Thursday, August 31, 2006

การก่อรูปของขบวนการชาตินิยมในเวียดนาม ภายหลังการยึดครองของฝรั่งเศสจนถึงการประกาศเอกราชในปี 1945 (ตอน 1)

บทความนี้ปรับปรุงจากรายงานเรื่องเดียวกันซึ่งเสนอต่อ อ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวิชา ร. 430 ชนชาติ วัฒนธรรม และปัญหาการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การรุกรานของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาในเวียดนามตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยตามหลังโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ซึ่งเข้ามาทำการค้าในภูมิภาคนี้อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม การค้าของชาวตะวันตกในเวียดนามนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อังกฤษต้องปิดสำนักงานการค้าในฮานอยในปี 1697 ฮอลันดาปิดในปี 1700 มีเพียงโปรตุเกสที่ยังคงเดินเรือระหว่างมาเก๊าและเวียดนามต่อไป แต่ก็อยู่ในวงที่แคบลงมาก(1)

หลังจากพ่อค้าจากยุโรปพวกสุดท้ายออกจากเวียดนามไปในปี 1700 แล้ว กลุ่มที่มีบทบาทต่อมาก็คือ นักเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่มีฝรั่งเศสเป็นผู้นำ มีการตั้ง “สมาคมโพ้นทะเล” ขึ้นในปี 1658 เพื่อทำหน้าที่ส่งคณะเผยแพร่ศาสนามายังเวียดนาม โดยความร่วมมือของสถาบันกษัตริย์ กองทัพเรือ และบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส (The French East India Co.)(2)

อย่างไรก็ตาม ความพยายามเผยแพร่ศาสนาดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากในระยะนั้นเกิดความไม่สงบขึ้นในเวียดนาม ตั้งแต่สงครามกลางเมืองระหว่างตระกูลเหวียน (Nguyen) กับตระกูลตรินห์ (Trinh) จนถึงกบฏไตเซิน (Tay Son) แต่สำหรับฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าเวียดนามเป็นเพียงทางผ่านไปยังจีนเท่านั้น โดยมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเวียดนามนั้นนอกจากความต้องการวัตถุดิบและตลาดในเวียดนามแล้ว ฝรั่งเศสยังต้องการใช้เวียดนามเป็นทางผ่านเข้าสู่จีนผ่านทางแม่น้ำโขง เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าและเป็นที่สนใจของชาติตะวันตกในขณะนั้น(3) ในช่วงแรกฝรั่งเศสจึงยังไม่ได้เข้ามาจัดการควบคุมเวียดนามอย่างเต็มที่ บทบาทของชาวฝรั่งเศสในการขยายอำนาจในเวียดนาม จึงมีเพียงบทบาทของพ่อค้าเอกชนร่วมกับนายทหารในกองทัพเรือฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ในเขตทะเลจีนใต้เท่านั้น(4)

ฝรั่งเศสเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อบาทหลวงปิโย เดอ บาแอนน์ (Pigneau de Bahaine) นำกองทหารเข้าช่วยเหลือเหวียนแอ๊นท์ (Nguyen Anh) ปราบกบฏไตเซินได้สำเร็จ และเหวียนแอ๊นท์สามารถสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิยาลอง (Gia Long) แห่งราชวงศ์เหวียนในปี 1802 โดยจักรพรรดิยาลองได้ตอบแทนฝรั่งเศสด้วยการอนุญาตให้เผยแพร่คริสต์ศาสนาได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งก็มีชาวเวียดนามหันไปเข้ารีตเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในหมู่คนยากจน จนเกิดเป็นความขัดแย้งทางความคิดในสังคมเวียดนาม โดยเฉพาะในรัชสมัยของจักรพรรดิมินห์ หม่าง (Minh Mang) ซึ่งจักรพรรดิและขุนนางมองว่าคริสต์ศาสนาเป็นของ “ต่างชาติ” และแตกต่างจากพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของเวียดนาม

นอกจากนี้ การเผยแพร่คริสต์ศาสนายังอาจส่งผลกระทบต่ออำนาจของจักรพรรดิ เนื่องจากอุดมการณ์ณ์ขงจื้อนั้นยกย่องจักรพรรดิเป็นประมุขทั้งทางโลกและทางธรรม โดยไม่มีองค์กรศาสนามายุ่งเกี่ยว แต่คริสต์ศาสนาได้แยกประมุขทางโลกกับทางธรรมออกจากกัน โดยมีประมุขทางธรรมคือพระสันตะปาปา ทำให้จักรพรรดิมิได้มีฐานะสูงสุดเพียงผู้เดียวอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น คริสต์ศาสนายังพยายามรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนและขยายอิทธิพลกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้นำของเวียดนามเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของเวียดนาม(5)

