Friday, May 19, 2006

เขื่อน อาวุธนิวเคลียร์ นักเขียนแอคทิวิสต์ กับหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ของอรุณธตี รอย

“We have to support our small heroes. (Of these we have many. Many.) We have to fight specific wars in specific ways. Who knows, perhaps that’s what the 21st century has in store for us. The dismantling of the Big. Big bombs, big dams, big ideologies, big contradictions, big countries, big wars, big heroes, big mistakes. Perhaps it will be the Century of the Small. Perhaps right now, this very minute, there’s a small god up in heaven readying herself for us.”

Arundhati Roy


1

ในขณะที่ทั้งประเทศกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางการเมือง ความแตกแยกขัดแย้งกำลังลุกลามไปทั่ว และรอยยิ้มรวมถึงการประกาศตนว่ารักสงบไม่ใช่หลักประกันว่าคนในชาติจะมีความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้งได้จริง ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับกำลังเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่ต่างไปจากผู้คนอีกกว่าห้าสิบล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของอินเดียในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา พ่อเฒ่าแม่เฒ่าในชุมชนต้นน้ำคงกำลังเฝ้ามองเหมืองฝายดั้งเดิมซึ่งเคยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำของชุมชนมานับสิบนับร้อยปี ถูกรื้อทำลายย่อยยับหลังจากมีน้ำเอ่อท่วมพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเมือง ชาวบ้านแถบภาคอีสานคงกำลังเฝ้ามองสวนป่ายูคาลิปตัสอันเขียวขจีสมชื่อโครงการอีสานเขียวด้วยความขมขื่น เพราะอาหารของทั้งคนและสัตว์ รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมนั้นถูกทำลายย่อยยับไปหมดแล้วพร้อมกับผลงานของนักการเมืองบางคน

ปัญหาทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเดินทางไปไกลกว่าคำถามที่ว่าเราจะยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ต่อไปหรือไม่ และหากเราสามารถมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้จริง ใครจะกล้ารับประกันว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับโครงการของรัฐจะได้รับการแก้ไข

การเดินขบวนขับไล่นายกรัฐมนตรีจึงไร้ความหมายสำหรับลุงมี ซึ่งที่ดินของบรรพบุรุษต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไร้ความสำคัญสำหรับป้าบัว ที่ต้องถูกไล่ที่เพราะรัฐบาลอยากเพิ่มจำนวนอุทยานแห่งชาติ และไร้ประโยชน์สำหรับไอ้จุ้น ที่ต้องเตรียมบากหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพราะที่นาของพ่อกลายเป็นของนายทุน


2

มีคนถามอรุณธตี รอย ว่าทำไมเธอจึงไม่เขียนนวนิยายอีก (หลังจาก The God of Small Things) รอยตอบว่า “Because I have the strong feeling that we are living in a time in which writers have to take a position. I feel under a tremendous amount of pressure just now to respond to things.” และชะตากรรมของชาวพื้นเมืองนับแสนนับล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของรัฐบาลอินเดีย รวมทั้งความฉ้อฉลปลิ้นปล้อนของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ดึงดูดให้รอยต้องไปที่แม่น้ำนรมทา (Narmada)

เธอยืนอยู่บนฝั่งแม่น้ำ มองมายังหมู่บ้านของชาวพื้นเมือง ทุ่งหญ้า ป่าไม้ ฝูงแพะ และเด็กๆ ที่กำลังวิ่งเล่นอยู่บนผืนดินที่กำลังจะจมอยู่ใต้น้ำในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึง

ไม่มีใครรู้ว่าวิถีชีวิตของพวกเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปชั่วนิจนิรันดร์

ไม่มีใครเคยคิดว่าวันหนึ่งพวกเขาจะมีโอกาสเฝ้ามองพืชผลของตัวเองถูกทำลายย่อยยับในชั่วข้ามคืน

จากผืนดินที่เป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษ พวกเขากลายเป็นแรงงานไร้ที่ดินในชั่วพริบตา ก่อนจะถูกบังคับให้ต้องยอมรับค่าชดเชย และถูกขับไล่ออกไปจากบ้านของตัวเอง “คนจำนวนมากที่ถูกอพยพย้ายถิ่นฐาน คือผู้คนที่ตลอดชั่วชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขาอาศัยอยู่ในป่าลึกที่แทบไม่เคยได้สัมผัสกับเงินและโลกสมัยใหม่ แล้วจู่ๆ พวกเขาก็พบว่าตัวเองถูกทำให้เหลือทางเลือกเพียงว่าจะอดตายหรือจะเดินหลายกิโลเมตรไปยังเมืองที่ใกล้ที่สุด เพื่อไปนั่งอยู่ในตลาด (ทั้งชายและหญิง) เหมือนสินค้าที่วางขาย เสนอตัวเองเป็นกรรมกรแลกค่าแรง” (หน้า 48)

ปัจจุบัน อินเดียเป็นประเทศผู้สร้างเขื่อนรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก 3,600 เขื่อนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ และอีกกว่าเจ็ดร้อยเขื่อนกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเท่ากับว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อนขนาดใหญ่ในโลกกำลังถูกสร้างขึ้นที่อินเดีย

รัฐบาลอินเดียประกาศก้อง (ไม่ต่างจากรัฐบาลผู้นิยมสร้างเขื่อนในประเทศอื่นๆ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศแถวนี้) ว่าเขื่อนขนาดใหญ่จะช่วยปลดปล่อยประชาชนชาวอินเดียจากความหิวโหยและความยากจน ผู้ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม “เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม” “เพื่อความก้าวหน้า” “เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ” และแน่นอน ผู้ที่คัดค้านคือพวกก่อความไม่สงบ เป็นภัยต่อชาติ ต่อต้านการพัฒนา หรือเป็นพวก “รับเงินต่างชาติ”

แต่ชาติหรือประเทศเป็นของใคร? ใครควรได้รับผลประโยชน์? ใครควรเป็นผู้เสียประโยชน์? และใครควรเป็นผู้ตัดสินใจ?

“บนธงชาติมีรูโหว่ และมันกำลังเลือดไหล” (หน้า 23)

ใช่! บนธงชาติมีรูโหว่ แต่มือที่จับมีดปาดเฉือนธงชาติแล้วล้วงเข้าไปกะซวกแทงผู้คนในชาติเป็นมือของใคร? ของผมหรือของคุณ?

