Wednesday, August 16, 2006




ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า ส. อาสนจินดา


เรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านโลกมาจวบจนบั้นปลายของชีวิต มักจะมีความน่าสนใจเสมอ ประสบการณ์ชีวิตหลายสิบปี อาจทำให้มนุษย์คนหนึ่งตระหนักรู้ความจริงบางอย่างของชีวิต โดยผ่านการเดินทางของกาลเวลาหรือประสบการณ์อันเข้มข้นเท่านั้น จึงจะบรรลุถึงความจริงนั้นได้

ส. อาสนจินดา บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองก่อนจะถึงกิโลเมตรสุดท้ายของการเดินทาง ฝากฝังไว้เป็น “นิทัศน์อุทาหรณ์” สำหรับคนรุ่นหลัง

“ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า” ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในนิตยสารดิฉัน ช่วงปี 2533-2534 ก่อนจะตีพิมพ์รวมเล่ม (แบ่งเป็นสองเล่ม) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

ใน “บทนำส่ง” สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรมชี้แจงว่า งานชิ้นนี้มีชื่อเต็มๆ เมื่อสมัยตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉันว่า “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า และเธอคือลมหายใจ” แต่เนื่องจากในส่วนของ “เธอคือลมหายใจ” ไม่ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ชนิดที่ผู้อ่านต่างก็งงงวย “เพราะเป็นการจบแบบไม่จบ เพราะผู้เขียนยังเขียนไม่จบ” เมื่อตีพิมพ์รวมเล่มจึงมีเพียงส่วนของ “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า”

ผมมี “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า” ทั้งสองเล่มอยู่ในมือ และยังไม่เคยเห็น “เธอคือลมหายใจ” เลย ไม่ทราบว่ามีผู้อ่านท่านใดเคยพบเห็นหรือมีเก็บไว้บ้างหรือเปล่า

ผมอ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ครั้งแรกตอนเรียนอยู่ชั้น ม.2 ประสบการณ์ชีวิตอันเข้มข้นของป๋า ส. ทำให้ผมแทบไม่อยากวางหนังสือ และเรื่องราวชีวิตของป๋าก็ยังอยู่ในความทรงจำของผมตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ศาสนากับคนเดิน “ทางขนาน” ...ไม่ยอมเดินทางเดียวกัน...

คนมุ่งหน้าสู่ความเร็ว-อิ่ม-สมหวัง โดยไม่คำนึงว่าจะลุยไปบนผ้าขาวหรือหยาดเลือดของผู้อื่น...

“เงิน” ไม่ใช่ “ปัจจัย” แต่กลายเป็น “อาวุธ” ...เอาไว้ประหัตประหารความถูกต้อง-เอาชนะความดีและความยุติธรรมได้อย่างหน้าด้านๆ และโจ๋งครึ่ม...

“เงิน” พรั่งพรูเข้ามาทางหน้าต่าง... “ความรักดี” ต่างๆ ก็วิ่งหนีหายออกไปทางประตู...

ค่านิยมทางสกุลรุนชาติไม่สำคัญ-ไม่คิดกันแล้ว...

คิดกันแต่ว่าความจน (เงิน) คือความอัปยศ...ไม่คิดบ้างว่าความจนที่บังคับให้ต้องต่อสู้กับชีวิตแบบว่า-“สู้กับคนเพื่อดำรงชาติ-สู้กับธรรมชาติเพื่อดำรงตน” นั้น บรรพชนโลกยึดถือกันมาเป็นคติประจำใจ และภาคภูมิ... [บางส่วนของ “ยังไม่ถึง ‘พรุ่งนี้’ (สักที...)”]

ที่มาของ “ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า” เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 23 มกราคม 2531 ในห้องอาหารเรือนต้นของโรงแรมมณเฑียร เมื่อป๋าได้มีโอกาสพบกับคุณชาลี บรรณาธิการบริหารของนิตยสารดิฉัน คุณชาลีอยากรู้จักและพูดคุยกับป๋ามานาน อีกทั้งยังอยากสัมภาษณ์ป๋าลงตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉันด้วย แต่เนื่องจากเห็นนิตยสารฉบับอื่นทำกันมามากแล้ว คุณชาลีจึงเอ่ยปากขอ “เรื่อง” กับป๋าเสียเลย

“จะให้เขียนเรื่องอะไรดีล่ะ เพราะเวลานี้ก็เขียนให้แก่คนอื่น (ฉบับอื่น) มากพอดูอยู่แล้ว”

“ก็เขียนเรื่องชีวิตของคุณสอเอง...” เธอว่า

“ได้ครับ”

ปากบอกไปตามใจบริสุทธิ์เลยว่า ‘ยินดี...’ แต่ในใจยัง ‘หนัก’ อยู่ในปัญหาที่ว่า

“จะเอาอะไรมาเขียนอีก”

ทันใด เธอก็ควักนามบัตรของเธอส่งให้ข้าพเจ้า

นามบัตรนี้ค่อนข้างแปลกตาสำหรับ ‘คนเก่า’ อย่างข้าพเจ้า ก็คือ มันพิมพ์สองสี (แดง-น้ำเงิน...เอ...หรือดำก็ไม่รู้...) อยู่บนแผ่นพลาสติกบางๆ แต่แข็ง...อ่านลำบาก เพราะมันสะท้อนแสงกับไฟ

เลยพูดไปอย่างกันเองว่า

“หาเรื่องให้คนแก่อ่านลำบากแท้ๆ”

(หัวเราะกันนิดหน่อย...)

แต่เมื่อมาอ่าน (เขม้น) ออกแล้วก็เห็นชื่อจริงของเธอ...มัน-‘ชุลิตา...’

