวัตน์ในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเกิดขึ้นเร็วมาก ประการแรก อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการคมนาคม โลกถูกย่อส่วนลงทั้งเวลาและพื้นที่ การแผ่ถึงกันของโลกจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและครอบคลุมไปทั่ว ประการที่สองคือ การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2532 ทำให้โลกสังคมนิยมผนึกเข้ากับโลกทุนนิยมและสร้างเครือข่ายของกระบวนการโลกาภิวัตน์ออกไปอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) เป็นกระแสที่ครอบงำยุคโลกาภิวัตน์ บรรษัทข้ามชาติหรือทุนใหญ่ระดับโลกใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการทำให้ประเทศที่อ่อนแอเปิดประตูการค้าเสรี เปิดระบบการเงินเสรี องค์กรสำคัญของทุนข้ามชาติ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) แท้จริงแล้วล้วนทำหน้าที่วางกรอบกฎเกณฑ์และกดดันให้ประเทศที่เสียเปรียบยกเลิกมาตรการป้องกันตนเอง(10)

พร้อมๆกับกระแสการเปิดเสรีทางด้านการค้าและการเงิน กระแสคลื่นวัฒนธรรมจากซีกโลกที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกันก็หลั่งไหลแผ่คลุมไปทั่วโลก คนชั้นกลางในเมืองเป็นตลาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ดังกล่าว พวกเขาผูกพันตนเองเข้ากับกระแสทุนนิยมสากลและวัฒนธรรมสากล ผูกพันกับสินค้าต่างประเทศ บุคคลต่างประเทศผ่านการทำธุรกิจ การบริโภคข้อมูลข่าวสารทั้งสาระและบันเทิงผ่านสื่อสากล ในขณะเดียวกันก็ยิ่งตัดขาดจากสายใยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชาติที่เสียเปรียบจากการพัฒนาไปเรื่อยๆ

จากผลแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ประกอบกับการผูกสายใยสัมพันธ์กับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทย โลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของนักศึกษาในยุคปัจจุบันถูกครอบงำโดยกรอบแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในด้านหนึ่ง ชีวิตของพวกเขาขึ้นตรงกับเรื่องราวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า การเงิน การลงทุนในเกือบทุกมิติ กิจกรรมการดำเนินชีวิตกลายเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกระบวนการวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสีย ไม่ยกเว้นแม้แต่เรื่องการศึกษาหรือสายใยสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อีกด้านหนึ่ง พวกเขากลายเป็นลูกค้าชั้นดีของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เสรีนิยมที่มุ่งหวังเพียงผลกำไรสูงสุด เนื่องจากเป็นกลุ่มชนที่มีอำนาจซื้อสูงและเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นที่ทำการแยกตัวออกจากรากเหง้าของสังคมวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมจนแทบไม่เหลือเยื่อใย พวกเขาจึงกลายเป็นตลาดใหญ่ที่รองรับสินค้าทุกประเภท รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากสังคมตะวันตก

การโหมกระพือของลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยมและปัจเจกชนนิยมล้วนเป็นการตอบสนองและดำรงไว้ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราเป็นใหญ่ นักศึกษาถูกชักนำให้ยึดติดกับการบริโภคเพื่อตอบสนองความพอใจเฉพาะตน ยึดติดกับความสุขที่ได้รับจากการมีวัตถุปรนเปรอภายนอกและยินดีทำทุกอย่างเพื่อเงินทอง


ภาพรวมของนิสิตนักศึกษายุคปัจจุบัน

มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอย่างน้อย 3 ประการที่ควรพิจารณาคือ

ประการแรก นักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือก ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพมหานครมีประชากรเพียงประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ประการที่สอง นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียง 5 - 8% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีถึงร้อยละ 75 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ

ประการที่สาม นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีและฐานะปานกลาง ส่วนผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนมีไม่ถึง 5% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด(11)

แนวโน้มดังกล่าวมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2514 - 2516 แต่สัดส่วนอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นชนชั้นผู้ได้เปรียบเหมือนกัน แต่ด้วยบริบททางสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ทั้งสองยุคสมัยแตกต่างกันไม่น้อย

รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าเยาวชนไทยปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงและอันตราย จากการถูกหล่อหลอมจากสังคมที่ถูกครอบงำจากลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยม นอกจากนี้ระบุว่าเมื่อนำผลการศึกษาวิจัยในเรื่องเด็กไทยพันธุ์ใหม่ ค.ศ. 2000 เป็นแกนหลักและเชื่อมโยงกับผลการศึกษาวิจัยกว่า 15 ชิ้น ทำให้สามารถเสนอภาพของเด็กไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะที่เด่นชัดดังนี้