รัฐบาลอาจไม่ใช่ปีศาจร้ายผู้เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด (เช่นเดียวกับที่ไม่ใช่อัศวินควายดำหน้าไหนที่จะคอยโผล่มาช่วยกู้วิกฤตได้เสมอไป) แต่ประโยคเหล่านี้ของอรุณธตี รอย ก็บาดลึกทิ่มแทงจนเจ็บจำฝังใจ

“ถ้าจะถ่วงสัตว์ร้ายตัวหนึ่ง คุณต้องหักขามัน ถ้าจะถ่วงประเทศชาติ คุณต้องทำลายประชาชนในชาตินั้น คุณต้องปล้นเอากำลังใจของพวกเขาไป ต้องสำแดงให้พวกเขาเห็นถึงอำนาจเบ็ดเสร็จของคุณในการควบคุมชะตากรรมของพวกเขา ต้องทำให้พวกเขาหายข้องใจว่าถึงที่สุดแล้วคุณต่างหากที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะอยู่ ใครจะตาย ใครจะได้เป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย ใครจะไม่เป็น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความเก่งกล้าสามารถของคุณ คุณต้องแสดงฝีมือออกมาให้หมด และให้เห็นว่าคุณทำมันได้ง่ายดายเพียงใด ว่ามันง่ายดายเพียงใดในการที่คุณจะกดปุ่มและทำลายล้างโลกใบนี้ ในการที่จะก่อสงครามหรือขอสงบศึก ในการที่จะฉวยเอาแม่น้ำทั้งสายจากคนพวกหนึ่งไปกำนัลแด่คนอีกพวกหนึ่ง ในการที่จะทำให้ทะเลทรายเป็นสีเขียว หรือโค่นป่าสักแห่งแล้วไปปลูกใหม่ที่อื่น คุณใช้การกระทำตามอำเภอใจของคุณมาทำลายศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อสิ่งที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่ว่าผืนดิน ผืนน้ำ ผืนป่า ผืนฟ้า

“พอทำเสร็จแล้ว พวกเขาจะเหลืออะไร? เหลือแต่คุณไง พวกเขาก็จะหันหน้ามาหาคุณ เพราะคุณคือทั้งหมดที่พวกเขามี พวกเขาจะรักคุณกระทั่งในยามที่พวกเขาชิงชังคุณ พวกเขาจะยังวางใจคุณทั้งที่พวกเขารู้ไส้คุณดีแล้ว พวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้คุณทั้งที่คุณเค้นคอเขาอยู่ พวกเขาจะดื่มสิ่งที่คุณยื่นให้ดื่ม พวกเขาจะหายใจตามที่คุณให้พวกเขาหายใจ พวกเขาจะอยู่ตามแต่ที่คุณจะโยนข้าวของของพวกเขาไปไว้ที่ไหน พวกเขาจำต้องเป็นอย่างนั้น พวกเขาจะทำอย่างไรได้? ไม่มีศาลไหนที่พวกเขาจะหันไปพึ่งพาได้ คุณเป็นทั้งแม่ของพวกเขาและพ่อของพวกเขา เป็นทั้งผู้พิพากษาและลูกขุน คุณคือโลก คุณคือพระเจ้า” (หน้า 72-73)


3

ต้นเดือนพฤษภาคม ปี 1998 อรุณธตี รอย บอกกับเพื่อนของเธอว่า ความฝันประเภทเดียวที่คุ้มค่าจะฝัน คือการฝันที่จะมีชีวิตในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่ และฝันที่จะตายก็ต่อเมื่อคุณสิ้นลมหายใจไปแล้ว

“มันแปลว่าอะไร” เพื่อนของเธอทำหน้าสงสัย

รอยเขียนข้อความลงบนกระดาษเช็ดปากแทนการอธิบายด้วยคำพูด

“การได้รัก ได้เป็นที่รัก การที่จะไม่ลืมความไม่สำคัญของตัวเอง การที่จะไม่มีวันชาชินกับความรุนแรงสุดจะพรรณนาและความไม่เสมอภาคอันป่าเถื่อนของชีวิตที่อยู่รอบตัวเธอ การที่จะค้นหาความรื่นรมย์ในที่ที่เศร้าที่สุด การที่จะไล่ติดตามความงดงามไปจนพบแหล่งที่อยู่ของมัน การที่จะไม่ลดทอนสิ่งที่ซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ และที่จะไม่ทำให้เรื่องง่ายๆ ต้องกลายเป็นเรื่องซับซ้อน การที่จะเคารพความเข้มแข็ง ไม่ใช่เคารพอำนาจ เหนืออื่นใดก็คือการที่จะได้เฝ้าดู ได้พยายาม และได้เข้าใจ การที่จะไม่มีวันเบือนหน้าหนี และการที่จะไม่มีวันและไม่มีทางลืม” (หน้า 100-101)

สองสัปดาห์ถัดมา รัฐบาลอินเดียก็ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ สื่อมวลชนพากันโหมประโคมถึงอนาคตอันสุกใสที่เฝ้ารออยู่เบื้องหน้า อาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ มันน่าพรั่นพรึงจนอาจทำให้ปากีสถานต้องยอมค้อมหัว รัฐบาลอินเดียเรียกร้องการสนับสนุนจากคนในชาติ โยงใยมันเข้ากับความรักชาติที่ยากจะปฏิเสธ “นี่ไม่ใช่แค่การทดสอบนิวเคลียร์ แต่มันคือการทดสอบความรักชาติ”

รอยเฝ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยความมึนงง เธอหรือใครกันแน่ที่เสียสติ? เธอคิดมากเกินไปหรือเปล่า? ทำไมใครต่อใครจึงยกย่องสรรเสริญการมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง? หรือนี่อาจจะเป็นประตูสู่ความยิ่งใหญ่ของชนชาติฮินดูผู้เกรียงไกรจริงๆ ?

