สรุปสาระสำคัญของ "ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมือง ในการปฏิวัติสยาม 2475"
รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียน
เป็นเวลาหลายสิบปี นับตั้งแต่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกครอบงำจากการศึกษาประวัติศาตร์และสังคมการเมืองในแนวทางที่ได้รับการวางรากฐานโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่การอธิบายความเปลี่ยนแปลงจากการกระทำของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์โดยศึกษาจากการกระทำของบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการอธิบาย
การศึกษาในแนว “สกุลดำรงราชานุภาพ” ดังกล่าว ในทัศนะของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ “ได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองและในองค์ความรู้เรื่องสยามและไทย การอธิบายประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยามจึงเน้นเรื่องของผู้มีอำนาจในวงแคบ ผู้มีอำนาจรุ่นใหม่มีความสำคัญอยู่บ้างแต่เทียบกันไม่ได้เลยกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์” (หน้า 407)
ใน “ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมือง ในการปฏิวัติสยาม 2475” ชิ้นนี้ อาจารย์นครินทร์จึงพยายามเน้นการศึกษาไปที่ภาพการเคลื่อนไหวของสังคมการเมืองโดยรวมทั้งหมด นับตั้งแต่ชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจทางการเมือง ระบบราชการ ปัญญาชน พ่อค้า ชนชั้นกลาง นักหนังสือพิมพ์ ไล่เรียงลงมาจนถึงระดับของราษฎรทั่วไป
ดังนั้น ในงานชิ้นนี้เราจึงพบการนำฎีกาและหนังสือร้องทุกข์ที่มีตัวบทหลุดพ้นไปจากเรื่องของการเรียกร้องให้มีการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” (ซึ่งในอดีตมักถูกละเลยจากผู้ศึกษาเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และชนชั้นนำ) มาเป็นหลักฐานประกอบคำอธิบายว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น แท้จริงแล้วได้หยั่งรากอยู่ในระดับของราษฎรด้วย ซึ่งขัดแย้งกับข้อสรุปเดิมที่ว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นเรื่องของชนชั้นนำ และราษฎรไม่มีความตื่นตัวและไม่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
การมุ่งสำรวจหลักฐานอย่างกว้างขวางและการขยายกรอบคิดในการศึกษาที่ก้าวพ้นจากแนวทางการศึกษาแบบเดิม ทำให้งานศึกษาการปฏิวัติสยามชิ้นนี้สามารถค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งมีข้อเท็จจริงรองรับและถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดปล่อยความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 จากพันธนาการของความคิดความรู้และคำอธิบายดั้งเดิมที่ครอบงำสังคมไทยมายาวนาน
อาจารย์นครินทร์เริ่มต้นเรื่องของ “ความรู้” โดยการนำเราไปสำรวจขอบเขตและความเป็นมาของความรู้เรื่องอดีตของการปฏิวัติสยาม 2475 ที่มีพัฒนาการสะสมอยู่แล้วในสังคมไทย เป็นการวางรากฐานให้กับผู้ที่สนใจในการเรียนรู้ว่ามีคำอธิบายแบบใดดำรงอยู่แล้วบ้าง และคำอธิบายดังกล่าวมีที่มาและพัฒนาการอย่างไร
การศึกษาในบทนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือด้านการรับรู้และด้านของโครงสร้างประวัติศาสตร์ ในส่วนแรกจะสะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนการรับรู้ในช่วงต่าง ๆ ซึ่งบางสิ่งสูญหายจากความทรงจำในปัจจุบันไปแล้ว และบางสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ สำหรับในส่วนหลังจะแสดงให้เห็นว่ามีข้อสมมติมากมายเกี่ยวกับการอธิบาย “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” “ศักดินา” “ประชาธิปไตย” และ “รัฐธรรมนูญ” ที่ต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ต่างกันในท้ายที่สุด
“ประชาธิปไตย” เป็นคำที่อาจจะมีปัญหามากที่สุดนับแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ถึงแม้รัฐไทยจะได้ชื่อว่ามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ก็เป็น “ประชาธิปไตย” ที่เดินทางมาอย่างระหกระเหินเต็มที ในบทต่อมา อาจารย์นครินทร์จะนำเรามาสำรวจ “วาทกรรมการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยของไทย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบวิธีคิดและการก่อตัวของวาทกรรมการเมือง 2 ชุดในกระบวนการทางประวัติศาสตร์สยาม/ไทย
