Saturday, July 15, 2006








บรรยากาศที่สวนทูนอินเมื่อเดือนมิถุนายน 2548

บ.ก.ภิญโญและชาวคณะ open เตรียมหม่ำข้าวเย็น

ตอนที่นั่งตามหา ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า ส. อาสนจินดา (หลังจากว่าตั้งใจว่าจะเขียนเล่าไว้ที่นี่ แต่คิดไปคิดมาก็เลยเขียนส่งไปที่ open online ก่อน เพราะทิ้งคอลัมน์มาเดือนกว่าแล้ว ใครอยากอ่านก็ตามไปอ่านได้ที่นั่นนะครับ) ในคลังหนังสือเก่า มีหนังสือของ “พญาอินทรี” ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผ่านมือผมไปหลายเล่ม

ผมนั่งนึกอยู่นานว่าเล่มไหนเป็นเล่มแรกที่ได้อ่าน ก็พอจะคลับคล้ายคลับคลาว่าอาจจะเป็น ปีนตลิ่ง หอมดอกประดวน หรือไม่ก็ ผู้มียี่เกในหัวใจ แต่ที่จำได้ค่อนข้างชัดเจนก็คือวีรกรรมของ แจ้ง ใบตอง และผองเพื่อนหนุ่มบ้านไร่ ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการออกตามหาหนังสือของลุงปุ๊ทั้งเก่าและใหม่มาเก็บไว้ เก็บไปเก็บมาผมก็มีหนังสือของลุงปุ๊อยู่ตั้งประมาณ 40 เล่ม (รวมเล่มที่ชื่อปกเดียวกันแต่พิมพ์คนละห้วงเวลา)

วันนี้พอมีเวลาว่าง ผมก็เลยเขียนรายชื่อหนังสือทั้งหมดที่มีเอามาเก็บไว้ที่นี่ อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่ามีและไม่มีเล่มไหนบ้าง ส่วนภาพปกหนังสือของลุงปุ๊และข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์สวนทูนอิน