“ฉันเองพร้อมแล้วที่จะเอาตัวเข้ามา และพร้อมที่จะทำให้ตัวเองขายหน้าอย่างชวนสมเพช เพราะในสถานการณ์แบบนี้ การนิ่งเงียบเป็นเรื่องที่แก้ตัวไม่ขึ้น” (หน้า 90)

เดือนกรกฎาคม ปี 1998 The End of Imagination ก็ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วอินเดีย มันเป็นบทความชิ้นแรกของรอยที่เผยแพร่สู่สาธารณะหลังจากนวนิยาย The God of Small Things ได้รับการตีพิมพ์

การนิ่งเงียบเป็นเรื่องที่แก้ตัวไม่ขึ้น และหากการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์มีความหมายเดียวกับการต่อต้านฮินดูหรือต่อต้านประเทศชาติแล้วล่ะก็ รอยก็พร้อมที่แยกตนเป็นอิสระ เธอเป็นสาธารณรัฐอิสระเคลื่อนที่ เธอคือพลเมืองของโลก เธอไร้เขตแดนขอบเขต เธอไม่มีธงชาติ และเธอยินดีต้อนรับผู้อพยพทุกคนเข้าสู่สาธารณรัฐแห่งนี้

ผู้อพยพ 400 ล้านคนที่ไม่รู้หนังสือและมีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้น ผู้อพยพ 600 ล้านคนที่ขาดแคลนสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน และผู้อพยพมากกว่า 200 ล้านคนที่ไม่มีน้ำสะอาดให้ดื่ม ในสาธารณรัฐอินเดียที่มีประชากรหนึ่งพันล้านคน ซึ่งรัฐบาลพยายามหลอมรวมผู้คนเพื่อสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ

อัตลักษณ์แห่งชาติที่ต้องการศัตรูเป็นผู้ขัดเกลาให้อัตลักษณ์นั้นแจ่มชัด

และการสนับสนุนอาวุธนิวเคลียร์จึงกลายเป็นความรักชาติ เพราะนั่นไง! ศัตรูของเรายืนทนโท่อยู่ตรงนั้นทั้งคน!

แต่ใครจะเข้าใจอัตลักษณ์แห่งชาติได้ดีไปกว่านักการเมืองผู้ฉลาดปราดเปรื่อง ใครจะใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์แห่งชาติได้คุ้มค่าไปกว่านักการเมืองผู้ร่ำรวยหรูหรา และใครจะมีอัตลักษณ์แห่งชาติได้ชัดเจนแจ่มชัดไปกว่านักการเมืองผู้เป็นตัวแทนของประชาชน

“ผู้คนจำพวกที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญ (หรือถ้าพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือมีผลประโยชน์ทางธุรกิจ) ต่อการที่ประเทศอินเดียจะมีอัตลักษณ์แห่งชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว, แจ่มแจ้ง และเหนียวแน่น ก็คือพวกนักการเมืองที่ประกอบกันขึ้นเป็นพรรคการเมืองต่างๆ ในระดับประเทศของเรา เหตุผลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็แค่เพราะว่าสิ่งที่นักการเมืองเหล่านี้ดิ้นรนที่จะให้ได้มา รวมทั้งเป้าหมายในทางอาชีพของพวกเขา ก็คือการ (จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง) ทำให้ตัวเองกลายเป็นอัตลักษณ์นั้น การยึดโยงตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์นั้นถ้าหากยังไม่มีอัตลักษณ์อย่างที่ว่า พวกเขาก็จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ชักจูงประชาชนให้โหวตให้กับอัตลักษณ์นั้น... ยิ่งนักการเมืองเหล่านั้นล้มละลายทางศีลธรรมมากท่าไหร่ ความคิดที่ว่าอัตลักษณ์นั้นควรเป็นอย่างไรก็ยิ่งหยาบเท่านั้น...” (หน้า 111-112)

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงนายกรัฐมนตรี (ที่ให้ความเคารพอย่างยิ่งกับเสียงสวรรค์จากประชาชน) ซึ่งรอยไม่เคยไว้วางใจ

“ใครหน้าไหนกันที่เป็นคนทำการสำรวจความคิดเห็น? นายกรัฐมนตรีเป็นใครกันหรือถึงจะมาตัดสินใจว่านิ้วของใครจะอยู่บนปุ่มนิวเคลียร์ที่สามารถเปลี่ยนทุกสิ่งที่เรารัก—แผ่นดิน, ท้องฟ้า, ภูเขา, ที่ราบ, แม่น้ำ, เมืองและหมู่บ้านของเรา ให้กลายเป็นเถ้าถ่านในชั่วแวบเดียว? นายกรัฐมนตรีเป็นใครกัน ถึงจะมายืนยันกับเราว่าจะไม่มีทางเกิดอุบัติเหตุขึ้น? เขารู้ได้ยังไง? ทำไมเราจะต้องไว้ใจเขาด้วย? เขาเคยทำอะไรมาหรือถึงจะทำให้เราไว้ใจเขาได้? ใครคนไหนในหมู่พวกเขาเคยทำอะไรที่จะทำให้เราไว้ใจพวกเขาได้หรือ?” (หน้า 121)


4

“การเป็นนักเขียน อย่างที่ใครๆ เข้าใจว่าเป็นนักเขียน ‘ผู้โด่งดัง’ ในประเทศที่ประชาชนหลายล้านคนอ่านหนังสือไม่ออกนั้น ออกจะเป็นเกียรติยศที่น่ากังขาอยู่ไม่น้อย การเป็นนักเขียนในประเทศที่มอบคนอย่างมหาตมะ คานธี ผู้สร้างแนวคิดเรื่องการต่อต้านโดยสันติวิธีให้แก่โลก แล้วจากนั้นอีกครึ่งศตวรรษก็ติดตามมาด้วยการทดลองนิวเคลียร์นั้น เป็นภาระอันสาหัสสากรรจ์นัก... การเป็นนักเขียนในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอย่างไม่เป็นทางการคอยบีฑาพลเมืองของตนในนามของ ‘การพัฒนา’ นั้น เป็นความรับผิดชอบอันหนักหน่วง เมื่อต้องพูดถึงนักเขียนและการเขียนหนังสือ ฉันใช้คำอย่าง ‘หนักหน่วง’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ ด้วยหัวใจที่หนักอึ้ง และมิใช่ด้วยความรู้สึกเสียใจแม้เพียงสักน้อยนิด” (หน้า 127)

ซูซานนา อรุณธตี รอย เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1961 ที่รัฐเกรละ (Kerala) ซึ่งเธอใช้เป็นฉากใน The God of Small Things นวนิยายเล่มแรกของเธอที่ได้รับรางวัล The Booker Prize ในปี 1997 เธอออกจากบ้านเมื่ออายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในเพิงหลังคาสังกะสี เลี้ยงชีพด้วยการเก็บขวดเบียร์ขาย ก่อนที่จะเข้าเรียนใน Delhi School of Architecture เธอแต่งงานกับเพื่อนนักเรียนสถาปนิก ก่อนที่จะแยกทางกันในอีก 4 ปีต่อมา

สามีคนใหม่ของรอยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เธอมีโอกาสได้เขียนบทภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำงานเขียนอย่างจริงจัง และนั่นจึงเป็นที่มาของ The God of Small Things

