สรุปสาระสำคัญของ "รัฐปัตตานี ใน 'ศรีวิชัย' เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์"
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มติชน เมษายน 2547
หลังจากจับต้นชนปลายไม่ถูกอยู่แรมปีนับตั้งแต่การปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ที่ค่ายกองพันทหารพัฒนา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส รัฐมนตรีผู้ดูแลรวมถึงแม่ทัพภาคก็มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว การปรับกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาด้วยการผนึกแนวร่วมจากทุกฝ่ายก็กำลังดำเนินการอยู่ ขณะที่เงินงบประมาณก็กำลังผันเข้าสู่พื้นที่อย่างต่อเนื่องตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ดูเหมือนปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังมองไม่เห็นหนทางคลี่คลาย
ล่าสุด รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็โชว์วิสัยทัศน์ “นกกระดาษเพื่อสันติภาพ” เชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศพับนกกระดาษคนละหนึ่งตัว เพื่อเป็นสื่อแทนใจถึงความปรารถนาดี ความห่วงใยที่คนไทยทั้งประเทศมีต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากที่ตั้งเป้าไว้หกสิบกว่าล้านตัว ในท้ายที่สุดนกกระดาษนับร้อยล้านตัวก็ถูกโปรยลงเหนือน่านฟ้าที่ยังระอุกรุ่นและปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกอันทึบทึมในวันที่ 5 ธันวาคม วันที่ถือเป็นมหามงคลฤกษ์ของปวงชนชาวไทย
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ (กอ.รมน.) เตรียมเสนอยกร่างกฎหมายพิเศษ สำหรับป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเห็นว่าประมวลกฎหมายพิจารณาความคดีอาญา ไม่สามารถบังคับใช้และปราบปรามกับอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางก่อนที่รัฐบาลจะล้มเลิกแนวคิดนี้ในที่สุด โดยชี้แจงว่าปัญหาทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน 5 ฉบับบวกกับการนำกฎอัยการศึกมาใช้บางส่วน
ทางด้านแวดวงบันเทิง ก็ส่งเพลง “ขวานไทย ใจหนึ่งเดียว” ออกมากระหึ่มไปทั่วทั้งวิทยุ โทรทัศน์ รวบรวมนักร้องนำเกือบ 50 คนกับนักร้องประสานเสียงอีกนับร้อยชีวิตร่วมกันร้องเพลงเพื่อสานใจไทยทั้งชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ยืนยง โอภากุลแต่งเนื้อร้องภายในวันเดียวก่อนส่งให้เทียรี่ เมฆวัฒนา กับพงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดูแลเรื่องดนตรี หวังที่จะสร้างบรรยากาศแบบเพลง “มิตรสัมพันธ์” ให้กลับมาอีกครั้ง
และในวันที่ 16 พฤศจิกายน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระราชกระแสเล่าถึงพระราชกรณียกิจและทุกข์สุขของราษฎรที่ได้ทรงรับทราบด้วยพระองค์เอง ขณะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งตอนหนึ่งว่า “จะวิงวอนขอร้องให้ทำอย่างไร จะไม่ขอพูดรายละเอียด แต่ขอให้แสดงความรัก ความห่วงใยราษฎรภาคใต้ ก็อยากให้สามัคคีเกิด คิดถึงท่านทั้งหลาย ผู้แทนข้าราชการ องค์กรอิสระ สมาคม นิสิต นักศึกษา ไทยอาสา สื่อมวลชน ช่วยกันคิดอ่านหาทางยุติการฆ่ารายวัน ท่านน่าจะช่วยกัน ช่วยรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สะสาง ยุติเหตุการณ์ฆ่าเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่รอรัฐบาลฝ่ายเดียว”
แต่ท่ามกลางข่าวความสับสนวุ่นวายของสถานการณ์ความไม่สงบและความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เรื่องราวบางอย่างดูเหมือนจะยังคงถูกปกปิด
“รัฐปัตตานี ใน ‘ศรีวิชัย’ เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์” เป็นการรวบรวมงานค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่นภาคใต้ เพื่อฉายภาพความเป็นมาของพื้นที่บริเวณตอนกลางของคาบสมุทรมลายูซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีบ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนใหญ่ระดับรัฐที่มีการค้าทางทะเลกับดินแดนห่างไกลมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1000 และรัฐโบราณตรงนี้เองที่พัฒนาต่อเนื่องเป็นรัฐลังกาสุกะ ก่อนที่จะเป็นรัฐปัตตานีซึ่งเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาฮินดู-พุทธเป็นศาสนาอิสลามดังเช่นในปัจจุบัน