ข้าพเจ้าก็ว่า...(เงยมองคุณจุรี—ผู้ที่พาคุณชาลีมาพบป๋า—แล้วถาม)

“เอ...ไหนว่าชื่อชาลี ทำไมนามบัตรนี่พิมพ์ว่า...ชุลิตาล่ะ”

คุณจุรีไม่ทันได้ตอบ บรรณาธิการบริหารของ ‘ดิฉัน’ ก็ตอบเองว่า

“เขาเรียกผวนกันค่ะ...ชุลิตา...ก๊อ...ชาลีตุ๊ไงล่ะคะ”

ทันทีที่ได้ยินคำว่า ‘ตุ๊’ ...ตนเองก็ ‘ทะลึ่ง’ พูดขึ้นว่า

“ชื่อเหมือนเมียผมเลย”

(เสียง...ใครต่อใครก็ไม่รู้...หัวเราะทั้งฮาทั้งเฮขึ้นมาทันที)

และใครก็ไม่รู้เปรยว่า

“เอาเข้าแล้วไหมล่ะ” (เล่ม 1, หน้า 2-3)

อันที่จริงป๋าเพิ่งจะมาเพิ่มชื่อ “และ ‘เธอ’ คือ ‘ลมหายใจ’ ” ในตอนแรกของบทละครชีวิตชิ้นนี้ เหตุผลคืออะไร ป๋าอธิบายไว้ดังนี้ครับ

มีอยู่สองประการที่ข้าพเจ้าต้องขอให้ ‘ชื่อเรื่อง’ หรือ ‘หัวข้อเขียน’ ที่ค่อนข้างยาว และ ‘พิสดาร’ อย่างนี้

ประการแรก-ตลอดชีวิตการแสดงของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยเล่าเรื่องของข้าพเจ้า ‘ขายกิน’ มาหลายครั้งแล้ว ทั้งในรูปแบบ ‘อนุทินบันเทิง’ (ภาพยนตร์และโทรทัศน์), ‘ขายชีวิต’ (เดลิไทม์), ‘สลับหลังม่าน’ (ดาราไทย) ฯลฯ จนจะซ้ำเซ็งไปหมดแล้ว

อีตอนล้มละลายนี่ยิ่งมีคนขอให้เขียนให้เล่าถึงชีวิตนักแสดง-นักหนังสือพิมพ์อย่างข้าพเจ้ามันเป็นไงมาไงถึงได้ ‘ตกต่ำ’ ถึงขนาดนี้ให้ฟังกันซ้ำแล้วซ้ำอีก

ตอนนี้ก็เล่าให้ฟังถึงสองสามแห่งในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่ ‘เฉพาะกิจ’ หรือไม่ ‘พิสดาร’ เหมือนกับที่เขียนให้ ‘ดิฉัน’ นี่ อย่างน้อยก็เป็น ‘ชีวิต’ ที่จริงจังกว่า จึงอยากให้ชื่อคอลัมน์หรือชื่อเรื่องผิดแผกแปลกต่างกันออกไปจากที่อื่น


ประการหลัง-มีน้อยครั้งที่ข้าพเจ้าเขียนถึงชีวิตของข้าพเจ้าแล้ว จะแปลกพิสดารไปถึงกับเปิดเผยเรื่องของ ‘คุณตุ๊’ ของข้าพเจ้า หรือไปเปิดเผยถึงชีวิตของเธอที่เกี่ยวพันมากับข้าพเจ้า

เมื่อมาเขียนเจาะจงถึงเรื่อง ‘ชีวิตรัก’ ระหว่างเธอกับข้าพเจ้าเข้าเช่นนี้ ก็อยากจะให้หัวข้อเรื่องเน้นชัดลงไปถึง ‘เธอ’ ผู้ซึ่งเสมือน ‘ลมหายใจ’ ของข้าพเจ้า
ว่า ‘เธอ’ นั้นสำคัญอย่างไร?


อีกประการ...ข้าพเจ้าว่ามันเหมาะสมที่ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่องนี้ให้ ‘ดิฉัน’ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นหนังสือ ‘ของผู้หญิง’-โดยผู้หญิง และเพื่อผู้หญิง

ขอสบถอีกหน่อย...(มันถึงจะแน่และมัน...ส์)

คือ...ให้ตาย...ไม่ได้ประจบสอพลอ ‘ผู้หญิง’ หรือพลอย ‘ชิ่ง’ ประจบไปถึง ‘คุณต๊’ ของข้าพเจ้าหรอก

ไม่รู้จะประจบไปหาอะไร

เราไม่อยู่กันด้วย ‘เซ็กส์ประจบ’ แล้ว

เราอยู่กันมาแล้วอีกสิบเอ็ดเดือนก็จะครบ ๔o ปี

ที่เหลืออยู่คือความรักอันแนบแน่น-ยังกำหนดไม่ถูกว่ามันเป็นความรักของ ‘เพื่อน’ หรือของอะไรกันแน่...

รู้แต่ว่า...เวลาใครคนหนึ่งตายจากไป...อีกคนหนึ่งจะอยู่เป็น ‘ผู้เป็นคน’ ได้อย่างไร?

