Wednesday, June 21, 2006

เมื่อวาน หลังจากเขียนเสร็จ เรื่องราวในอดีตก็วิ่งพลุ่งพล่านวุ่นวายอยู่เต็มหัว ผมพบว่ายังมีหนังสืออีกตั้งหลายเล่มที่น่าจะกลับไปอ่านใหม่อีกครั้ง หรือไม่ก็เอามาปัดฝุ่นเขียนแนะนำบอกต่อๆ กัน

เอาล่ะครับ หลังจากก้มๆ เงยๆ เปิดกล่องนั้นกล่องนี้อยู่หลายรอบ ในที่สุดผมก็ค้นพบหนังสือเล่มประวัติศาสตร์ทั้งสองเล่มที่ว่า แต่กว่าจะหาเจอก็เล่นเอาผมใจหายเหมือนกัน เพราะหลังจากเปิดดูครบทุกกล่องแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นวี่แววของป๋า ส. เปิดดูแต่ละกล่องใหม่อีกรอบ ป๋า ส. ของผมก็ยังหลบหน้าไปอยู่ดี ผมนั่งนิ่งๆ นึกย้อนกลับไปว่าให้ใครยืมไปหรือเปล่า หรือย้ายเอาไปเก็บไว้ที่ไหน อุตส่าห์โฆษณาเสียดิบดี เห็นท่าต้องหน้าแตกกันคราวนี้

หลังจากนั่งฟังรายละเอียดก่อนการเผชิญหน้ากันระหว่างเยอรมันกับเอกวาดอร์ ผมตัดสินใจค้นหาใหม่อีกรอบ คราวนี้ทำใจสบายๆ คิดว่าถ้าไม่เจอก็คงต้องทำใจ แต่เรื่องไม่คาดฝันก็มักจะเกิดขึ้นถูกที่ถูกเวลาเสมอ ผมหยิบกล่องกระดาษสีแดง หน้าปกเขียนว่า "ฤทธิ์มีดสั้น" ของจอมยุทธ์น้ำเมาโก้วเล้งขึ้นมาดู เพราะการตามหาป๋า ส. ที่ผ่านมาสองรอบ ผมไม่ได้หยิบมันขึ้นมาดูเลย เนื่องจากคิดว่าหนังสือที่อยู่ในกล่องก็คงเป็น "ฤทธิ์มีดสั้น" สามเล่มหนาปึ้กแน่ๆ แต่ที่ไหนได้ ผมดันลืมไปเสียสนิทว่าผมไม่ได้เอา "ฤทธิ์มีดสั้น" เก็บไว้ในกล่องนี้

ครับ ป๋า ส. ของผมทั้งสองเล่มซ่อนตัวอยู่ในกล่องนี้นั่นเอง เวลาจะเจอก็เจอเอาง่ายๆ แถมยังเจอในกล่องของผลงานในความทรงจำอีกเรื่องหนึ่งของผมด้วย

โอกาสต่อๆ ไป ผมจะแปลงกายเป็นอาฮุย นำพาทุกท่านย้อนกลับไปรำลึกถึงแม่นางลิ่มเซียนยี้--หญิงงามในความทรงจำของใครหลายๆ คนครับ


"ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า" ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในนิตยสาร "ดิฉัน" ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2534 ก่อนจะตีพิมพ์รวมเล่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

ผมมีโอกาสหยิบหนังสือขึ้นมาพลิกๆ ดูอีกรอบก็เมื่อคืนนี้เอง เป็นครั้งแรกในรอบ 4-5 ปี ทุกครั้งที่เห็นหนังสือทั้งสองเล่มนี้ ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาก็หนีไม่พ้นฉากชีวิตที่โรงเรียนประจำ คิดๆ ดูก็น่าแปลกนะครับ หนังสือเล่มหนึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชีวิตของคนเรา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การที่ผมนั่งดูทีมชาติเยอรมันลงฟาดแข้งเมื่อคืนนี้น่าจะช่วยให้ผมย้อนรำลึกถึงชีวิตในช่วงนั้นได้ดีกว่า แต่มันก็ไม่ใช่ เรื่องราวของป๋า ส. กลับทำให้ภาพในอดีตของผมแจ่มชัดขึ้น มันทำให้ย้อนกลับไปรำลึกถึงความรู้สึกกดดันในสนามหญ้าสีเขียวๆ ได้ดีกว่าการนั่งดูฟุตบอลระดับโลกเสียอีก