“เรื่องเล่าจากชายแดน” บทนำเกียรติยศของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เป็นประตูบานแรกที่จะเปิดไปสู่การทำความเข้าใจ “แม่บท” ของ “ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวางไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าเหตุใดประวัติศาสตร์ไทยจึงก่อให้เกิดสำนึกดูแคลนคนอื่นในหมู่ประชาชน อันเป็นผลให้เกิดปัญหาตามมาจนกระทั่งทุกวันนี้
บทความชิ้นนี้มุ่งแสดงให้เห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างเรื่องราวในชายแดนปัจจุบันกับเรื่องราวแห่งชาติ อัน “เป็นผลมาจากการผันแปรความหมายและคุณสมบัติของบ้านเกิดเมืองนอน อย่างปัตตานีและชาติไทย กับอำนาจล้นหลามของเรื่องเล่าที่มีข้อจำกัดมากมายอย่างประวัติศาสตร์แห่งชาติ” (หน้า 8)
อ.ธงชัยชี้ว่า ความรู้ประวัติศาสตร์ไทยแบบสมัยใหม่ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 อยู่ภายใต้ตรรกะที่ผิดหรือไม่เข้าใจระบบการเมืองของรัฐก่อนสมัยใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าซึ่งเป็นลำดับชั้น (hierarchy) คือเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะของเจ้าพ่อกับเจ้าพ่อในเขตต่าง ๆ ที่ยอมจงรักภักดีต่อกันตามระดับอำนาจของตน และเขตอิทธิพลของเจ้าพ่อแต่ละรายก็สามารถซ้อนทับกันได้หรือเปลี่ยนมือไปมาได้ ตามแต่ความผันผวนภายในกลุ่มเจ้าพ่อหนึ่ง ๆ และท่ามกลางการแข่งขันระหว่างเจ้าพ่อกลุ่มต่าง ๆ
ตัวอย่างของตรรกะที่ผิด เช่น พรมแดนของประวัติศาสตร์ไทย คือเขตแดนของดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ดินแดนนอกประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์มายาวนานกับสยามจึงอาจถูกมองข้าม เพราะปัจจุบันไม่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ในขณะที่อารยธรรมดั้งเดิมถูกละเลยหรือแยกเป็นเสี่ยงตามเขตแดนสมัยใหม่ หรือองค์ประธาน (subject) ของประวัติศาสตร์ คือรัฐเอกภาพแบบสมัยใหม่ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกไม่เกิน 300 ปีมานี้ ในกรณีของประเทศไทยก็ไม่เกิน 100 ปีเศษ เมื่อถือว่าเป็นรัฐเอกภาพ จึงมีราชธานีในเวลาหนึ่ง ๆ เพียงแห่งเดียว ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่เห็นหรือไม่เน้นศูนย์อำนาจหลากหลายที่แข่งขันชิงความเป็นใหญ่กันตลอดเวลา
ด้วยเหตุดังกล่าว “บทบรรยายประวัติศาสตร์ไทยจึงมักจัดความสัมพันธ์ระหว่างประวัติของหนึ่งราชธานีกับเมืองใหญ่น้อยต่าง ๆ ราวกับว่าศูนย์อำนาจอื่น ๆ และเมืองขึ้นทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามมาแต่ไหนแต่ไรตลอดหลายร้อยปี” (หน้า 11)
การที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติอยู่ได้ด้วยตรรกะที่ผิด ทำให้มีข้อจำกัด (limits) ในการอธิบายข้อเท็จจริงในอดีต ในอีกด้านหนึ่งก็คือมีอดีตหรือประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงรอยกับตรรกะชุดดังกล่าว ซึ่งสามารถเผยให้เห็นข้อจำกัด ความไม่สมเหตุสมผลของความรู้และคำอธิบายประวัติศาสตร์แบบที่เชื่อกันอยู่ จนอาจทำให้อำนาจของประวัติศาสตร์แห่งชาติถูกท้าทาย ด้วยเหตุนี้ อดีตที่ลักลั่นไม่ลงรอยจึงมักถูกกำจัดหรือจำกัด หรืออธิบายกลบเกลื่อนจนหมดพิษภัยต่อตรรกะของประวัติศาสตร์แห่งชาติ
“การศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานีในภาษาไทยจนถึงปัจจุบัน มีไม่มากนัก แทบทั้งหมดอยู่ในกรอบของตรรกะทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวมา และอยู่ในกรอบของมุมมองของเจ้ากรุงเทพฯ ส่วนด้านที่ไม่เข้ากรอบไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์แห่งชาติก็หลีกเลี่ยงหรือมองข้ามไปเสีย