วาทกรรมชุดแรกเป็นของสาย “สำนักคิดประเพณี” ซึ่งกำเนิดขึ้นมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 โดยกลุ่มนักคิดสายราชวงศ์และขุนนางรุ่นแรกที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดตะวันตก นักคิดกลุ่มนี้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไทยมีมาช้านานหรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มและมีการเตรียมการมายาวนานโดยองค์พระมหากษัตริย์ และพิจารณาการเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2475 ว่าเป็น “ยุคมืด” กระแสความคิดนี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้นำของระบบราชการและทหาร ซึ่งมีอำนาจสืบต่อมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใน พ.ศ. 2490
วาทกรรมอีกชุดหนึ่งคือ วาทกรรมของ “สำนักคิดตะวันตก” ซึ่งถือกำเนิดในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เช่นกัน นักคิดกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มนักเรียนนอกที่สนใจวิชากฎหมายและวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง นักคิดกลุ่มนี้จะพิจารณาการเมืองไทยก่อน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการปรับตัวของสถาบันการเมืองซึ่งมีลักษณะเฉพาะและไม่ได้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด และเห็นว่าการเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2475 เป็นยุคใหม่ ยุคแห่งความหวัง การศึกษาในบทนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการให้ “คำนิยาม” ในเรื่องของประชาธิปไตยและการยืนยันระบบความรู้ต่างๆ ที่ตามมาของทั้งสองสำนักคิด
ต่อมาในบทที่ 3-5 ก็จะเข้าสู่ส่วนของ “ความคิด” ที่ส่งอิทธิพลต่อการเมืองไทยสมัยใหม่
“ความคิดฝรั่งเศส” ดูจะส่งอิทธิพลต่อกลุ่มผู้นำของคณะราษฎรอย่างเด่นชัดที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนกฎหมายฝรั่งเศสที่เรียกร้องให้มี “กษัตริย์ใต้กฎหมาย” หลักการแบ่งแยกอำนาจถูกนำมาปรับใช้ภายหลังการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้แบ่งอำนาจอธิปไตยไว้ 4 ทางคือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล โดยมุ่งหวังให้มีการกำหนดสิทธิและอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนให้ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน และให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุด
นอกจากนี้เขายังตั้งใจจะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม โดยได้ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งสะท้อนว่าเขาได้รับอิทธิพลจากความคิดฝรั่งเศสอยู่ด้วยในหลายๆ เรื่อง นอกจากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ยังเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนผ่านระบบการศึกษาด้วย จึงได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 ซึ่งการเรียนการสอนในช่วงแรก (พ.ศ. 2477-พ.ศ. 2490) ก็ได้รับอิทธิพลความคิดฝรั่งเศสอยู่ค่อนข้างมาก กล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายกับสถาบันหนึ่งใน Institut de France ที่เรียกว่า Academic des sciences morales et politiques ซึ่งได้ถูกปรับให้มาเป็น University of Moral and Political Sciences อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความคิดฝรั่งเศสจะมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ความคิดเดียวและยังต้องเคลื่อนไหวไปตามสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ โครงสร้างอำนาจ และระบบค่านิยมของไทยเอง
ในบทที่ 4 จะเป็นการศึกษาถึงพลังทางภูมิปัญญาที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษ 2470 รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้คนในระดับต่างๆ ของสังคม การวิเคราะห์ในส่วนนี้จะตระหนักถึงคนจำนวนมากในสังคม ไม่เน้นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจารย์นครินทร์เห็นว่าจะให้ภาพสังคมที่มีความเคลื่อนไหวและใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า