ด้วยเหตุนี้ ผู้นำของเวียดนามจึงไม่ยินยอมให้การเผยแพร่ศาสนาทำได้อย่างเสรี มีการดำเนินการต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาของฝรั่งเศสอย่างจริงจัง ทำให้นักสอนศาสนาและประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ในปี 1825 ในรัชสมัยของจักรพรรดิมินห์ หม่าง มีการออกพระราชกฤษฎีกาประณาม “ศาสนาวิตถารของชาวยุโรป” ว่าเป็น “การทำให้จิตใจคนเลวลง” ระหว่างปี 1833-1838 นักสอนศาสนา 7 คนถูกตัดสินประหารชีวิต(6) ในขณะเดียวกัน การเผชิญหน้ากับชาวตะวันตกก็เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ในปี 1847 ซึ่งเป็นปีแรกในรัชสมัยของจักรพรรดิตื่อดึ๊ก (Tu Duc) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนาม พระองค์เน้นการปิดประเทศเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของต่างชาติ มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ต้องการยึดเวียดนามเป็นอาณานิคม ฝรั่งเศสจึงอ้างเหตุเหล่านี้เข้ารุกรานเวียดนาม โดยเข้าโจมตีเมืองตูราน (Tourane) หรือเมืองดานัง (Danang) ในปัจจุบัน เป็นแห่งแรก และเริ่มยึดครองดินแดนส่วนอื่นๆ เรื่อยมา ฝรั่งเศสใช้การบังคับให้ราชสำนักยินยอมทำสนธิสัญญา จนกระทั่งเวียดนามต้องลงนามในสนธิสัญญายอมรับอำนาจของฝรั่งเศสในดินแดนของตนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 1883 ระยะเวลา 900 ปีแห่งเอกราชของอาณาจักรเวียดนามจึงสิ้นสุดลง

การลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ แน่นอนว่าเป็นการถูกกดขี่บังคับมากกว่าโดยสมัครใจ ประชาชนหรือข้าราชการชาวเวียดนามต่างก็ไม่ต้อนรับการเข้ามายึดครองของฝรั่งเศส เมื่อมีการออกแถลงการณ์การสวรรคตของจักรพรรดิตื่อดึ๊กที่สวรรคตไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทางราชสำนักจึงแสดงความปรารถนาที่จะกู้เอกราชคืน โดยในแถลงการณ์มีข้อความตอนหนึ่งว่า “พระเจ้าตื่อดึ๊กสิ้นพระชนม์เพราะความเสียพระทัยที่ชนต่างชาติเข้ามารุกรานและทำลานอาณาจักรของพระองค์ และพระองค์สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยมีพระราชดำรัสสาปแช่งผู้รุกราน หัวใจทุกดวงจงรำลึกถึงพระองค์ และแก้แค้นให้เป็นพระราชานุสรณ์แด่พระองค์เถิด”(7)


การก่อตั้งรัฐบาลอาณานิคม (ปี 1897-1918) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ

ฝรั่งเศสยังคงต้องทำสงครามต่อไปจนกระทั่งถึงปี 1896 รัฐบาลอาณานิคมจึงสามารถสร้างฐานอำนาจขึ้นมาได้ การเข้ามาของระบบอาณานิคมฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเพียงการเข้ามาของผู้ปกครองใหม่ แต่เป็นการเข้ามาของระบบการเมือง การศึกษา วัฒนธรรม และค่านิยมแบบตะวันตก ตลอดจนเป็นการนำระบบเศรษฐกิจของเวียดนามเข้าไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ถึงแม้ว่าการยึดครองของฝรั่งเศสจะเป็นเวลาไม่นานเมื่อเทียบกับการถูกจีนยึดครองในอดีต แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในเวียดนาม

นโยบายของฝรั่งเศสในอาณานิคม

ในด้านการเมืองการปกครอง ฝรั่งเศสได้ผนวกดินแดนลาวและกัมพูชารวมเข้ากับเวียดนามในปี 1862 เรียกว่า “อินโดจีนฝรั่งเศส” (French Indochina) จากนั้นก็แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 แคว้น ได้แก่ โคชินจีน อันนัม ตังเกี๋ย ลาว และกัมพูชา แคว้นโคชินจีนซึ่งอยู่ทางใต้ของเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสโดยตรง ในขณะที่แคว้นอื่นๆ เป็นรัฐอารักขาขึ้นต่อรัฐบาลกลางที่โคชินจีน การปกครองส่วนกลางที่โคชินจีนมีข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส (Governor) เป็นผู้ปกครอง และมีองคมนตรีกับสภาอาณานิคมทำหน้าที่เป็นสภาบริหารและสภานิติบัญญัติตามลำดับ ในขณะที่แคว้นอื่นๆ มีผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสซึ่งมีตำแหน่งที่เรียกชื่อต่างกันไปในแต่ละแคว้น กล่าวคือ Governor-General ในฮานอยและ Resident superieur ในตังเกี๋ยและอันนัม(8) โดยที่ฝรั่งเศสปกครองแบบกดขี่และใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนกันหมดทุกแคว้น

โคชินจีนถูกแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัด แต่ละจังหวัดมีเจ้าหน้าที่บริหารชาวฝรั่งเศสคอยดูแล ส่วนในอันนัมและตังเกี๋ย ฝรั่งเศสจัดการปกครองทางอ้อม โดยส่งผู้สำเร็จราชการไปดูแล แต่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการบริหารภายใต้การแนะนำของชาวฝรั่งเศส และฝรั่งเศสจะไม่พยายามแทรกแซงโดยตรงนอกจากเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในอันนัมที่ฝรั่งเศสยังคงสถาบันจักรพรรดิ ราชสำนัก และขุนนางไว้ ควบคู่กับการบริหารของผู้สำเร็จราชการ

ฝรั่งเศสได้นำโครงสร้างการปกครองแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่โครงสร้างการปกครองของชาวพื้นเมือง รัฐบาลกลางมีอำนาจมากขึ้น ในขณะที่หมู่บ้านในชนบทสูญเสียความสามารถในการปกครองตนเอง เกิดระบบอำนาจนิยมขึ้นในหมู่ข้าราชการ การปกครองของชาวเวียดนามถูกจำกัดหรือได้รับมอบหมายเพียงแต่งานรองๆ ฝรั่งเศสเป็นผู้ดูแลสภาเสนาบดีเวียดนาม และเสนาบดีแต่ละคนจะมีที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศสกำกับดูแลอยู่ การปกครองอาณานิคมแบบใหม่ต้องการบุคลากรชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะในงานบริหารระดับต่ำ ซึ่งต้องทำหน้าที่ภายใต้แบบแผนของตะวันตกโดยไม่มีการคำนึงถึงภูมิหลังทางสังคมและงานเดิม แต่คำนึงถึงคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการทำงานเป็นสำคัญ ผลก็คือผู้ที่เคยมีฐานะสูงในสังคมเดิมเกิดความไม่พอใจที่ถูกลดบทบาทลง โดยเฉพาะบรรดาขุนนางขงจื้อที่กลายเป็นกลุ่มที่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยวทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม(9)

ความต้องการบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ของระบบอาณานิคม ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมแบบตะวันตก มีการตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยซึ่งเปิดสอนโดยคณะมิชชันนารีหรือรัฐบาลของระบบอาณานิคม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาของเวียดนามคือข้าหลวงใหญ่ ปอล โบว์ (Paul Beau) ซึ่งจัดตั้งสภาส่งเสริมการศึกษาพื้นเมืองขึ้นเมื่อปี 1906 เพื่อวางระบบการศึกษาแบบใหม่ ต่อมาในปี 1915 ก็ล้มเลิกระบบการสอบชิงตำแหน่งขุนนางตามประเพณีเดิม ระบบการศึกษาตามประเพณีถูกแทนที่ด้วยระบบที่ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาคนงานและเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่ำๆ ในรัฐบาลอาณานิคม โดยใช้ภาษาฝรั่งเศสในการเรียนการสอน

