Friday, May 19, 2006

เขื่อน อาวุธนิวเคลียร์ นักเขียนแอคทิวิสต์ กับหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ของอรุณธตี รอย

“We have to support our small heroes. (Of these we have many. Many.) We have to fight specific wars in specific ways. Who knows, perhaps that’s what the 21st century has in store for us. The dismantling of the Big. Big bombs, big dams, big ideologies, big contradictions, big countries, big wars, big heroes, big mistakes. Perhaps it will be the Century of the Small. Perhaps right now, this very minute, there’s a small god up in heaven readying herself for us.”

Arundhati Roy


1

ในขณะที่ทั้งประเทศกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางการเมือง ความแตกแยกขัดแย้งกำลังลุกลามไปทั่ว และรอยยิ้มรวมถึงการประกาศตนว่ารักสงบไม่ใช่หลักประกันว่าคนในชาติจะมีความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้งได้จริง ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับกำลังเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่ต่างไปจากผู้คนอีกกว่าห้าสิบล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของอินเดียในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา พ่อเฒ่าแม่เฒ่าในชุมชนต้นน้ำคงกำลังเฝ้ามองเหมืองฝายดั้งเดิมซึ่งเคยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำของชุมชนมานับสิบนับร้อยปี ถูกรื้อทำลายย่อยยับหลังจากมีน้ำเอ่อท่วมพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเมือง ชาวบ้านแถบภาคอีสานคงกำลังเฝ้ามองสวนป่ายูคาลิปตัสอันเขียวขจีสมชื่อโครงการอีสานเขียวด้วยความขมขื่น เพราะอาหารของทั้งคนและสัตว์ รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมนั้นถูกทำลายย่อยยับไปหมดแล้วพร้อมกับผลงานของนักการเมืองบางคน

ปัญหาทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเดินทางไปไกลกว่าคำถามที่ว่าเราจะยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ต่อไปหรือไม่ และหากเราสามารถมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้จริง ใครจะกล้ารับประกันว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับโครงการของรัฐจะได้รับการแก้ไข

การเดินขบวนขับไล่นายกรัฐมนตรีจึงไร้ความหมายสำหรับลุงมี ซึ่งที่ดินของบรรพบุรุษต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไร้ความสำคัญสำหรับป้าบัว ที่ต้องถูกไล่ที่เพราะรัฐบาลอยากเพิ่มจำนวนอุทยานแห่งชาติ และไร้ประโยชน์สำหรับไอ้จุ้น ที่ต้องเตรียมบากหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพราะที่นาของพ่อกลายเป็นของนายทุน


2

มีคนถามอรุณธตี รอย ว่าทำไมเธอจึงไม่เขียนนวนิยายอีก (หลังจาก The God of Small Things) รอยตอบว่า “Because I have the strong feeling that we are living in a time in which writers have to take a position. I feel under a tremendous amount of pressure just now to respond to things.” และชะตากรรมของชาวพื้นเมืองนับแสนนับล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของรัฐบาลอินเดีย รวมทั้งความฉ้อฉลปลิ้นปล้อนของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ดึงดูดให้รอยต้องไปที่แม่น้ำนรมทา (Narmada)

เธอยืนอยู่บนฝั่งแม่น้ำ มองมายังหมู่บ้านของชาวพื้นเมือง ทุ่งหญ้า ป่าไม้ ฝูงแพะ และเด็กๆ ที่กำลังวิ่งเล่นอยู่บนผืนดินที่กำลังจะจมอยู่ใต้น้ำในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึง

ไม่มีใครรู้ว่าวิถีชีวิตของพวกเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปชั่วนิจนิรันดร์

ไม่มีใครเคยคิดว่าวันหนึ่งพวกเขาจะมีโอกาสเฝ้ามองพืชผลของตัวเองถูกทำลายย่อยยับในชั่วข้ามคืน