1. ระดับสติปัญญาของเด็กไทยมีแนวโน้มลดต่ำลง

2. สภาพร่างกายที่อ่อนแอลง ขาดภูมิต้านทานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์

3. วุฒิภาวะทางอารมณ์ พฤติกรรมและการแสดงออกแฝงไว้ด้วยความก้าวร้าวรุนแรง

4. เด็กอยู่ในวัยเยาว์แต่เรียนรู้เรื่องเพศไวกว่าวัยที่ควรจะเป็น ต่อกรณีนี้มีรายงานการศึกษาและผลการสำรวจของสถาบันการศึกษาหลายแห่งพบว่าเด็กหญิง-ชายอายุ 10-11 ปีบางคนเริ่มเรียนรู้การมีเพศสัมพันธ์แล้วและอายุเฉลี่ยของเด็กไทยที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลดน้อยลงตามลำดับ ในปัจจุบันสถิติของเด็กชายอยู่ที่ 16 ปีส่วนเด็กหญิงอยู่ที่ 17 ปี

5. มุ่งแสวงหาความรู้ ความสุขและการมีเพื่อนใหม่ทางอินเตอร์เน็ต

6. วัตถุนิยมถูกใช้เป็นหลักในการสร้างคุณค่าเชิงปริมาณ

7. การให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าส่วนรวม

8. เด็กจำนวนมากขาดรากเหง้าทางศีลธรรม ศาสนาและวัฒนธรรม

9. เด็กเกิดภาวะความเครียดและการกดดันจากการแข่งขัน มีวัฒนธรรมเงียบ แยกตนจากคนในครอบครัว

10.การมองความสำเร็จในเชิงตัวบุคคลมากกว่าความเป็นหลักการและเหตุผล ชอบลอกเลียนและแสวงหาความสำเร็จโดยไม่เลือกวิธีการ

11. ชอบการพนัน

12. เด็กทำงานหนักไม่เป็น

“เด็กและเยาวชน” ที่กล่าวถึงข้างต้น โดยแท้จริงแล้วก็ไม่อาจไม่นับรวมนิสิตนักศึกษาเข้าอยู่ในสังกัดด้วยได้ พฤติกรรมหลายๆด้านนั้นพบเห็นได้ชัดเจนในหมู่คนหนุ่มสาววัย 18-25 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ภาพสะท้อนไม่ได้มีเพียงบทบาททางการเมืองและสังคมที่เลือนหายไป แต่ยังมีปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาอีกมากมายที่สังคมเห็นว่าจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไข

แน่นอนว่าคงไม่มีผู้ใดเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาต้องออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหรือจับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่เหมือนที่นิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 เคยทำ แต่ด้วยพันธกิจและแม้กระทั่งคำป่าวประกาศของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเองก็เป็นที่รับรู้เสมอมาว่า หน้าที่ของมหาวิทยาลัยนอกจากจะผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อใช้ความรู้ในการพัฒนาประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีหน้าที่รับในการช่วยเหลือและรับใช้ประชาชนผู้เสียเปรียบหรือตกทุกข์ได้ยากด้วย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทหนึ่งของนิสิตนักศึกษาไทยที่ทุกคนยอมรับก็คือ การเป็นผู้มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากและการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบัน บทบาทดังกล่าวยังคงได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังต่อนักศึกษาในยุคต่อ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในงานรับเพื่อนใหม่หรือกิจกรรมการรับน้องใหม่ของคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ การฉายภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคมและ 6 ตุลาคมพร้อมรายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์ให้กับนักศึกษาใหม่ได้รับรู้ พร้อมกันนั้น วลีอย่างเช่น 'ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน', 'มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน' ก็จะได้รับการบอกกล่าวให้นักศึกษาใหม่ได้ยินอยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คณะผู้จัดงานจะละเลยมิได้ เช่นเดียวกับการปิดท้ายงานด้วยการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องจากค่ายเทปใหญ่ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่านักศึกษายุคปัจจุบันไม่ปฏิเสธบทบาทที่ตนควรมีต่อสังคมเสียทั้งหมด (ไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม) วาทกรรมการรับใช้ประชาชนนั้นยังคงอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยไทยเสมอมา แต่จะมีการกระทำรองรับหรือไม่นั้นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


