Tuesday, June 27, 2006

โลกของสุมิเระใน Sputnik Sweetheart


1

“ไม่มีมนุษย์คนไหนเดินทางผ่านชีวิตไปได้โดยไม่เคยลิ้มลองประสบการณ์โดดเดี่ยว อาจถึงขั้นเดียวดายเบื่อเหงาในป่ารกร้าง เขาจะพบว่า ต้องพึ่งพาตนเองเพียงสถานเดียว ห้วงเวลาเช่นนั้นจะสอนให้เขารู้จักพลังแท้จริงที่ซ่อนอยู่ในตัว” (หน้า 16)

ข้อความของแจ็ก เครูแอ็ก ใน Lonesome Traveler ข้อความนี้ อาจเป็นคำอธิบายลักษณะเฉพาะของตัวละครในนวนิยายแทบทุกเรื่องของฮารูกิ มูราคามิ

วังเวง โดดเดี่ยว ในบริบทของสังคมที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตถึงขีดสุด และผู้คนต่างมุ่งหวังครอบครองวัตถุเงินทองอย่างสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม

ยุคแห่งการฟื้นฟูที่เอ่อล้นไปด้วยผลผลิต เทคโนโลยีอันทันสมัย และชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย แต่สุดท้ายแล้ว การได้มากลับดูเหมือนไม่ต่างจากการสูญเสีย

ผู้คนต่างน้อมคารวะให้แก่การก่อกำเนิด แต่พวกเขาก็แทบจะไม่รู้ตัวว่าพิธีเซ่นสังเวยก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

“ทำไมคนเราถึงได้เหงาขนาดนี้? คำอธิบายแท้จริงซ่อนอยู่ที่ไหน? คนบนโลกนับล้านคน ทุกผู้ทุกคนโหยหาใครสักคนที่จะมาปลอบประโลมใจให้คลายเหงา แต่ก็กระถดตัวหนี ปลีกตัวไปอยู่เดียวดาย ทำไม? เป็นไปได้หรือไม่ว่าโลกถูกส่งให้มาลอยดวงกลางอวกาศเวิ้งว้าง เพียงเพื่อให้เป็นที่พำนักของคนเหงา?” (หน้า 176)

อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในลักษณะนี้กลายเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวในงานเขียนของมูราคามิ มันดึงดูดนักอ่านจำนวนหนึ่งให้หลงใหล แต่อีกจำนวนหนึ่งก็พร้อมใจกันเบือนหน้าหนี


2

ใน Sputnik Sweetheart (1999) มูราคามิยังคงอาศัยเรื่องราวเหนือจริงเป็นเครื่องมือช่วยถ่ายทอดเนื้อหาสาระของนวนิยายเช่นเดียวกับอีกในหลายๆ เรื่อง การหายตัวไป (เหมือนหมอกควัน) ของสุมิเระบนเกาะเล็กๆ ในทะเลอีเจียน เปิดโอกาสให้มูราคามิสามารถนำสุมิเระอีกคนหนึ่งออกมานำเสนอต่อผู้อ่าน—สุมิเระที่แนะนำตัวเธอเอง ไม่ใช่สุมิเระที่ผู้อ่านรู้จักผ่านคำบอกเล่าของ ‘ผม’

ก่อนที่จะลงมือเขียน A Wild Sheep Chase (1982) ผลงานชิ้นที่สาม มูราคามิตระหนักดีว่าเขาต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากผลงานสองชิ้นแรก (Hear the Wind Sing [1979] และ Pinball, 1973 [1980]) ซึ่งนั่นทำให้เขาค้นพบว่าพลังของเรื่องราวเหนือจริงจะช่วยให้เขาทำเช่นนั้นได้ มูราคามิเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “บางครั้งคุณก็ต้องการอะไรบางอย่าง—บางอย่างที่เหนือธรรมชาติหรือแปลกประหลาด—เพื่อทำให้มันเป็นจริงมากขึ้น ผมรู้ว่าใน A Wild Sheep Chase เรื่องราวดูเหมือนจะจับต้องสัมผัสได้มากขึ้นเมื่อมนุษย์แกะปรากฏตัว แม้ว่าตัวมนุษย์แกะเองจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงก็ตาม ผมชอบแบบนั้น”

การหายตัวไปของสุมิเระอาจไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ เธออาจกำลังสับสนจนต้องลุกออกไปเดินเล่นคนเดียว เธออาจประสบอุบัติเหตุหรือถูกทำร้าย เหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นกับใครในที่ไหนๆ ก็ได้ในโลก ศพของเธอหาไม่พบ และตำรวจก็จนปัญญาจะสะสางเรื่องราว เธอกลายเป็นผู้สูญหาย เมื่อเวลาผ่านเลยไป เธอกลายเป็นเพียงความทรงจำของญาติพี่น้องและคนรู้จัก ก่อนที่จะถูกลืมเลือน