จากผืนดินที่เป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษ พวกเขากลายเป็นแรงงานไร้ที่ดินในชั่วพริบตา ก่อนจะถูกบังคับให้ต้องยอมรับค่าชดเชย และถูกขับไล่ออกไปจากบ้านของตัวเอง “คนจำนวนมากที่ถูกอพยพย้ายถิ่นฐาน คือผู้คนที่ตลอดชั่วชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขาอาศัยอยู่ในป่าลึกที่แทบไม่เคยได้สัมผัสกับเงินและโลกสมัยใหม่ แล้วจู่ๆ พวกเขาก็พบว่าตัวเองถูกทำให้เหลือทางเลือกเพียงว่าจะอดตายหรือจะเดินหลายกิโลเมตรไปยังเมืองที่ใกล้ที่สุด เพื่อไปนั่งอยู่ในตลาด (ทั้งชายและหญิง) เหมือนสินค้าที่วางขาย เสนอตัวเองเป็นกรรมกรแลกค่าแรง” (หน้า 48)

ปัจจุบัน อินเดียเป็นประเทศผู้สร้างเขื่อนรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก 3,600 เขื่อนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ และอีกกว่าเจ็ดร้อยเขื่อนกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเท่ากับว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อนขนาดใหญ่ในโลกกำลังถูกสร้างขึ้นที่อินเดีย

รัฐบาลอินเดียประกาศก้อง (ไม่ต่างจากรัฐบาลผู้นิยมสร้างเขื่อนในประเทศอื่นๆ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศแถวนี้) ว่าเขื่อนขนาดใหญ่จะช่วยปลดปล่อยประชาชนชาวอินเดียจากความหิวโหยและความยากจน ผู้ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม “เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม” “เพื่อความก้าวหน้า” “เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ” และแน่นอน ผู้ที่คัดค้านคือพวกก่อความไม่สงบ เป็นภัยต่อชาติ ต่อต้านการพัฒนา หรือเป็นพวก “รับเงินต่างชาติ”

แต่ชาติหรือประเทศเป็นของใคร? ใครควรได้รับผลประโยชน์? ใครควรเป็นผู้เสียประโยชน์? และใครควรเป็นผู้ตัดสินใจ?

“บนธงชาติมีรูโหว่ และมันกำลังเลือดไหล” (หน้า 23)

ใช่! บนธงชาติมีรูโหว่ แต่มือที่จับมีดปาดเฉือนธงชาติแล้วล้วงเข้าไปกะซวกแทงผู้คนในชาติเป็นมือของใคร? ของผมหรือของคุณ?

รัฐบาลอาจไม่ใช่ปีศาจร้ายผู้เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด (เช่นเดียวกับที่ไม่ใช่อัศวินควายดำหน้าไหนที่จะคอยโผล่มาช่วยกู้วิกฤตได้เสมอไป) แต่ประโยคเหล่านี้ของอรุณธตี รอย ก็บาดลึกทิ่มแทงจนเจ็บจำฝังใจ

“ถ้าจะถ่วงสัตว์ร้ายตัวหนึ่ง คุณต้องหักขามัน ถ้าจะถ่วงประเทศชาติ คุณต้องทำลายประชาชนในชาตินั้น คุณต้องปล้นเอากำลังใจของพวกเขาไป ต้องสำแดงให้พวกเขาเห็นถึงอำนาจเบ็ดเสร็จของคุณในการควบคุมชะตากรรมของพวกเขา ต้องทำให้พวกเขาหายข้องใจว่าถึงที่สุดแล้วคุณต่างหากที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะอยู่ ใครจะตาย ใครจะได้เป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย ใครจะไม่เป็น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความเก่งกล้าสามารถของคุณ คุณต้องแสดงฝีมือออกมาให้หมด และให้เห็นว่าคุณทำมันได้ง่ายดายเพียงใด ว่ามันง่ายดายเพียงใดในการที่คุณจะกดปุ่มและทำลายล้างโลกใบนี้ ในการที่จะก่อสงครามหรือขอสงบศึก ในการที่จะฉวยเอาแม่น้ำทั้งสายจากคนพวกหนึ่งไปกำนัลแด่คนอีกพวกหนึ่ง ในการที่จะทำให้ทะเลทรายเป็นสีเขียว หรือโค่นป่าสักแห่งแล้วไปปลูกใหม่ที่อื่น คุณใช้การกระทำตามอำเภอใจของคุณมาทำลายศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อสิ่งที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ ไม่ว่าผืนดิน ผืนน้ำ ผืนป่า ผืนฟ้า