และภาพที่ปรากฏก็คือ สังคมสยามมีการเปลี่ยนแปลงและมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มคนหลายระดับ และนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 7 (ก่อน พ.ศ. 2475) ที่สำคัญสองลักษณะคือ วิกฤตการณ์เกี่ยวกับความชอบธรรม (การเสื่อมศรัทธาในราชวงศ์ มีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ) และวิกฤตการณ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบอบการปกครอง (การที่ระบอบการปกครองมีข้อจำกัด ไม่สามารถแก้ปัญหาตามความคาดหวังของผู้คนได้)
จากการศึกษา ทำให้เห็นว่ากระแสภูมิปัญญาที่แสดงออกในรูปของข้อเรียกร้องให้มี “คอนสติตูชั่น” “ปาลิเมนต์” การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งมีมาก่อน พ.ศ. 2475 เป็นพลังผลักดันสำคัญ และคณะราษฎรได้ตอบสนองความคิดของผู้คนในระดับต่างๆ อย่างแข็งขันมากกว่ารัฐบาลในระบอบเก่า
เช่นเดียวกับในบทต่อมาที่เจาะจงทำการศึกษาความนึกคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจของราษฎรในทศวรรษ 2470 ที่แสดงให้เห็นว่าในหมู่ราษฎรเองก็มิได้นิ่งเฉยหรือไม่มีบทบาทต่อความเป็นไปในบ้านเมือง ในทางกลับกัน พวกเขามีผู้นำหรือปัญญาชนทำหน้าที่รายงานสถานการณ์จากเบื้องล่าง ผ่านช่องทาง “ถวายฎีกา” และต่อมาคือ “คำร้องเรียนแสดงความเห็น” ขึ้นไปถึงชนชั้นนำ ซึ่งก็ส่งผลทางจิตใจในหมู่ชนชั้นนำพอสมควร และคณะราษฎรเองก็อาศัยความรู้สึกนึกคิดลึกๆ ในหมู่ราษฎรนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาใน “ประกาศของคณะราษฎร” ฉบับที่ 1 ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงรัฐบาลในระบอบเก่าว่า “กดขี่ข่มเหงราษฎร” “ถือเอาราษฎรเป็นทาษ” หรือ “ปกครองอย่างหลอกลวง” เป็นต้น
ต่อมาในบทที่ 6-9 ก็จะเข้าสู่ส่วนของ “อำนาจการเมือง” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดการคลี่คลายของเหตุการณ์ทางการเมืองและเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในระยะต่อมา
กลุ่มเจ้านายหรือกลุ่มราชวงศ์เป็นกลุ่มอำนาจที่สำคัญที่สุดในขณะนั้นที่คณะราษฎรต้องเข้าไปเผชิญหน้าโดยตรง ซึ่งในกลุ่มคณะราษฎรเองก็มีแนวคิดร่วมกันว่าต้องการที่จะขจัดอำนาจที่ผูกขาดอยู่ในมือของเจ้านายลง หลังจากเข้าทำการยึดอำนาจ คณะราษฎรก็ทำการบั่นทอน “กำลัง” ของกลุ่มเจ้านาย โดยการเชิญเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและบารมีให้เดินทางออกนอกประเทศ ส่วนเจ้านายในระดับรองลงมาส่วนใหญ่ต้องออกจากราชการทั้งในสายพลเรือนและสายทหาร และมีส่วนน้อยที่ได้เข้าไปทำงานร่วมกับคณะรัฐบาลใหม่
ในระยะต่อมากลุ่มคนหนุ่มในคณะราษฎรก็ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มข้าราชการและทหารอาวุโสซึ่งยังสืบทอดอุดมการณ์เก่าก่อนการปฏิวัติอย่างเหนียวแน่น ความขัดแย้งดังกล่าวแสดงออกอย่างชัดเจนในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นแรงโต้กลับโดยตรงจากกลุ่มที่ไม่พอใจการกระทำของคณะราษฎร
กบฏบวรเดชเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจของการเมืองไทยสมัยใหม่ ภาระหนักของคณะราษฎรจึงมีทั้งด้านที่ต้องจัดการกับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในกลุ่มพวกเดียวกันและกับกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามรักษาสถานภาพและการปฏิบัติแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดความสัมพันธ์ภายในคณะราษฎรก็ดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดอันเนื่องมาจากความแตกต่างของแนวคิดระหว่างกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกับกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
รายละเอียดต่างๆ ของการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ยังมีอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ ความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา ทำให้อาจารย์นครินทร์สามารถค้นพบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้และคำอธิบายที่แตกต่างไปจากเดิม
นอกจากนี้ยังทำให้การปฏิวัติที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยไทยครั้งนี้ไม่เป็นเพียงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่งหรือถูกครอบงำด้วยชุดความรู้ที่ตายตัวอีกต่อไป และทำให้เราตระหนักว่ายังมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีกหลายประการที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ
พิมพ์ครั้งแรก: วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2548
0 Comments:
Post a Comment
<< Home