เรารู้แต่ว่า...เราหายใจอยู่ในลมหายใจของหัวใจดวงเดียวกัน

เราไม่ตั้งใจจะ ‘รัก’ และ ‘เป็นเพื่อน’ กันด้วยการร่วม ‘ลมหายใจ’ กันถึงขนาดนี้...แต่อะไรก็ไม่รู้ซี-ทำให้เราเป็น...? (เล่ม 1, หน้า 10-11)

ต้องขอโทษท่านผู้อ่านด้วยที่คัดลอกมายาวๆ แบบนี้ (และคงจะมีอีกหลายตอน) เพราะยิ่งอ่านหนังสือของป๋า ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าน่าจะเป็นการดีที่สุดหากผู้อ่านได้อ่านตัวหนังสือของป๋าเอง เพราะนอกจากจะได้เห็นสำนวนการใช้ภาษาและรูปแบบการเขียนของนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ชั้นครูแล้ว ผู้อ่านยังสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งก็คงมีแต่ป๋าคนเดียวเท่านั้นที่จะถ่ายทอดได้

ในวัย 13 ปี ผมจำได้ว่านั่งอ่านชีวิตรัก (ทรหด) ของป๋าด้วยความรู้สึกสุขระคนเศร้าอย่างบอกไม่ถูก อ่านไปอ่านมาผมก็อดนึกไปไม่ได้ว่าชีวิตรักของตัวเองมันจะออกมาในรูปแบบไหน ความทุกข์ยากลำบากจะต้องเดินทางผ่านเข้ามาทักทายบ่อยครั้งเพียงใดกว่าจะมีโอกาสกลับมานั่งย้อนรำลึกถึงชีวิตที่ผ่านเลย หรือแม้กระทั่งผมจะได้เจอกับ “คุณตุ๊” ของผมเมื่อไหร่

“คุณตุ๊” คือลมหายใจของป๋า และคนเราก็คงต้องการใครสักคนเป็น “ลมหายใจ” ของตนด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็มักจะถูกมองข้ามมากที่สุด—จะมีสักกี่คนใส่ใจกับทุกลมหายใจเข้าออก ทั้งๆ ที่รู้ดีว่ามันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของชีวิต

ภาพชีวิตในความทรงจำของคุณตุ๊กับป๋ามีอะไรบ้าง ต้องให้ป๋าเล่าให้ฟังครับ

ภาพแรก

– ก่อนที่เราจะบอกรักซึ่งกันและกันได้หนึ่งนาที ข้าพเจ้าอยู่กับเธอสองต่อสอง บอกกับเธอ...แบบ ‘ยื่นคำขาด’ ว่า

“ผมรักคุณ...ผมมีเวลาแค่นาทีเดียวให้คุณตัดสินใจ ในหนึ่งนาทีนี้ ถ้ารักผมแล้ว ก็จงอย่าได้ดัดจริต...จงบอกผมเลยว่า รักผมหรือไม่...เดินมาหาผม...แล้วมาซบที่อกผม...กอดผมไว้ แล้วบอกรักผมเสียโดยไว ไม่งั้น...เร็วซี...หนึ่งนาทีเท่านั้นนะ...”

“แล้วเธอก็หัวเราะ...แล้วเธอก็เดินมา...แล้วก็มา...(ไม่ทันได้ซบอกแล้วบอกรักข้าพเจ้าหรอกครับ...ข้าพเจ้าดึงเธอเข้าหาอก) และวันนั้น...จูบเธอซะห้าสิบทีเลย”

ภาพที่สอง

– พอบอกรักกันแล้ว ก็พาเธอนั่งสามล้อจากบางลำพูบ้านเธอไปดูหนังถึงโอเดียนสามแยก...ขากลับ – แกล้งบอกเธอว่า ไม่มีค่ารถ...พาเธอเดินกลับ

จนจากสามแยกถึงบ้านบางลำพู รองเท้าส้นสูงกัดส้นเท้าของเธอจนหนังเปิดเลือดไหลโทรม เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า

“...จะเป็นคู่ชีวิตนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ จะต้องอดต้องทน และต้องจน...ให้ได้”

ภาพที่สาม

– ก่อนวันแต่งงานได้คืนเดียว...ข้าพเจ้าเหิมใจจะปล้ำให้เธอเป็นเมีย (ล่วงหน้า ๑ วัน)

แต่เธอรักตัวสงวนกาย-ไม่ยอม

พอวันรุ่งขึ้น-แต่งงาน-เข้าเรือนหอแล้ว...เธอยอมเป็นเมีย

แต่ข้าพเจ้าไม่มีปัญญา ‘จะทำ...’ …?

ภาพที่สี่– ตอนเรามีลูกกันได้หลายคนแล้ว...ฐานะทางการเงินของข้าพเจ้าล้มเหลว (เพราะอุตริฮึกเหิมไปเป็น ‘นายทุนหนัง’ เสียเอง) ถูกตำรวจจับเช็คเด้ง...ไปอยู่โรงพักพญาไท

เธออุ้มท้องลูกคนที่สี่-โอ้โย้ไปยืนเกาะลูกกรงห้องขังเยี่ยมข้าพเจ้า...ด้วยห่วงใย...น่าเวทนา

ภาพที่ห้า

– เมื่อจนถึงขนาดถูกโรงไฟฟ้าตัดไฟ บ้านทั้งสองสามหลังติดกันนั้นมืดหมด เราเอาลูกสี่ห้าคนเข้ามานอนในห้องเดียวกัน...เปิดหน้าต่างประตูหมด

ข้าพเจ้าเคยนอนแต่ห้องแอร์...ร้อนทุรนทุราย...เธอนอนประคองอยู่เคียงข้าง เอาพัดโบกลมให้ข้าพเจ้าบรรเทาร้อน...จนข้าพเจ้างีบไปได้


และเธอทำอย่างนั้นอยู่ทั้งคืน...ไม่ปริปาก (ไม่สะอื้นไห้ให้ได้ยิน...) ไม่ว่าเธอจะเศร้ารันทดสักแค่ไหน

ภาพที่หก

– เธอเล่าถึงชีวิต ‘ตกยาก’ ใน ‘ดงผู้ดี’ ของเธอ...ชนิดที่ข้าพเจ้าเองยังคาดไม่ถึง นึกว่าเธอเป็นลูกสาวพระยาพานทองนั้นคงจะมี ‘ช้อนทองคาบในปาก’ มาเช่นลูกผู้ลากมากดีคนอื่นๆ

