เมื่อต้องอยู่กับความยุ่ง ใน "ความยุ่งของการอยู่"
บ้านที่ผมเกิดอยู่ริมแม่น้ำ ทุกๆ วันผมจะเห็นเรือบรรทุกข้าวเปลือกผูกต่อติดกันเป็นแถวยาวค่อยๆ แล่นผ่านหน้าบ้านเพื่อส่งข้าวเข้ากรุงเทพฯ แต่ละลำบรรจุข้าวเปลือกเต็มท้องเรือจนดูเหมือนไม่น่าจะลอยอยู่บนน้ำได้
คนแถวบ้านผมเรียกมันว่า 'เรือโยง' จากลักษณะที่มีหลายๆ ลำผูกติดกันเรียงเป็นแถว โดยมีเรือยนต์ลำเล็กๆ ทำหน้าที่ลากเรือบรรทุกข้าวสารทั้งแถวเดินทางไปบนสายน้ำ เหมือนคนตัวผอมแต่แข็งแรงกำลังฉุดลากคนตัวอ้วนแถมยังขี้เกียจออกเดินทางไปด้วยกัน
เรือบรรทุกข้าวสารแต่ละลำคือ 'บ้าน' ของหนึ่งครอบครัว ท้ายเรือคือที่อยู่ ที่กิน ที่นั่งเล่นของคนในบ้าน พวกเขาออกเดินทางไปพร้อมกับเรือและแวะพักตามท่าข้าวหรือโรงสีที่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ ผมยังจำได้ว่าเคยแอบได้ยินชาวเรือคนหนึ่งคุยกับน้าชายว่า เขาได้ยินเสียงลูกกระสุนปืนตกเกรียวกราวบนหลังคาเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงที่เรือของเขาเข้ากรุงเทพฯพอดี ได้ยินแบบนั้นผมก็อิจฉาชาวเรือขึ้นมาจับใจ เพราะอยากเข้าไปเห็นกรุงเทพฯกับเขาบ้าง
ที่เล่าเรื่องเรือโยงขึ้นมาก็ไม่มีอะไรหรอกครับ ผมแค่คิดไปเล่นๆ ว่าคนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเรือ มีโอกาสเหยียบพื้นดินน้อยกว่าแหวกว่ายอยู่ในพื้นน้ำ แต่ละวันได้นั่งมองทัศนียภาพสองข้างทางที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีโอกาสไปแวะพักที่จุดโน้นจุดนี้ และอาจจะตกปลาเก่งกว่าเตะฟุตบอล เขาจะมี 'ความยุ่งของการอยู่' เหมือนหรือต่างกับคนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนบกอย่างไร
เรื่องยุ่งๆ ของชีวิต
'ชีวิต' อาจมีองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งคือ 'ความยุ่ง' ยิ่งชีวิตในเมืองด้วยแล้ว ก็ดูเหมือนความยุ่งจะเข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตมากเกินจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น ความยุ่งกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการสร้างรอยร้าวให้กับสัมพันธภาพระหว่างคน คู่รักสามารถหมดรักกันได้เพราะความยุ่ง ครอบครัวอาจแตกสลายได้เพราะความยุ่ง และชีวิตของคนคนหนึ่งก็อาจล้มเหลวได้เพราะความยุ่ง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเมื่อคนยุ่งๆ มาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันแล้ว มันจะยิ่งยุ่งแค่ไหน
ความยุ่งของการอยู่ หนังสือรวมบทความเล่มล่าสุดจาก มติชนสุดสัปดาห์ ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จะช่วยอธิบายความยุ่งในสังคมยุ่งๆ แบบสังคมไทย (ทั้งในเมือง ชานเมือง และนอกเมือง) ซึ่งรวมเอาคนยุ่งๆ มาไว้ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้เรา—ซึ่งกำลังยุ่ง—เข้าใจความยุ่งที่กำลังพบเจอ และสามารถ 'อยู่' กับความยุ่งได้อย่างสะดวกกายสบายใจมากขึ้น
บทความทั้ง 19 ชิ้น คือการฉายภาพปรากฏการณ์หลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแง่มุมของอาจารย์นิธิ การจะทำความเข้าใจสาเหตุและคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ จำเป็นต้องมีข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และการปรับเปลี่ยนโลกทรรศน์ที่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งรายการคุยข่าวและสื่อส่วนใหญ่ไม่สามารถให้ได้
ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลและปรับเปลี่ยนได้ในชั่วพริบตา บทความของอาจารย์นิธิทำให้เราตระหนักว่าเบื้องหลังของแต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดนั้นกว้างและลึกกว่ารายงานข่าวบนหน้ากระดาษหรือบทสนทนาของพิธีกร
