Friday, September 08, 2006

2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสแวะเข้าโรงหนังอยู่หลายรอบ และหลายต่อหลายครั้งก็คิดว่าจะพยายามเขียนถึงหนังที่ได้ดูบ้าง เก็บเอาไว้เป็นความทรงจำส่วนตัว จะได้ไม่ลืมว่าคิดและรู้สึกกับหนังแต่ละเรื่องอย่างไร

ช่วงนี้ที่สำนักงานบ้านสีฟ้าเริ่มเงียบเหงา เพราะหนังสือที่ทำเตรียมไว้สำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 11 ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้เกือบเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ภาระหน้าที่ที่มีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก (ขาดก็แต่คอลัมน์ที่ปั่นไม่ออก อ่านหนังสือไป 2 เล่มแล้ว แต่ก็ยังเขียนไม่ได้อยู่ดี ช่วงนี้เลยต้องขออนุญาตท่านบรรณาธิการเอารายงานที่ทำเอาไว้มาลงแก้ขัดไปก่อน) ช่วงนี้จึงเหมาะที่จะเขียนอะไรบ้าง หัวสมองจะได้ใช้งาน ไม่ต้องคิดวุ่นวายเรื่องอื่นๆ ให้ปวดหัว

11 โมงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2549 อากาศในกรุงเทพฯร้อนเป็นปกติ ผมนั่งรถเมล์คู่ชีพมุ่งหน้าสู่สยามสแควร์ ตั้งใจว่าจะหาหนังรอบเที่ยงดูซักเรื่อง ก่อนที่จะคิดทำอะไรต่อไปสำหรับวันที่เหลือ หนังเรื่องล่าสุดที่ผมดูก่อนหน้านี้คือ United 93 ย้อนไปก่อนหน้านี้อีกก็คือ The Wind That Shakes the Barley ทั้งสองเรื่องล้วนมีแง่มุมให้เขียนถึงมากมาย แต่ถ้าจะเขียนให้สนุก ผมก็คงต้องกลับไปหาข้อมูลทั้งกรณีเหตุการณ์ 11 กันยายน เมื่อ 5 ปีก่อน และกรณีขบวนการกู้ชาติของไอร์แลนด์ ซึ่งจังหวะชีวิตช่วงนี้ไม่มีความมุ่งมั่นมากขนาดนั้นครับ

ใครที่ยังไม่ได้ดู ผมแนะนำให้ลองไปดู The Wind That Shakes the Barley หนังยังฉายอยู่ที่ Lido ครับ

ผมไปถึงโรงหนังประมาณ 10 นาทีก่อนเที่ยง และหนังที่เวลาฉายเหมาะสมที่สุดในเวลานั้นก็คือ Me and You and Everyone We Know

ผมเคยผ่านตาชื่อหนังเรื่องนี้มาแล้วจากคอลัมน์ “ดูหนังอย่างคนป่วย” ของคุณวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ใน open online แต่ถึงแม้ผมจะเป็นคนตรวจทานบทความชิ้นนี้ก่อนจะส่งขึ้นเว็บไซต์ แต่ว่ากันตรงๆ แล้วก็แทบจดจำอะไรไม่ได้เลย ใครที่เคยอ่านหนังสือเพื่อตรวจความถูกต้องคงจะพอเข้าใจได้ว่ามันแตกต่างกับการอ่านหนังสือเพื่อเอาเนื้อหาสาระมากพอสมควร และนั่นแหละครับ สิ่งแรกที่ผุดขึ้นในใจผมตอนที่เห็นโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ที่หน้าโรงก็คือแค่คุ้นๆ ว่าเคยเห็นโปสเตอร์แบบนี้กับชื่อหนังเรื่องนี้ใน open online ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

การที่ได้ดูหนังแบบ “ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น” ก็เป็นเรื่องดีเรื่องหนึ่งของชีวิต ไม่มีการคาดหวัง คาดเดา นึก คิด จินตนาการ แบบที่ทำกันอยู่ทั่วไปในเหตุการณ์ชีวิตประจำวัน (ซึ่งมักนำความทุกข์หรือความไม่สบายใจมาให้เสมอ) ชะตากรรมของคนดูขึ้นอยู่กับภาพเคลื่อนไหวตรงหน้า ซึ่งผมพยายามคิดว่าชีวิตเราก็น่าจะเป็นแบบนั้น ต่อให้เราวางแผนชีวิตไว้แน่นหนารัดกุมมากเพียงใด แต่สุดท้ายแล้วการควบคุมก็ไม่ได้เป็นของเราไปเสียทั้งหมด

ลำพังการควบคุมตัวเราเอง เราก็ยังทำไม่ได้เลยนี่ครับ นับประสาอะไรกับปัจจัยภายนอกร้อยแปดที่เราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ผมจะเริ่มต้นการเขียนถึงหนังเรื่องนี้อย่างไรดี...

