Friday, December 22, 2006

ผ่านพบไม่ผูกพัน กับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เรียบเรียงจากการเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ผ่านพบไม่ผูกพัน" ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2548 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, คมสัน นันทจิต, อธิคม คุณาวุฒิ และ ธนิษฐา แดนศิลป์


คมสัน นันทจิต: หนังสือเล่มนี้ผมอ่านแล้วมีความรู้สึกเหมือนกับอาจารย์ปลอบประโลมหัวใจของคนอ่านในหลายๆ เรื่อง มีความรู้สึกเหมือนกับนั่งอ่านแล้วได้ยินเสียงอาจารย์พูด แล้วก็เอามือโอบ อาจารย์ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเจตนาให้กำลังใจคนหรือเปล่าครับ

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ตอนเขียนผมไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น คุณอาจจะมีความในใจของคุณ คุณก็เลยอ่อนไหวไป จริงๆ แล้วผมเขียน ผมมีความรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ผมรู้สึก นี่คือสิ่งที่ผมคิด แล้วก็ถ่ายทอดออกไป ในขณะที่เขียนมันอาจจะไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมกำลังพูดกับคนทั่วไป พูดกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะฉะนั้นถ้อยคำสำนวนในหนังสือเล่มนี้จึงมี “คุณ” มี “ท่าน” แต่ผู้เขียนจริงๆ ผมไม่ค่อยได้เอ่ยถึงเท่าไหร่ มันเป็นเสียงที่เหมือนพูดคุยกับคน แต่ไม่ชัดเจนว่าคุยกับใคร บางทีก็อาจจะเป็นผมคุยกับตัวเองก็ได้

อธิคม คุณาวุฒิ: ตั้งข้อสังเกตนิดหนึ่งครับพี่เสก เท่าที่ผมเคยติดตามอ่านของพี่เสกมา ผมพบว่างานเล่มนี้น่าจะเป็นเล่มแรกๆ ที่มีสรรพนามที่พี่เสกพูดถึง คือบุรุษที่สอง พูดถึงคำว่า “ท่าน” พูดถึงคำว่า “คุณ” จริงๆ ก็ยังสงสัยว่าพี่เสกพยายามจะสื่อสารถึงใครเป็นพิเศษหรือเปล่า หรือมีคนประเภทไหนที่พี่เสกคิดว่าสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ได้บ้าง

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ผมไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น ผมคิดว่าในแง่ของการเขียน ในอดีต ถ้าใครที่ตามงานผมมาก็จะเจอคำว่า “ผมอย่างนั้น” “ผมอย่างนี้” อยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นขั้นตอนที่ผมยังพัฒนาไม่พอ คือหมายความว่ายังมีตัวตนเหลืออยู่เยอะ พอมาเขียนชิ้นนี้ คุณจะสังเกตว่าตลอดทั้งเล่ม นอกจากคำนำ มันไม่มีคำว่า “ผม” เลย มีแต่ “ท่านอย่างนั้น” “ท่านอย่างนี้” หรือ “คุณอย่างนั้น” “คุณอย่างนี้” ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้หมายความถึงใครโดยเฉพาะ แต่มันเป็นวิธีพูดเหมือนกับว่ามนุษย์เราควรทำอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่า ใช้คำว่า “คุณ” ว่า “ท่าน” มันอาจจะรู้สึกเหมือนเป็นสรรพนามแทนตัวบุคคล แต่ในความเป็นจริงก็คือ คนเราควรจะทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้

นี่เป็นแค่สไตล์การเขียน อย่าไปติดอยู่กับมันนาน เดี๋ยวจะเตลิดเปิดเปิงไปไกล มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าไหร่

อธิคม คุณาวุฒิ: ถ้ามองในแง่ของการประเมินงาน พูดในฐานะผู้ผลิตนะครับ อยากให้พี่เสกให้ความรู้พวกเราซักนิดหนึ่งว่า ผ่านพบไม่ผูกพัน เล่มนี้ ถ้าให้ผู้ผลิตงานประเมินงานตัวเองว่ามีข้อแตกต่างจากเล่มก่อนๆ อย่างไรในเชิงทัศนะ และงานเล่มนี้สะท้อนความเป็นไปอย่างไรในตัวของพี่เสกบ้าง

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: เอาอย่างนั้นเลยหรือ มันเรื่องใหญ่มากเลยนะ คือก็ไม่ถึงกับเป็นการก้าวกระโดดพ้นจากสิ่งที่ผมเขียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครได้อ่าน วิหารที่ว่างเปล่า ซึ่งออกมาในปี 2544 และเขียนจริงๆ ก็ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ผมก็เริ่มรำพึงรำพันถึงความไม่ถูกต้องของชีวิตที่เป็นอยู่ในสังคม

มาถึง ผ่านพบไม่ผูกพัน คุณต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นการผลิตเพื่อลงหนังสือพิมพ์รายเดือน เพราะฉะนั้นเป็นงานชิ้นสั้นๆ แล้วก็ค่อยมาเรียงร้อยเป็นเล่ม ในขณะที่ วิหารที่ว่างเปล่า เป็นงานยาวที่เขียนต่อเนื่อง และมีเนื้อหาเรื่องราวที่เป็นรูปธรรม

สำหรับ ผ่านพบไม่ผูกพัน เนื่องจากเขียนในพื้นที่ที่แคบ และแต่ละชิ้นสมบูรณ์ในตัวเอง มันไม่มีที่ว่างสำหรับการเล่าเรื่องที่เป็นรูปธรรม แล้วก็อาจจะไม่ใช่เจตจำนงของคอลัมน์ที่ผมเขียน ก็เลยสรุปรวบยอดในทางความคิดออกมา