“ภาพพจน์รวบยอด (trope) ของปัตตานีในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย คือแขก-ประเทศราช-ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายภายใน-และชอบเป็นขบถ” (หน้า 15)
“ประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เป็น ‘แขก’ จึงเป็นประวัติศาสตร์ฉบับดูแคลนตั้งแต่ต้น” (หน้า 16)
ที่ผ่านมาเราจึงแทบไม่รู้จักและไม่เข้าใจความเป็นมาที่แท้จริงของปัตตานี รวมถึงชายแดนอีกหลายแห่งในปัจจุบัน เพราะประวัติศาสตร์แห่งชาติได้บดบังประวัติศาสตร์ชนิดอื่น ๆ มาตลอดหนึ่งร้อยปี อ.ธงชัยเห็นว่าเราควรยอมรับว่า “ประวัติศาสตร์ คือเรื่องราวของอดีตอันหลากหลาย รวมถึงที่แตกต่างขัดแย้งกัน ชาติในปัจจุบัน คือจุดนัดพบในปัจจุบันของความหลากหลายเหล่านั้น เรื่องราวของชาติจึงได้แก่กรอบกว้าง ๆ ของปัจจุบันที่อนุญาตให้อดีตอันแตกต่างขัดแย้งหลากหลายสามารถดำรงอยู่ได้” (หน้า 24)
ความสำนึกต่ออดีตแบบที่ไม่ต้องมีประวัติศาสตร์แห่งชาติครอบงำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ การศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อความสามัคคีผิวเผินหรือเพื่อค้ำจุนชาติ ด้วยการบดบังอดีตที่ไม่ลงรอยกับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองจึงควรถูกยกเลิก และวิชาประวัติศาสตร์ควรสอนให้ประชาชนเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายและสามารถจัดการกับความขัดแย้งได้
นกกระดาษเพื่อสันติภาพ (แถมโปรโมชั่นทานข้าวกับท่านนายกฯ หากเก็บนกที่มีลายเซ็นท่านได้) และนโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาของรัฐไทย รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่เสนอผ่านวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น (แบบไม่ต้องรับผิดชอบ) สะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์แห่งชาติยังมีอิทธิพลครอบงำอยู่มากเพียงใดนั้นคงไม่ต้องการคำตอบ
ปัตตานีเป็นเมืองท่าเก่าแก่ที่เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นลังกาสุกะซึ่งเป็นเครือข่ายของอาณาจักรศรีวิชัยที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14-15 ลงมา เรื่องราวของศรีวิชัยนั้นมีปริมณฑลกว้างขวางมาก คือมีอาณาบริเวณครอบคลุมคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบัน ขณะนี้เราสามารถสรุปได้ว่า “ศรีวิชัย” เป็นชื่อกว้าง ๆ ทางศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มบ้านเมือง หรือแว่นแคว้น หรือรัฐน้อยใหญ่ที่มีวัฒนธรรมบางประการร่วมกัน เช่น การนับถือพุทธศาสนาในลัทธิมหายาน โดยกลุ่มรัฐเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยมีศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมืองในแต่ละยุคสมัย
กลุ่มแคว้น “ศรีวิชัย” ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” การค้าทางทะเลระหว่างจีนกับตะวันตกซึ่งนำความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองมาให้เป็นอย่างมาก แต่ทันทีที่จีนเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการส่งเรือออกทะเลค้าขายกับบ้านเมืองในเขตชายทะเลโดยตรงก็ทำให้บ้านเมืองในเขตคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองขึ้น เกิดชุมชนบ้านเมืองใหม่ ๆ บริเวณคาบสมุทร จนเส้นทางการค้าเปลี่ยนไปเป็นการขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรแทน ศรีวิชัยที่เคยมั่งคั่งจึงล่มสลายในที่สุด