น่าจะเป็นการดีหากจะเริ่มต้นด้วยฉากที่ผมประทับใจมากที่สุด

“ปลาทอง”

ปลาทอง 1 ตัวในถุงพลาสติก พ่อกับลูกสาวถือมันออกมาจากร้านค้า ก่อนจะลืมมันเอาไว้บนหลังคารถ รถวิ่งไปบนถนน คน 2 คนในรถอีกคันหนึ่งมองเห็นมัน—คริสตีน เจสเปอร์สัน (มิแรนดา จูลี) กับชายชรา (เฮกเตอร์ อีเลียส) ทั้งคู่เป็นห่วงว่ามันจะตกลงมาบนพื้นถนน คริสตีนบอกมันว่า “เจ้าปลาทอง ฉันไม่รู้จักเธอ แต่อยากให้เธอรู้ว่าเธอจะจากไปพร้อมกับความรักจากฉัน”

รถเบรก ปลาทองในถุงพลาสติกกระเด็นไปตกที่ท้ายรถของคันข้างหน้า รถวิ่งไปอีกครั้ง พ่อกับลูกสาว คริสตีนกับชายชรา เฝ้ามองมัน ในขณะที่สามีภรรยาในรถคันข้างหน้าไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ท้ายรถของพวกเขา รถทั้งสามคันวิ่งต่อไปเรื่อยๆ ก่อนที่ถุงพลาสติกที่ภายในบรรจุน้ำและปลาทอง 1 ตัว จะค่อยๆ เคลื่อนไปที่ท้ายรถ...

หลังจากดูฉากนี้จบลง ผมก็รู้ได้ทันทีว่าผมชอบหนังเรื่องนี้มาก

ปลาทองในถุงพลาสติก—ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

มิแรนดา จูลี (ผู้กำกับและนักแสดงของหนังเรื่องนี้) สร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายประเภท และทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ก็สะท้อนความเป็นศิลปินของเธอได้อย่างชัดเจน ผมไม่กล้าบอกว่าเธอต้องการจะส่งสารอะไรถึงผู้ชม แค่การ “ขี้ใส่กันชั่วนิรันดร์” ของหนูน้อยร็อบบี้ (แบรนดอน แรตคลิฟฟ์) ก็เกินกว่าสติปัญญาของผมจะตีความได้

บางทีความคลุมเครือก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน บางครั้งผมก็คิดเข้าข้างตัวเองว่าชีวิตคงไม่ต้องการความชัดเจนไปเสียทุกเรื่อง เพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็คงตัดสินใจให้ชัดเจนลงไปในบางเรื่องไม่ได้ อย่างเรื่องของชะตากรรมในตอนต้น นี่ก็เป็นเรื่องคลุมเครืออีกเรื่องหนึ่งของชีวิต คลุมเครือจนอาจจะเรียกว่ามืดทึบได้ด้วยซ้ำไป ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป หนทางข้างหน้าจะยังมีให้เดินต่อไปอีกนานเท่าไหร่ หรือคนที่ได้เจอะเจอกันในวันนี้ วันหนึ่งวันใดข้างหน้าก็อาจจะไม่มีโอกาสได้พบเจอกันอีก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็คิดว่าในความคลุมเครือก็จำเป็นต้องมีความชัดเจนเหมือนกัน อย่างเช่นที่มิแรนดา จูลี ทำในหนังเรื่องนี้ เราอาจจะบอกได้ว่าเธอกำลังเสนอเรื่องความรัก เรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ เรื่องความต้องการมีใครซักคนของมนุษย์ ฯลฯ เราคงบอกได้ เพราะในความคลุมเครือของมิแรนดา จูลี มันก็มีความชัดเจนบางอย่างอยู่ อย่างน้อย ความชัดเจนในฐานะของคนทำงานศิลปะก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมสัมผัสได้

ความคลุมเครือกับความชัดเจนจึงอาจเป็นสิ่งตรงข้ามที่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน เหมือนกับถ้าไม่มีขาว ก็ไม่มีดำ หรือถ้าไม่มีผู้ชายเจ้าชู้ ก็อาจจะไม่มีผู้ชายรักเดียวใจเดียว

บางทีโลกของเราคือการทำงานร่วมกันของสิ่งตรงกันข้าม หลักใหญ่ใจความของทุกสิ่งทุกอย่างจึงอาจจะอยู่ที่การรักษาสมดุลของทั้งสองฝั่ง ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้จนจบสิ้นกระบวนการ

ร่างกายและจิตใจก็คงไม่ต่างกัน สมองซีกซ้ายควบคุมการทำงานของร่างกายซีกขวา สมองซีกขวาควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย ความโกรธย่อยสลายได้ด้วยการให้อภัย และเมื่อเราต้องการเป็นผู้รับ เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้การเป็นผู้ให้

คู่ตรงข้ามอาจจะไม่ใช่คู่ตรงข้าม และความคลุมเครือกับความชัดเจนก็อาจจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน

“เรายังไม่เหม็นขี้หน้ากันซักหน่อย” คริสตีนบอกกับริชาร์ด (จอห์น ฮอว์เกส) ในขณะที่ทั้งคู่กำลังเดินไปที่รถ ก่อนที่ริชาร์ดจะบอกว่าเขาเป็นฆาตกรโรคจิตและไล่คริสตีนลงจากรถของเขา


ผมกำลังเขียนถึงอะไร?

Me and You and Everyone We Know หนังเรื่องล่าสุดที่ผมไปดูมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2549—ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

0 Comments:

Post a Comment

<< Home