ถามว่าความคิดมันเติบโตขึ้นไหม มันก็โตตามตัวผม คือผมยังไม่หยุดเติบโต หมายความว่าทางร่างกายมันเริ่มขาลงแล้ว แต่ในทางสติปัญญาเพิ่งจะเริ่มต้น มันจึงมีอะไรที่เพิ่มเติมขึ้นมามากกว่างานชิ้นเก่าๆ ถ้าคุณไปอ่านงานอย่าง เพลงเอกภพ หรือบันทึกการเดินทางหลายชิ้นหลายอันที่เขียนมา มันจะเต็มไปด้วยคำถามที่ไม่มีคำตอบ ซึ่งวัย 40-50 ของผมเป็นวัยที่ค้นหาสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา หลัง 50 ไปแล้ว โทนเสียงเริ่มเปลี่ยน คล้ายๆ กับเริ่มคลำเห็นอะไรบ้าง

เพราะฉะนั้นอาจจะพูดได้ว่า ใน ผ่านพบไม่ผูกพัน ผมกล้ายืนยันในสิ่งที่ผมคิดว่าถูกมากกว่าชิ้นหลังๆ คือฟันธงลงไปเลยว่าผมคิดอย่างนี้ หลังจากผ่านการแสวงหามา เปลืองเหล้าไปหลายลิตรมาก ช่วงเวลาสิบปี ตั้งแต่อายุ 40-50 ก็เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต

คมสัน นันทจิต: ตอนที่พี่เสกทำงานในรูปของคอลัมน์ในนิตยสาร Travel Guide พี่เสกตั้งชื่อว่า “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” ทีนี้จากการที่เป็นคอลัมน์มาถึงรวมเล่ม พี่เสกเปลี่ยนจาก “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” เป็น “ผ่านพบไม่ผูกพัน” ตรงนี้ก็อาจจะมีการเดินทางของความคิด

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: คำว่า “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” ผมใช้เป็นชื่อคอลัมน์ เพราะผมรู้สึกว่าตัวเองผ่านอะไรมาในระยะ 4-5 ปีนี่มากเหลือเกิน แล้วก็เริ่มเข้าใจข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต เลยเอาไปตั้งเป็นชื่อคอลัมน์ คุณก็ต้องรู้ประวัติคอลัมน์นี้อีกว่ามันเป็นคอลัมน์ที่ถูกขอร้องให้เปิดขึ้นโดยมิตรสหายที่ไปทำหนังสือเดินทางท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นบรรยากาศของการเขียนจึงต้องเป็นเรื่องของการเดินทาง การเดินทางโดยทั่วไปก็มีหลายระดับ สำหรับผม ในระยะหลังนี่แทบไม่ได้ไปไหน นอกจากไปนอนป่าเดือนละครั้ง ผมคิดว่าคำว่า “เดินทาง” ของผม ส่วนใหญ่ก็คงต้องหมายถึงเดินทางในชีวิต ผมก็ใช้ชีวิตมา เปรียบชีวิตเหมือนการเดินทาง แล้วก็ค้นพบอะไรๆ เมื่อเราผ่านตรงนั้นมาแล้วพบอะไรบ้าง

ในส่วนนี้ผมไม่มีเจตนาอะไรนอกจากเริ่มจะบอกผู้อ่านว่าผมเริ่มพบอะไรบางอย่างแล้ว อาจจะเป็นประเด็นเล็กประเด็นน้อยเกี่ยวกับชีวิต แต่ทำไมมันถึงไม่เป็นชื่อหนังสือ ทีแรกก็จะตั้งชื่อหนังสือว่า “ผ่านพ้นจึงค้นพบ” แต่ผมมีความรู้สึกว่ามันดูอีโก้ไปหน่อย มันดูเหมือนกับโอ้อวดตนเองเกินไป พอดีงานชิ้นแรกที่ลงในคอลัมน์นี้ชื่อว่า “ผ่านพบไม่ผูกพัน” ผมก็เลยเอา เสี่ยงเหมือนกันที่เอาชื่อนี้มาตั้ง เพราะคนจะเข้าใจผิดว่าเป็นพวกเสเพล คือพบใครก็ไม่ผูกพัน ผมวันหนึ่งนั่งกับคุณอัศนี โชติกุล ก็บอกว่า “พี่กำลังจะออกหนังสือใหม่ ชื่อ ผ่านพบไม่ผูกพัน” คุณอัศนีก็หัวเราะใหญ่ “อ๋อ พี่หมายถึงกิ๊กใช่ไหม” “เฮ้ย ไม่ใช่ นี่เป็นหนังสือธรรมะทั้งเล่ม”

คือตามหลักธรรมหมายความว่า อย่าไปยึดติด ในที่สุดวิธีแก้ปัญหาของผมก็คือต้องเอาภาษาอังกฤษมาใส่ไว้ด้วย คุณจะเห็นว่ามีภาษาอังกฤษอยู่ Unattached Encounters ซึ่งหมายถึงถอนตัวจากความผูกพันต่างๆ คือปล่อยวางนั่นเอง ความหมายของมันคือปล่อยวาง ทีนี้คนที่ไม่ได้อ่านเนื้อในก็บอกว่าอาจารย์เสกหันมาเขียนเรื่องกิ๊ก