“พอทำเสร็จแล้ว พวกเขาจะเหลืออะไร? เหลือแต่คุณไง พวกเขาก็จะหันหน้ามาหาคุณ เพราะคุณคือทั้งหมดที่พวกเขามี พวกเขาจะรักคุณกระทั่งในยามที่พวกเขาชิงชังคุณ พวกเขาจะยังวางใจคุณทั้งที่พวกเขารู้ไส้คุณดีแล้ว พวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้คุณทั้งที่คุณเค้นคอเขาอยู่ พวกเขาจะดื่มสิ่งที่คุณยื่นให้ดื่ม พวกเขาจะหายใจตามที่คุณให้พวกเขาหายใจ พวกเขาจะอยู่ตามแต่ที่คุณจะโยนข้าวของของพวกเขาไปไว้ที่ไหน พวกเขาจำต้องเป็นอย่างนั้น พวกเขาจะทำอย่างไรได้? ไม่มีศาลไหนที่พวกเขาจะหันไปพึ่งพาได้ คุณเป็นทั้งแม่ของพวกเขาและพ่อของพวกเขา เป็นทั้งผู้พิพากษาและลูกขุน คุณคือโลก คุณคือพระเจ้า” (หน้า 72-73)


3

ต้นเดือนพฤษภาคม ปี 1998 อรุณธตี รอย บอกกับเพื่อนของเธอว่า ความฝันประเภทเดียวที่คุ้มค่าจะฝัน คือการฝันที่จะมีชีวิตในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่ และฝันที่จะตายก็ต่อเมื่อคุณสิ้นลมหายใจไปแล้ว

“มันแปลว่าอะไร” เพื่อนของเธอทำหน้าสงสัย

รอยเขียนข้อความลงบนกระดาษเช็ดปากแทนการอธิบายด้วยคำพูด

“การได้รัก ได้เป็นที่รัก การที่จะไม่ลืมความไม่สำคัญของตัวเอง การที่จะไม่มีวันชาชินกับความรุนแรงสุดจะพรรณนาและความไม่เสมอภาคอันป่าเถื่อนของชีวิตที่อยู่รอบตัวเธอ การที่จะค้นหาความรื่นรมย์ในที่ที่เศร้าที่สุด การที่จะไล่ติดตามความงดงามไปจนพบแหล่งที่อยู่ของมัน การที่จะไม่ลดทอนสิ่งที่ซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ และที่จะไม่ทำให้เรื่องง่ายๆ ต้องกลายเป็นเรื่องซับซ้อน การที่จะเคารพความเข้มแข็ง ไม่ใช่เคารพอำนาจ เหนืออื่นใดก็คือการที่จะได้เฝ้าดู ได้พยายาม และได้เข้าใจ การที่จะไม่มีวันเบือนหน้าหนี และการที่จะไม่มีวันและไม่มีทางลืม” (หน้า 100-101)

สองสัปดาห์ถัดมา รัฐบาลอินเดียก็ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ สื่อมวลชนพากันโหมประโคมถึงอนาคตอันสุกใสที่เฝ้ารออยู่เบื้องหน้า อาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ มันน่าพรั่นพรึงจนอาจทำให้ปากีสถานต้องยอมค้อมหัว รัฐบาลอินเดียเรียกร้องการสนับสนุนจากคนในชาติ โยงใยมันเข้ากับความรักชาติที่ยากจะปฏิเสธ “นี่ไม่ใช่แค่การทดสอบนิวเคลียร์ แต่มันคือการทดสอบความรักชาติ”

รอยเฝ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยความมึนงง เธอหรือใครกันแน่ที่เสียสติ? เธอคิดมากเกินไปหรือเปล่า? ทำไมใครต่อใครจึงยกย่องสรรเสริญการมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง? หรือนี่อาจจะเป็นประตูสู่ความยิ่งใหญ่ของชนชาติฮินดูผู้เกรียงไกรจริงๆ ?