หลังจากใช้เวลานานนับปีในการตระเวนให้สัมภาษณ์และพบปะผู้อ่าน รอยกลับมาพำนักที่นิวเดลี และเริ่มต้นการเขียนบทความทางการเมือง รวมทั้งเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างจริงจัง ในปัจจุบัน อรุณธตี รอย เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านต่อต้านอิทธิพลของบริษัทข้ามชาติ การแปรรูปกิจการสาธารณะอันเกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ และการรุกรานในรูปแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ในฐานะนักเขียน (รอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “Ever since as a child I knew that people had to do things when they grew up, I knew that I wanted to be a writer.”) อรุณธตี รอย กำลังทำหน้าที่ของเธออย่างสุดความสามารถ บนหลักการพื้นฐานธรรมดาสามัญ “เมื่อคุณมองเห็นมัน คุณจะทำเป็นไม่เห็นไม่ได้ และเมื่อคุณได้เห็นมันแล้ว การจะอุบเงียบไม่พูดอะไร ก็จะกลายเป็นท่าทีทางการเมืองไม่ต่างจากการพูดออกมา” (หน้า 129)

ไม่ว่าสิ่งที่เห็นนั้นจะเป็นความโหดร้ายอัปลักษณ์ที่แฝงซ่อนในสถานการณ์สุขสงบ

หรือความน่ารักสดใสในบรรยากาศที่อบร่ำด้วยคาวเลือดและควันปืน

เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com

Monday, May 08, 2006

การล่มสลายของอาณาจักรโรมัน, การลุกขึ้นสู้ของชาวอินเดียแดงในปี 1881, การโจมตีโปแลนด์ของฮิตเลอร์, และเขตแดนของสายลมโหมกระพือ

แปลจาก The Fall of the Roman Empire, The 1881 Indian Uprising, Hitler’s Invasion of Poland, and The Realm of Raging Winds ใน The Elephant Vanishes

โดย Haruki Murakami


1.
การล่มสลายของอาณาจักรโรมัน

สิ่งแรกที่ผมรับรู้คือสายลมที่เริ่มพัดโชยในช่วงเวลากลางวันของวันอาทิตย์ หรือหากระบุให้ชัดเจนแม่นยำ ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเวลาบ่าย 2 โมง 7 นาที

ในช่วงเวลาเช่นนี้ ไม่ต่างจากที่ผ่านๆ มา—ภารกิจหน้าที่ของผมในทุกกลางวันของวันอาทิตย์—ผมนั่งลงกับโต๊ะในห้องครัว ฟังเพลงอ่อนนุ่มเสนาะโสต พร้อมๆ กับบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ลงในสมุดบันทึก ผมจดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ก่อนที่จะลงมือเขียนทั้งหมดอีกครั้งในวันอาทิตย์

ผมเพิ่งเขียนไปได้ถึงวันอังคารในตอนที่รู้สึกว่ามีเสียงของสายลมพัดผ่านหน้าต่าง ผมหยุดเขียนบันทึก สวมปลอกปากกา และเดินออกไปที่ระเบียงเพื่อเก็บเสื้อผ้าที่ตากอยู่ วัตถุที่พาดอยู่กับราวล้วนพลิ้วสะพัด กระพือพัดส่งเสียงแข็งกระด้าง ปลดปล่อยส่วนปลายของดาวหางไหลเป็นสายพุ่งสู่ฟากฟ้า

เมื่อผมเริ่มเกิดความสงสัย สายลมก็ดูเหมือนจะอพยพหลบหน้าไปสิ้น ปล่อยให้เสื้อผ้าแขวนห้อยเหมือนกับเมื่อช่วงเช้า—10 โมง 18 นาที หากต้องการความถูกต้องแม่นยำ—ตอนที่ไม่มีแม้เสียงกระซิบแผ่วบางของสายลม ในตอนนั้นความทรงจำของผมผนึกแน่นราวกับฝาปิดเตาหลอม เพราะหลังจากนั้นเล็กน้อย ผมก็คิดว่าที่หนีบผ้าไม่มีความจำเป็นสำหรับวันที่นิ่งสงบแบบนี้

ด้วยความสัตย์จริง ณ ห้วงเวลานั้นไร้สิ้นซึ่งการเดินทางของสายลม

หลังจากเก็บเสื้อผ้าอย่างรวดเร็ว ผมก็ปิดหน้าต่างทุกบานในอพาร์ตเมนต์ เมื่อหน้าต่างถูกปิดหมดแล้ว ผมก็แทบจะไม่ได้ยินเสียงของสายลม ภาพภายนอกซึ่งปราศจากเสียง ต้นไม้—ส่วนใหญ่เป็นต้นสนหิมาลายันกับต้นเกาลัด—บิดสะบัดไปมาราวกับสุนัขที่กำลังต่อสู้กับอาการคันที่ยากจะควบคุม กลุ่มเมฆก้อนน้อยเคลื่อนผ่านผืนฟ้าก่อนลับหายเหมือนสายลับแววตาเจ้าเล่ห์ ขณะที่เสื้อเชิ้ตหลายตัวหมุนพันตัวเองอยู่กับราวตากผ้าพลาสติกบนระเบียงของอพาร์ตเมนต์ฝั่งตรงข้าม จับยึดเหนียวแน่นราวกับเด็กกำพร้าผู้ถูกทอดทิ้ง

สายลมช่างพัดแรงจริงๆ ผมคิด

เปิดหนังสือพิมพ์ตรวจสอบสภาพอากาศ ผมไม่พบคำเตือนของไต้ฝุ่น 30% คือความเป็นไปได้ที่ฝนจะตก ช่วงเวลากลางวันอันสุขสงบของวันอาทิตย์ ไม่ต่างจากคืนวันอันรุ่งเรืองของอาณาจักรโรมัน คาดเดาว่ามันเป็นแบบนั้น

ผมถอนหายใจเบาๆ อาจจะซัก 30% ของการถอนหายใจปกติ ปิดหนังสือพิมพ์ พับเสื้อผ้าเก็บใส่ลิ้นชัก ชงกาแฟไปพร้อมๆ กับฟังเพลงเสนาะโสตเช่นเดิม หลังจากนั้นผมกลับมาเขียนบันทึกต่อ โดยมีถ้วยกาแฟอยู่ข้างๆ

วันพฤหัสบดี ผมร่วมรักกับแฟน เธอชอบใส่ผ้าปิดตาระหว่างการร่วมรัก เธอจะพกมันไว้ในกระเป๋าเสมอเพียงเพื่อจุดประสงค์นี้