ขณะที่ “ลังกาสุกะ” เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารจีนว่า “หลังหยาชูว” ในพุทธศตวรรษที่ 11 เคยเป็นรัฐอิสระที่มีเอกราชในการปกครองและมีความสัมพันธ์กับอีกสองรัฐได้แก่ ลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) และสิงขระ (สงขลา) แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่สามารถบอกได้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะ และราชอาณาจักรปัตตานีตั้งขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้ก่อตั้ง มีเพียงบันทึกของ วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เดินทางเข้ามาประจำสำนักงานการค้าอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 เรื่องท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทองที่เล่าไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองเดิมมีพระนามว่าเจ้าอู่ เป็นโอรสของจักรพรรดิจีน ต่อมาถูกเนรเทศไปอยู่เมืองปัตตานี เพราะกระทำความผิดร้ายแรง หลังจากนั้นจึงเสด็จไปสร้างเมืองนครศรีธรรมราช เมืองกุยบุรี เมืองพริบพรี เมืองคองขุดเทียม (บางขุนเทียน) เมืองบางกอก และเมืองอยุธยา แล้วเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของสยาม มีพระนามว่าสมเด็จพระราชารามาธิบดี โดยมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต ซึ่งถือเป็นนิทานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด
ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าดินแดนแห่งนี้เป็นที่อยู่ของผู้คนเชื้อสายมลายูที่เคยนับถือลัทธิภูตผี (animism) ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธซึ่งโดดเด่นมากในสมัยอาณาจักรลังกาสุกะ หลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าลังกาสุกะเป็นราชอาณาจักรมลายู-ฮินดูแห่งแรกของคาบสมุทร ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ปตานี” (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีในปัจจุบันส่วนคำว่า “ปตานี” ปรากฏแทนชื่อ “ลังกาสุกะ” ครั้งแรกเมื่อย่างเข้าสู่คริสตศตวรรษที่ 13 โดยไม่มีหลักฐานว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร) ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปากอ่าวเหมาะแก่การเป็นเมืองท่า นับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 8 ลังกาสุกะจึงเป็นศูนย์กลางการเดินเรือและกิจกรรมการค้าทางทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธ (รวมถึงศาสนาอิสลามในภายหลัง) เผยแพร่เข้าสู่สังคมลังกาสุกะ
ต่อมาใน พ.ศ. 2021 เมื่ออาณาจักรมัชปาหิตซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวาล่มสลาย อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธจึงเบาบางลง เปิดโอกาสให้นักการศาสนาอิสลามในปตานีเผยแพร่แนวคิดของศาสนาอิสลามได้สะดวกขึ้น จนในที่สุดศาสนาอิสลามก็เข้าไปแทนที่ศาสนาพุทธในราชสำนัก และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2043 เป็นต้นมา ชาวปตานีก็เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง และปตานีจึงเป็นที่รู้จักกันในนามราชอาณาจักรมลายู-อิสลาม มีกษัตริย์ปกครอง 2 ราชวงศ์คือราชวงศ์ศรีวังสา (พ.ศ. 2043-2229) และราชวงศ์กลันตัน (พ.ศ. 2231-2272)
ในสมัยการปกครองของราชวงศ์กลันตัน ปตานีทำสงครามกับสยามหลายครั้ง นอกจากนั้นยังมีการทำสงครามระหว่างพี่น้องเพื่อแย่งชิงอำนาจ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อย่างเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 24 ปตานีมีชื่อเสียงมากในฐานะศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลาม รวมทั้งศูนย์กลางของวรรณกรรมแนวอิสลามซึ่งให้กำเนิดนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามหลายท่าน แต่เมื่ออำนาจของราชวงศ์กลันตันสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2272 ปตานีก็เข้าสู่ยุคแห่งการปราบปรามหัวเมืองมลายูอย่างจริงจังของสยาม
สยามสามารถปราบปตานีได้สำเร็จเมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์เพียงไม่กี่ปี และนำมาซึ่งสงครามกอบกู้เอกราชใน พ.ศ. 2334 นำโดยตึงกู ลามิดดีน และ พ.ศ. 2351 นำโดยดาโตะ ปึงกาลัน สงครามทั้งสองครั้งปตานีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และนำมาซึ่งการปรับโครงสร้างการปกครองหัวเมืองปตานีใหม่ของสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อ พ.ศ. 2351 พระองค์มีพระบรมราโชบายโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเมืองปตานีเป็นเจ็ดหัวเมือง ดังนี้