แต่เธอเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงชีวิตหนหลังของเธอ...ชีวิตของลูกผู้หญิงที่เป็นพี่ ลูกที่ยึดมั่นในความกตัญญูต่อพ่อแม่พ่อเป็น ‘เจ้าคุณ’ ก็จริง แต่ ‘เหลาซิด’ ชนิดใครจะมาให้คอร์รัปชั่นสักเฟื้องหรือสลึงก็ไม่ยอม

ใครยกถาดของกำนัลขึ้นบ้าน...พ่อก็โยนทิ้งตามหลังมา-ไม่ยอมรับ...ถือความบริสุทธิ์ และหยิ่งในเกียรติแห่งสกุลเป็นที่ยิ่ง

เธอจึงเป็นพี่และลูกที่เสมือน ‘คนรับใช้’ ของแม่และน้องๆ

คนอื่น (น้อง) ไม่ว่าแม่ใด...เจ้าคุณพ่อเรียก ‘หนู’ นั่น-หนูนี่ แต่สำหรับเธอแล้ว...พ่อจิกหัวเรียกเธอว่า ‘อี’ ...อีตุ๊ทุกคำไป

สมัยยังเป็นเด็กและเป็นสาว...เธอไม่มีแม้จะมีมุ้งนอนสำหรับตัวเอง ตอนกลางคืน-จะนอน-ต้องเที่ยวมุดมุ้งขออาศัยนอนกับน้อง และก็ถูกน้องถีบและขับไสเอา-หาว่าเหม็นสาบ

อาหารประจำวันคือ ข้าวเย็นก้นหม้อคลุกกับน้ำปลาพริก-บีบมะนาว...

เป็นสาว...อยากจะมียกทรงใส่กับเขาบ้าง...แอบขโมยยกทรงน้องสาวคนโปรดของพ่อและแม่ใส่ ก็ถูกด่าสาดเสียเทเสีย

ภาพที่เจ็ด

– หวนนึกไปถึงสมัยข้าพเจ้าเล่นละคร...‘สมสู่’ อยู่กับการสร้างและแสดงละครเวที ทั้งๆ ที่แต่งงานกับเธอใหม่...ไม่ได้นอน ‘ร่วม’ เรียงเคียงหมอนกับเธอเหมือนเจ้าบ่าว-เจ้าสาวหรือผัวเมียอื่นๆ อยู่หนึ่งปีเต็ม

เธอได้แต่ร้องไห้น้อยอกน้อยใจอยู่คนเดียวเป็นปี...แต่ไม่ปริปาก

ตอนที่ร้ายที่สุดคือ ตอนจนยาก-ข้าพเจ้ามา ‘ซุกหัว’ อยู่กับเธอ...ให้เธอปรนนิบัติวัตถากสารพัด แต่อีตอนมีเงิน-ฟุ้งเฟ้อ...ดันไป ‘มีอีหนู’ เสียนี่
เจ็บปวดไหม?
(เล่ม 1, หน้า 12-15)

นอกจากเรื่องราวของคุณตุ๊แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ผมยังจำได้ดีคือ ฉากชีวิตสุดแสนคลาสสิกที่จังหวัดเพชรบูรณ์

ปลายปี พ.ศ. 2482 ป๋าลาออกจากการเป็นครูที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และสมัครเข้าเป็นเสมียนแผนกส่งเสริมกิจการสหกรณ์ตามความต้องการของคุณพระพิจารณ์พาณิชย์ (เพื่อนของคุณพ่อป๋า) ซึ่งเพิ่งขึ้นเป็นอธิบดีกรมสหกรณ์

เมื่อย่างเข่าสู่ปี พ.ศ. 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายลับต้องการกู้ชาติจากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น ท่านเริ่มต้นด้วยการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ กรมสหกรณ์ต้นสังกัดของป๋าได้รับนโยบายด่วนจากกระทรวงเกษตรฯให้จัดคณะเจ้าหน้าที่พนักงานสหกรณ์ไปสำรวจและจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมนโยบายย้ายเมืองหลวง

แต่... ให้ตาย

เมืองเพชรบูรณ์ในตอนนั้นเขากำลังเรียกกันว่า ‘เมืองหม้อใหม่แขวนคอ’ คือถ้าใครไปที่เมืองนั้น ต้องมีหม้อใหม่เอาไปสำหรับใส่กระดูกผูกเชือกแขวนคอไปด้วย เผื่อตาย ชาวบ้านจะได้ช่วยเผา เอากระดูกคนที่เป็นเจ้าของหม้อนั้นใส่หม้อส่งกลับไปยังบ้านเดิมของตนได้สะดวก (เล่ม 1, หน้า 234)

ป๋าได้รับคำสั่งย้ายเหมือนกัน แต่ให้ย้ายไปประจำสำนักงานสหกรณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่—เมืองสวรรค์ที่ใครๆ ก็อยากไป

เสียงนินทาป๋าดังกระหึ่ม เนื่องจากใกล้ชิดกับเจ้ากรม

เมื่อเป็นดังนั้น ป๋าปราดขึ้นไปหาคุณพระพิจารณ์พาณิชย์ และประกาศกร้าว

“ผมไม่ไปเชียงใหม่”

เถียงกันไปเถียงกันมา เมื่อคุณพระพิจารณ์พาณิชย์เห็นท่าว่าป๋าเอาจริงแน่ จึงพูดประชดขึ้นว่า