การเสนอให้แก้กฎหมายเพื่อให้สิทธิแก่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถเลือกใช้นามสกุลของสามีหรือของตนเองก็ได้จึงแทบจะหมดความหมาย เมื่อนามสกุลแทบจะหมดหน้าที่ทางสังคม และไม่สามารถแทนที่ ‘วงศ์’ (Lineage) หรือ ‘ผี’ ที่เคยทำหน้าที่หลายอย่างทางสังคมมาก่อน
“นอกจากไม่มีความสามารถแทนที่ผีแล้ว ยังดูเหมือนไม่มีหน้าที่อะไรอีกเลย นอกจากทำให้รัฐเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ถูกต้องเท่านั้น” (นามสกุล, หน้า 7)
การอยู่ก่อนแต่งจึงแยกไม่ออกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถาบันการสมรสในสังคมไทย และการลำเลิกวัฒนธรรมเก่าของไทยว่าลูกผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัวก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา
“แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสังคมไทย ทำให้เรามองการสมรสจากฐานของปัจเจกบุคคลไปตลอดสาย คือนับตั้งแต่การเลือกคู่ไปจนถึงการตั้งครอบครัว ระบบเศรษฐกิจและสังคมก็เอื้อที่จะให้ใช้ฐานของปัจเจกบุคคลเสียด้วย
“ความมั่นคงของสถาบันการสมรสในปัจจุบันจึงขึ้นอยู่กับคนสองคนจะช่วยกันประคับประคองไว้ได้หรือไม่
“แต่แล้วสังคมไทยเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงของสถาบันการสมรสเช่นนี้ไว้อย่างไร?
“ผมคิดว่าแทบจะไม่มีเลย” (อยู่ก่อนแต่ง, หน้า 23-24)
วงเหล้าจึงเป็น ‘พื้นที่’ ใหม่สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านชานเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนถึงการขาด ‘พื้นที่’ ทางสังคมของคนในบ้านเมือง
“อันที่จริงไม่เฉพาะในหมู่บ้านเท่านั้นที่ขาด ‘พื้นที่’ ทางสังคม คนในเมืองไทยไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือเมืองใหญ่ก็ขาด ‘พื้นที่’ ทางสังคมเหมือนกัน เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ‘พื้นที่’ เก่าถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ แต่เราไม่คิดจะสร้าง ‘พื้นที่’ ใหม่สำหรับวิถีชีวิตใหม่ หรือไม่คิดจะปรับ ‘พื้นที่’ เก่าให้สามารถรับใช้ชีวิตใหม่ได้
“ขาด ‘พื้นที่’ ก็อึดอัดสิครับ คนไทยทั้งประเทศเวลานี้อึดอัดเต็มทนในการที่ต้องอยู่กับตัวเองคนเดียว” (พื้นที่ในหมู่บ้าน, หน้า 57)
ผลสำรวจคนกรุงเทพฯที่เห็นด้วยกับการใช้กฎกระทรวงว่าด้วยฟิล์มติดรถยนต์ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ จึงสะท้อนถึง ‘วัฒนธรรมความกลัว’ ของคนในเมืองซึ่งไม่มีการสร้างกลไกสำหรับดูแลความปลอดภัยของชีวิต และที่สร้างไว้แล้วก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
“เช่น เราไม่มีชุมชนในเขตเมืองที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการดูแลป้องกันอาชญากรรมร่วมกัน เราแทบไม่มีพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ร่วมกันเลยด้วยซ้ำ
“พื้นที่นอกบ้านจึงมัก ‘เปลี่ยว’ เสมอ ถึงมีคนอยู่เต็มก็ยัง ‘เปลี่ยว’ อยู่นั่นเอง เพราะไม่มีใครสนใจใคร เนื่องจากไม่เคยชินกับการมีชีวิตในพื้นที่สาธารณะ” (มืดๆ ดำๆ ที่น่ากลัว, หน้า 83)
คนกวาดถนนในหมู่บ้านจัดสรร ชาวสลัม แม่ค้าบนทางเท้า กรรมกรก่อสร้าง ฯลฯ ที่เป็นคนไม่เต็มคนในสำนึกของคนยุคปัจจุบัน จึงเป็นผลพวงของการขูดรีดในระบบทุนนิยมและการเอารัดเอาเปรียบในสังคมเมือง ซึ่งใช้แรงงานคนอื่นผ่านการจ้างด้วยเงินตรา อันปราศจากความสัมพันธ์ส่วนตัวและสามารถทำให้เกิดความสลับซับซ้อนของการจ้างได้มาก