อธิคม คุณาวุฒิ: ในงานเขียนนี้มีน้ำเสียงของความเป็นพระค่อนข้างสูง

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ผมเป็นนักบวชมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมามันไม่ค่อยบรรลุอะไร เพียงแต่ว่าช่วงหลังนี่ค่อยเข้าใจมากขึ้น คือชีวิตมันค่อยๆ คลี่คลาย พอดีช่วงหลายปีมานี้ผมมีปัญหาส่วนตัวมาก คนที่นินทาผมอยู่ในห้องนี้คงพอจะจำได้ คือชีวิตผมมีการพลัดพรากกับลูกกับเมีย แล้วก็อยู่โดยลำพังเป็นปี อยู่กับหมาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราค้นพบว่าชีวิตมันเป็นอนิจจัง มันหยุดคิด สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นบางทีเรารักษาไว้ไม่ได้ จากอนิจจัง ทุกขัง ผมก็ใช้เป็นบันไดไต่ไปเข้าใจอนัตตา ซึ่งผมไม่ได้ยืนยันว่าผมเข้าใจมันทั้งหมด แต่ผมมีโอกาสเข้าใจมากกว่าเดิม ว่าเมื่อมันไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร เพราะฉะนั้นเราจะมองตัวเองอย่างติดหลงต่อไป มันก็เท่ากับหมุนเวียน ทำซ้ำ ในสิ่งที่มันเป็นความทุกข์ นี่เป็นฐานรากของการเขียนของผม ซึ่งทำให้ผมมองโลกเปลี่ยนไป ไม่ใช่เปลี่ยนจากขาวเป็นดำ แต่เพราะยกระดับตัวเองขึ้นมาได้อีกขั้นเล็กๆ ขั้นหนึ่ง

งานทุกชิ้นในที่นี้ถ้าคุณอ่านหมดแล้ว คุณก็จะพบว่ามันสอนให้คุณมองโลกโดยไม่ยึดติดตัวเอง ทีนี้พอไม่ยึดติดตัวเอง จริงๆ แล้วมันกลายเป็นความสงบ ความนิ่ง แล้วก็เป็นความสุขในความหมายที่ไม่ร้อนรุ่ม ความสุขของผมก็คือ ชีวิตลบด้วยความทุกข์ ไม่ใช่จะต้องไปเป็นนู่นเป็นนี่ แล้วถึงจะมีความสุข เพราะลบด้วยความทุกข์ก็คือลบด้วยความอยาก ความต้องการ ความยึดติดอะไรต่างๆ มันก็เงียบ มันก็สงบ ซึ่งในระยะหลังนี่พอดีผมก็ปฏิบัติในส่วนที่เป็นหลักธรรมอยู่หลายข้อ แล้วจึงแปลงประสบการณ์นั้นมาเขียน

เพราะฉะนั้นวันนี้ใครถามผม เพื่อนฝูงถาม จะมาพูดเรื่องอะไร ผมก็บอกว่า จะมาพูดเรื่องธรรมะ

ธนิษฐา แดนศิลป์: พอพูดถึงเรื่องธรรมะ พอดีติดตามงานของอาจารย์มาจากเล่ม วิหารที่ว่างเปล่า พอมาถึงงานเล่มนี้ มันเหมือนเป็นภาคต่อ ภาคต่อของเศษศพของดวงดาว ภาคต่อของหลายๆ ตอนที่อยู่ในนั้น แล้วก็รวมมาถึงงานเล่มนี้เห็นข้างในที่พูดถึง แด่หลวงตา ไม่ทราบว่าได้แรงบันดาลใจอะไรจากหลวงตาหรือเปล่า รวมถึงที่อาจารย์พูดว่าอาจารย์เริ่มค้นพบอะไรหลายๆ อย่าง

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: สืบทอดจาก วิหารที่ว่างเปล่า ไหม ในทางความคิด ใช่ ในทางจิตวิญญาณ ใช่ เราต้องแยกระหว่างความคิดกับจิตวิญญาณ ความคิดนี่เป็นระดับที่ต่ำกว่า แล้วความคิดนี่อย่าไปยึดมันมาก เพราะสิ่งที่เราคิดหลายอย่างมันถูกกรอกหู ถูกสั่งสอน ถูกครอบงำ มันไม่ใช่เราคิดเองเล่นๆ แต่องค์ประกอบภายนอกทางความคิดมันมา มันทำให้เราหลงยึดติด แต่จิตวิญญาณมันเป็นอีกระดับหนึ่ง มันต้องเป็นประสบการณ์ตรงที่เราสัมผัสเอง คนอื่นๆ สัมผัสไม่ได้ หรือสัมผัสของใครของมัน และเราเองความจริงแล้วแทบจะถ่ายทอดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าในแง่นี้ขอให้แยกแยะ

วิหารที่ว่างเปล่า เป็นงานเขียนที่ใช้ความรู้กับประสบการณ์ภายนอกเป็นตัวตั้ง แล้วถอดรหัสออกมาเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตซึ่งระดับยังไม่สูงพอ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า เราเห็นว่าชีวิตมันอุบัติมาอย่างไร มันวิวัฒน์มาอย่างไร มันเกี่ยวข้องกับจักรวาลอย่างไรในทางวิทยาศาสตร์ แล้วมันอาจจะพบกับจุดจบแบบที่สึนามิเกิด หรือดาวหางหล่นใส่ ถ้าเราถอดตรรกะออกมา มันจะชัดเจนว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วอย่าหลงใหลได้ปลื้มหรือเตลิดมากเกินไป ต้องมีความสมถะสำรวมในการใช้ชีวิต