ก่อนจะเฉไฉไปเรื่องฟุตบอล (ซึ่งผมสามารถเฉไฉไปได้อีกหลายหน้ากระดาษ) กลับมาที่ป๋า ส. กันดีกว่านะครับ


การเขียนความจริงบางอย่างนั้น มัน 'จริง' เกินไปจนดู 'เพรื่อ' และหยาบคาย

แต่ก็เสียดาย 'ความชั่วชาติ' และ 'บัดซบ' ของตนเองที่มีอยู่มากมาย น่าจะ 'คาย' ออกมาตีแผ่ให้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลังได้ตระหนัก


นี่เป็นข้อความที่อยู่บนแผ่นพับของหน้าปก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเขียนหนังสือในช่วงบั้นปลายชีวิตของป๋า

จุดเริ่มต้นของหนังสือชุดนี้ ป๋าเล่าไว้ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.29 น. ของวันที่ 23 มกราคม 2531 ที่ห้องอาหารเรือนต้นของโรงแรมมณเฑียร ป๋าได้พบกับคุณ "ชาลี" บรรณาธิการบริหารนิตยสาร "ดิฉัน" ซึ่งอยากรู้จักและพูดคุยกับป๋ามานาน เมื่อพบป๋าแล้ว คุณชาลีก็บอกว่าอยากจะสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตของป๋า ติดอยู่ตรงที่ว่าเห็นฉบับอื่นเขาทำกันมามากแล้ว ไม่พูดพร่ำทำเพลง ว่าแล้วคุณชาลีก็เอ่ยปากขอ "เรื่อง" ป๋าเสียเลย

"ได้ครับ" ป๋าตอบกลับทันควัน


ทันใด เธอก็ควักนามบัตรของเธอส่งให้ข้าพเจ้า

นามบัตรนี้ค่อนข้างแปลกตาสำหรับ 'คนเก่า' อย่างข้าพเจ้า ก็คือมันพิมพ์สองสี (แดง-น้ำเงิน...เอ...หรือดำก็ไม่รู้...) อยู่บนแผ่นพลาสติกบางๆ แต่แข็ง...อ่านลำบาก เพราะมันสะท้อนแสงกับไฟ

เลยพูดไปอย่างกันเองว่า

"หาเรื่องให้คนแก่อ่านลำบากแท้ๆ"

(หัวเราะกันนิดหน่อย...)

แต่เมื่อมาอ่าน (เขม้น) ออกแล้วก็เห็นชื่อจริงของเธอ...มัน-'ชุลิตา...'

ข้าพเจ้าก็ว่า...(เงยมองคุณจุรีแล้วถาม--คุณจุรีเป็นคนพาคุณชาลีมาพบป๋า)

"เอ...ไหนว่าชื่อชาลี ทำไมนามบัตรนี่พิมพ์ว่า...ชุลิตาล่ะ"

คุณจุรีไม่ทันได้ตอบ บรรณาธิการบริหารของ 'ดิฉัน' ก็ตอบเองว่า

"เขาเรียกผวนกันค่ะ...ชุลิตา...ก๊อ...ชาลีตุ๊ไงคะ"

ทันทีที่ได้ยินคำว่า 'ตุ๊' ...ตนเองก็ 'ทะลึ่ง' พูดขึ้นว่า

"ชื่อเหมือนเมียผมเลย"

(เสียง...ใครต่อใครก็ไม่รู้...หัวเราะทั้งฮาทั้งเฮขึ้นมาทันที)

และใครก็ไม่รู้เปรยว่า

"เอาเข้าแล้วไหมล่ะ"


เอาเข้าแล้วไหมล่ะ ผมต้องรีบไปก่อนซะแล้ว หนีงานมาเขียนก็อย่างนี้ ค่อยๆ คืบหน้าไปทีละนิดทีละหน่อยคงไม่ว่ากันนะครับ