ผลที่ตามมาก็คือ ระบบการศึกษาแบบใหม่ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมแพร่หลายขึ้นในหมู่นักศึกษา จนฝรั่งเศสต้องสั่งปิดมหาวิทยาลัยฮานอยชั่วคราวในปี 1908(10) นอกจากนี้ การศึกษาในเวียดนามก็ไม่ได้ขยายตัวอย่างทั่วถึง เพราะรัฐบาลอาณานิคมพยายามจำกัดการขยายการศึกษา ผู้ที่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเพียงคนส่วนน้อยของสังคม เยาวชนกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ และหลังจากก่อตั้งมาได้ 30 ปี มหาวิทยาลัยก็มีนักศึกษาเพียง 600 คนเท่านั้น(11) ขณะเดียวกันก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านระบบการศึกษาแบบเก่า ทำให้ไม่สามารถทำงานภายใต้ระบบอาณานิคมได้ เหล่าปัญญาชนขงจื้อที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการปกครองของฝรั่งเศสเหล่านี้ ได้กลายเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมต่อต้านฝรั่งเศสในเวลาต่อมา(12)

การปกครองระบบอาณานิคมนั้นเน้นสร้างความแข็งแกร่งของรัฐบาลกลาง ถึงแม้จะเกิดกบฏขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า อันแสดงให้เห็นว่าขบวนการชาตินิยมยังคงดำเนินการอยู่อย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยทหารฝรั่งเศสเพียง 11,000 คน กับกองทหารเวียดนามอีก 5,000 คน และตำรวจรักษาความปลอดภัยอีกจำนวนหนึ่ง ก็สามารถปกครองชาวเวียดนามถึง 24 ล้านคนได้ โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ใช้วิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อรักษาความสงบภายใน โดยเฉพาะเพื่อปราบปรามพวกชาตินิยมชาวเวียดนาม คนงาน และชาวนาที่คิดกบฏ

ในด้านเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสเริ่มแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเวียดนามอย่างเต็มที่ในช่วงทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1919-1929) โดยในช่วงแรกฝรั่งเศสยังไม่ได้จัดระบบเศรษฐกิจในเวียดนามอย่างชัดเจน จนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ซึ่งฝรั่งเศสสามารถยึดครองโคชินจีนได้แล้ว ฝรั่งเศสจึงจัดสรรระบบที่ดินใหม่เพื่อให้ชาวฝรั่งเศสมีสิทธิครอบครองที่ดินมากขึ้น ใน 1863 ฝรั่งเศสประกาศให้ชาวเวียดนามที่อพยพไปในระหว่างสงครามย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนภายในเวลาที่กำหนด ถ้าหากที่ดินใดไม่มีผู้อ้างเป็นเจ้าของก็จะถูกริบคืนแผ่นดิน แต่ผลในทางปฏิบัติปรากฏว่าแม้ชาวเวียดนามจะกลับสู่ดินแดนของตนภายในเวลาที่กำหนด แต่ก็พบว่ากรรมสิทธิ์ได้ตกแก่ชาวฝรั่งเศสไปก่อนหน้านั้นแล้ว

สำหรับในตังเกี๋ยและอันนัม ในปี 1888 ฝรั่งเศสสั่งให้จักรพรรดิออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกข้อบังคับที่จำกัดการครอบครองที่ดินของชาวฝรั่งเศสไว้ไม่เกิน 100 เอเคอร์ ทำให้ชาวฝรั่งเศสสามารถเข้าไปครอบครองที่ดินในรัฐอารักขาดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง(13)

ในบริเวณที่ราบสูงภาคกลาง รัฐบาลอาณานิคมได้นำที่ดินมาแจกจ่ายให้กับชาวฝรั่งเศสผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและชาวเวียดนามที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ผลก็คือในระหว่างปี 1897-1913 ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและบริษัทต่างๆ สามารถยึดครองที่ดินได้ถึง 470,000 เฮกตาร์ (306,000 เฮกตาร์ [1 เฮกตาร์ = 1.5 เอเคอร์] อยู่ในโคชินจีน)(14)