“ฉันเองพร้อมแล้วที่จะเอาตัวเข้ามา และพร้อมที่จะทำให้ตัวเองขายหน้าอย่างชวนสมเพช เพราะในสถานการณ์แบบนี้ การนิ่งเงียบเป็นเรื่องที่แก้ตัวไม่ขึ้น” (หน้า 90)

เดือนกรกฎาคม ปี 1998 The End of Imagination ก็ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วอินเดีย มันเป็นบทความชิ้นแรกของรอยที่เผยแพร่สู่สาธารณะหลังจากนวนิยาย The God of Small Things ได้รับการตีพิมพ์

การนิ่งเงียบเป็นเรื่องที่แก้ตัวไม่ขึ้น และหากการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์มีความหมายเดียวกับการต่อต้านฮินดูหรือต่อต้านประเทศชาติแล้วล่ะก็ รอยก็พร้อมที่แยกตนเป็นอิสระ เธอเป็นสาธารณรัฐอิสระเคลื่อนที่ เธอคือพลเมืองของโลก เธอไร้เขตแดนขอบเขต เธอไม่มีธงชาติ และเธอยินดีต้อนรับผู้อพยพทุกคนเข้าสู่สาธารณรัฐแห่งนี้

ผู้อพยพ 400 ล้านคนที่ไม่รู้หนังสือและมีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้น ผู้อพยพ 600 ล้านคนที่ขาดแคลนสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน และผู้อพยพมากกว่า 200 ล้านคนที่ไม่มีน้ำสะอาดให้ดื่ม ในสาธารณรัฐอินเดียที่มีประชากรหนึ่งพันล้านคน ซึ่งรัฐบาลพยายามหลอมรวมผู้คนเพื่อสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ

อัตลักษณ์แห่งชาติที่ต้องการศัตรูเป็นผู้ขัดเกลาให้อัตลักษณ์นั้นแจ่มชัด

และการสนับสนุนอาวุธนิวเคลียร์จึงกลายเป็นความรักชาติ เพราะนั่นไง! ศัตรูของเรายืนทนโท่อยู่ตรงนั้นทั้งคน!

แต่ใครจะเข้าใจอัตลักษณ์แห่งชาติได้ดีไปกว่านักการเมืองผู้ฉลาดปราดเปรื่อง ใครจะใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์แห่งชาติได้คุ้มค่าไปกว่านักการเมืองผู้ร่ำรวยหรูหรา และใครจะมีอัตลักษณ์แห่งชาติได้ชัดเจนแจ่มชัดไปกว่านักการเมืองผู้เป็นตัวแทนของประชาชน

“ผู้คนจำพวกที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญ (หรือถ้าพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือมีผลประโยชน์ทางธุรกิจ) ต่อการที่ประเทศอินเดียจะมีอัตลักษณ์แห่งชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว, แจ่มแจ้ง และเหนียวแน่น ก็คือพวกนักการเมืองที่ประกอบกันขึ้นเป็นพรรคการเมืองต่างๆ ในระดับประเทศของเรา เหตุผลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็แค่เพราะว่าสิ่งที่นักการเมืองเหล่านี้ดิ้นรนที่จะให้ได้มา รวมทั้งเป้าหมายในทางอาชีพของพวกเขา ก็คือการ (จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง) ทำให้ตัวเองกลายเป็นอัตลักษณ์นั้น การยึดโยงตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์นั้นถ้าหากยังไม่มีอัตลักษณ์อย่างที่ว่า พวกเขาก็จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ชักจูงประชาชนให้โหวตให้กับอัตลักษณ์นั้น... ยิ่งนักการเมืองเหล่านั้นล้มละลายทางศีลธรรมมากท่าไหร่ ความคิดที่ว่าอัตลักษณ์นั้นควรเป็นอย่างไรก็ยิ่งหยาบเท่านั้น...” (หน้า 111-112)

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงนายกรัฐมนตรี (ที่ให้ความเคารพอย่างยิ่งกับเสียงสวรรค์จากประชาชน) ซึ่งรอยไม่เคยไว้วางใจ

“ใครหน้าไหนกันที่เป็นคนทำการสำรวจความคิดเห็น? นายกรัฐมนตรีเป็นใครกันหรือถึงจะมาตัดสินใจว่านิ้วของใครจะอยู่บนปุ่มนิวเคลียร์ที่สามารถเปลี่ยนทุกสิ่งที่เรารัก—แผ่นดิน, ท้องฟ้า, ภูเขา, ที่ราบ, แม่น้ำ, เมืองและหมู่บ้านของเรา ให้กลายเป็นเถ้าถ่านในชั่วแวบเดียว? นายกรัฐมนตรีเป็นใครกัน ถึงจะมายืนยันกับเราว่าจะไม่มีทางเกิดอุบัติเหตุขึ้น? เขารู้ได้ยังไง? ทำไมเราจะต้องไว้ใจเขาด้วย? เขาเคยทำอะไรมาหรือถึงจะทำให้เราไว้ใจเขาได้? ใครคนไหนในหมู่พวกเขาเคยทำอะไรที่จะทำให้เราไว้ใจพวกเขาได้หรือ?” (หน้า 121)