“มหาลัย…ที่ดับวิญญาณนักศึกษา” ซีรี่ย์ข่าวเชิงวิเคราะห์ชุด : มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 รายงานว่า แนวโน้มของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มุ่งเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองทุนนิยม และระบบการตลาดมากขึ้นทุกที ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“ขณะที่การเข้ามหาวิทยาลัยเป็นแค่การชุบตัว ซื้อใบปริญญาเพื่อเป็นใบผ่านทางในการทำงานเท่านั้น ทุกคนมุ่งเน้นแต่การเรียนเพื่อให้ได้เกรดสูงๆ ได้เกียรตินิยมและสนในเฉพาะหนังสือที่อาจารย์ให้อ่าน อ่านยังไงให้ได้เกรดดี ตอบข้อสอบยังไงให้ตรงใจอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะไม่สนใจความรู้อื่นๆ ที่จะสะสมและพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์” ตัวอย่างที่บทความเสนอคือในช่วงใกล้จะถึงวันสอบของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บางกลุ่ม) นิสิตลูกคนรวยจะไปเปิดจองห้องในโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส เพื่อใช้เป็นสถานที่ติวข้อสอบและเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางเมื่อถึงวันสอบจริง ทั้งนี้ทางโรงแรมยังมีส่วนลดพิเศษสำหรับนิสิตจุฬาฯเป็นพิเศษประมาณ 10% อีกด้วย


รศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “โครงสร้างของจุฬาฯเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพของมหาวิทยาลัยและก็เห็นความเข้มข้นหลายอย่าง อยู่กลางเมือง อยู่ในความสะดวกที่สุด ถูกขนาบข้างด้วยศูนย์การค้า เวลาที่เรียนในห้องเรียนแล้วเบื่อก็ไปเดินเล่น โอกาสที่จะทำกิจกรรมหรือคิดเพื่อสังคมมีน้อยลงทุกที... ระบบมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน สิ่งที่เชิดหน้าชูตาก็คือเกียรตินิยม เชียร์ลีดเดอร์ อัญเชิญพระเกี้ยว เรื่องอื่นๆไม่ได้อยู่ในความสนใจของนักศึกษา จำนวนคนที่สนใจทำกิจกรรมน้อยลงทุกที เด็กๆหลายคนที่มาคุยกับผมบอกเลยว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นที่ดับวิญญาณของนักศึกษา”


“นิสิตนักศึกษายุครับใช้ตนเอง” โดยรศ.สมพงษ์ จิตระดับ หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ฉบับวันที่12 ธันวาคม 2545

รศ.สมพงษ์ ชี้ว่า ในปัจจุบัน “ยิ่งมหาวิทยาลัยอ้างถึงประชาชนมากเท่าใดมหาวิทยาลัยนั้นจะยิ่งฟุ้งเฟ้อไร้สาระและบ้าวัตถุมากขึ้นเท่านั้น ไม่มียุคใดสมัยใดที่นิสิตนักศึกษาจะไร้จิตสำนึกต่อประชาชนและสังคมมากเท่ายุคนี้” นอกจากนี้รศ.สมพงษ์ยังวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่นิสิตนักศึกษาไม่สนใจสังคมและประชาชนเพราะเป็นความตั้งใจของผู้บริหาร นักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่อไปนี้

1. กิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัยและนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาล้วนต้องการดึงความสนใจของนักศึกษาจากปัญหาของบ้านเมืองมาสู่กิจกรรมความบันเทิง การประกวด การแข่งขันกีฬา การรับน้องและอื่นๆ อันเนื่องมาจากการไม่ไว้วางใจนิสิตนักศึกษาซึ่งเคยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางสังคม การเมือง การต่อต้านเผด็จการและเป็นพลังสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

2. บรรยากาศของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อธิการบดีจำนวนไม่น้อยมุ่งไปสู่การนำมหาวิทยาลัยไปสู่ยุคธุรกิจการศึกษา การขยายวิทยาเขต เปิดหลักสูตรพิเศษเพื่อหารายได้ การหาลูกค้าทางการศึกษา การลงทุนร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาจารย์ยุคใหม่ไม่มีใครลงมาทำกิจกรรมทางสังคมดังแต่ก่อน ทุกคนมุ่งหวังสร้างเนื้อสร้างตัวในเวลาอันสั้นจากหลักสูตรพิเศษ การคุมวิทยานิพนธ์และการวิจัยของภาคธุรกิจเอกชน

