Sunday, April 30, 2006

จีน-ญี่ปุ่น: ขั้วอำนาจ ขั้วความขัดแย้ง

สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ค.ศ. 2005 ข่าวการเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นในหลายเมืองใหญ่ของจีนแพร่กระจายไปทั่วโลก หลังจากญี่ปุ่นประกาศเจตนารมณ์ต้องการเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ชาวจีนนับหมื่นคนในเมืองเชิงตู มณฑลซือชวน ออกมาคัดค้านการประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวของญี่ปุ่น ผู้ประท้วงส่วนหนึ่งทุบทำลายซูเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่งที่มีชาวญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ ที่เมืองกวางโจว เมืองซงชิง และเมืองทางใต้ของจังหวัดเซินเจิน มีชาวจีนจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปทำลายข้าวของในห้างสรรพสินค้าและภัตตาคารของชาวญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนจีนยังรายงานว่า มีชาวจีนประมาณ 20 ล้านคนร่วมลงชื่อในอินเตอร์เน็ตเพื่อคัดค้านการประกาศเจตนารมณ์ของญี่ปุ่น

สัปดาห์ต่อมา กระแสต่อต้านญี่ปุ่นของชาวจีนก็ปะทุขึ้นอีก เมื่อกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ตำราเรียนในระดับชั้นมัธยมซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นในการกลบเกลื่อนความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวจีนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีน มีชาวจีนกว่าหมื่นคนเดินขบวนไปยังสถานทูตและที่พำนักของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ก่อนจะขว้างปาก้อนหินและทุบทำลายสถานที่ดังกล่าว

อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ก็เกิดการเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นอีกครั้งที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากนิวยอร์กและลอสแอนเจลิส ชาวจีนนับหมื่นคนเดินขบวนพร้อมตะโกนถ้อยคำด่าว่าญี่ปุ่นอย่างรุนแรง มีการทุบทำลายรถยนต์และภัตตาคารในย่านศูนย์กลางทางการเงินบนถนนสายที่มุ่งหน้าไปยังสถานกงสุลญี่ปุ่นในนครเซี่ยงไฮ้

เดือนต่อมา รองนายกรัฐมนตรี วู อี ในฐานะทูตสันถวไมตรีเพื่อช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีขึ้น ก็ยกเลิกกำหนดการนัดพบกับนายกรัฐมนตรี จุนอิจิโระ โคอิสุมิ และเดินทางกลับประเทศจีนอย่างกะทันหัน หลังจากที่โคอิสุมิปฏิเสธที่จะยกเลิกการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ซึ่งจีนมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิทหารนิยมในอดีตของญี่ปุ่น โดยเขากล่าวในที่ประชุมรัฐสภาของญี่ปุ่นว่า ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย “ต้องไม่เข้ามาก้าวก่าย” ในเรื่องภายในของญี่ปุ่น ด้วยการประณามการเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิของตน

การเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิประจำปีของโคอิสุมินับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้การเดินทางไปเยือนกันและกันของผู้นำทั้งสองประเทศต้องระงับไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 และทั้งรองนายกรัฐมนตรี วู อี รวมถึงประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ต่างยืนยันว่า การไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์กับจีนความขัดแย้งดังกล่าว เป็นเพียงปลายทางของสายป่านที่ผูกโยงเรื่องราวอันยาวนานของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ที่แม้กระทั่งผู้นำของทั้งสองฝ่ายก็คงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสายป่านเส้นนี้จะทอดยาวไปสู่สถานการณ์ใด

ปัจจุบันจีนและญี่ปุ่นเป็นสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองประเทศก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในเวลาเดียวกัน นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี ค.ศ. 1972

ถึงแม้ความสัมพันธ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศจะยังคงมีปัญหา แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะมีอิทธิพลมากกว่า จนทำให้ผู้นำของทั้งสองฝ่ายไม่อาจตัดสินใจทำอะไรโดยวู่วาม

รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินนโยบาย ‘แยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจ’ กับจีนมาตั้งแต่ถูกสหรัฐอเมริกากดดันให้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลไต้หวันเมื่อต้นทศวรรษ 1950 ในฐานะที่รัฐบาลไต้หวันเป็นตัวแทนของประเทศจีน โดยญี่ปุ่นยอมค้าขายกับจีนโดยมีข้อแม้ว่าการค้านั้นกระทำกันอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ได้เป็นการแสดงถึงการยอมรับรัฐบาลปักกิ่ง ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ทำการค้ากับทั้งจีนปักกิ่งและจีนไต้หวัน ส่วนจีนก็ต้องการใช้การค้าเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยหวังว่าเมื่อญี่ปุ่นเห็นถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ ญี่ปุ่นจะขยายการติดต่อทางการค้ากับจีนมากขึ้น

ถึงแม้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองอยู่เป็นระยะๆ แต่นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ปริมาณการค้าและการลงทุนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง และในปี ค.ศ. 2004 ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็มีมูลค่าถึง 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 จีนก็กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยค้ำยันความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่ให้ง่อนแง่นโอนเอนจนเกินเยียวยา แต่นั่นก็อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า มรดกตกทอดของความขัดแย้งที่ดำเนินมานับตั้งแต่อดีตสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็ต้องได้รับการดูแลแก้ไขไปด้วยพร้อมๆ กัน