“อ๋อ ยืนยันอยากไปที่อื่น-อยู่เชียงใหม่เพื่อนฝูงพี่น้องของเอ็งเต็มเมือง ไม่ชอบ งั้นไปเพชรบูรณ์เอาไหม เพชรบูรณ์นี่แน่ะเฮ้ยว่างตั้ง ๑๔ ตำแหน่ง ไม่มีหมาสมัครไปสักตัว ข้าสั่งให้คนไหนไป-มันร้องไห้โฮทุกราย บางคนอยากลาออก”ข้าพเจ้าโพล่งพรวด, “ผมอยากไป”

พระพิจารณ์พาณิชย์สะอึก มีอาการตาค้าง เหมือนช็อค ยังกะหนังสต๊อปโมชั่น (เล่ม 1, หน้า 236)

ป๋ากับพรรคพวกอีกสิบสามคนขึ้นรถไฟสายเหนือไปถึงตะพานหินตอนย่ำรุ่ง ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากโรงแรมแถวหัวลำโพงที่เพิ่งเช็กเอาต์ออกมาโดนระเบิดจากเครื่องบินพันธมิตรแหลกเป็นผุยผง

พวกเราทั้งสิบสี่คน มองนิ่งไปเบื้องหน้า ตะวันออก มองเห็นทางลูกรังสายยาวทอดจากหน้าโรงแรมไปสู่ทิศ ‘เมืองหม้อใหม่’ ยาวและเหยียดไปไม่มีโค้งและเลี้ยว ไปสู่ไอดินและหมอกขมัวข้างหน้า ซึ่งมีทิวเขายาวเหยียดขวางอยู่

เสียงปั่นหม้อถ่านเพื่อเป็นพลังแทนน้ำมันเบนซินที่ขาดแคลนของรถเมล์ดังแว่วมา อีกสักครู่มันจะเป็นพาหนะให้เราเดินทางไปสู่จุดหมายอันมืดมนข้างหน้า

ครู่หนึ่งนั้น ขณะที่พวกเราหยิบกระเป๋าจากที่วางบนรางรถไฟขึ้น เพื่อจะข้ามทางรถไฟไปสู่หน้าโรงแรมนั้น ลมหนาวพัดกรูมาวูบใหญ่วูบหนึ่ง

มันเย็นจนเยือก ปนร้อนระอุอยู่ภายใน

เป็น ‘ลมชีวิต’ ใหม่ที่พัดมาต้อนรับเรา มันให้บรรยากาศที่ว้าเหว่ เดียวดายเหมือนถูกเนรเทศและทอดทิ้ง

ไม่มีใครจะเดาชีวิตข้างหน้าของตนได้ในครั้งนั้น พวกเราเหมือนถูกนรกหรือผีร้ายบันดาลและหยิบยกชีวิตเรามาวางอยู่บนโลกอีกโลกหนึ่ง โลกพิสดาร
ใช่แล้ว


โลกของใครจะพิสดาร หรือวิบัติร้ายกาจสักแค่ไหนก็ช่างหัว

แต่โลกใหม่ที่ชีวิตข้าพเจ้ากำลังจะพบข้างหน้า มันเป็นโลกแห่งชีวิตที่แสนจะบัดซบอย่างพิสดารที่ข้าพเจ้ากำลังจะเล่า (อย่างสารภาพ) ให้ท่านได้รู้ได้อ่านกันต่อไป (เล่ม 1, หน้า 248-249)

จบแบบนี้ หวังว่าคงไม่ทำให้ท่านผู้อ่านอยากอ่านต่อจนส่งคนมาปล้นหนังสือจากผมนะครับ

ฉากชีวิตของป๋าที่เพชรบูรณ์ทั้งสนุก เข้มข้น และน่าตื่นเต้น ซึ่งผมก็คงทำอะไรไม่ได้ดีไปกว่าคัดลอกเอามาให้ผู้อ่านได้อ่านต่อ แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ฉากที่ผมชอบมากที่สุดฉากหนึ่งในเพชรบูรณ์ก็คือฉากนี้ครับ

งานของพรรคพวกและป๋าดำเนินไปค่อนข้างน่าพอใจ แต่ยังเหลือพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ที่ยังไม่มีใครเข้าไป—ดงมูลเหล็ก ซึ่งกำนันเจ้าของพื้นที่บอกกับพวกป๋าเมื่อเข้ามาประชุมในตัวเมืองว่า

“หนุ่มๆ ทั้งนั้น ไหวหรือ”

เรายังเซ่อ ถามเขาว่า

“ไม่ไกลไม่ใช่รึ แค่ไหนเราก็ไปได้น่ะ พรุ่งนี้นะ พอจะรวบรวมราษฎรได้ทันไหม”

กำนันว่า “เรื่องหนทางคิดว่าพวกคุณไปไหว ก็ออกหนุ่มแน่นอย่างนี้ แต่มันต้องพิสูจน์กันก่อนนะ ว่าพวกเราควรจะร่วมมือกับพวกคุณหรือไม่น่ะ ไหวหรือไม่ไหวยังไม่รู้”

พวกเรางง ปลัดสมัยสะกิดข้าพเจ้าไปกระซิบ

“พวกนี้ยังไม่ยอมใครง่ายๆ หรอก เขาต้องลองก่อน”

“ลองอะไร”

“ลองดีน่ะซี อย่างนักเลงทั่วไปน่ะแหละ เขาอยากจะรู้ว่าพวกเราจะแน่สักแค่ไหน”

ขณะนั้น กำนันและพวกกำลังลงไปจากอำเภอ เขาเปรยขึ้นว่า

“จะลองดูก็ได้นะคุณ พรุ่งนี้ไปดงมูลเหล็ก จะได้ประชุมราษฎรอย่างที่พวกคุณอยากทำ ได้หรือไม่ รู้กันมะรืนนี้แหละ” (เล่ม 2, หน้า 272)

เอก อนันตวงษ์ ‘นักเลงชีวิต’ จากแม่โจ้ เป็นคนแรกที่อาสาจะเข้าไป เขากวาดตามองไปรอบๆ แล้วถามว่า “ว่าแต่ว่า จะมีใครไปกับผมบ้างล่ะ”

และเพียงคนเดียวที่พยักหน้าจะไปกับเขาด้วยก็เห็นจะเป็นใครไปไม่ได้...