อันที่จริงมันก็ไม่เกี่ยวกับผม แต่เธอก็ดูน่ารักดีตอนที่ใส่ผ้าปิดตา ผมไม่มีสิทธิ์คัดค้านในเรื่องนี้ เพราะท้ายที่สุด เราต่างก็เป็นมนุษย์ปุถุชน และแต่ละคนล้วนมีบางอย่างตกทอดมาจากที่ไหนซักแห่ง

ทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอสำหรับบทบันทึกของวันพฤหัสบดี เรื่องจริง 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นความเห็นสั้นๆ นโยบายส่วนตัวในการเขียนบันทึกของผม

วันศุกร์ ผมไปพบเพื่อนเก่าที่ร้านหนังสือกินซ่า เขาสวมเนกไทหลุดยุคพ้นสมัย หมายเลขโทรศัพท์เป็นสิ่งเดียวที่ปรากฏบนแถบริ้วพื้นหลัง—ผมเขียนมาถึงตรงนี้ตอนที่เสียงโทรศัพท์ดัง


2.
การลุกขึ้นสู้ของชาวอินเดียแดงในปี 1881


เข็มนาฬิกาบอกเวลาบ่าย 2 โมง 36 นาทีตอนที่เสียงโทรศัพท์ดัง ผมคิดว่าอาจเป็นเธอ—เพื่อนสาวกับผ้าปิดตา—เธอจะมาหาผมทุกวันอาทิตย์ และก็มักจะโทร.มาก่อนเสมอ มันเป็นหน้าที่ของเธอสำหรับอาหารมื้อเย็น เย็นนี้เราเลือกหอยนางรมกระทะร้อน

อย่างไรก็ตาม มันเป็นเวลาบ่าย 2 โมง 36 นาทีตอนที่เสียงโทรศัพท์ดัง ผมวางนาฬิกาไว้ข้างๆ โทรศัพท์ ด้วยวิธีนี้ผมจึงเห็นนาฬิกาเสมอเวลาจะรับโทรศัพท์ เพราะฉะนั้น ผมจดจำเวลาได้แม่นยำสมบูรณ์แบบ

เมื่อผมยกหูโทรศัพท์ สิ่งที่ได้ยินคือเสียงสายลมโหมกระหน่ำกึกก้องกัมปนาทราวกับอยู่ในสงครามของชาวอินเดียแดงในปี 1881 พวกเขาเผาทำลายที่พักของเหล่าผู้บุกเบิก ตัดสายโทรเลข ข่มขืนแคนดิช เบอร์เกน

“ฮัลโหล?” ผมรับสาย แต่เสียงโดดเดี่ยววังเวงของผมจมหายไปในความอึกทึกครึกโครมของประวัติศาสตร์ที่แผ่คลุมบดบัง

“ฮัลโหล? ฮัลโหล?” ผมตะโกนส่งเสียง แต่ก็ไร้วี่แวว

หูของผมเริ่มรับไม่ไหว สิ่งที่พอจะจับความได้ฟังคล้ายเสียงแผ่วจางของหญิงสาวที่แหวกผ่านสายลม หรือมันอาจเป็นเสียงอะไรบางอย่าง แต่ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไร สายลมก็พัดกระหน่ำจนยากจะคาดเดา และผมเดาว่าไอ้ทุยหลายตัวน่าจะฟุบคาพื้นไปแล้ว

ผมไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี ได้แต่ยืนพร้อมแนบหูโทรศัพท์กับหู หนักหน่วงและรวดเร็ว ผมมุ่งสมาธิทุ่มเทไปที่หู ผมเกือบคิดว่ามันคงไม่มีทางไขปริศนาได้แล้ว หลังจากนั้นประมาณ 15-20 วินาที เสียงโทรศัพท์ก็ขาดหายราวกับชีวิตที่เลือนดับในวินาทีของการจู่โจม สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงความเงียบอันกลวงเปล่าว่างโหวง ปราศจากความอบอุ่นเหมือนกางเกงในซีดจาง


3.
การโจมตีโปแลนด์ของฮิตเลอร์

ช่างหัวมัน ผมถอนหายใจอีกครั้ง และเริ่มเขียนบันทึกต่อไป ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ดีกว่าแค่การบันทึกข้อมูล

วันเสาร์ หน่วยรบติดอาวุธของฮิตเลอร์บุกโจมตีโปแลนด์ ทิ้งระเบิดใส่กรุงวอร์ซอว์—

ไม่ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น การบุกโจมตีโปแลนด์ของฮิตเลอร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี 1939 ไม่ใช่เมื่อวานนี้ หลังจากมื้อเย็นของเมื่อวาน ผมไปดูเมอริล สตรีฟ ใน Sophie’s Choise การบุกโจมตีโปแลนด์ของฮิตเลอร์เป็นเพียงเหตุการณ์ในหนัง

ในหนัง เมอริล สตรีฟ หย่ากับดัสติน ฮอฟฟ์แมน หลังจากนั้นเธอก็พบกับวิศวกรที่แสดงโดยโรเบิร์ต เดอ นีโร เธอแต่งงานใหม่กับเขา มันเป็นหนังที่น่าพอใจ

ที่นั่งข้างผมเป็นเด็กนักเรียน ม.ปลายสองคน ทั้งคู่สัมผัสหน้าท้องของกันและกันตลอดทั้งเรื่อง ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรอยู่แล้ว หน้าท้องของเด็กนักเรียน ม.ปลาย แม้แต่ผมก็เคยมีหน้าท้องของเด็กนักเรียน ม.ปลาย


4.
และเขตแดนของสายลมโหมกระพือ


หลังจากเสร็จสิ้นการจัดเรียงเรื่องราวอันมีค่าของสัปดาห์ที่ผ่านมาลงในสมุดบันทึก ผมนั่งลงหน้าชั้นแผ่นเสียง เลือกเพลงสำหรับช่วงกลางวันของวันอาทิตย์ที่อบอวลไปด้วยสายลม ผมหยิบเซลโล่ คอนแชร์โตของโชสตาโควิช กับอัลบั้มของ Sly and the Family Stone ทั้งคู่น่าจะเหมาะกับวันที่สายลมโหมกระพือ ผมฟังเพลงทั้งสองชุดไล่เรียงต่อเนื่องกัน

มีสิ่งของถูกกราดกระหน่ำผ่านหน้าต่างอยู่เป็นระยะ กระดาษขาวลอยละลิ่วจากฟากตะวันตกมุ่งสู่ฟากตะวันออก เหมือนกับหมอผีกำลังทำพิธีเป่าเสกน้ำยาวิเศษต้มจากรากไม้และสมุนไพร ดีบุกบางยาวหักงอ เหมือนกับผู้กระตือรือร้นในรายละเอียดเรื่องเพศ

ผมกำลังชมทิวทัศน์ภายนอกพร้อมๆ กับเซลโล่ คอนแชร์โตของโชสตาโควิชเมื่อตอนที่เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง นาฬิกาปลุกข้างโทรศัพท์บอกเวลา 15.48 น.

