Saturday, June 17, 2006

ผมไปพบบทวิจารณ์ชิ้นนี้เข้าโดยบังเอิญ (http://www.faylicity.com/book/book1/elephant.html) เลยทำให้มีแรงกระตุ้นอยากเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับฮารูกิ มูราคามิ ขึ้นมาอีกซักครั้ง

The Elephant Vanishes เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่ผมพยายามอ่านจนจบ หลังจากตั้งใจอยู่นานว่าจะพยายามหาหนังสือภาษาอังกฤษของเขามาอ่านบ้าง หลังจากอ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยมาครบแล้ว

ผมจำไม่ได้แล้วว่าทำไมถึงเลือกเล่มนี้เป็นเล่มแรก ไม่รู้ว่าเพราะมันเหลืออยู่เล่มเดียวบนชั้นหรือเพราะเหตุผลอย่างอื่น แต่สุดท้ายแล้วผมก็อ่านจบจนได้ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็พอจะซึมซับอรรถรสที่แตกต่างจากการอ่านนวนิยายที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยพอสมควร

ผมคิดว่าเรื่องสั้นของมูราคามิอ่านสนุกมาก แม้จะมีหลายๆ เรื่องที่อาจเชื่อมโยงกับนวนิยายของเขาได้ทั้งในเชิงแนวคิดและตัวละคร แต่ในบริบทของเรื่องสั้นมันกลับสร้างบรรยากาศที่ต่างออกไป--แปลกประหลาด เพ้อฝัน พิกล ตลก เสียดสี เย้ยหยัน ฯลฯ แล้วแต่จะให้คำจำกัดความ ซึ่งแม้เราจะพบลักษณะแบบเดียวกันนี้ได้ในนวนิยายของเขา แต่ผมก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกันซะทีเดียว

เสียดายที่ตอนนี้ผมไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ ถ้ามี ผมจะเปิดหาบางตอนมาให้อ่านเป็นตัวอย่าง

หรือบางทีเงื่อนไขของเรื่องสั้นอาจเปิดโอกาสให้มูราคามิสามารถทำแบบนี้ได้ เรื่องสั้นอาจไม่จำเป็นต้องบอกเล่าที่มาอะไรมากนัก อาจมองผ่านความเป็นเหตุเป็นผลบางอย่างได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรืออาจใช้สถานการณ์หนึ่งเป็นตัวแทนของอีกสถานการณ์หนึ่ง และสามารถสื่อความหมายของสถานการณ์นั้นได้ชัดเจนกว่าการพูดถึงสถานการณ์นั้นเอง--เขียนให้งงเหมือนกับตัวเองมีความรู้ไปอย่างนั้นแหละครับ

ผมเคยอ่านเรื่องสั้นเพื่อชีวิตมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับเรื่องสั้นทั้งหมดที่นักเขียนเขียนออกมา สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ เรื่องสั้นเพื่อชีวิตอาจจะหมดพลังในการสื่อสารกับสังคมโดยรวมไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร (ผมพยายามคิดว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง หรือการ "เปลี่ยนไป" ของคนรุ่นใหม่แล้ว มันยังมีสาเหตุมาจากอะไรได้อีกบ้าง หรือมันอาจจะไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงข้างต้นเลยก็ได้) และถึงแม้ผมจะชอบเรื่องสั้นเหล่านั้นมากแค่ไหน ผมก็ยังไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วมหรือเห็นถึงความจริงแท้ของการกดขี่ขูดรีดอยู่ดี นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมจึงคิดว่าการใช้สถานการณ์หนึ่งเป็นตัวแทนของอีกสถานการณ์หนึ่ง บางทีมันอาจจะสามารถสื่อความหมายของสถานการณ์ที่เราต้องการพูดถึงได้ดีกว่า

เปรียบเทียบจากเรื่องสั้นของมูราคามินั่นแหละครับ ผมอ่านไปก็คิดไปว่ามูราคามิต้องการจะบอกอะไรนอกเหนือจากการโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินของปิศาจตัวเขียว, ลมกรรโชกแรงในบ่ายวันอาทิตย์กับการขอจับหน้าท้องของแฟน, การปล้นร้านแมคโดนัลด์, การตามหาแมวที่หายไป, ความหลงใหลในการตัดหญ้า ฯลฯ