3. มหาวิทยาลัยมีระบบหลักสูตรที่เน้นแต่ภาควิชาการเป็นหลัก กิจกรรมในมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นเรื่องตัวบุคคลที่ทำด้วยตนเอง “มหาวิทยาลัยที่เน้นเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ให้ไปดูความเจือจางแห่งอุดมการณ์ได้ทุกตารางนิ้วเช่นเดียวกัน” นิสิตนักศึกษาไม่ชอบทำกิจกรรม “ผู้เขียนไปแทบทุกมหาวิทยาลัยล้วนแต่เห็นสภาพความอ่อนแอทางปัญญาที่ผู้ใหญ่เสนอกิจกรรมแบบแยบยลให้ติดกับความฟุ้งเฟ้อ สนุกสนานจนถอนตัวไม่ขึ้นและสายพันธุ์นี้จะรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ”


มองบทบาทนิสิตนักศึกษาผ่านสิ่งพิมพ์ในมหาวิทยาลัย

อาจไม่เป็นการยุติธรรมต่อนิสิตนักศึกษานักหากจะศึกษาภาพรวมของพวกเขาผ่านมุมมองของ ‘ผู้ใหญ่’ เพียงด้านเดียว

ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง จะพบเห็นสิ่งพิมพ์ของนักศึกษาวางจำหน่ายหรือแจกฟรีให้กับผู้ที่สนใจอยู่เป็นระยะ โดยมีรูปแบบและเนื้อหาแตกต่างกันไป ส่วนหนึ่งของสิ่งพิมพ์ดังกล่าวผู้เขียนได้ทำการรวบรวมและศึกษาเนื้อหาของสิ่งพิมพ์เหล่านั้น ดังนี้

1. โดม’43 จัดทำโดยสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดประสงค์หลักของการจัดพิมพ์คือการแนะนำให้นักศึกษาทั่วไปรู้จักกับสภานักศึกษา “เพราะหลายคนยังไม่รู้เลยว่ามีองค์กรนี้อยู่หรือบางคนรู้ว่ามีแต่ก็ไม่รู้ว่ามีไว้ทำอะไร” (บทบรรณาธิการ, โดม’43 ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2543)

เนื้อหาโดยรวมนอกจากจะเป็นการแนะนำสภานักศึกษาแล้วยังมีบทความและบทกวีตีพิมพ์รวมอยู่ด้วย เช่นบทกวี ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ของวิทยากร เชียงกูล, ข้อเขียนจากเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเพื่อการเลือกตั้ง, บทสัมภาษณ์เชียร์ลีดเดอร์งานฟุตบอลประเพณีและคอลัมน์ Gossip

2. Common จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปกติแล้วจะพิมพ์แจกฟรีภายในหมู่นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์เฉลี่ยเดือนละ 1 ฉบับ เนื้อหาภายในส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับแวดวงนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ คอลัมน์ซุบซิบ นินทา เรื่องราวเบาสมอง เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านอาหาร เป็นต้น ตัวอย่างเนื้อหา เช่น สัมภาษณ์คู่รักที่ไม่ล้มเหลวในการบอกรัก, แอบรักเพื่อน...จะบอกเขาไปหรือรักษามิตรภาพไว้, แฉวิธีการไดเอ็ด, เทียบความหล่อ&น่ารักของหนุ่มสาวจุฬาฯ&ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

3. จุลสารกระดานดำ จัดทำโดยชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับแรกตีพิมพ์ในปี 2544 เนื้อหาของจุลสารค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องสั้น การนำเสนอประเด็นการย้าย-ไม่ย้าย การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ความรักของหนุ่มสาว วิถีชีวิตนักศึกษาทั้งที่ศูนย์รังสิตและท่าพระจันทร์ บทความแนะนำหนังสือดี เป็นต้น จุดเด่นที่สุดของจุลสารฉบับนี้คือการรวบรวมบทกวีที่แต่งโดยนักศึกษาซึ่งมีเนื้อหาที่แตกต่างหลากหลายตามความสนใจของแต่ละบุคคล

ตัวอย่างแนวคิดของนักศึกษาที่สะท้อนผ่านบทความและบทกวีในจุลสารฉบับนี้ มีดังนี้

“ยุคนี้คำว่า ‘ธรรมศาสตร์’ ในความหมายของนักศึกษาคือมหาวิทยาลัยมีอันดับในประเทศไทย คือความหรูหราฟุ่มเฟือยของการแข่งกันเรียน แข่งขันกันแต่งตัว ฯลฯ ... จิตวิญญาณรับใช้ประชาชนน่ะเหรอ เอาไปรับใช้ GSM 2 วัตต์ซะจะดีกว่า! อุดมการณ์ทางการเมืองน่ะเหรอ!!! เอาไปไกลๆฉันดีกว่าน่า นี่แหละคือภาพที่ฉันเห็นส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ท่าพระจันทร์” ( จุลสารกระดานดำ ฉบับท่าพระจันทร์ ฉบับที่ 1 ปี 2544)