รายชื่อหนังสือเรียงตามเวลาที่พิมพ์

1. หัวใจที่มีตีน, สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, สิงหาคม 2512
2. หลงกลิ่นกัญชา, สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, ธันวาคม 2512
3. บางลำภูแสควร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น (แยกพิมพ์เป็น 2 เล่มคือ บางลำภูแสควร์ และ ฝนซาฟ้าหม่น), สิงหาคม 2513 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พฤษภาคม 2505)
4. ฝนซาฟ้าหม่น (บางลำภูสแควร์ เล่ม ๒), สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, ธันวาคม 2513
5. คึกฤทธิ์แสบสันต์, สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2518
6. ความหิวที่รัก, สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518
7. ดอกไม้ในถังขยะ, สำนักพิมพ์บรรณกิจ, มิถุนายน 2518
8. น้ำตาสองเม็ด, สำนักพิมพ์บรรณกิจ, สิงหาคม 2518
9. จากโคนต้นไม้ริมคลอง, สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2519
10. ถึงป่าคอนกรีต,สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2519
11. ขี่ม้าชมดอกไม้ เล่ม 1-2, สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2519
12. ปักกิ่ง-กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พฤษภาคม 2519
13. ผู้ดีน้ำครำ, สำนักพิมพ์ปิยะสาส์น, สิงหาคม 2521
14. รัฐมนตรีบรรลาย (ผู้ดีน้ำครำ ๒), สำนักพิมพ์ปิยะสาส์น, กุมภาพันธ์ 2522
15. พูดกับบ้าน, สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม 2537 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ กุมภาพันธ์ 2536)
16. ผกานุช บุรีรำ, สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2537 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ ตุลาคม 2535)
17. ระบำนกป่า, สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2537 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ ตุลาคม 2535)
18. แดง รวี, สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, พิมพ์ครั้งที่ 3 มีนาคม 2538 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สิงหาคม 2514)
19. กรุงเทพฯ รจนา, สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2538 (พิมพ์ครั้งแรก แหล่งพิมพ์เรือใบ 2516)
20. นอนบ้านคืนนี้, แพรวสำนักพิมพ์, พฤษภาคม 2540
21. หอมดอกประดวน, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 4 กรกฎาคม 2542 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กรกฎาคม 2511)
22. ผู้มียี่เกในหัวใจ, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 6 ตุลาคม 2542 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมษายน 2512)
23. นินทา ฯพณฯ สาก ส.ส. กะเบือ (HA-HA), แพรวสำนักพิมพ์, พฤษภาคม 2543
24. บ้านนี้มีห้องแบ่งให้เช่า, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 กันยายน 2543 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พฤศจิกายน 2515)
25. อเมริกา อเมริกู, สำนักพิมพ์มติชน, ตุลาคม 254326. โคบาลนักเลงปืน, สำนักพิมพ์มติชน, พฤศจิกายน 2543
27. ปีนตลิ่ง, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 4 ธันวาคม 2543 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมษายน 2515)
28. นินทานายกรัฐมนตรี, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 มกราคม 2544 (พิมพ์ครั้งแรก แพรวสำนักพิมพ์ พฤษภาคม 2542)
29. ใต้ถุนป่าคอนกรีต 1, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 6 พฤษภาคม 2544 (พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักงานอาจินต์ ปัญจพรรค์ พฤษภาคม 2511)
30. บางลำภูสแควร์, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 4 พฤษภาคม 2544 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พฤษภาคม 2505)
31. ใต้ถุนป่าคอนกรีต 2 ขบวนหลัง, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 6 สิงหาคม 2544 (พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักงานอาจินต์ ปัญจพรรค์ พฤษภาคม 2511)
32. คืนรัก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4 กันยายน 2544 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ธันวาคม 2505)
33. สาหร่ายปลายตะเกียบ, สำนักพิมพ์ภัคธรรศ, พิมพ์ครั้งที่ 2 ตุลาคม 2544 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์บริษัท พี. วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด 2525)
34. สนิมสร้อย, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 7 มกราคม 2545 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา มีนาคม 2504)
35. มาดเกี้ยว, แพรวสำนักพิมพ์, กุมภาพันธ์ 2545
36. หลงกลิ่นกัญชา, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2545 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ธันวาคม 2512)
37. บุหลันลบแสงสุรยา บรูไน, สำนักพิมพ์ภัคธรรศ, พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2545 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2527)
38. นักเลงโกเมน เล่ม ๑-๓, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2545 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ไม่ระบุปีที่พิมพ์)
39. ฝนเหล็ก-ไฟปืน’ ๓๕, แพรวสำนักพิมพ์, มีนาคม 2546
40. ผู้ดีน้ำครำ, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 ตุลาคม 2546 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ปิยะสาส์น แยกพิมพ์เป็น 2 เล่ม ใช้ชื่อปก ผู้ดีน้ำครำ [สิงหาคม 2521] และ รัฐมนตรีบรรลาย [กุมภาพันธ์ 2522])
41. เสเพลบอยชาวไร่, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 7 สิงหาคม 2547 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมษายน 2512)
42. ดลใจภุมริน, แพรวสำนักพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2549 (พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ตุลาคม 2515)
เฟื่องนคร, 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม
- พฤษภาคม อุไร
- สิงหาคม สมิต
- ตุลาคม ไพรำ
- พฤศจิกายน อัมพา, 2512
- สิงหาคม รมณี, 2513
- กันยายน นลิน, 2513

Thursday, July 13, 2006

หน้าต่าง แปลจาก A Window ใน The Elephant Vanishes โดย Haruki Murakami


เป็นไงบ้าง

หลายวันมานี้อากาศเริ่มอุ่นขึ้น และตอนนี้แสงอาทิตย์ก็เริ่มส่งสัญญาณของฤดูใบไม้ผลิกลิ่นหอมจรุงมาบ้างแล้ว ผมหวังว่าคุณคงสบายดี

จดหมายฉบับล่าสุดของคุณอ่านสนุกมาก คุณเขียนได้ดีมากในตอนที่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างแฮมเบอร์เกอร์สเต็กกับผล nutmeg สิ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือ มันเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ผมได้กลิ่นหอมอบอุ่นของห้องครัว ได้ยินกระทั่งเสียงอันมีชีวิตชีวาของมีดที่กระทบกับแผ่นรองในขณะที่กำลังซอยหัวหอม