พูดในแง่ของตรรกะเหตุผล คนไทยไม่ชอบ แต่ปฏิบัติจริงๆ ก็ยังยาก แต่พอมา ผ่านพบไม่ผูกพัน มันไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การหาตรรกะเหตุผล ผมไม่กลัวแล้ว ผมพูดออกไปตรงๆ เลยว่าชีวิตเป็นอย่างนี้ เพราะผมเริ่มมีประสบการณ์ตรง เช่น เวลาพูดถึงอนิจจังหรือความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต ผมผ่านมาเยอะมาก ตั้งแต่อายุน้อยๆ มาจนกระทั่ง อย่างที่เมื่อสักครู่นี้ผมพูดว่ามันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมเหลืออยู่ตัวคนเดียวในโลกกับหมาเป็นแรมปี มันเป็นประสบการณ์ตรง ถ้าคุณบอกว่าคุณรู้จักความเงียบงัน หรือคุณรู้จักความโดดเดี่ยว คุณรู้จักความทุกข์โศก ผมคิดว่าหลายคนไม่รู้ซึ้งเท่าผม เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาข้าวให้หมากิน ก่อนเข้านอนก็หาข้าวให้หมากิน จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในทางความรู้สึก เป็นประสบการณ์ตรง แล้ววันหนึ่งผมตื่นขึ้นมา ผมก็ค้นพบว่าผมเริ่มคุยกับนก หนู กระต่าย แมลงสาป คุยกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่มีอยู่รอบๆ บ้าน คุยไปคุยมามันรู้สึกว่าคงเป็นพวกเดียวกันหรือเปล่า ตราบใดที่เรายึดว่าเราเป็นคน ไปคุยกับจิ้งจกมันก็บ้า ใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่คิดอย่างนั้น ในเวลานั้นเราไม่รู้สึกเลยว่าเราเป็นใคร ชื่ออะไร เรากลับรู้สึกว่าการมีสิ่งมีชีวิตอยู่รอบๆ ตัว อย่างต้นไม้ จิ้งจก กระรอก อะไรพวกนี้ เป็นสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น แล้วก็มีมิตรสหายมากมาย

ทีนี้ไอ้สำนึกตัวนี้แหละ จริงๆ แล้วผมพลัดหลงเข้าไปในอนัตตาโดยไม่รู้ตัว คือความพยายามจะอ้างความสำเร็จมันเกิดจากเหตุปัจจัยในชีวิต มันพลัดหลงเข้าไปในการไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นในช่วงหนึ่งผมรู้สึกปลื้มปีติขึ้นมาดื้อๆ แล้วก็พยายามทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในประสบการณ์ตรง

ธนิษฐา แดนศิลป์: เป็นการเดินทางภายในของอาจารย์ มีแรงผลักดันจากอะไรหรือเปล่าคะ หลายๆ อย่างเริ่มชัดเจนขึ้น เราเริ่มไม่มองเรื่องข้างนอกแล้ว เราเริ่มกลับมามองว่าสาเหตุหลายๆ อย่างมันอยู่ข้างในเรานี่เอง

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ก็อย่างที่ผมบอกว่าผมผ่านความทุกข์มามาก และในช่วงที่ผมต้องอยู่โดยลำพัง ผมพยายามจะบอกตัวเองว่า ความทุกข์มันหนักจนกระทั่งทนไม่ไหว เมื่อทนไม่ไหวเราก็บอกตัวเองง่ายๆ ว่าจะต้องไม่ไปคิดว่าเราคือใคร จะต้องไม่ไปคิดว่าเราเคยมีครอบครัว หรือเราชื่ออะไร เราถูกคนนินทาว่าอย่างไร ไอ้การสะกดกั้น ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่เป็นอะไรเลย นอกจากไม่เป็นอะไรเลยแล้วมันยังไม่เป็นเจ้าของสิ่งใดเลย ผมถึงบอกว่าผมพลัดหลงเข้าไปในอนัตตาโดยไม่รู้ตัว คือละทิ้งตัวตน แล้วตรงนั้นมันเกิดโล่ง เกิดความรู้สึกว่ามันสงบ ก็ติดใจ

ภายหลังมาอ่านในตำรา คือผมมีประสบการณ์ตรงก่อน แล้วค่อยมานั่งอ่าน ช่วงหลังก็มาศึกษาวัชรยาน ศึกษามหายาน ศึกษาเซน แล้วก็ศึกษาแม้แต่ทางของเราเองคือเถรวาท ทุกคนพูดตรงกันหมดว่าจิตดั้งเดิมของมนุษย์มันบริสุทธิ์ ถ้าใช้ภาษาพระคือ จิตเป็นประภัสสร สงบ สว่าง และสะอาด

โดยไม่ทันรู้ตัว เราพยายามบอกตัวเองว่าเราไม่รู้ว่าเราชื่ออะไร เราไม่เคยมีสิ่งใดที่เป็นของเราอย่างแท้จริง อยากจะบอกว่ามันไม่รู้ตัวว่าฝึกฝนตัวเองอย่างไรจากการยึดถือต่างๆ

อธิคม คุณาวุฒิ: ถ้ามองจากสายตาของคนภายนอกทั่วไป การพูดถึงขั้นที่ว่าหลงลืมไปว่าเราชื่ออะไร มันยากนะครับ เพราะชื่อมันค่อนข้างใหญ่โตพอสมควร มีคำแนะนำให้กับพวกเราไหมครับ