หรือมันอาจจะไม่มีความหมายอื่นเลย... ก็เป็นไปได้

และหากคิดไกลไปกว่านั้น หากวันหนึ่งวันใดมีใครต้องการพูดถึงการกดขี่ขูดรีด ความอยุติธรรมทางสังคม การล่มสลายของระบบศีลธรรม หรือปัญหาใหญ่โตที่กำลังคุกคามโลกและมนุษย์อยู่ในทุกวันนี้ เราจะสามารถใช้การบรรยายถึงการมีชีวิตอยู่ของเจ้าสัตว์มหัศจรรย์อย่างแมลงสาปในท่อระบายน้ำของกรุงเทพฯเป็นตัวแทนของปัญหาในระดับโลกและระดับจิตวิญญาณได้หรือเปล่า

ผมคิดไปเล่นๆ ครับ แต่ถ้าทำแบบนั้นได้ก็คงน่าตื่นเต้นไม่เบาทีเดียว

เรื่องสั้นและนวนิยายของมูราคามิอาจอยู่นอกเหนือจากขนบของ "เพื่อชีวิต" ไปไกลโข (เอาไว้มีโอกาสเราค่อยกลับมาคุยเรื่อง "เพื่อชีวิต" กันอีกทีนะครับ) และอาจไม่มีคุณค่าความหมายใดๆ ในทางปรัชญาให้ต้องขบคิดตีความ แต่อย่างน้อย สำหรับผม ผลงานของมูราคามิก็ทำให้ผมมีเรื่องต้องขบคิดมากขึ้น

อย่างน้อยการเขียนบทความถึงนวนิยายเรื่อง Sputnik Sweetheart ก็เล่นเอาผมปวดหัวไปหลายรอบ และจนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถเขียนออกมาได้ตามที่ตั้งใจ

คุณคิดว่าการหายตัวไปของสุมิเระเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในนวนิยายเรื่องนี้หรือไม่ เพราะอะไร?

จงอธิบายคำว่า "โลกคู่ขนาน" ในบริบทของนวนิยายเรื่องนี้ และเหตุใดผู้แปลจึงเลือกใช้คำนี้เป็นส่วนประกอบในการตั้งชื่อภาษาไทย (รักเร้นในโลกคู่ขนาน) ?

การที่มิวเห็นร่างของตัวเองในอีกสถานที่หนึ่ง จงอธิบายว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร?

นึกย้อนกลับไปในสมัยเรียน คำถามข้างต้นคงสร้างความตื่นเต้นปนหวาดวิตกให้กับนักเรียนอยู่พอสมควร ยิ่งถ้าลองถามคำถามนี้กับนักเรียนเศรษฐศาสตร์ "จงใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคอธิบายการประสบความสำเร็จทางธุรกิจของมิว?" น่าสนุกดีเหมือนกันนะครับ

ผมคิดว่าจะสามารถหาคำตอบเหล่านั้นได้ หรืออย่างน้อยก็เอาสีข้างถูๆ ไถๆ ไปได้ในระหว่างนั่งเขียนบทความ แต่จนแล้วจนรอดผมก็นึกไม่ออก และไม่รู้จะเขียนให้ดีกว่าที่เขียนไปแล้วได้อย่างไร สุดท้าย บทความที่เสร็จเรียบร้อยก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ ได้แต่ใช้รูปแบบช่วยให้ดูฉลาดปราดเปรื่องไปแค่นั้น

ครับ คิดในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ก็เล่นเอาปวดหัวไปวันสองวันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าคิดในเรื่องชีวิตจิตใจของมนุษย์จริงๆ มันจะน่าปวดหัวและกลัดกลุ้มแค่ไหน

เขียนมาถึงตรงนี้ผมก็คิดจนสมองตื้อแล้ว เอาไว้ผมจะรวบรวมสมาธิกลับมาเขียนต่อก็แล้วกันครับ