จดหมายของคุณทำให้ผมอยากกินแฮมเบอร์เกอร์สเต็กขึ้นมาจนห้ามใจไว้ไม่อยู่ ผมต้องออกไปที่ร้านอาหารที่อยู่ใกล้ๆ และสั่งมันมากินในคืนนั้นเลย อันที่จริงที่ร้านอาหารมีแฮมเบอร์เกอร์สเต็กให้เลือก 8 แบบ แบบเท็กซัส แบบฮาวาเอียน แบบญี่ปุ่น อะไรแบบนั้น แบบเท็กซัสอันใหญ่ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนเท็กซัสคงประหลาดใจน่าดูหากพวกเขาผ่านมาในย่านนี้ของโตเกียว แบบฮาวาเอียนประดับด้วยสับปะรดชิ้นเล็กๆ แบบแคลิฟอร์เนีย... ผมจำไม่ได้แล้ว แบบญี่ปุ่นโรยด้วยหัวไชเท้าขูด ร้านอาหารตกแต่งอย่างปราณีต และสาวเสิร์ฟแต่ละคนก็งามหมดจดด้วยกระโปรงสั้นจุ๊ดจู๋

ผมไม่ได้ไปที่นั่นเพื่อสำรวจการตกแต่งร้านอาหารหรือเรียวขาของสาวเสิร์ฟ ผมไปที่นั่นด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้น นั่นคือการกินแฮมเบอร์เกอร์สเต็ก ไม่ใช่แบบเท็กซัส แบบแคลิฟอร์เนีย หรือแม้กระทั่งแบบอื่นๆ แต่เป็นแฮมเบอร์เกอร์สเต็กแบบธรรมดาเรียบง่ายสามัญ

นั่นคือสิ่งที่ผมบอกกับสาวเสิร์ฟ “ขอโทษค่ะ” เธอตอบ “แฮมเบอร์เกอร์สเต็กแบบที่คุณเห็นคือทั้งหมดที่ร้านของเรามีค่ะ”

ผมโทษอะไรเธอไม่ได้ แน่นอน เธอไม่ใช่คนคิดรายการอาหาร เธอไม่ได้เป็นคนเลือกชุดทำงานที่เผยขาอ่อนให้เห็นทุกครั้งที่เก็บจานบนโต๊ะ ผมยิ้มให้เธอและสั่งแฮมเบอร์เกอร์สเต็กแบบฮาวาเอียน ผมก็แค่หยิบสับปะรดวางไว้ข้างๆ จานอย่างที่เธอบอก ก่อนที่จะกินสเต็ก

เราอยู่ในโลกที่ช่างแปลกประหลาดอะไรเช่นนี้! สิ่งที่ผมต้องการคือแฮมเบอร์เกอร์สเต็กธรรมดาสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ผมได้กินตอนนี้คือแฮมเบอร์เกอร์สเต็กแบบฮาวาเอียนที่ไม่มีสับปะรด

ตามที่ผมเข้าใจ แฮมเบอร์เกอร์สเต็กของคุณเป็นแบบธรรมดา ขอบคุณสำหรับจดหมาย สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุดก็คือแฮมเบอร์เกอร์สเต็กธรรมดาๆ ที่คุณทำ

ตรงกันข้าม ผมรู้สึกว่าย่อหน้าที่พูดถึงเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติบนทางรถไฟสายหลักมันผิวเผินไปหน่อย ประเด็นปัญหาของคุณใช้ได้แน่อยู่แล้ว แต่ผู้อ่านไม่สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนนัก อย่าพยายามเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มองอย่างเจาะลึกมากจนเกินไป ถึงที่สุดแล้ว การเขียนก็เป็นเพียงแค่สิ่งชั่วคราว

คะแนนสำหรับจดหมายฉบับล่าสุดของคุณคือ 70 รูปแบบการเขียนของคุณกำลังพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ แต่ทว่ามั่นคง อย่าเพิ่งหมดความอดทน ทำงานของคุณต่อไปด้วยความมุมานะแบบที่คุณทำมาตลอด ผมจะรอจดหมายฉบับต่อไปของคุณ ไม่ดีหรือที่ฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมาถึงแล้ว?