“... แต่ลูกชายคนนี้ทำใจไม่ได้ที่ลูกชายลูกสาวของแม่หลายๆคนปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงอยู่เหนือการควบคุม พวกเขาไม่ใส่ใจ ไม่ไยดีว่าแม่จะเป็นอย่างไร พวกเขาลืมรากเหง้าลืมตัวของแม่…ตอนนี้พวกเขาเต้นรำ บ้าบอกับการทุ่มเงินทำงานฟุตบอลประเพณีเป็นแสนๆ พวกเขาสนุกกับชีวิตเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
วันนี้โดมพระจันทร์เงียบสงัด สายลมพัดอดีตห่างจากใจฉัน

วันนี้ดินแดนโดมช่างเงียบงัน

เพราะพวก “มัน” คิดเอาแต่ทำลาย

ฉันตื่น ฉันรู้ จึงลองสู้

แต่ก็ดูเหมือนแรงร้างละลายหาย

พบคนใหม่ให้สลดน่าละอาย

พวกเขาตายในความคิดสู่เสรี

ขอให้สุขกับสิ่งแสนสะดวก

สุขกับพวกพ้องเพื่อนให้เต็มที่

เมเจอร์ฯ ฟิวเจอร์ฯ คือชีวี

แล้วเฉยเมยท่าทีต่อสังคม

ใช้สิทธิเสรีให้เต็มที่

ชีวิตนี้เพื่อดูหนัง-กินขนม

ใช้ชีวิตเสเพล…ถ้าชื่นชม

สุขอารมณ์ตามสบายในเมืองแมน

จงรู้ไว้ธรรมศาสตร์จะตายหาย

เหลือแต่กายเอาไว้ใช้ทำเงินแสน

เหล่าลูกโดมก็ให้ใช้ชื่ออื่นแทน

สร้างดินแดนเสื่อมโทรมแห่ง “ทุนนิยม”

(จุลสารกระดานดำ ฉบับสัมภาระ ฉบับที่ 3 ปี 2545)

เนื้อหาในจุลสารกระดานดำเริ่มพบเรื่องราวทางสังคมและการเมืองมากขึ้น ที่สำคัญคือมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและความประพฤติของนักศึกษาอย่างตรงไปตรงมาจากนักศึกษาด้วยกันเอง โดยมุมมองการวิพากษ์วิจารณ์นั้นส่วนมากก็ไม่ต่างจากมุมมองของ ‘ผู้ใหญ่’ มากนัก

4. จุลสารการะเวก จัดทำโดยนักศึกษากลุ่มอิสระ จุดประสงค์การจัดพิมพ์นั้นสะท้อนผ่านบทบรรณาธิการดังนี้ “ฉบับแรกนี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวทางอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดอีกเล็กน้อยของคนที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับชีวิต... ชีวิตที่ถูกห้อมล้อมด้วยคำป่าวประกาศถึงเสรีภาพแต่แท้ที่จริงกลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดและการลงทัณฑ์ ชีวิตที่ไม่ต้องซีเรียสอะไรเพราะสิ่งที่น่าซีเรียสอย่างสุดยอดกลับถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ” จุลสารฉบับนี้เป็นการรวบรวมบทความของนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนความเปลี่ยวเหงาในชีวิตและความแตกต่างแปลกแยกจากสังคมของคนส่วนใหญ่ บทความบางชิ้นยังได้วิพากษ์วิจารณ์บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยและค่านิยมที่นักศึกษาส่วนใหญ่ยึดถือ

5. Cheer Tham จัดทำโดยชุมนุมเชียร์และแปรอักษร พิมพ์แจกฟรีในช่วง 4-5 เดือนก่อนการแข่งขันฟุตบอลประเพณีในแต่ละปี วัตถุประสงค์หลักคือต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับชุมนุมเชียร์ฯและรายละเอียดต่างๆของการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ท่ามกลางกระแสการต่อต้านการจัดงานฟุตบอลประเพณีจากนักศึกษาส่วนหนึ่งและสังคมภายนอก แต่ Cheer Tham และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานฟุตบอลประเพณีอื่นๆก็ยังคงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนักศึกษาส่วนใหญ่ สิ่งที่เห็นชัดเจนคือการคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยยังคงมีนักศึกษาชาย-หญิงสมัครเข้าคัดเลือกเป็นจำนวนมากทุกปี

6. หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย จัดทำโดยนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จัดพิมพ์จำหน่ายเป็นประจำทุกปี หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เปรียบเสมือนเวทีทดลองฝีมือสำหรับนักศึกษาภาควิชาหนังสือพิมพ์ เนื้อหาที่เสนอส่วนใหญ่เป็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวภายในรั้วมหาวิทยาลัย ประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนหรือข่าวคราวของชุมชนรอบๆมหาวิทยาลัย การนำเสนอประเด็นปัญหาทางการเมืองและสังคมพบเห็นได้บ้างแต่ก็ไม่เข้มข้นมากนัก

หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยนั้นจวบจนปีปัจจุบันมีอายุยาวนานถึง 46 ปีแล้ว แต่เดิมหนังสือพิมพ์เคยมีบทบาทสูงมากในการเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา โดยเฉพาะในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าหนังสือพิมพ์เหลือเพียงบทบาทในการเป็นเวทีฝึกงานสำหรับนักศึกษาและไม่เป็นที่แพร่หลายนักในหมู่ผู้อ่านปัญญาชน

7. วารสารลานโพ ฉบับ Dome See Through ฉบับนี้ตีพิมพ์ในปี 2545 จัดทำโดยนักศึกษากลุ่มอิสระ วารสารฉบับนี้เริ่มต้นตีพิมพ์ในปี 2540 และอาจกล่าวได้ว่า ‘ลานโพ’ เป็นแหล่งรวบรวมบทความที่วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของนักศึกษายุคปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาและเข้มข้นมากที่สุดฉบับหนึ่งในแวดวงสิ่งพิมพ์ของนักศึกษา บทความส่วนใหญ่ให้ภาพของความตกต่ำในหลายๆด้านของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้มีการยังนำเสนอประเด็นปัญหาของสังคม เช่น กรณีเด็กขายพวงมาลัยหรือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคู่รักนักศึกษา ตัวอย่างของบทความมีดังนี้

“…สถาบันทางการศึกษาเองก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนให้ต้องรับรู้ต่อสถานการณ์ของประเทศ จะเห็นได้จากกิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาในปัจจุบันให้ความสนใจ และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย จะเป็นกิจกรรมประเภทที่ไม่ต้องคิดมากในเรื่องการเมือง ยกตัวอย่างเช่น งานฟุตบอลประเพณีและกีฬามหาวิทยาลัย” (ฟ้ารุ่ง ศรีขาว, ธรรมศาสตร์ที่หายไปจากความเคลื่อนไหวทางการเมือง, น.13)

“ระหว่างเรียนเธอก็ใช้ชีวิตสนุกสนาน เฮฮา ฟู่ฟ่า ตามยถาประดามี แต่มันก็คงบังเอิญที่เหล่าเธอทั้งหลายมีกะตังกันมากอยู่ซักหน่อย จึงพอจะมีเงินเจียดมาซื้อกระเป๋าราคาแพงๆ แต่งตัวให้โก้หรูหรา เดินหาของกินดีๆ เที่ยวห้าง ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวเธค ผับ RCA ซื้อมือถือราคาแพง อวดแข่งความทันสมัย…” ( พงศธร ศรเพชรนรินทร์, หนุ่มสาวเอยเธอจะไปสู่หนใด, น.17)

“ในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่หล่อหลอมระบบความคิดของนักศึกษาให้หนีห่างจากความเป็นจริงมากขึ้น ความเป็นจริงของมหาวิทยาลัยที่กำลังเดินผิดทาง แต่นักศึกษาก็ไม่ได้สนใจ ในขณะที่มหาวิทยาลัยกำลังเข้มข้นด้วยเกมการเมืองจะย้าย-ไม่ย้าย นักศึกษาก็เพิกเฉย ถึงแม้เรื่องทุกเรื่องที่เกิดขึ้นล้วนข้องเกี่ยวกับนักศึกษาโดยตรง แต่ไม่มีใครคิดจะใส่ใจเพราะไม่มีใครมีจิตสำนึกของความเป็นธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง” (อภิชัย อาภรณ์ศรี, ธรรมศาสตร์วันนี้, น.87)

จากบทสำรวจสิ่งพิมพ์ของนักศึกษาเท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ พบว่านักศึกษาส่วนหนึ่งแสดงออกถึงความผิดหวังและความไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ภายในมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ถึงแม้จะเป็นคนส่วนน้อยแต่ข้อเขียนที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของนักศึกษายุคปัจจุบันนั้นปรากฏออกมามากพอสมควร ไม่ว่าจะแพร่หลายหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้เราคงพอมองเห็นภาพของนิสิตนักศึกษาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านทางมุมมองของส่วนหนึ่งของพวกเขาเอง