4

“การเป็นนักเขียน อย่างที่ใครๆ เข้าใจว่าเป็นนักเขียน ‘ผู้โด่งดัง’ ในประเทศที่ประชาชนหลายล้านคนอ่านหนังสือไม่ออกนั้น ออกจะเป็นเกียรติยศที่น่ากังขาอยู่ไม่น้อย การเป็นนักเขียนในประเทศที่มอบคนอย่างมหาตมะ คานธี ผู้สร้างแนวคิดเรื่องการต่อต้านโดยสันติวิธีให้แก่โลก แล้วจากนั้นอีกครึ่งศตวรรษก็ติดตามมาด้วยการทดลองนิวเคลียร์นั้น เป็นภาระอันสาหัสสากรรจ์นัก... การเป็นนักเขียนในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอย่างไม่เป็นทางการคอยบีฑาพลเมืองของตนในนามของ ‘การพัฒนา’ นั้น เป็นความรับผิดชอบอันหนักหน่วง เมื่อต้องพูดถึงนักเขียนและการเขียนหนังสือ ฉันใช้คำอย่าง ‘หนักหน่วง’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ ด้วยหัวใจที่หนักอึ้ง และมิใช่ด้วยความรู้สึกเสียใจแม้เพียงสักน้อยนิด” (หน้า 127)

ซูซานนา อรุณธตี รอย เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1961 ที่รัฐเกรละ (Kerala) ซึ่งเธอใช้เป็นฉากใน The God of Small Things นวนิยายเล่มแรกของเธอที่ได้รับรางวัล The Booker Prize ในปี 1997 เธอออกจากบ้านเมื่ออายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในเพิงหลังคาสังกะสี เลี้ยงชีพด้วยการเก็บขวดเบียร์ขาย ก่อนที่จะเข้าเรียนใน Delhi School of Architecture เธอแต่งงานกับเพื่อนนักเรียนสถาปนิก ก่อนที่จะแยกทางกันในอีก 4 ปีต่อมา

สามีคนใหม่ของรอยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เธอมีโอกาสได้เขียนบทภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำงานเขียนอย่างจริงจัง และนั่นจึงเป็นที่มาของ The God of Small Things

หลังจากใช้เวลานานนับปีในการตระเวนให้สัมภาษณ์และพบปะผู้อ่าน รอยกลับมาพำนักที่นิวเดลี และเริ่มต้นการเขียนบทความทางการเมือง รวมทั้งเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างจริงจัง ในปัจจุบัน อรุณธตี รอย เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านต่อต้านอิทธิพลของบริษัทข้ามชาติ การแปรรูปกิจการสาธารณะอันเกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ และการรุกรานในรูปแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ในฐานะนักเขียน (รอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “Ever since as a child I knew that people had to do things when they grew up, I knew that I wanted to be a writer.”) อรุณธตี รอย กำลังทำหน้าที่ของเธออย่างสุดความสามารถ บนหลักการพื้นฐานธรรมดาสามัญ “เมื่อคุณมองเห็นมัน คุณจะทำเป็นไม่เห็นไม่ได้ และเมื่อคุณได้เห็นมันแล้ว การจะอุบเงียบไม่พูดอะไร ก็จะกลายเป็นท่าทีทางการเมืองไม่ต่างจากการพูดออกมา” (หน้า 129)

ไม่ว่าสิ่งที่เห็นนั้นจะเป็นความโหดร้ายอัปลักษณ์ที่แฝงซ่อนในสถานการณ์สุขสงบ

หรือความน่ารักสดใสในบรรยากาศที่อบร่ำด้วยคาวเลือดและควันปืน

เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com

2 Comments:

At 1/31/2009 5:20 PM, Anonymous Anonymous said...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ

 
At 6/12/2021 4:16 AM, Blogger deraz said...

الروضة
أرقام كهربائي منازل الفجيرة
فني كهربائي منازل الفجيرة

 

Post a Comment

<< Home