ปล. ขอบคุณสำหรับคุกกี้หลากรส มันอร่อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม กฎของบริษัทห้ามติดต่อกันเป็นการส่วนตัวอย่างเคร่งครัดนอกเหนือจากการเขียนจดหมาย ผมคงต้องขอร้องให้คุณใจดีน้อยลงกว่านี้หน่อยในโอกาสต่อไป

แต่ถึงกระนั้น ขอขอบคุณอีกครั้งครับ



ผมทำงานล่วงเวลางานนี้มาได้ปีหนึ่งแล้ว ผมอายุยี่สิบสองในเวลานั้น

ผมตอบจดหมายแบบนี้เดือนละประมาณสามสิบฉบับหรือมากกว่า รับสองพันเยนต่อฉบับจากบริษัทแปลกประหลาดบริษัทเล็กๆ ในย่านอิดาบาชิซึ่งเรียกตัวเองว่า “สังคมแห่งการเขียน”

“คุณเองก็สามารถเขียนจดหมายจับใจได้เช่นกัน” โฆษณาของบริษัทโม้ไว้แบบนั้น “สมาชิก” ใหม่จ่ายค่าธรรมเนียมเริ่มต้นและค่าสมาชิกรายเดือน แลกกับการที่พวกเขาสามารถเขียนจดหมายได้สี่ฉบับต่อเดือนส่งตรงถึงบริษัท พวกเราเหล่า “กูรู” จะตอบจดหมายของพวกเขาด้วยตัวเองแบบเดียวกับจดหมายข้างต้น ตรวจทานความถูกผิด, แสดงความคิดเห็น และเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขสำหรับฉบับต่อไป ผมมาสมัครงานนี้หลังจากเห็นประกาศรับสมัครในสำนักงานของนักศึกษาภาควิชาวรรณกรรม ในเวลานั้นเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผมต้องเรียนจบช้าไปอีกหนึ่งปี และพ่อแม่ของผมบอกว่าหากเป็นดังนั้นก็จะตัดเงินเดือนของผมลง นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องหาเลี้ยงตัวเอง นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ ผมต้องเขียนบทความสั้นๆ จำนวนหนึ่ง สัปดาห์ต่อมาผมก็ได้เข้าทำงาน เริ่มต้นจากการฝึกอบรมเรื่องความถูกต้อง การเสนอแนวทาง และเคล็ดลับอื่นๆ ของการทำงาน ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน

สมาชิกของบริษัทจะถูกแจกจ่ายไปยังกูรูแต่ละคนที่เป็นเพศตรงข้าม ผมมีสมาชิกทั้งหมด 24 คน อายุตั้งแต่ 14-53 ปี ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 25-35 ปี ที่สำคัญ เกือบทั้งหมดอายุมากกว่าผม ในเดือนแรก ผมอกสั่นขวัญหาย พวกเธอเข้าไปใกล้การเป็นนักเขียนมากกว่าผมและมีประสบการณ์มากโขให้ถ่ายทอด ยิ่งไปกว่านั้น ผมแทบไม่เคยเขียนจดหมายแบบจริงจังมาก่อนในชีวิต ผมไม่แน่ใจว่าจะผ่านเดือนแรกไปได้ เหงื่อผมออกอยู่ตลอดเวลา มั่นใจว่าสมาชิกส่วนใหญ่ในความรับผิดชอบของผมคงเรียกขอกูรูคนใหม่—แรงจูงใจพิเศษของบริษัท

หนึ่งเดือนผ่านไป ไม่มีสมาชิกคนใดไม่สบอารมณ์กับการเขียนของผม ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของบริษัทบอกว่าผมเป็นที่ชื่นชอบมาก สองเดือนกว่าผ่านไป ดูเหมือนว่าสมาชิกจะขอบคุณ “แนวทาง” ที่ผมเสนอไปซึ่งช่วยปรับปรุงการเขียนของพวกเขาด้วยซ้ำ มันแปลกมาก ผู้หญิงเหล่านั้นยกให้ผมเป็นครูของพวกเธอด้วยความไว้วางใจเต็มที่ เมื่อผมรับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ มันทำให้ผมสามารถเสนอคำวิจารณ์ต่อพวกเธอได้อย่างเป็นธรรมชาติและไม่วิตกกังวล