แต่โชคร้าย คืนนั้นฝนถล่มลงมาอย่างหนัก น้ำท่วมสูง และตามขอนไม้ก็เต็มไปด้วยงูจงอาง แม้แต่ม้าก็ยังต้องถอย สหายเอกของป๋าเห็นท่าว่าคงจะไปไม่ไหว เตรียมยกเลิกการเดินทาง แต่เด็กหนุ่มอายุยี่สิบเอ็ดอย่างป๋าไม่ฟัง และยืนยันว่าตนเองจะเดินต่อไปคนเดียว

ในสถานการณ์เช่นนั้น เดินทางบุกน้ำแค่อกที่เชี่ยวกรากไปอย่างนั้น ไม่ว่าข้าพเจ้าหรือใครก็ตาม มันต้องบ้า ไม่บ้า-ไม่มีใครทำได้

แต่เป็นบ้าที่มีสาเหตุ บ้าที่รู้อยู่กับใจตนเอง อยากจะพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายให้แก่ตัวเอง เพื่อให้ตัวเองนับถือตัวเอง ก็ต้องฉวยโอกาสวิกฤติเช่นนี้ อายุของเราไม่มากเกินกว่าที่จะรอให้ใครมาเติมใส่ความเป็นลูกผู้ชายให้แก่ตัวเองได้หรอก

ข้าพเจ้าบุกป่าน้ำเหนือหลากท่วมอกนั้นไปเป็นชั่วโมงๆ อย่างบ้าดีเดือด บอกกับตัวเองว่า ‘เอ็งต้องทำ...ทำอย่างที่ไม่มีใครกล้าที่ทำได้ เอ็งจะได้นับถือตัวเองว่าเป็นนักเลงชีวิตกับเขาอื่นได้สักที ต่อไปนี้ไม่มีใครจะมาวิ่งไล่จับไล่จูบแก้มแดงๆ ของข้าได้อีก ข้าเป็นลูกผู้ชายชาตินักสู้ได้เต็มตัวแล้ว’ (เล่ม 2, หน้า 276)

4-5 ชั่วโมงต่อมา ป๋าก็เข้าไปถึงดงมูลเหล็ก โดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านรอต้อนรับ พร้อมกับไหเหล้า 5-6 ไห ขวดเหล้าประมาณ 20 ขวด และตะกร้ากระบุงใส่ปลากรอบสำหรับเป็นกับแกล้ม

เห็นแบบนั้น ป๋าก็ถึงบางอ้อทันทีว่าไอ้ “ลองดี” ที่ว่ามันเป็นอย่างไร

ครับ ไหนๆ ก็ไหนๆ (อีกแล้ว) ไม่มีทางที่ผมจะบรรยายฉากนี้ได้เลย นอกจากต้องยกพื้นที่นี้ให้กับป๋าครับ

เหล้า ‘ลองดี’ ข้าพเจ้าเริ่มกินจอกหรือแก้วแรก โดยยังมีวางเรียงเป็นตับบนโต๊ะอีกไม่ต่ำกว่า ๒o ขวดนั้น มีสีเหลือง เหนียวข้น

พอกระดกเข้าปาก มันลื่นไหลอย่างช้าๆ ไปที่ลำคอแล้วก็ติด รู้สึกมันร้อนระอุเหมือน ‘น้ำไฟ’ ลืมตัวต้องเอามือซ้ายของเราไปช่วยลูบมันนอกลำคอ

เสียงพวกกำนันผู้ใหญ่หันเราะกันอย่างครื้นเครง

สารวัตรกำนันรีบรินจอกใหม่ให้ข้าพเจ้าดื่มต่ออีก

“มันติดคอ ต้องกระแทกซ้ำ เอาเลยคุณ ไม่งั้นมันเผาคอคุณพังแน่”

ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อเขา รับจอกมากระดกเข้าปากอีก คราวนี้แก้วสองกระแทกที่หนึ่งที่ติดที่ลำคอ ไหลเรื่อยลงไปที่หน้าอก แล้วก็ติดอยู่ที่นั่น มันเหมือนน้ำไฟที่กำลังระเหยและเผาอยู่ในอกเรา แล้วทำท่าจะทะลุออกมา

“ติดอีกแล้ว” กำนันร้อง แล้วสั่งสารวัตรกำนัน “เฮ้ย รินช่วยคุณอีกสิ ซ้ำลงไปอีก ให้มันไหลลงท้อง ไม่งั้นหน้าอกหน้าใจพัง”

มีการรินซ้ำ และดื่มซ้ำลงไปอีกอย่างรวดเร็ว กว่าน้ำไฟนั้นจะไหลลงไปถึงท้อง ก็ล่อเข้าไปห้าแก้ว (เล่ม 2, หน้า 279)

จากสองโมง กินแบบเวียนจอกกันไปถึงสองทุ่ม ปลากรอบเป็นกระบุงและเหล้าหรืออุที่มีอยู่ทั้งหมู่บ้านหายวับไร้ร่องรอย

สองยาม ป๋าเปลี่ยนจากนั่งห้อยเท้ามาเป็นนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ไม้ตัวใหญ่หัวโต๊ะ ในขณะที่จอกยังถูกเวียนไปเรื่อย

ประมาณตีหนึ่ง เหล้าที่เพิ่งถูกต้มใหม่ๆ ถูกส่งมาเติมอีกสิบกว่าขวด ป๋าบรรยายไว้ว่า “ดีกรีมันแรงกว่าเก่า กินแล้วเหงื่อแตกสู้กับน้ำค้างหยาด”