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ถ้าคิดตามสูตรทั่วไป ยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังก็จะมีอัตตา นี่เป็นสูตรสำเร็จ ผมเห็นคนไม่มีชื่อเสียงมีอัตตาเยอะแยะ และแสดงออกต่างๆ นานา เช่น ใครแตะไม่ได้ หรือโกรธคนง่าย โลภก็เป็นอัตตา

โลภ โกรธ หลง พระท่านสอนพวกเรามาตั้งแต่เด็กๆ นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมผมจึงอุทิศแด่หลวงตา เพราะผมเป็นเด็กวัด อยู่กับหลวงตามา 5 ปี ตั้งแต่ 10 ขวบถึง 15 มันเป็นรากเก่าที่ผมมีมา เพราะฉะนั้นท่ามกลางชื่อเสียงของผม ซึ่งเคยมีมาในอดีต ปัจจุบันนี้ผมไม่กล้ายืนยันนะ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปไกล

ผมยังมีความทรงจำเกี่ยวกับคำสอนของพระอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมันอาจจะหลบในบ้าง เช่น ในบรรดากิเลสทั้งหลาย โลภะ โทสะ โมหะ ขออภัยที่ใช้คำพระเยอะ เพราะพระท่านสรุปรวบยอดมาเข้าใจง่าย เดี๋ยวจะใช้คำชาวบ้านธรรมดาให้มากขึ้น ผมเป็นคนที่มีโทสะเป็นเจ้าเรือนมานาน เพราะชีวิตผมมันตีรันฟันแทงมาเยอะ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ผมก็รู้ทันตัวเองว่าปัญหาใหญ่มันอยู่ที่เรา เป็นคนที่รุนแรง โกรธแล้วรุนแรง ก็พยายามตระหนักตรงนั้นให้มากขึ้น ส่วนโลภนี่เราไม่มีอยู่แล้ว แต่ไหนแต่ไรมา เพื่อนฝูงทุกคนรู้ดี อยากได้อะไรผมทูนหัวทูลเกล้าให้หมด ผมเป็นคนไม่โลภ มีเงินก็แบ่งกันใช้ แต่โทสะนี่ผมมีมาก โมหะก็ไม่ค่อยมี คืออัตตาของแต่ละคนมันบวมไม่เท่ากัน มันจะบวมไปในทิศใดทิศหนึ่ง อย่างบางคนพูดจานอบน้อมถ่อมตนทั้งวัน แต่ถ้าพูดเรื่องเงิน ไม่ได้ มันเอาคนเดียว คือหมายความว่ามันบวมไปในทางโลภ แต่บางคน เงินไม่เอาทั้งนั้นแหละ แต่แตะกูไม่ได้ กูต่อยเลย มันก็บวมไปอีกทิศหนึ่ง

เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ก่อนว่าอัตตาของเรามันบวมไปทิศไหน เราจะได้สกัดมันถูก ทีนี้คำแนะนำของผม ผมถึงบอกว่ามันพูดยาก ตรงที่ว่าถ้าพูดกันโดยตรรกะเหตุผล คุณต้องเข้าใจหมด พระสอนยังไง ที่หลวงตาสอนผมมาตั้งแต่เด็กๆ มันไม่ใช่ของยากเย็นอะไร อย่าไปโกรธ อย่าไปโลภ อย่าไปหลง หรือพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตา กรุณา ก็ชัด มุทิตาชักลำบากขึ้นเพราะต้องยินดีกับความสุขของผู้อื่น ยินดีกับความสุขของผู้อื่นเป็นสิ่งที่คนยุคปัจจุบันทำได้ยากที่สุด เพราะเรารู้สึกว่า กูต่างหากที่ควรจะเป็นเจ้าของตรงนั้น กูต่างหากที่ควรจะประสบความสำเร็จตรงนี้

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า บางทีฟ้าดินก็ใช้วิธีการที่ยอกย้อนหน่อย คือทำให้เจ็บซะก่อน หลายคนที่ยังรู้สึกไม่อยากจะเดินทางธรรมก็ขอให้เจ็บปวดรวดร้าวให้มาก ล้มลุกคลุกคลานให้มาก มันน่าจะเป็นโอกาสทองในชีวิต คือผมเอง ผมขอบคุณที่ชีวิตถึงขั้นที่เรียกว่าเกือบจะสูญเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็เจ็บปวดรวดร้าวกับชีวิตในสารพัดสารพันปัญหา ในที่สุดมันก็ทำให้เราตาสว่าง

ธนิษฐา แดนศิลป์: เห็นอาจารย์พูดถึงท่านโอโชใน วิหารที่ว่างเปล่า ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านโอโชอย่างไร

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ถ้าจะพูดถึงท่านโอโชโดยตรง ผมไม่ได้รับอิทธิพลจากท่านโดยตรง แต่ผมเป็นคนอ่านหนังสือมาก แล้วอ่านไปทั่ว เวลาเขียนออกมา มันมีสองอย่าง หนึ่ง เขียนเลอะเทอะวุ่นวายเพราะอ่านไปทั่ว สอง เขียนโดยปิดตำราทั้งหมด รู้สึกอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น โดยหวังว่าสิ่งที่อ่านมาทั้งหมดและคิดมาทั้งหมดมันจะออกมา ถ้าพูดภาษาอังกฤษ ขอใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษ synthesize คือสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อความ ซึ่งตรงนี้มันก็แล้วแต่เนื้อนาบุญ หมายความว่าแต่ละคนทำได้ไม่เท่ากัน