ในเวลานั้นผมยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้—พวกเธอเงียบเหงาเดียวดาย (เช่นเดียวกับสมาชิกผู้ชายของบริษัท) พวกเขาต้องการเขียน แต่ก็ไม่มีใครให้เขียนถึง พวกเขาไม่ใช่ประเภทที่ชอบเขียนจดหมายไปหาดีเจ พวกเขาต้องการอะไรที่เป็นส่วนตัวมากกว่านั้น แม้ว่ามันจะมาในรูปของการตรวจทานความถูกต้องและการวิจารณ์ก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผมใช้เวลาส่วนหนึ่งของชีวิตวัยยี่สิบต้นๆ เหมือนกับตัววอลรัสพิการในฮาเร็มอันแสนจะอบอุ่นที่เต็มไปด้วยจดหมาย

และจดหมายเหล่านั้นก็บรรจุเรื่องราวหลากหลายจนสุดจะพรรณนา บางฉบับน่าเบื่อ บางฉบับก็สนุก และบางฉบับก็น่าเศร้า เสียดายที่ผมไม่สามารถเก็บมันไว้ได้ (เราต้องคืนจดหมายทุกฉบับให้บริษัท) และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นนานมาแล้วจนผมจำรายละเอียดอะไรไม่ได้ แต่ที่ผมยังจำได้คือมันเต็มไปด้วยเรื่องราวของชีวิตในทุกแง่ทุกมุม ตั้งแต่คำถามที่ใหญ่ที่สุดไปจนถึงเรื่องเล็กน้อยหยุมหยิมที่สุด และข้อความที่พวกเธอเขียนมา สำหรับผม—ผมซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอายุ 22 ปี—มันดูหนีห่างจากความเป็นจริง มันดูเหมือนไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงในเวลานั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการขาดประสบการณ์ชีวิตของผมเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ผมตระหนักแล้วว่าความจริงของสรรพสิ่งไม่ใช่สิ่งที่คุณถ่ายทอดไปสู่คนอื่น แต่คือสิ่งที่คุณสร้างขึ้น นี่คือสิ่งที่ให้กำเนิดความหมาย แน่นอน ในเวลานั้นผมยังไม่รู้เรื่องนี้เช่นเดียวกับผู้หญิงเหล่านั้น นี่ต้องเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทุกสิ่งทุกอย่างในจดหมายเหล่านั้นพุ่งชนผมด้วยสองมิติแปลกประหลาด

เมื่อถึงเวลาที่ผมต้องออกจากงาน สมาชิกในความรับผิดชอบของผมต่างแสดงความเสียใจ และด้วยความสัตย์จริง แม้ว่าผมจะเริ่มรู้สึกอิ่มตัวแล้วกับงานเขียนจดหมายอันไม่มีวันสิ้นสุด แต่ผมก็รู้สึกเสียใจเช่นกัน ผมรู้ว่าผมจะไม่มีโอกาสที่ผู้คนจำนวนมากยินดีเปิดเผยตัวตนต่อผมด้วยความจริงใจแบบนี้อีกแล้ว


0 0 0


แฮมเบอร์เกอร์สเต็ก, ผมมีโอกาสได้กิมแฮมเบอร์เกอร์สเต็กจากฝีมือของหญิงสาวที่ผมเขียนจดหมายตอบกลับไปเมื่อตอนต้น

เธออายุ 32 ปี ไม่มีลูก สามีทำงานอยู่ในบริษัทที่มีชื่อเสียงติดอันดับหนึ่งในห้าของประเทศ เมื่อผมแจ้งข่าวในจดหมายฉบับสุดท้ายว่าผมจะลาออกจากงานในเดือนนั้น เธอชวนผมไปกินข้าวกลางวัน “ฉันจะทำแฮมเบอร์เกอร์สเต็กแบบธรรมดาสามัญที่สุดให้คุณกิน” เธอตอบกลับมา แม้จะมีกฎของบริษัทห้ามไว้ แต่ผมก็ตัดสินใจตอบตกลง แรงกระตุ้นของคนหนุ่มอายุ 22 ปีเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ

อพาร์ตเมนต์ของเธอตั้งอยู่ริมทางรถไฟสายโอดาคิว ห้องพักเป็นระเบียบดูเหมาะกับคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูก เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ หรือเสื้อสเวตเตอร์ของผู้หญิง ทุกอย่างล้วนไม่ใช่ของดีมีราคาแต่ก็ดูดี เราทั้งสองคนต่างประหลาดใจเมื่อได้พบกัน เธอดูอ่อนกว่าอายุจริงสำหรับผม และอายุที่แท้จริงของผมก็ทำให้เธอประหลาดใจ เธอนึกว่าผมจะอายุมากกว่าเธอ บริษัทไม่ยอมเปิดเผยอายุของกูรูให้สมาชิกทราบ