ผมยกหูโทรศัพท์ เตรียมพร้อมสำหรับเสียงคำรามของเครื่องยนต์โบอิ้ง 747 แต่คราวนี้ไม่มีเสียงสายลมกรรโชกให้ได้ยิน

“ฮัลโหล” เธอพูด

“ฮัลโหล” ผมพูดตอบ

“ฉันกำลังมุ่งหน้าไปพร้อมกับเครื่องปรุงของหอยนางรมกระทะร้อน โอเค?” แฟนของผมบอก เธอกำลังเดินทางมาพร้อมกับข้าวของและผ้าปิดตา

“ไม่มีปัญหา แต่—”

“คุณมีหม้ออบหรือเปล่า?”

“มี แต่...” ผมตอบ “เกิดอะไรขึ้น ผมไม่ได้ยินเสียงลมอีกแล้ว”

“ใช่ ลมหยุดแล้ว ที่นากาโน มันหยุดพัดไปเมื่อตอนบ่าย 3 โมง 25 นาที ฉันคิดว่าที่นั่นก็คงจะหยุดในไม่ช้านี้”

“น่าจะอย่างนั้น” ผมตอบก่อนวางหูโทรศัพท์ จากนั้นจึงหยิบหม้ออบลงมาจากชั้นเก็บของและล้างมันในอ่างล้างจาน

เป็นดั่งที่เธอทำนายเอาไว้ สายลมจากไปเมื่อเวลา 16.05 น. ผมเปิดหน้าต่างและมองออกไปข้างนอก หมาสีดำกำลังจดจ่อดมกลิ่นพื้นดินอยู่ข้างล่าง ผ่านไป 15-20 นาที เจ้าหมายังไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายเมื่อยล้าให้เห็น ผมนึกไม่ออกว่าทำไมมันถึงมุ่งมั่นตั้งใจได้ขนาดนั้น

ยกเว้นเรื่องนี้ โลกยังคงหมุนเคลื่อนไปไม่ต่างจากเมื่อตอนที่สายลมเริ่มพัด ต้นสนหิมาลายันกับเกาลัดยังตั้งตรงอยู่ตรงนั้น วางเฉยเย็นชาราวกับไม่เคยมีอะไรพัดผ่าน เสื้อผ้ายังแขวนห้อยอยู่กับราวตากผ้าพลาสติก นกกากระพือปีกอยู่บนเสาโทรศัพท์ จงอยปากมันวาวราวบัตรเครดิต

ในระหว่างนี้ แฟนของผมก็มาถึงและเริ่มเตรียมอาหาร เธออยู่ในครัว ล้างหอยนางรม หั่นกะหล่ำปลีจีนคล่องแคล่ว เตรียมโตฟูด้วยความปราณีต ต้มน้ำซุป

ผมถามว่าเธอโทร.มาเมื่อ 14.36 น. หรือเปล่า

“ฉันโทร.มา” เธอตอบขณะกำลังซาวข้าวในหม้อกรอง

“ผมไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย” ผมบอก

“ใช่ ลมพัดน่ากลัวมาก” เธอบอกข้อมูลความจริง

ผมหยิบเบียร์จากตู้เย็นและนั่งลงจิบที่ขอบโต๊ะ

“แต่... ทำไมอยู่ดีๆ สายลมก็พัดกระหน่ำ แล้วก็พัดอีกครั้ง อะไรแบบนั้น มันไม่มีอะไรจริงๆ หรือ?” ผมสงสัย

“จะให้ฉันตอบคุณยังไง” เธอบอก หันมาเผชิญหน้ากับผมขณะที่มือกำลังแกะเปลือกกุ้ง “มีตั้งหลายเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับลม เช่นเดียวกับมีอีกตั้งหลายเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคโบราณ หรือมะเร็ง หรือพื้นมหาสมุทร หรืออวกาศ หรือเซ็กซ์”

“อืมม” ผมคราง มันไม่มีคำตอบ ดูเหมือนโอกาสจะเหลือไม่มากนักสำหรับการสานต่อบทสนทนาบทนี้กับเธอ ดังนั้น ผมจึงนิ่งเงียบ เฝ้ามองกระบวนการทำหอยนางรมกระทะร้อนต่อไป

“ถ้างั้น ผมขอจับหน้าท้องคุณได้ไหม?” ผมถาม

“เอาไว้วันหลัง” เธอตอบ

ในที่สุดหอยนางรมกระทะร้อนก็เสร็จเรียบร้อย ผมตัดสินใจประมวลเหตุการณ์ประจำวันอย่างย่อ เตรียมพร้อมสำหรับการเขียนบันทึกในสัปดาห์หน้า นี่คือสิ่งที่ผมจดเอาไว้

· การล่มสลายของอาณาจักรโรมัน
· การลุกขึ้นสู้ของชาวอินเดียนแดงในปี 1881
· การโจมตีโปแลนด์ของฮิตเลอร์

เพียงเท่านี้ สัปดาห์หน้าผมก็จะสามารถบอกได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในวันนี้บ้างอย่าง ถูกต้องแม่นยำด้วยระบบอันละเอียดรอบคอบของผม ผมเขียนบันทึกมา 22 ปีโดยไม่พลาดแม้ซักวัน เก็บทุกรายละเอียดของทุกการกระทำทรงความหมายด้วยระบบของผมเอง ไม่ว่าจะมีสายลมหรือไม่ก็ตาม นั่นคือวิถีชีวิตของผม

หมายเหตุ: ผู้อ่านท่านใดที่มีต้นฉบับภาษาอังกฤษของเรื่องสั้นเรื่องนี้ จะเป็นพระคุณอย่างสูงหากจะช่วยตรวจทานและเสนอแนะความหมายที่ถูกต้องและเหมาะสมกว่าที่ผมได้แปลไว้ เพราะมีหลายคำและหลายประโยคที่ผมจนปัญญาจะแปลออกมาได้ตรง (ทั้งตามตัวอักษรและอารมณ์ความรู้สึก) ตามต้นฉบับภาษาอังกฤษครับ

Wednesday, May 03, 2006

เมื่อต้องอยู่กับความยุ่ง ใน "ความยุ่งของการอยู่"