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ฝรั่งเศสเร่งพัฒนาเวียดนามเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเอง ค่าเงินฟรังค์ที่ต่ำลงและการเก็งกำไรยางพาราในตลาดโลกทำให้ฝรั่งเศสเร่งมาลงทุนในอินโดจีน การลงทุนในเวียดนามขยายตัวทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในช่วงปี 1888-1918 ฝรั่งเศสนำเงินมาลงทุนในอินโดจีน 490 ล้านฟรังค์ และเพิ่มเป็น 4,000 ล้านฟรังค์ในช่วงปี 1919-1929 เงินทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในด้านกิจการเหมืองแร่และสวนยางพารา เพื่อตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติของเวียดนามส่งออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเหล่านี้ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจของเวียดนาม เนื่องจากผลประโยชน์จากการลงทุนมากกว่าครึ่งตกเป็นของฝรั่งเศส และถึงแม้ฝรั่งเศสจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไว้หลายด้าน เช่น ถนน การชลประทาน ตลอดจนการตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรและสถาบันการเงิน แต่ชาวเวียดนามกลับได้ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย ชาวเวียดนามจำนวนมากกลายเป็นชาวนาที่ต้องเช่าที่ดินผู้อื่น หรือเป็นกรรมกรในโรงงานของชาวฝรั่งเศส

ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ของชาวเวียดนาม เนื่องจากที่ดินได้เปลี่ยนมือจากจักรพรรดิและขุนนางไปเป็นของชาวฝรั่งเศสหรือชาวเวียดนามที่เป็นพันธมิตรกับข้าราชการชาวฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยังคงรักษาโครงสร้างระบบเจ้าที่ดินไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์หรือเก็บภาษีต่อไป ชนชั้นเจ้าของที่ดินมีจำนวน 3-5% ของประชากรทั้งหมด แต่ครอบครองที่ดินประมาณครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมด ส่วนจำนวนชาวนานั้นมีประมาณ 90% ของประชากรทั้งหมด(15) ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่าได้กลายเป็นความขัดแย้งกันมากขึ้น เนื่องจากเจ้าของที่ดินสามารถกำหนดค่าเช่าในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่ตน ด้วยอัตราค่าเช่าถึงครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้ ทำให้ชาวนากลายเป็นผู้มีหนี้สินมาก จากที่เคยมีที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยก็กลายเป็นชาวนาผู้ไร้ที่ดิน เพราะถูกช่วงชิงไปหมด

ความทุกข์ยากของชาวเวียดนามยังถูกซ้ำเติมด้วยระบบภาษีของรัฐบาลที่เก็บเป็นเงินสดในอัตราที่แน่นอน โดยไม่มีการผ่อนปรนแม้ในยามที่เกิดทุพภิกขภัย ภาษีของรัฐบาลอาณานิคมมี 3 ประเภทคือ ภาษีรายหัว ภาษีที่ดิน และภาษีการผูกขาดเหล้าเกลือ ซึ่งอัตราภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้นไม่ว่าราคาของผลผลิตจะตกต่ำหรือไม่ก็ตาม หากปีใดผลผลิตตกต่ำ ชาวนาก็จะต้องจำนองหรือขายที่นาไปทีละส่วน เพื่อจ่ายภาษีและดอกเบี้ยเงินกู้

สภาพดังกล่าวจึงทำให้ชาวเวียดนามแทบจะไม่มีโอกาสทางการศึกษา จากที่แต่เดิม เด็กชายทุกคนไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจนก็มีโอกาสเป็นขุนนางได้ แต่ในสมัยเป็นอาณานิคม มีครอบครัวชาวนาไม่กี่ครอบครัวที่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาเรียกเก็บได้ โดยในปี 1940 มีชาวเวียดนามไม่ถึง 3% ที่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน(16) แรงกดดันของสังคมศักดินาและอาณานิคมโถมทับลงบนชีวิตชาวนาเวียดนามผู้ไร้ที่ดินจำนวนหลายล้านคน ซึ่งชาวนาที่ถูกกดขี่ทารุณเหล่านี้ ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวิติเพื่อชาติและประชาธิปไตยในเวียดนาม(17)

ในด้านสังคม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้โครงสร้างทางสังคมของเวียดนามเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจของเวียดนามได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดชนกลุ่มใหม่ คือชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพ ในปี 1929 มีกรรมกรประมาณ 222,000 คนทั่วทั้งเวียดนาม แม้จะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่กรรมกรเหล่านี้อยู่รวมกันในบริเวณที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของอาณานิคม เช่น ในเหมืองแร่ สวนยางพารา และในเมืองใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นคนกลุ่มเดียวในสังคมที่เผชิญหน้าโดยตรงกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส พวกเขาจึงอยู่ในฐานะที่สำคัญยิ่งในสังคมเวียดนาม