เมื่อเราหายประหลาดใจ ความตึงเครียดปกติของการพบกันครั้งแรกก็หายไป เรากินแฮมเบอร์เกอร์สเต็กและจิบกาแฟ รู้สึกราวกับว่าเราทั้งคู่ต่างพลาดรถไฟขบวนเดียวกัน เมื่อพูดถึงรถไฟ จากหน้าต่างอพาร์เมนต์บนชั้นสามของเธอสามารถมองเห็นทางรถไฟที่อยู่ข้างล่างได้ อากาศในวันนั้นกำลังดี และราวตากผ้าตามระเบียงของอาคารก็เต็มไปด้วยผ้าปูกับเบาะรองนอน เสียงไม้ไผ่ตีเบาะรองนอนดังมาเป็นระยะ ผมยังจำเสียงนั้นได้จนทุกวันนี้ น่าแปลกที่ระยะเวลาทำอะไรมันไม่ได้

แฮมเบอร์เกอร์สเต็กเยี่ยมยอด ให้รสชาติที่แท้จริง ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลเกรียมกรอบ ข้างในชุ่มไปด้วยน้ำจากชิ้นเนื้อและซอสสมบูรณ์แบบ แม้ว่าผมจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าผมยังไม่เคยกินแฮมเบอร์เกอร์สเต็กที่อร่อยขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แต่ผมก็ไม่ได้กินที่อร่อยแบบนี้มานานแล้ว ผมบอกเธอไปแบบนี้ เธอดีใจ

หลังจากจิบกาแฟ เราคุยกันเรื่องชีวิตของแต่ละคน มีเสียงเพลงจาก Burt Bacharach บรรเลงเป็นเพื่อน อย่างที่บอกไปว่าผมไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตตัวเองมากนัก เธอจึงเป็นฝ่ายพูดมากกว่า ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เธอบอกว่าอยากเป็นนักเขียน เธอพูดถึง Francoise Sagan หนึ่งในนักเขียนที่เธอชอบ เธอชอบ Aimez-vous Brahms? เป็นพิเศษ ผมไม่ได้ไม่ชอบ Sagan อย่างน้อยผมก็ไม่ได้คิดว่าเธอเขียนไม่ดีอย่างที่หลายคนบอก ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องเขียนนิยายแบบ Henry Miller หรือ Jean Genet

“แต่ฉันก็ไม่สามารถเขียนได้” เธอบอก

“ไม่มีอะไรสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้น” ผมบอก

“ไม่ ฉันรู้ว่าฉันเขียนไม่ได้ คุณเป็นคนหนึ่งที่บอกฉันอย่างนั้น” เธอยิ้ม “การเขียนจดหมายถึงคุณทำให้ฉันตระหนักถึงเรื่องนี้ ฉันไม่มีพรสวรรค์”

หน้าผมเริ่มแดง นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในตอนนี้ แต่ตอนที่ผมอายุยี่สิบสอง หน้าผมแดงตลอดเวลา “แต่อันที่จริง การเขียนของคุณก็มีอะไรบางอย่างที่ซื่อตรง”

เธอยิ้มแทนคำตอบ รอยยิ้มเล็กๆ

“อย่างน้อยจดหมายฉบับหนึ่งของคุณก็ทำให้ผมต้องออกไปกินแฮมเบอร์เกอร์สเต็ก”

“ตอนนั้นคุณอาจกำลังหิวก็ได้”

ใช่ ผมอาจกำลังหิวจริงๆ

รถไฟวิ่งผ่านด้านล่างของหน้าต่าง เสียงล้อบดรางแข็งกระด้าง



เมื่อนาฬิกาบอกเวลา 5 โมงเย็น ผมขอตัวกลับ “ผมคิดว่าคุณคงต้องเตรียมอาหารเย็นสำหรับสามี”

“เขากลับบ้านดึกมาก” เธอบอก ยกมือขึ้นแนบคาง “เขาไม่เคยกลับบ้านก่อนเที่ยงคืน”