บ้านที่ผมเกิดอยู่ริมแม่น้ำ ทุกๆ วันผมจะเห็นเรือบรรทุกข้าวเปลือกผูกต่อติดกันเป็นแถวยาวค่อยๆ แล่นผ่านหน้าบ้านเพื่อส่งข้าวเข้ากรุงเทพฯ แต่ละลำบรรจุข้าวเปลือกเต็มท้องเรือจนดูเหมือนไม่น่าจะลอยอยู่บนน้ำได้

คนแถวบ้านผมเรียกมันว่า 'เรือโยง' จากลักษณะที่มีหลายๆ ลำผูกติดกันเรียงเป็นแถว โดยมีเรือยนต์ลำเล็กๆ ทำหน้าที่ลากเรือบรรทุกข้าวสารทั้งแถวเดินทางไปบนสายน้ำ เหมือนคนตัวผอมแต่แข็งแรงกำลังฉุดลากคนตัวอ้วนแถมยังขี้เกียจออกเดินทางไปด้วยกัน

เรือบรรทุกข้าวสารแต่ละลำคือ 'บ้าน' ของหนึ่งครอบครัว ท้ายเรือคือที่อยู่ ที่กิน ที่นั่งเล่นของคนในบ้าน พวกเขาออกเดินทางไปพร้อมกับเรือและแวะพักตามท่าข้าวหรือโรงสีที่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ ผมยังจำได้ว่าเคยแอบได้ยินชาวเรือคนหนึ่งคุยกับน้าชายว่า เขาได้ยินเสียงลูกกระสุนปืนตกเกรียวกราวบนหลังคาเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงที่เรือของเขาเข้ากรุงเทพฯพอดี ได้ยินแบบนั้นผมก็อิจฉาชาวเรือขึ้นมาจับใจ เพราะอยากเข้าไปเห็นกรุงเทพฯกับเขาบ้าง

ที่เล่าเรื่องเรือโยงขึ้นมาก็ไม่มีอะไรหรอกครับ ผมแค่คิดไปเล่นๆ ว่าคนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเรือ มีโอกาสเหยียบพื้นดินน้อยกว่าแหวกว่ายอยู่ในพื้นน้ำ แต่ละวันได้นั่งมองทัศนียภาพสองข้างทางที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีโอกาสไปแวะพักที่จุดโน้นจุดนี้ และอาจจะตกปลาเก่งกว่าเตะฟุตบอล เขาจะมี 'ความยุ่งของการอยู่' เหมือนหรือต่างกับคนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนบกอย่างไร


เรื่องยุ่งๆ ของชีวิต

'ชีวิต' อาจมีองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งคือ 'ความยุ่ง' ยิ่งชีวิตในเมืองด้วยแล้ว ก็ดูเหมือนความยุ่งจะเข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตมากเกินจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น ความยุ่งกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการสร้างรอยร้าวให้กับสัมพันธภาพระหว่างคน คู่รักสามารถหมดรักกันได้เพราะความยุ่ง ครอบครัวอาจแตกสลายได้เพราะความยุ่ง และชีวิตของคนคนหนึ่งก็อาจล้มเหลวได้เพราะความยุ่ง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเมื่อคนยุ่งๆ มาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันแล้ว มันจะยิ่งยุ่งแค่ไหน

ความยุ่งของการอยู่ หนังสือรวมบทความเล่มล่าสุดจาก มติชนสุดสัปดาห์ ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จะช่วยอธิบายความยุ่งในสังคมยุ่งๆ แบบสังคมไทย (ทั้งในเมือง ชานเมือง และนอกเมือง) ซึ่งรวมเอาคนยุ่งๆ มาไว้ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้เรา—ซึ่งกำลังยุ่ง—เข้าใจความยุ่งที่กำลังพบเจอ และสามารถ 'อยู่' กับความยุ่งได้อย่างสะดวกกายสบายใจมากขึ้น

บทความทั้ง 19 ชิ้น คือการฉายภาพปรากฏการณ์หลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแง่มุมของอาจารย์นิธิ การจะทำความเข้าใจสาเหตุและคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ จำเป็นต้องมีข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และการปรับเปลี่ยนโลกทรรศน์ที่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งรายการคุยข่าวและสื่อส่วนใหญ่ไม่สามารถให้ได้

ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลและปรับเปลี่ยนได้ในชั่วพริบตา บทความของอาจารย์นิธิทำให้เราตระหนักว่าเบื้องหลังของแต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดนั้นกว้างและลึกกว่ารายงานข่าวบนหน้ากระดาษหรือบทสนทนาของพิธีกร

การเสนอให้แก้กฎหมายเพื่อให้สิทธิแก่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถเลือกใช้นามสกุลของสามีหรือของตนเองก็ได้จึงแทบจะหมดความหมาย เมื่อนามสกุลแทบจะหมดหน้าที่ทางสังคม และไม่สามารถแทนที่ ‘วงศ์’ (Lineage) หรือ ‘ผี’ ที่เคยทำหน้าที่หลายอย่างทางสังคมมาก่อน

“นอกจากไม่มีความสามารถแทนที่ผีแล้ว ยังดูเหมือนไม่มีหน้าที่อะไรอีกเลย นอกจากทำให้รัฐเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ถูกต้องเท่านั้น” (นามสกุล, หน้า 7)

การอยู่ก่อนแต่งจึงแยกไม่ออกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถาบันการสมรสในสังคมไทย และการลำเลิกวัฒนธรรมเก่าของไทยว่าลูกผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัวก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา

“แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสังคมไทย ทำให้เรามองการสมรสจากฐานของปัจเจกบุคคลไปตลอดสาย คือนับตั้งแต่การเลือกคู่ไปจนถึงการตั้งครอบครัว ระบบเศรษฐกิจและสังคมก็เอื้อที่จะให้ใช้ฐานของปัจเจกบุคคลเสียด้วย

“ความมั่นคงของสถาบันการสมรสในปัจจุบันจึงขึ้นอยู่กับคนสองคนจะช่วยกันประคับประคองไว้ได้หรือไม่

“แต่แล้วสังคมไทยเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงของสถาบันการสมรสเช่นนี้ไว้อย่างไร?