บทสรุป

บทบาทและแนวคิดทางการเมืองของนักศึกษาผูกพันเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางการเมือง-เศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัยอย่างแยกกันไม่ออก ทัศนคติที่มีต่อโลก ต่อสังคมและต่อตนเองล้วนได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล

บรรยากาศทางการเมืองที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและสามารถควบคุมสังคมได้ในเกือบทุกมิติ ประกอบกับการเริ่มต้นพัฒนาประเทศในแนวทางทุนนิยมที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ นักศึกษาจึงเป็นผลิตผลโดยตรงของกระบวนการพัฒนาประเทศและกลายมาเป็นผู้ตั้งคำถามต่อโครงสร้างดังกล่าวในเวลาต่อมา

แม้ในความเป็นจริง คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมด แต่ก็เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลังและสามารถเชื่อมโยงแนวคิดเข้ากับคนส่วนที่เหลือได้ ด้วยรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่ยังไม่ถูกตัดขาดจากคนส่วนใหญ่ของประเทศมากเท่ากับในปัจจุบันและด้วยฐานะของปัญญาชนผู้แสวงหาความรู้ ทำให้นักศึกษากลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้และกลายเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่

พลังดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และนำมาซึ่งการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สงครามอุดมการณ์ในยุคสงครามเย็น ได้ผนวกเอาการต่อสู้ดังกล่าวข้ากับสงครามอุดมการณ์ในระดับโลก แต่การล่มสลายของอาณาจักรโซเวียตก็ทำให้สงครามดังกล่าวจบสิ้นลงอย่างเป็นทางการ โลกเดินทางเข้าสู่สมรภูมิรบในรูปแบบใหม่ที่ไร้ขอบเขตและทารุณโหดร้ายยิ่งกว่าเดิม ประเทศต่าง ๆ เริ่มก่อสงครามทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยมเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยเข้าสู่สมรภูมิดังกล่าวอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ทุนนิยมกลายเป็นอุดมการณ์เดียวที่ครอบงำคนส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศจนถึงกรรมกร ชาวไร่ชาวนา 'เงิน' กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการวัดความสุขและความสำเร็จในชีวิตของปัจเจกบุคคล คนชั้นกลางที่เริ่มก่อตัวขึ้นในทศวรรษ 2510 เป็นกลุ่มชนที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศในแนวทางทุนนิยมโดยตรง ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่นับวันจะขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พวกเขาเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าทุกประเภทและนับวันสังคมของพวกเขาก็ยิ่งถอยห่างออกจากสังคมของผู้เสียเปรียบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เช่นเดียวกับนักศึกษาในปัจจุบัน ด้วยเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อบทบาทและพฤติกรรมของพวกเขาด้วย นักศึกษาส่วนใหญ่เติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจและท่ามกลางวัฒนธรรมซึ่งตัดขาดจากวัฒนธรรมดั้งเดิมแทบจะสิ้นเชิง โลกทรรศน์ของพวกเขาถูกเชื่อมโยงอยู่กับเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการตอบสนองความสุขส่วนตนจากการใช้จ่ายและการบริโภคมากกว่าที่จะสนใจปัญหาความเป็นไปของบ้านเมืองหรือกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสในสังคม คำว่า 'ส่วนรวม' แทบจะถูกตัดออกจากระบบคิดของพวกเขาเนื่องจากไม่สอดคล้องกับแนวคิดของนักธุรกิจผู้หวังผลกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง

โครงสร้างของระบบการศึกษาไทยเองก็เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าคนจน ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมบริษัทธุรกิจต่าง ๆ จึงหวังช่วงชิงส่วนแบ่งของตลาดระดับอุดมศึกษา ไม่ยกเว้นแม้แต่ธุรกิจการประกวดนางงาม ปัจจุบันเราจึงพบเห็นบรรยากาศงานเปิดตัวสินค้าในรั้วมหาวิทยาลัยมากยิ่งกว่าบรรยากาศทางวิชาการ

ด้วยเหตุดังกล่าว การเรียกร้องให้นักศึกษากลับมามีบทบาทเช่นในอดีตจึงเป็นสิ่งที่ขัดกับเงื่อนไขทั้งหมดในสังคม ซึ่งออกแบบให้นักศึกษาถอยห่างออกจากเรื่องราวของชาติบ้านเมืองและของส่วนรวมมาตั้งแต่ต้น อย่าว่าแต่ความทุกข์สุขของเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน

บทบาททางการเมืองและสังคมของนักศึกษาที่หายไป จึงเป็นผลิตผลโดยตรงจากกระบวนการพัฒนาประเทศในระยะประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่มันเคยเป็นต้นกำเนิดของพลังนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 2510 ระยะเวลาต่อจากนี้ไปคงต้องขึ้นอยู่กับว่าแนวทางการพัฒนาประเทศของไทยจะเป็นไปในทิศทางใด และผลกระทบต่อบทบาทของนักศึกษาจะเป็นเช่นไร แต่หากสังคมยังคงหวังให้พลังนักศึกษากลับคืนมาพร้อม ๆ กับอนาคตที่ดีขึ้นของเยาวชนรุ่นใหม่ เราคงต้องหันกลับมาทบทวนกันใหม่ว่ากระบวนการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้นเดินมาถูกทิศผิดทางอย่างไร


เชิงอรรถ

1) พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, “วิกฤตเศรษฐกิจไทย : โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลง”, ใน ทุนนิยมฟองสบู่: ปรัชญาและทางออก. (สถาบันวิถีทรรศน์, 2544), น.3

2) วิทยากร เชียงกูล, ข้อเท็จจริงและอนาคตเศรษฐกิจสังคมไทย. (สำนักพิมพ์มิ่งมิตร,2544), น.17 อาจารย์วิทยากรยังชี้ว่า ถ้ามองผลิตภัณฑ์มวลรวมอย่างจำแนก ภาคอุตสาหกรรม, ก่อสร้าง, บริการและอื่นๆ จะมีสัดส่วนสูงและเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภาคการเกษตรมาก ผู้ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการและผู้ปฏิบัติงานระดับสูงและระดับกลาง เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเกษตรกรและคนจนในเมือง โดยนัยนี้แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้คนชั้นกลางในเมือง (ซึ่งมีเหลือกินเหลือใช้อยู่แล้วและเป็นที่มาของนักศึกษาส่วนใหญ่) ร่ำรวยมากขึ้นกว่าคนชั้นกลางในช่วงปี 2516-2519 โดยเปรียบเทียบ

3) เล่มเดียวกัน, น.21

4) วรวิทย์ เจริญเลิศ, “เศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกานุวัตร”, ใน สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ), โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย. (ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538), น.98

5) เล่มเดียวกัน, น.99

6) พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, อ้างแล้ว, น.5

7) วิทยากร เชียงกูล, อ้างแล้ว, น.35

8) เล่มเดียวกัน, น.76

9) โลกานุวัตร (Globalization) เป็นกระบวนการเชื่อมโยงส่วนต่างๆของโลกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดู รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, “โลกานุวัตรกับสังคมเศรษฐกิจไทย”, ใน สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ), โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย. (ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2538), น.61

10) เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ก่อนสิ้นศตวรรษ. (สำนักพิมพ์สามัญชน, 2544), น.276

11) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร. (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2544), น.346


บรรณานุกรม

ทุนนิยมฟองสบู่: ปรัชญาและทางออก
, สถาบันวิถีทรรศน์, 2544

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2544

วิทยากร เชียงกูล, ข้อเท็จจริงและอนาคตเศรษฐกิจสังคมไทย, สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, 2544

สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ), โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย, ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ก่อนสิ้นศตวรรษ, สำนักพิมพ์สามัญชน, 2544

3 Comments:

At 12/21/2005 6:45 PM, Blogger pickmegadance said...

ใช่กิตเพื่อนเราหรือเปล่าเนี่ยะ
ตามลิงค์พี่เบิร์ดเข้ามาน่ะ
ยังอ่านไม่หมดเลย เพราะยาวมาก
เข้ามาทักเฉยๆ

 
At 12/22/2005 11:39 AM, Blogger K. Samphan said...

ใช่แล้วปิ๊ก
ไม่ต้องอ่านหมดก็ได้
เป็นรายงานทำส่งอาจารย์ตอนเรียน
เอามาเก็บไว้ที่นี่จะได้ไม่ลืมทิ้งไว้ที่ไหน

 
At 4/17/2018 2:09 PM, Anonymous Cara Mudah Mengobati Diabetes said...


This information is very useful. thank you for sharing. and I will also share information about health through the website

Obat Sakit Mata Belekan Alami
Cara Mengatasi Diare
Obat Sariawan Alami
Obat Penghancur Batu ginjal
Cara Menyembuhkan Mata Minus
Cara Mengobati Gusi Bengkak

 

Post a Comment

<< Home