“อันที่จริงไม่แต่เฉพาะคนเล็กๆ ในเมืองเท่านั้น ที่ถูกทำให้กลายเป็นคนไม่เต็มคน คนชั้นกลางเองก็ใช่ว่าจะหลุดรอดจากชะตากรรมอันนี้ การบริหารงานของบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทข้ามชาติในทุกวันนี้ก็มองพนักงานของตนเองอย่างไม่ใช่คนเต็มคนเหมือนกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในบริษัทถูกลดให้เหลือเพียงปัจจัยไม่กี่อย่าง นั่นก็คือเงินและตำแหน่งสำหรับแลกกับสมรรถภาพและประสิทธิผลในงาน จบเท่านั้นเอง ไม่มีมิติอื่นๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เหลืออยู่อีกเลย” (กูก็คน, หน้า 95)
“โอ้ว่านกเขาคู” กับชีวิตที่ดีของนิธิ เอียวศรีวงศ์
เสียงนกเขากู่ขันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดีสำหรับชาวจะนะ และถ้าหากวันหนึ่งวันใดเสียงกู่ขันของพวกมันเงียบหายหรือแปลกแปร่งไปจากเดิม ส่วนประกอบของชีวิตที่ดีสำหรับพวกเขาก็คงบิดเบี้ยว และมันอาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ดีอีกต่อไป
ส่วนประกอบของชีวิตที่ดีสำหรับชาวปากมูลคือการได้ออกเรือหาปลาในสายน้ำที่พวกเขาคุ้นเคยมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ด้วยภูมิปัญญาในการหาปลาที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางสังคมและประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่นอันเกี่ยวเนื่องกับการจับปลาแบบปากมูล
ชีวิตที่ดีเหล่านี้ไม่มีในแบบเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่มีความหมายสำหรับนักพัฒนาของรัฐ และไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขสำหรับจ่ายค่าชดเชย
โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน อ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้า ท่อก๊าซ ฯลฯ ได้รับการโหมประโคมว่าจะนำชีวิตที่ดีมาสู่คนส่วนใหญ่ และรัฐก็สามารถจะเอาค้อนไปทุบหัวใครก็ได้ที่คัดค้าน ในนามของชีวิตที่ดีสำหรับคนจำนวนมากกว่า และกล่าวประณามคนจำนวนน้อยว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเห็นแก่ตัว
ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐจึงยังดำเนินต่อไป แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไปแล้วก็ตาม
“เสียงนกเขาที่คูได้ไพเราะนั้น ไม่ได้ขึ้นกับคอของนกเขาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับหูของคนฟังด้วย หูที่จะได้ยินความไพเราะของเสียงนกเขานั้น ต้องเป็นหูที่อยู่ใต้ท้องฟ้าใสสะอาด อากาศบริสุทธิ์ จิตใจเบิกบาน และมีความสบายใจท่ามกลางวิถีชีวิตที่ตนเองคุ้นเคย ท่ามกลางความสัมพันธ์ทาสังคมที่ตนเองพอใจและเป็นสุข
“ความไพเราะของเสียงนกเขาเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์ล้วนๆ และไม่ใช่ธรรมชาติล้วนๆ
“ถ้าสิ่งที่เขาหวงแหนมีความหมายกว้างถึงเพียงนี้ มีเหตุผลหรือไม่ที่เขาจะต่อต้านโครงการใหญ่ๆ ที่ทำลายวัฒนธรรมของเขา เสียงคูของนกเขาเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของวัฒนธรรมนั้น
“แต่เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่าง จึงยากที่คนในเมืองจะเข้าใจสัญลักษณ์ที่ชาวบ้านใช้ในการสื่อถึงวัฒนธรรมได้ ในขณะเดียวกันก็ยากแก่ชาวบ้านที่จะใช้วัฒนธรรมของคนเมือง เพื่อสื่อคุณค่าและอุดมคติชีวิตที่คนเมืองมองไม่เห็นได้” (โอ้ว่านกเขาคู, หน้า 101)
เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com
1 Comments:
Good write-up. I definitely love this site. Keep it up
http://prokr123saudia.wikidot.com/
http://prokr123.jigsy.com/
https://rehabgad.wordpress.com/
http://jeddah-ads.com/
https://www.prokr.net/ksa/jeddah-water-leaks-detection-isolate-companies/
Post a Comment
<< Home