ยังมีประเด็นปัญหาสำคัญอีก 5 ประเด็นที่ผู้นำของทั้งสองประเทศจำเป็นต้องพิจารณา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไว้

1. มรดกตกทอดจากการรุกรานจีนของญี่ปุ่นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจีนถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ในทัศนะของจีน ญี่ปุ่นยังไม่ได้ทำการขอโทษและแสดงความสำนึกผิดในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้นำญี่ปุ่นในบางครั้งก็ทำให้จีนและประเทศเพื่อนบ้านไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะสำนึกผิดอย่างแท้จริง หรือกล่าวคำขอโทษด้วยความจริงใจ และจากผลการสำรวจความคิดเห็นซึ่งทำโดยหนังสือพิมพ์ Yomiuri Shimbun ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1995 พบว่า ชาวจีนจำนวน 48.6% เห็นว่าการกระทำของทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองยังคงเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2005 ก็ยังคงยืนยันว่าชาวจีนจำนวนมากยังมีทัศนคติต่อเรื่องนี้ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

2. ปัญหาไต้หวัน ขณะที่รัฐบาลจีนยังคงอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวันและขู่ว่าจะใช้กำลังหากไต้หวันประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ แต่ในญี่ปุ่นก็ยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายของญี่ปุ่นที่จะมีต่อไต้หวัน ถึงแม้ผลสำรวจความคิดเห็นที่ทำโดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะพบว่าชาวญี่ปุ่น 58% “ไม่มีความรู้สึกเป็นมิตรต่อจีน” และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวไปเยือนไต้หวันมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับสองในไต้หวันรองจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับการแสดงท่าทีของญี่ปุ่นต่อไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลจีนจับตามองอยู่ตลอดเวลา

3. ข้อพิพาททางดินแดนเหนือหมู่เกาะ ‘เซนกากุ’ ในภาษาญี่ปุ่นหรือ ‘เตียวหยู’ ในภาษาจีน และบริเวณทะเลจีนตะวันออก ในกรณีแรก ญี่ปุ่นสามารถทำข้อตกลงกับจีนเรื่องการสถาปนา ‘เขตจัดการร่วมกัน’ ซึ่งอนุญาตให้มีการทำประมงในพื้นที่กว้าง 200 ไมล์ได้ทั้งสองประเทศและร่วมมือกันในการใช้ทรัพยากรบริเวณดังกล่าว อันเป็นการยุติปัญหาไปได้ (ชั่วคราว?) แต่ในกรณีหลัง พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น ‘ทะเลแห่งความขัดแย้ง’ ด้วยทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวอุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน แต่ในที่สุด ด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายจึงจำเป็นต้องหันหน้ามาเจรจากันตามข้อเสนอของญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2005

4. ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่มากนัก ตราบใดที่ประชาคมโลกยังไม่กดดันญี่ปุ่นให้ต้องร่วมมือในการวิพากษ์วิจารณ์และใช้มาตรการในทางลบกับจีนต่อกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน โดยผู้นำญี่ปุ่นแสดงท่าทีเห็นด้วยกับจุดยืนของรัฐบาลจีนที่ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายในของแต่ละประเทศ

5. ปัญหาความสัมพันธ์ด้านการทหารและความมั่นคง แม้ว่านับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปี ค.ศ. 2005 ญี่ปุ่นกับจีนจะยังไม่มีการเผชิญหน้ากันทางด้านการทหาร ยกเว้นเหตุการณ์ที่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ของจีนแล่นเข้ามาในน่านน้ำของญี่ปุ่นและกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นได้ทำการสกัดกั้นเอาไว้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ความหวาดระแวงระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังคงดำรงอยู่ การปรับปรุงพัฒนากองทัพของแต่ละฝ่ายส่งผลต่อความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะจีนที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาก ทำให้สามารถเพิ่มงบประมาณทางการทหารได้อย่างรวดเร็ว ความหวาดระแวงดังกล่าวจะอยู่คู่กับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศสืบไปเสมือนไร้ที่สิ้นสุด

จีน-ญี่ปุ่น: ประวัติศาสตร์เบื้องหลังความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ และนัยต่อภูมิภาคเอเชียในศตวรรษที่ 21 เป็นการพยายามวิเคราะห์พัฒนาการของความสัมพันธ์ที่ราบรื่นบ้าง กระท่อนกระแท่นบ้าง ของสองมหาอำนาจคู่นี้ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง รวมถึงการพิจารณาปัจจัยสำคัญๆ ที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสอง โดย รศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชะตากรรมของภูมิภาคเอเชีย ส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยบทบาทของสองประเทศมหาอำนาจคู่นี้

“ความขัดแย้งหรือความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศนี้จึงเป็นเรื่องที่ชาวเอเชียควรเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด”

เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com

1 Comments:

At 1/31/2009 2:59 AM, Anonymous Anonymous said...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดีๆ

 

Post a Comment

<< Home