“ผมคิดว่าแทบจะไม่มีเลย” (อยู่ก่อนแต่ง, หน้า 23-24)

วงเหล้าจึงเป็น ‘พื้นที่’ ใหม่สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านชานเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนถึงการขาด ‘พื้นที่’ ทางสังคมของคนในบ้านเมือง

“อันที่จริงไม่เฉพาะในหมู่บ้านเท่านั้นที่ขาด ‘พื้นที่’ ทางสังคม คนในเมืองไทยไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือเมืองใหญ่ก็ขาด ‘พื้นที่’ ทางสังคมเหมือนกัน เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ‘พื้นที่’ เก่าถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ แต่เราไม่คิดจะสร้าง ‘พื้นที่’ ใหม่สำหรับวิถีชีวิตใหม่ หรือไม่คิดจะปรับ ‘พื้นที่’ เก่าให้สามารถรับใช้ชีวิตใหม่ได้
“ขาด ‘พื้นที่’ ก็อึดอัดสิครับ คนไทยทั้งประเทศเวลานี้อึดอัดเต็มทนในการที่ต้องอยู่กับตัวเองคนเดียว” (พื้นที่ในหมู่บ้าน, หน้า 57)

ผลสำรวจคนกรุงเทพฯที่เห็นด้วยกับการใช้กฎกระทรวงว่าด้วยฟิล์มติดรถยนต์ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ จึงสะท้อนถึง ‘วัฒนธรรมความกลัว’ ของคนในเมืองซึ่งไม่มีการสร้างกลไกสำหรับดูแลความปลอดภัยของชีวิต และที่สร้างไว้แล้วก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

“เช่น เราไม่มีชุมชนในเขตเมืองที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการดูแลป้องกันอาชญากรรมร่วมกัน เราแทบไม่มีพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ร่วมกันเลยด้วยซ้ำ

“พื้นที่นอกบ้านจึงมัก ‘เปลี่ยว’ เสมอ ถึงมีคนอยู่เต็มก็ยัง ‘เปลี่ยว’ อยู่นั่นเอง เพราะไม่มีใครสนใจใคร เนื่องจากไม่เคยชินกับการมีชีวิตในพื้นที่สาธารณะ” (มืดๆ ดำๆ ที่น่ากลัว, หน้า 83)

คนกวาดถนนในหมู่บ้านจัดสรร ชาวสลัม แม่ค้าบนทางเท้า กรรมกรก่อสร้าง ฯลฯ ที่เป็นคนไม่เต็มคนในสำนึกของคนยุคปัจจุบัน จึงเป็นผลพวงของการขูดรีดในระบบทุนนิยมและการเอารัดเอาเปรียบในสังคมเมือง ซึ่งใช้แรงงานคนอื่นผ่านการจ้างด้วยเงินตรา อันปราศจากความสัมพันธ์ส่วนตัวและสามารถทำให้เกิดความสลับซับซ้อนของการจ้างได้มาก

“อันที่จริงไม่แต่เฉพาะคนเล็กๆ ในเมืองเท่านั้น ที่ถูกทำให้กลายเป็นคนไม่เต็มคน คนชั้นกลางเองก็ใช่ว่าจะหลุดรอดจากชะตากรรมอันนี้ การบริหารงานของบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทข้ามชาติในทุกวันนี้ก็มองพนักงานของตนเองอย่างไม่ใช่คนเต็มคนเหมือนกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในบริษัทถูกลดให้เหลือเพียงปัจจัยไม่กี่อย่าง นั่นก็คือเงินและตำแหน่งสำหรับแลกกับสมรรถภาพและประสิทธิผลในงาน จบเท่านั้นเอง ไม่มีมิติอื่นๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เหลืออยู่อีกเลย” (กูก็คน, หน้า 95)


“โอ้ว่านกเขาคู” กับชีวิตที่ดีของนิธิ เอียวศรีวงศ์

เสียงนกเขากู่ขันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดีสำหรับชาวจะนะ และถ้าหากวันหนึ่งวันใดเสียงกู่ขันของพวกมันเงียบหายหรือแปลกแปร่งไปจากเดิม ส่วนประกอบของชีวิตที่ดีสำหรับพวกเขาก็คงบิดเบี้ยว และมันอาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ดีอีกต่อไป

ส่วนประกอบของชีวิตที่ดีสำหรับชาวปากมูลคือการได้ออกเรือหาปลาในสายน้ำที่พวกเขาคุ้นเคยมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ด้วยภูมิปัญญาในการหาปลาที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางสังคมและประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่นอันเกี่ยวเนื่องกับการจับปลาแบบปากมูล

ชีวิตที่ดีเหล่านี้ไม่มีในแบบเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่มีความหมายสำหรับนักพัฒนาของรัฐ และไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขสำหรับจ่ายค่าชดเชย

โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน อ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้า ท่อก๊าซ ฯลฯ ได้รับการโหมประโคมว่าจะนำชีวิตที่ดีมาสู่คนส่วนใหญ่ และรัฐก็สามารถจะเอาค้อนไปทุบหัวใครก็ได้ที่คัดค้าน ในนามของชีวิตที่ดีสำหรับคนจำนวนมากกว่า และกล่าวประณามคนจำนวนน้อยว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเห็นแก่ตัว

ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐจึงยังดำเนินต่อไป แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไปแล้วก็ตาม

“เสียงนกเขาที่คูได้ไพเราะนั้น ไม่ได้ขึ้นกับคอของนกเขาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับหูของคนฟังด้วย หูที่จะได้ยินความไพเราะของเสียงนกเขานั้น ต้องเป็นหูที่อยู่ใต้ท้องฟ้าใสสะอาด อากาศบริสุทธิ์ จิตใจเบิกบาน และมีความสบายใจท่ามกลางวิถีชีวิตที่ตนเองคุ้นเคย ท่ามกลางความสัมพันธ์ทาสังคมที่ตนเองพอใจและเป็นสุข

“ความไพเราะของเสียงนกเขาเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์ล้วนๆ และไม่ใช่ธรรมชาติล้วนๆ

“ถ้าสิ่งที่เขาหวงแหนมีความหมายกว้างถึงเพียงนี้ มีเหตุผลหรือไม่ที่เขาจะต่อต้านโครงการใหญ่ๆ ที่ทำลายวัฒนธรรมของเขา เสียงคูของนกเขาเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของวัฒนธรรมนั้น

“แต่เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่าง จึงยากที่คนในเมืองจะเข้าใจสัญลักษณ์ที่ชาวบ้านใช้ในการสื่อถึงวัฒนธรรมได้ ในขณะเดียวกันก็ยากแก่ชาวบ้านที่จะใช้วัฒนธรรมของคนเมือง เพื่อสื่อคุณค่าและอุดมคติชีวิตที่คนเมืองมองไม่เห็นได้” (โอ้ว่านกเขาคู, หน้า 101)

เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com