1. เมืองปัตตานี
2. เมืองยะลา (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยะลา)
3. เมืองยะหริ่ง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)
4. เมืองระแงะ (ปัจจุบันเป็นอำภอหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส)
5. เมืองราห์มัน (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดยะลา)
6. เมืองสายบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)
7. เมืองหนองจิก (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)
แต่ละเมืองดังกล่าวมีฐานะเป็นเมืองระดับสาม ซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลา เจ้าเมืองของแต่ละเมืองได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากรัฐสยามที่กรุงเทพฯ เจ้าเมือง (ราฌา) ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองมลายูมุสลิมแต่ดั้งเดิมจึงสิ้นสุดลง ในยุคนี้สยามได้เริ่มย้ายชาวไทยพุทธเข้าไปอยู่ในเจ็ดหัวเมืองเหล่านี้ เพื่อสร้างความสมดุลแห่งอำนาจ และป้องกันการคุกคามจากชาวพื้นเมืองที่ไม่พอใจ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนเจ็ดหัวเมืองกับรัฐสยามเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ระยะทางที่ห่างไกลช่วยให้เมืองเหล่านี้มีอิสระในการปกครองตนเองและมีความสะดวกในการทำการอย่างอื่นด้วย ดังนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเกิดสงครามกอบกู้เอกราชขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2374
สงครามครั้งนี้เป็นความร่วมมือของเจ้าเมืองทั้งเจ็ดและสุลต่าน อัหมัด ตาฌุดดีน (Sultan Ahmad Tajuddin) แห่งเคดาห์ โดยได้รับความสนับสนุนทางด้านกำลังทหารจากกลันตันและตรังกานูในฐานะที่เมืองเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ แต่ทางสยามก็ส่งเจ้าพระคลัง ว่าที่สมุหกลาโหม (ดิศ บุนนาค) พร้อมกำลังทหาร 300,000 คนมาปราบได้สำเร็จ หลังจากสงครามครั้งนี้ ใน พ.ศ. 2334 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาให้แบ่งไทรบุรี (เคดาห์) ออกเป็น 4 เขต ได้แก่ เปอร์ลิส สตูล ไทรบุรี และกูบังปาสู โดยให้ขึ้นต่อนครศรีธรรมราชและพระองค์ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองทุกคน ส่วนปตานีทั้งเจ็ดเมืองยังให้ขึ้นกับสงขลาและถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้นานหลายสิบปี (พ.ศ. 2351-2449)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกการปกครองแบบเก่าที่ให้เจ้าเมืองมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครอง มาเป็นการปกครองแบบ “มณฑลเทศาภิบาล” โดยในระยะแรกทั้งเจ็ดหัวเมืองขึ้นต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลนครศรีธรรมราช ในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ตราข้อบังคับสำหรับการปกครองดินแดนส่วนนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444 เรียกว่า “กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณหัวเมืองทั้งเจ็ด” จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงแบ่งอาณาเขตการปกครองภาคใต้ใหม่ โดยปรับเจ็ดหัวเมืองให้เหลือสี่เมือง ได้แก่
1. เมืองปัตตานี ประกอบด้วย หนองจิก และยะหริ่งเดิม
2. เมืองยะลา ประกอบด้วย ยะลา และราห์มัน
3. เมืองสายบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอตะลุบัน จังหวัดปัตตานี)
4. เมืองระแงะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนราธิวาส)