ผมอ่านของท่านทาไลลามะ ซึ่งผมอ่านมาก เพราะตอนหลังผมติดใจในทางมหายาน เพราะเขาเน้นเรื่องเมตตาสูง เมตตาหมายถึงอะไร เมตตาหมายถึงอย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาคนอื่นเป็นที่ตั้ง ทุกข์สุขของคนอื่น เราเหลียวแล ซึ่งมันก็คือการสลายตัวตน ผมชอบพูดกับคนใกล้ชิดว่า วิธีอธิบายเรื่องหินยานกับมหายาน เป้าหมายเขาเหมือนกันคือสลายอัตตา แต่วิธีอธิบายของมหายานเขาจะเน้นเรื่องทางบวก เช่น ท่านบอกเลยว่า ตัวคุณไม่ใช่ของคุณ คุณเป็นส่วนหนึ่งของก้อนเมฆ คุณเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน คุณเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำ หล่อหลอมรวมกันขึ้นมาเป็นตัวตนของคุณ อย่าไปคิดว่าการปรากฏตัวของคุณมันเป็นของคุณคนเดียว มันเป็นส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เผอิญผมเดินแนวทางนี้มาโดยไม่รู้ตัวเวลาผมเขียน วิหารที่ว่างเปล่า หรือชิ้นอื่นๆ แต่ทางหินยานเราก็บอกว่าตัวคุณไม่มีอะไรมากหรอก ก็แค่ถุงอุจจาระเดินได้ ใจคอถ้ายังไม่พร้อมก็รู้สึกว่ามันหนักนะ

คือความรู้สึกของการได้รับกำลังใจมันต่างกัน เรายังไม่พร้อมมากถึงขนาดที่ว่ามองตัวเองเป็นเพียงซากศพเดินได้ ถ้าถึงขั้นนั้นผมคิดว่าผมคงไม่มานั่งในวันนี้แล้ว คือเราก็ได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง

คมสัน นันทจิต: ในช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด คนส่วนใหญ่พอยิ่งเจ็บปวด ตัวตนเขายิ่งชัด ทำไมตัวเราเป็นอย่างนั้น ทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น แต่ทำไมอาจารย์จึงสลายอัตตาได้

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ไม่ใช่ๆ อันดับที่หนึ่งอย่าเข้าใจผิดคิดว่าผมไปถึงไหนแล้ว บรรลุอะไรมากมาย เดี๋ยวเกิดการเข้าใจผิด ผมไม่ใช่พระอรหันต์ ผมแค่ค้นพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง อันดับต่อมา ผมคิดว่าอาจจะมีทุนรอนสะสมอยู่สำหรับการที่เป็นคนที่ไม่ค่อยอยากได้อยากดีในสังคมอยู่แล้ว ส่วนที่ผมมีติดตัวมามันเป็นพื้นฐานอยู่

ผมถูกผลักอีกครั้ง ซึ่งเป็นก้าวใหญ่สำหรับการเข้าใจชีวิต ทีนี้การเข้าใจชีวิตของผมก็มีจุดหมายคือการพ้นทุกข์ อย่างที่ผมบอกไปหลายครั้งแล้วว่า จุดแปรผันคือมันมีความทุกข์ มีความทุกข์มากจนกระทั่งทนไม่ไหวถ้าจะใช้มุมมองดั้งเดิม และโดยบังเอิญ เราก็ปฏิเสธตัวเองด้วยการพยายามจะลืมทุกอย่าง ลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิต ทีนี้วิธีที่จะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา มันต้องลืมว่าเราเป็นใครด้วย ตราบใดที่เรายังนึกว่าเราเป็นใคร มันลืมไม่ได้ มันก็เลยพลัดหลงไปอย่างที่ผมบอก พลัดหลงเข้าไปบนเส้นทางของปรมัตถสัจจะที่ผมไม่ทันรู้ตัว คือพลัดหลงไปสู่การที่เราไม่สนใจว่าเราเป็นใคร พอพลัดหลงเข้าไป มันเกิดประสบการณ์ใหม่ในชีวิต คุณไปเห็นผมในช่วงชีวิตแบบนั้นคุณอาจจะนึกว่าผมบ้าไปแล้ว เช้าขึ้นมาผมก็ทักทายจิ้งจก จิ้งจกตกไปในโถผมก็พยายามช่วยชีวิตอยู่นั่นแหละ

ยกตัวอย่าง ที่ผมพูดถึงยามเช้า จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรไปบ้าง ลำแสงที่มันโลมไล้คลื่นเขา ภาพอย่างนี้ผมเคยเห็น หรือเวลาผมพูดถึงพระจันทร์ส่องเทือกเขาในยามราตรีเหมือนดวงเดือนกำลังห่มผ้าให้ผู้ชายของเธอ คือผมต้องผ่านประสบการณ์อย่างน้อยสองอย่าง หนึ่ง ผมเคยเห็นพระจันทร์ส่องเทือกเขาในยามค่ำคืน สอง ผมต้องเคยถูกหญิงสาวซักคนห่มผ้าให้ ซึ่งทั้งสองฉากผมคิดว่ามันเป็นภาพที่เราแสวงหาได้ และแน่นอน ในทางจิตวิญญาณ ผมก็รู้สึกซาบซึ้งประทับใจกับสิ่งเหล่านี้ ผมถึงเขียนออกมาได้