กรรมกรส่วนใหญ่ของเวียดนามต้องยินยอมทำสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบกับตัวแทนของบริษัทฝรั่งเศส เนื่องจากพวกเขาอ่านเขียนไม่ได้ และคนที่ว่างงานและต้องการทำงานนั้นมีมาก พวกชาวนาที่เซ็นสัญญาเข้าทำงานเหล่านี้จะถูกส่งไปทำงานในสวนยางพาราหรือในเหมืองแร่ พวกเขาต้องทำงานในสภาพที่ยากลำบาก หากคนงานปฏิเสธไม่ยอมทำงานก็จะถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณ ผู้จัดการชาวฝรั่งเศสสามารถสั่งฆ่าคนงานชาวเวียดนามได้ ถ้าคนงานหลบหนีจะถูกตามจับโดยตำรวจอาณานิคม ไม่มีกฎหมายใดๆ ที่ให้ความคุ้มครองแรงงาน ไม่มีเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงานจะถูกลงโทษเสมือนเป็นอาชญากร เช่น การจำคุก การทรมาน และการเนรเทศ(18)

สำหรับชนชั้นกลางเวียดนาม ในระยะแรกคือช่วงปี 1919-1929 นั้นยังไม่เข้มแข็งมากนัก ถึงแม้จะเติบโตขึ้นมากนับจากอดีต เนื่องจากต้องเผชิญกับระบบการผูกขาดของฝรั่งเศสและการแข่งขันกับนายทุนชาวจีน แต่ในช่วงหลังคือระหว่างปี 1924-1929 ก็เริ่มมีห้างร้านของชาวเวียดนามเกิดขึ้นบ้าง กลุ่มชนชั้นกลางนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือกลุ่มนายทุนชาติที่ต้องการลงทุนทำการผลิตหรือการค้าแต่ประสบกับอุปสรรคจากการบริหารของรัฐบาลอาณานิคม อีกประเภทหนึ่งคือกลุ่มนายทุนนายหน้า (comprador) ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการติดต่อกับฝรั่งเศส โดยรับสินค้าจากฝรั่งเศสมาจำหน่าย หรือรับช่วงประมูลการก่อสร้างต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนอพยพหรือชาวเวียดนามเชื้อสายจีน ชนชั้นกลางประเภทสุดท้ายคือชนชั้นนายทุนน้อย (petty-bourgeoisie) ประกอบด้วยพ่อค้ารายย่อย ช่างฝีมือ และนักศึกษาปัญญาชนซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดก้าวหน้าจากฝรั่งเศสผ่านทางการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

การจัดตั้งระบบอาณานิคมของฝรั่งเศส ในด้านหนึ่งก็คือการสถาปนา “ประชาคม” (community) แบบใหม่ในเวียดนามซึ่งมีลักษณะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ลักษณะของประชาคมที่ฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นนั้นเอื้อประโยชน์แก่ชาวฝรั่งเศสและชาวเวียดนามบางกลุ่ม ในขณะที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ภายใต้ประชาคมใหม่นี้ ดังนั้นจึงเกิดกระแสการต่อต้านขึ้น


เชิงอรรถ

1. โจเซฟ บัตตินเจอร์, ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม แปลจาก Vietnam: A Political History, ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี (บรรณาธิการ), มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2522), น. 44

2. โกสุมภ์ สายจันทร์, จักรพรรดินิยมกับการปฏิวัติสังคมนิยมเวียดนาม (ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2532), น. 69

3. เชิดเกียรติ อัตถากร, ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม. (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540), เชิงอรรถที่ 19, น. 24

4. โกสุมภ์ สายจันทร์, อ้างแล้ว, น. 69

5. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 25

6. โจเซฟ บัตตินเจอร์, อ้างแล้ว, น. 54

7. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 73

8. โกสุมภ์ สายจันทร์, อ้างแล้ว, น. 81

9. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 28

10. เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน

11. เหงียน คัก เวียน, เวียดนาม: ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร แปลจาก Vietnam: A Long History โดย เพ็ชรี สุมิตร (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2545), น. 173

12. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 28

13. เรื่องเดียวกัน, น. 30

14. เหงียน คัก เวียน, อ้างแล้ว, น. 177

15. เรื่องเดียวกัน, น. 196-197

16. โกสุมภ์ สายจันทร์, อ้างแล้ว, น. 84

17. เหงียน คัก เวียน, อ้างแล้ว, น. 198

18. เชิดเกียรติ อัตถากร, อ้างแล้ว, น. 34