ตีสอง เสียงกำนันและพวกผู้ใหญ่บ้านเริ่มอ้อแอ้ ป๋ายังคงยิ้มดื่ม ในขณะที่จอกยังคงเวียนต่อไป

น้ำเหล้ามาหยุดขังอยู่แค่ลำคอ เผาคอ มันไม่ยอมลง หรือลงไปไม่ค่อยไหว เพราะกินจนล้นกระเพาะ ไม่ได้เยี่ยว-ไม่ได้ตด ไม่มีใครเขาห้ามเยี่ยวห้ามตดหรอก แต่ลุกจากเก้าอี้ไปไม่ได้ ถ้าลุกเป็นล้ม (เล่ม 2, หน้า 282)

ตีสี่ ผู้ใหญ่บ้านจากคนละหมู่บ้านช่วยชีวิตป๋าไว้ได้ทัน ทั้งคู่พูดขัดคอกัน ก่อนที่จะสาวมือสาวเท้าเข้าใส่กันจนหมอบ

ตีห้า กำนันเถียงกับสารวัตรกำนัน ผลก็คือสารวัตรกำนันเตะกำนันเข้าให้ ที่เหลือไม่มีใครห้าม แต่แบ่งออกเป็นสองพวก—พวกกำนันกับพวกสารวัตรกำนัน—เปิดฉากตะลุมบอนกันนัวเนียวุ่นวาย ป๋ายังคงนั่งยิ้ม แต่น้ำตาคลอ

ป๋านั่งหลับจนถึงหกโมงเช้า ลูกเมียของใครบ้างก็ไม่รู้ลุกออกมาลากผัวของตนกลับเข้าบ้าน

ประมาณเจ็ดโมงเช้า “แสงแดดสีเหลืองเริ่มกราดมาแต่ขอบฟ้า ข้าพเจ้าหันหน้าตรงกับดวงอาทิตย์พอดี น้ำตาข้าพเจ้าไหลพราก ไม่รู้ว่าร้องไห้ทำไม ชนะหรือแพ้ ภูมิใจหรือเสียใจ

“มันเศร้า เหงา อ้างว้าง บอกไม่ถูก”

ที่ดงมูลเหล็กและพื้นที่โดยรอบ ป๋ากับพรรคพวกสามารถตั้งสหกรณ์ได้อีกเกือบสิบสมาคม และได้รับการยอมรับจากชาวบ้านแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แต่นั่นก็อาจจะยังไม่มีค่าเท่ากับการที่สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า “ข้าพเจ้าเหมือนคนผ่านปริญญาเอกแห่งชีวิต ได้เป็น ‘นักเลงชีวิต’ ในป่าดงเช่นเพชรบูรณ์ได้ เมื่ออายุ ๒๑ ปี” อย่างน่าภาคภูมิ

ครับ ผมอ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี และก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสกลับมาพิจารณามันอีกครั้งในอีกสิบกว่าปีต่อมา กลับมาอ่านอีกครั้งหลังจากสิบปีล่วงเลยไป เรื่องราวชีวิตของป๋าก็ยังสนุกสนานเข้มข้นไม่ต่างจากเดิม แถมยังได้ข้อคิดและเกร็ดความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก

และปรัชญานักเลงแบบนี้ ก็คงมีเฉพาะ “นักเลงตัวจริง” แบบป๋าเท่านั้นที่จะเข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้ง

อย่าไปคิดว่า ลูกผู้ชายต้องร้องไห้ไม่ได้ อย่าคิดว่า ‘น้ำตา’ คือ ‘ความอ่อนแอ’

คนเรามีทั้ง ‘จุดเดือด’ และ ‘จุดอ่อน’ ข้าพเจ้าเชื่อว่า คนมี ‘จุดอ่อน’ มีสติยิ่งกว่าคนมี ‘จุดเดือด’

น้ำตาจะมาพร้อมกับคุณธรรมและความสำนึก

เป็นความอ่อนที่ละมุนละไม

พูดกันอย่าง ‘นักเลงเอากำปั้นทุบดิน’ ก็ต้องว่า ถ้าลูกผู้ชายหาควรมีน้ำตาไม่แล้ว ‘ลูกกะตา’ จะมีเอาไว้ให้มนุษย์ผู้ชายหา (ส้น) เท้าอะไร (เล่ม 2, หน้า 381-382)

ขอขอบคุณป๋า—สมชาย อาสนจินดา—สำหรับ “นิทัศน์อุทาหรณ์” อันมีคุณค่ายิ่งครับ


เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com

6 Comments:

At 8/17/2006 3:04 PM, Blogger pickmegadance said...

แวะมาทักทาย

ยาวมาก เลยยังไม่ได้อ่านอ่ะ เดี่ยวว่างๆ จะมาอ่านใหม่นะ

 
At 8/20/2006 5:32 PM, Anonymous Anonymous said...

อ่านละ สนุกดี...
กล้าเอามาให้ยืมอ่านรึเปล่า รึว่ากลัวจะโดนแฮ๊บหนังสือ 555+

บางทีชีวิตมันมีอะไรเยอะกว่าที่เราคิดว่าเราจะได้เจอเนอะ
น่าอิจฉา..คนที่กล้าเลือกและทำอย่างที่ตัวเองต้องการ
น่าอิจฉา..คนที่รู้คุณค่าของลมหายใจ

เมื่อไหร่ว่างๆแล้วไปเที่ยวกัน เบื่ออากาศเป็นพิษในเมืองหลวงละ

 
At 5/10/2018 4:58 AM, Blogger seocom said...