ไม่ใช่ว่าเห็นพระจันทร์ เฮ้ย คืนนี้เดือนหงายออกไปตีกบกันดีกว่า คือความรู้สึกมันคนละแบบ แล้วแต่ว่าข้างในคุณมีอะไร พระจันทร์ดวงเดียวกัน เทือกเขาก็เหมือนกัน คนหนึ่งอาจจะอยากพลอดรัก อีกคนหนึ่งอาจจะอยากนั่งสมาธิ อีกคนบอกว่าไปตีกบดีกว่า กบทูตอาจจะออกมาให้เห็นง่าย คือหมายความว่าจุดชี้ขาดมันอยู่ข้างใน ประสบการณ์ภายนอกผมมีอยู่แล้ว ถ้าประสบการณ์ภายในคุณพามันไปอีกทิศหนึ่ง มันก็จะไม่เขียนออกมาอย่างนี้

เพราะฉะนั้นวิธีทำงานในแง่ของความเป็นนักเขียน ไม่มีใครลอกเลียนใครได้ นักเขียนแต่ละคน จิตวิญญาณก็ต่างๆ นานา หลายท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็เป็นนักเขียน คงเข้าใจดีว่ามันของใครของมัน

ธนิษฐา แดนศิลป์: ที่อาจารย์เขียนว่า “เหนือบรรยากาศเปลี่ยวเหงาหรือครึกครื้นเกินไป ยังมีแก่นแท้ของการเดินทาง ซึ่งก็คือการพลัดพรากผู้อื่น สิ่งอื่น เพื่อนัดพบกับตัวเอง” จากประสบการณ์นี้ของอาจารย์ อาจารย์อยากจะชี้ชวนให้ผู้อ่านได้เดินทางอย่างเข้าใจชีวิตอย่างไร เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการเดินทางที่เข้าใจชีวิต หลายคนก็รักการเดินทาง และก็หนังสือหลายเล่มที่ผ่านมาของอาจารย์ก็จะเป็นเรื่องการเดินทางทั้งนั้น อย่างที่อาจารย์เคยพูดว่า ชีวิตผูกติดแนบแน่นอยู่กับการเดินทางเพื่อค้นหาอะไรซักอย่าง แต่เล่มนี้ค้นพบแล้ว อาจารย์จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงนี้กับผู้อ่านอย่างไรบ้าง

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: การเดินทางมันเป็นแค่การเปิดโอกาสให้เราได้ถอยห่างจากทั้งบุคคล ทั้งสถานที่ และวิถีชีวิตที่เราคุ้นเคย ทีนี้การถอยห่างมันเป็นเงื่อนไขภายนอก ถ้าเงื่อนไขภายในเราไม่ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ บางทีเราก็หล่นไปในเรื่อง เช่น บางคนพอขึ้นรถทัวร์ก็ตีฉิ่งตีฉาบไปตลอด หรือบางคนก็เมาตั้งแต่ป้ายแรกจนถึงป้ายสุดท้าย กลับมายังไม่รู้ว่าไปไหนมา อย่างนี้เดินทางไปก็ไร้ประโยชน์ บางทีอยู่บ้านซะยังมีผลเท่ากัน

แต่ถ้าเราเดินทาง เรายังมีสติ สมมติ เออ บัดนี้เราได้อยู่ห่างจากบ้านเกิดกี่ร้อยกิโลเมตร กี่พันกิโลเมตร ห่างจากบุคคลที่เรารัก เริ่มรู้สึกรู้สาขึ้นมาว่าเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เราคุ้นเคย บางทีมันจะเกิดความรู้สึกนึกคิดใหม่ๆ ต่อสิ่งที่เข้าใจ ขณะเดียวกัน เมื่อไปสัมผัสสิ่งใหม่ก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิด มันขึ้นอยู่กับเรามีอะไรข้างใน อย่างผมกับ บก. Travel Guide เคยไปเร่ร่อนด้วยกันที่เสฉวน เพื่อจะตระเวนดูเขาซักลูกหนึ่งที่สูงที่สุดในประเทศจีน วนเวียนกันอยู่เป็นอาทิตย์ มองไม่เห็นยอดเขา ในระหว่างนั้นก็ครุ่นคิด มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังแสวงหาอะไรบางอย่าง คุณอ่านงานเก่าๆ คุณจะพบว่าการเดินทางมันเหมือนกับค้นหาอะไรบางอย่าง ทีนี้ทำไมผมถึงอยากจะค้นหามินยาคองกา มันอาจจะมาชดเชย มันอาจจะมาทดแทนอะไรบางอย่างที่หายไปในชีวิต หรือมันอาจจะเป็นหลักหมายบางอย่างที่เราต้องการจะบอกตัวเองว่าไปถึงไหนแล้ว

ก็ปรากฏว่าตลอดทั้งสัปดาห์นี่หาไม่เจอ ฟ้าไม่เปิด แล้วขากลับก็นั่งเครื่องบินผ่าน เห็นยอดเขาอยู่ตรงหน้าต่าง เพราะฉะนั้นบางทีสิ่งที่เราค้นหามันไม่ได้อยู่ไกลตัว บางทีอาจจะไม่ต้องใช้วิธีวิจิตรพิสดาร แต่คนเรามักจะไม่ค่อยพอใจอะไรในตัวเอง มองข้ามสิ่งต่างๆ ที่ดีงาม หรือสิ่งต่างๆ ซึ่งเรามีอยู่แล้ว เห็นอยู่แล้ว บางทีมนุษย์ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ใช้เส้นทางยอกย้อนวกวนมากมายเพื่อจะบอกตัวเองว่า จริงๆ แล้วที่ของเราอยู่ตรงนี้ หรือสิ่งที่เราพอใจ คนที่เราพอใจอยู่ตรงนี้

นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าจะต้องมีวิบากกรรมมากน้อยแค่ไหน อย่างบางคนนี่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องความรัก รักตัวเองมากมายแต่บอกว่ารักคนอื่น ก็ต้องเปลี่ยนเป้าหมายแห่งความรักวันละรอบสองรอบ ฉะนั้นบางรอบมันก็ไม่ค่อยสมหวัง ฉะนั้นบางรอบก็ล้มเหลว ถ้าวันหนึ่งไม่เรียนรู้ว่าคุณกำลังสับสนถึงความรักตัวเองกับรักผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นเช่นนี้อยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งได้เรียนรู้ จะพบว่ารักแท้มีอยู่ จริงๆ คุณพบตั้งนานแล้ว แต่คุณกำลังเวียนไปทั่วโลก อะไรทำนองนั้น ผมพูดทิ้งไว้เป็นนามธรรมก็แล้วกัน

คมสัน นันทจิต: ถ้าเราผ่านพบไม่ผูกพัน ความรักในนิยามของอาจารย์ตอนนี้เป็นอย่างไร

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: กว่าผมจะมาถึงวันนี้ ผมก็ทำในสิ่งที่ผิดมาเยอะ ผมคิดอย่างนี้ว่า ความรักแท้ ที่ผมอ่านมาตั้งหมด โอโชก็ใช่ อ่านของมหายานก็ใช่ อ่านของคริสต์ก็ใช่ เขาบอกว่ารักแท้คือความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเขาหมายถึงรักทั้งในแง่ของรักเพศตรงข้าม รักมวลมนุษย์ รักเพื่อน ไม่มีเงื่อนไข ซึ่งในแง่นี้ก็คือเราต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปถือครอง เมื่อไม่เอาตัวเองไปถือครอง เรื่องมันง่ายนิดเดียว ทุกครั้งอยากจะทำเพื่อเขาตลอดเวลา ไม่ต้องไปป่าวร้องว่าฉันทำให้เธอสามอย่าง เธอต้องกลับมาห้าอย่าง อย่างนี้ตีกันตาย ซึ่งคนจะมีจิตวิญญาณถึงระดับนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันต้องฝึกฝน ในทางจิตวิญญาณก็เหมือนวิทยายุทธ์ ถ้าคุณไม่ฝึกเลย แล้วอยู่ดีๆ จะกระโดด ไม่มีทางทำได้ มันต้องมาตามลำดับขั้น

ผมอยากจะบอกว่า มันเหมือนกับเส้นผมบังภูเขา เวลาพูดถึงความรัก คนทั่วไปเข้าใจอีกแบบหนึ่ง ฉันรักเธอ เธอรักฉันทั้งวัน เราอยู่ด้วยกัน อย่าไปยุ่งกับคนอื่น อะไรอย่างนี้ ต้องเป็นของกันและกัน ผูกโซ่ทองร้อยไว้ด้วยกัน ผมมีรูปถ่ายอยู่รูปหนึ่งในหนังสือ รูปนั้นผมตั้งชื่อว่า Love คือเสาสองต้นที่มัดกันด้วยเชือก คือมัดกันไว้จนตายกันไปข้างหนึ่ง หรือตายไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมันเป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรัก

ความรัก ถ้าเราถือว่าเราคือผู้ให้โดยไม่เรียกร้องกลับ และเราคือคนที่ปรารถนาดีต่อคนที่เรารัก หนึ่ง มันไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าเขาจะทิ้งเราไป หรือเขาจะทำไม่ดีกับเรา มันก็แฝงไว้ด้วยความเมตตา กรุณา และอุเบกขา แต่ขณะเดียวกันเราต้องฝึกตัวเองว่าเราต้องไม่มีข้อเรียกร้อง

ล่าสุดผมอ่านหนังสือที่ชื่อ Conversation with God มีสามเล่มจบ ผมแนะนำให้อ่าน ใครที่อ่านภาษาอังกฤษได้ เสียดายไม่มีการแปล เป็นการตีความคริสต์ศาสนาใหม่หมด และคนเขียนยืนยันว่าเขาเขียนหนังสือเหล่านี้ เขาคุยกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง

ในเล่มที่สามเขาเขียนไว้ว่า love everyone need no one รักคนทุกคน ผมไม่ได้หมายถึงชู้สาวนะ คุณอย่าตีความผิด แต่ไม่จำเป็นต้องมีใครซักคน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นความห่างเหิน แต่หมายความว่าอย่าไปปักหลักเรียกร้องจะเอาอย่างนู้น จะเอาอย่างนี้ ถึงเขาไม่มาหาเราก็อยู่ได้ เพราะเราไม่มีข้อเรียกร้องต่อผู้ใด ซึ่งฟังดูแล้วมันดูแห้งแล้ง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นการฝึกตัวเองที่จะเป็นฝ่ายให้ ซึ่งการฝึกตัวเองให้เป็นฝ่ายให้ แท้จริงแล้วก็คือกลยุทธ์ในการสลายตัวตนอีกแบบหนึ่ง

0 Comments:

Post a Comment

<< Home