“เขาคงมีงานยุ่งมาก”

“ฉันก็คิดว่าอย่างนั้น” เธอตอบ นิ่งไปสักพัก “ฉันคิดว่าจะเขียนเกี่ยวกับปัญหาของฉันถึงคุณสักครั้ง มีบางอย่างที่ฉันไม่สามารถคุยกับเขาได้ ความรู้สึกของฉันแทรกผ่านไปถึงเขาไม่ได้ หลายๆ ครั้งฉันรู้สึกว่าเรากำลังพูดกันคนละภาษา”

ผมไม่รู้ว่าจะพูดกับเธอยังไงดี ผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่าคนคนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอีกคนหนึ่งได้อย่างไรถ้าหากมันเป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงความรู้สึกให้คนคนนั้นได้รับรู้

“แต่ก็ไม่เป็นไร”เธอพูดเบาๆ น้ำเสียงพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นไรจริงๆ “ขอบคุณที่เขียนจดหมายถึงฉันตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ฉันสนุกกับมันมากจริงๆ และการเขียนจดหมายถึงคุณก็เป็นการช่วยชีวิตฉัน”

“ผมก็สนุกกับจดหมายของคุณเช่นกัน” ผมบอก แม้ว่าจริงๆ แล้วผมแทบจะจำไม่ได้ว่าเธอเขียนอะไรมาบ้าง

เรานิ่งเงียบไปพักหนึ่ง เธอมองไปที่นาฬิกาบนผนัง ราวกับกำลังคิดวิเคราะห์การเลื่อนผ่านของกาลเวลา

“คุณจะทำอะไรต่อไปหลังจากที่เรียนจบ?” เธอถาม

ผมยังไม่ได้ตัดสินใจ ผมตอบเธอ ผมยังไม่มีความคิดว่าจะทำอะไรต่อไป เมื่อผมพูดจบ เธอยิ้มอีกครั้ง “บางทีคุณน่าจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียน” เธอบอก “คำวิจารณ์ของคุณเขียนได้งดงามมาก ฉันเคยเฝ้ารอคอยมัน จริงๆ นะ นี่ไม่ได้แกล้งชมกัน เท่าที่ฉันรู้ คุณเขียนมันก็เพราะเป็นหน้าที่ แต่มันก็ให้ความรู้สึกที่แท้จริง ฉันเก็บมันไว้ทุกฉบับ และเอามันออกมาอ่านซ้ำอยู่บ่อยๆ”

“ขอบคุณครับ” ผมตอบ “และขอบคุณสำหรับแฮมเบอร์เกอร์ด้วย”



สิบปีผ่านเลยไป แต่ทุกครั้งที่ผมผ่านทางรถไฟสายโอดาคิว ผมคิดถึงเธอและแฮมเบอร์เกอร์สเต็กผิวเกรียมกรอบ ผมมองไปยังอาคารที่อยู่ข้างๆ ทางรถไฟและถามตัวเองว่าหน้าต่างบานไหนคืออพาร์ตเมนต์ของเธอ ผมนึกถึงทิวทัศน์ที่มองมาจากหน้าต่างบานนั้นและพยายามคิดว่ามันน่าจะเป็นบานไหน แต่ผมก็ไม่เคยจำมันได้

บางทีเธออาจจะไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว แต่ถ้าเธอยังอยู่ เธออาจกำลังฟังเพลงของ Burt Bacharach ม้วนเดียวกันนั้นอยู่อีกด้านหนึ่งของหน้าต่าง

ผมควรจะนอนกับเธอหรือเปล่า?

นี่คือคำถามหลักของเรื่องนี้

คำตอบอยู่ห่างไกลจากตัวผม แม้กระทั่งตอนนี้ ผมไม่มีความเห็น มีหลายอย่างที่เราไม่มีทางเข้าใจมันได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ทั้งหมดที่ผมทำได้คือการมองจากรถไฟไปยังหน้าต่างบานที่อาจเป็นอพาร์ตเมนต์ของเธอ บางครั้งผมก็รู้สึกว่าทุกๆ บานสามารถเป็นหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ของเธอได้ทั้งนั้น และบางครั้งผมก็คิดว่าไม่มีบานใดเลยที่ใช่ มันมีหน้าต่างอยู่ที่นั่นมากเกินไป