شركة تنظيف الشارقة 0567410494 التاج الملكى


كثير من النساء ليس لديهم الوقت الكافي لتنظيف منزلها، لذا لابد أن تتعامل مع شركة مخصصة في مجال التنظيف، حيث تعتبر شركة تنظيف موكيت بالبخار الشارقة
التاج الملكي شركة تنظيف كنب بالبخار الشارقة
أفضل شركة تنظيف الشارقة
، فتقوم هذه الشركة خدمت تنظيف الشارقة
بعمل نظافة كاملة لجميع الأغراض المنزلية في المنزل، فتعتبر شركة تنظيف فى الشارقة
من أكبر الشركات التي تعمل في التنظيف في مدينة الشارقة لما توفره من مميزات وخدمات لعملائها، فتعمل شركة تنظيف الشارقة
على تنظيف كل ما يخص المنازل والبيوت ولديها أحدث أدوات ومعدات التعقيم لترتيب العديد من الغرف في البيوت، لأنها تعمل على تنظيف البيوت من الأتربة التي توجد بداخلها وإزالتها نهائياً.



أهم الخدمات والمميزات التي تقدمها التاج الملكى خدمات تنظيف الشارقة
تعتبر التاج الملكى شركة تنظيف بالشارقة
من الشركات الرائدة في مجال التنظيف، فتقدم العديد من الخدمات والمميزات، غير أن شركة تنظيف بالبخار الشارقة
تقوم بعمل جميع هذه الخدمات وبأسعار تنافس جميع الشركات الأخرى، حيث نعرض لكم اليوم جميع الخدمات والمميزات التي تقوم بها شركة تنظيف منازل الشارقة
و شركات تنظيف المبانى الشارقة
.
• تقدم شركة تنظيف مسابح الشارقة
العديد من الخدمات وبأسعار رخيصة للغاية ونظراً لسعرها الرائع فهي تجذب العديد من العملاء، فتقوم شركة تنظيف شقق الشارقة
بعمل خصومات رائعة في مجال التنظيف يصل الخصومات إلى 50% عن السعر المخصص للتنظيف في الشركات الأخرى التي تعمل في هذا المجال.
• وتمتلك شركة تنظف فلل الشارقة
العديد من الأساليب الحديثة، ويوجد لديها فريق عمل متمكن في مجال التنظيف، فلا توظف أحد من العمال إلا أن يكون حاصل على شهادة الأيزو العالمية في مجال التنظيف ويكون خبرة ذو خمس سنوات على الأقل، فتتوفر في العمالة في شركات تنظيف المنازل الشارقة
الخبرة والدقة في الأداء والعمل لذا تعتبر من أكبر الشركات المتخصصة في هذا المجال

 
At 5/10/2018 5:06 AM, Blogger seocom said...



التنظيف من المشكلة التي تواجة معظم النساء خاصة إذا كانت سيدة تعمل فلا يوجد لديها وقت كافي لإتمام عملية التنظيف، فلابد بالأستعانة حيث تعتبر شركة التاج الملكي أكبر شركة تنظيف دبى
، فالشركة تعمل في العديد من المجالات ولكنها تختص في مجال التنظيف، حيث تستخدم شركة تنظيف المنازل دبي أحدث المعدات والألات لتنظيف جميع أنواع التنظيف سواء أكانت تنظيف سجاد أو غرف نوم أو مطابخ أو دورات مياة، فتعتبر شركات تنظيف المبانى دبى
أرخص شركة تعمل في هذا المجال، فتقوم بخصم نصف الثمن لجميع عملاء شركة تنظيف البيوت دبي مع جذب ثقة العملاء وتقديم أفضل خدمة للتنظيف وجودة رائعة في هذا المجال.

افضل شركة تنظيف دبى
التاج الملكى

تعتمد الشركة الأفضل على أنها تحتوي على أمكانيات عالية من حيث المعدات والألات وتمتلك التاج الملكى ل خدمات تنظيف دبى
عمالة يعملون في الشركة على أساس الخبرة المكتسبة على الأقل خمسة سنوات خبرة، فالعمالة في شركة تنظيف دبى
شركة تنظف فلل دبى
تكون مدربة على جميع أنواع التنظيف.
فيوجد في بعض المنازل والشقق العديد من البقع التي لا يمكن إزالتها بواسطة المساحيق العادية ولكن مع شركة تنظيف شقق دبى
تمتلك أكثر المساحيق الغير عادية التي تعمل على إزالة البقع بسهولة تامة وتعقيم البقع وإزالتها نهائياً من البيوت، لذا تعتبر من أفضل الشركات التي تعمل في هذا المجال.

تقوم شركات تنظيف المنازل دبى
بعمل تعقيم على جميع البقع، فيوجد العديد من الفيروسات والبكتريا التي لا تري بالعين المجردة ولكن مع شركة تنظيف موكيت بالبخار دبى
وايضا شركة تنظيف كنب بالبخار دبى
لديها المعدات والأجهزة التي يمكن من خلالها رؤية هذه البكتريا والفيروسات ولديها أفضل المعدات والمساحيق التي تعمل على إزالة هذه البقع نهائياً.

 
At 6/30/2018 5:06 PM, Blogger sherrysabri said...

شركة مكافحة حشرات بالجبيل
شركة رش مبيدات بالجبيل
شركة مكافحة الحمام بالجبيل
شركة مكافحة الفئران بالجبيل
شركة مكافحة صراصير بالجبيل
شركة مكافحة بق الفراش بالجبيل

 
At 8/23/2019 5:26 PM, Blogger yanmaneee said...

hermes belts for men
yeezy
nike air force
air jordan
golden goose sneakers
off white shoes
supreme new york
air max 97
supreme hoodie
canada goose jacket

 

Post a Comment

<< Home