เมืองทั้งสี่นี้รวมกันเป็นมณฑลปัตตานี ก่อนที่ปีถัดมาจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2476 มีการจัดระเบียบราชการบริหารออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มณฑลทั่วราชอาณาจักรจึงถูกยุบลงในปีนี้และมณฑลปัตตานีจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 จังหวัด คือจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ขึ้นตรงต่อส่วนกลางมาจนกระทั้งในปัจจุบัน
สยามใช้อำนาจปกครองจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสอย่างเต็มที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2445 เป็นต้นมา ผู้คนที่นี่จึงต้องเป็น “คนสยามเชื้อสายมลายู” ก่อนที่จะถูกกำหนดให้เป็นคนสัญชาติไทย เชื้อชาติไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม และถูกเรียกว่า “คนไทยมุสลิม” ในเวลาต่อมา
ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับเจ้าหน้าที่รัฐในสมัยหลังเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยใช้นโยบายการสร้างชาติแบบ “รัฐนิยม” ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวมลายูมุสลิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 ที่ห้ามชาวมลายูแต่งกายแบบมลายู ห้ามใช้นามสกุลเป็นภาษามลายูหรืออาหรับ ห้ามใช้ภาษามลายู และห้ามนับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้ปฏิบัติการที่รุนแรงเพื่อบีบคั้นให้ประชาชนละทิ้งสถานภาพของความเป็นมุสลิมและความเป็นมลายู และใน พ.ศ. 2487 รัฐบาลไทยได้ยกเลิกตำแหน่ง “กอฎี” ที่มีอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล โดยบังคับให้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายไทยและอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับประชาชนชาวมลายูมุสลิมก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ. 2497 ที่เกิดขบวนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชนในพื้นที่ขึ้น เช่น ขบวนการปลดแอกแห่งชาติปตานี (National Front Liberation of Patani), ขบวนการปฏิวัติแห่งประชาชาติ (Barisan Revolusi Nasional: BRN), องค์การร่วมเพื่อกอบกู้อิสรภาพปตานี (Patani United Liberation Organization: PULO) เป็นต้น ก่อนที่รัฐบาลไทยจะใช้นโยบาย “ใต้ร่มเย็น” เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมขบวนการวางอาวุธแลกกับการนิรโทษกรรม ในทศวรรษ 2530
ในทศวรรษต่อมา ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีก ยิ่งไปกว่านั้น เราคงไม่อาจมั่นใจได้ว่า แนวนโยบายอย่าง “ใต้ร่มเย็น” จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้อีกอย่างที่เคยเป็นมา ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าแนวนโยบายเช่นนี้จะมีอยู่ในหัวสมองชนชั้นนำปัจจุบันของไทยหรือไม่
พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548
2 Comments:
จะพูดทำไมเรื่องในอดีต อ้างอิงเพื่อแบ่งแยกเหรอ คิดเรื่องปัจจุบันดีกว่า อย่างไรปัจจุบันก็ยังเป็นแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้ว
michael kors handbags, ugg, moncler, montre femme, canada goose, sac louis vuitton, pandora uk, wedding dress, louis vuitton, swarovski uk, marc jacobs handbags, louis vuitton canada, moncler outlet, pandora charms, canada goose outlet, coach outlet, michael kors outlet, moncler, links of london uk, canada goose pas cher, uggs canada, louis vuitton pas cher, moncler, moncler, michael kors outlet online, swarovski jewelry, juicy couture, moncler, hollister canada, supra shoes, louis vuitton uk, canada goose outlet, moncler outlet, moncler, ugg boots, barbour jackets, doke gabbana outlet, pandora jewelry, canada goose, canada goose outlet, canada goose, ugg soldes, canada goose, thomas sabo uk, karen millen, sac lancel, replica watches, ugg, juicy couture outlet, barbour, toms outlet, pandora jewelry
ninest123 10.17
Post a Comment
<< Home