แต่ถ้าแก่นแท้ของเรื่องราวเหนือจริงในนวนิยายของมูราคามิคือการทำหน้าที่นำพาผู้อ่านไปสู่อะไรบางอย่าง การหายตัวไปของสุมิเระก็อาจเป็นประตูที่มูราคามิใช้สำหรับนำพาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกของตัวเธอเอง—โลกของ ‘ผม’ โลกของมิว และโลกของเราทุกคน


3

นวนิยายลำดับที่เก้าของมูราคามิเกริ่นนำด้วยการบอกเล่าถึงชะตากรรมของไลก้า—เยอรมันเชฟเพิร์ด—สิ่งมีชีวิตแรกที่มีโอกาสก้าวพ้นชั้นบรรยากาศของโลก ออกโคจรพร้อมกับดาวเทียมสปุตนิก II ของสหภาพโซเวียต ...ชั่วนิรันดร์

สปุตนิก II—ทรงกลมโลหะเส้นผ่านศูนย์กลาง 58 เซนติเมตร น้ำหนัก 83.6 กิโลกรัม—และไลก้า เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่มูราคามิใช้เป็นสื่อในการแสดงความรู้สึกของตัวละคร เป้าหมายทางด้านการวิจัยทางชีววิทยาอาจสร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คน และผลการวิจัยก็แทบจะกลายเป็นความลับของคนทั้งโลก แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ในฐานะของมนุษย์ธรรมดาบนโลกใบนี้ มูราคามิเห็นว่าดาวเทียมกับสุนัขตัวหนึ่งส่งผ่านความหมายมากมายกว่านั้น

“เหมือนเขื่อนแตกเลย สุมิเระนอนซบหมอนร้องไห้จนตัวโยนอยู่นาน เธอร้องไห้ ฉันนั่งลูบหลังให้ ลูบจากหัวไหล่มาถึงบั้นเอว ปลายนิ้วแตะกระดูกทุกท่อน ฉันอยากร่วมร้องไห้ แต่ก็ทำไม่ได้

“นั่นเองที่ฉันตระหนักถึงความหมายแท้จริง...เพื่อนเดินทาง เราสองเป็นเพื่อนเดินทางวิเศษสุด แต่ในท้ายที่สุด ก็เป็นได้เพียงแค่ทรงกลมโลหะอัปลักษณ์ แยกย้ายกันหมุนเคลื่อนไปตามวงทางโคจรเฉพาะตัว มองจากระยะไกล ดูสุดสวยเหมือนดาวตกพุ่งวาบข้ามฟ้า แต่ในความเป็นจริง ก็เป็นแต่เพียงคุก กักขัง ขังเดี่ยว เดินทางไปไร้จุดหมาย เมื่อใดที่วงทางโคจรตัดข้ามกัน เราก็ร่วมทางกันได้ชั่วอึดใจ อาจเปิดหัวใจตีแผ่ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับทราบ เพียงเสี้ยววินาที ก่อนจะทันรู้ตัว เราก็พุ่งวาบไปในความเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยวอ้างว้าง จนกว่าเราจะตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เผาไหม้เป็นจุณ” (หน้า 117)


4

เรื่องราวของหญิงรักหญิงเป็นแง่มุมที่มูราคามิยังไม่เคยสำรวจมาก่อน และเมื่อเขาลงมือ ผลที่ออกมาก็อยู่เหนือการคาดเดา

สุมิเระอายุ 22 ปี เลิกเรียนมหาวิทยาลัยกลางคัน พร้อมกับความมุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นนักเขียนให้จงได้ ‘ผม’ เป็นเพื่อนเพียงคนเดียวของเธอ ความสัมพันธ์เริ่มต้นจากความหลงใหลในการอ่านของทั้งคู่ ‘ผม’ หลงรักสุมิเระ แต่สุมิเระหลงรักผู้หญิงที่อายุมากกว่าเธอ 17 ปี และไม่มีความกระหายอยากทางเพศกับผู้ชาย

“ในเสี้ยววินาทีที่มิวขยี้เส้นผม สุมิเระตกหลุมรักด่วนฉับพลัน ประหนึ่งว่ากำลังเดินไปกลางทุ่ง ตูม! สายฟ้าพุ่งผ่าลงมากลางหัว ละม้ายคล้ายการดลบันดาลเชิงศิลปะ ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมสุมิเระไม่เสียเวลาใส่ใจว่า ผู้ที่หลงรักเป็นสตรี” (หน้า 19)

มิวชวนสุมิเระมาช่วยงานในธุรกิจนำเข้าไวน์ของเธอ ทั้งคู่ออกตระเวนยุโรปเพื่อติดต่อธุรกิจด้วยกัน อิตาลี ฝรั่งเศส ก่อนจะสิ้นสุดที่เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งในกรีซ ที่ที่สุมิเระหายตัวไป—เหมือนหมอกควัน

‘ผม’—ครูโรงเรียนประถม เพื่อนคนเดียวของสุมิเระ—ได้รับการติดต่อจากมิวให้ไปช่วยตามหาสุมิเระที่กรีซ หลังจากความพยายามในการค้นหาดูจะไร้ความหมาย ‘ผม’ ตัดสินใจเสนอทฤษฎีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

“สุมิเระเดินข้ามไปยังโลกฟากโน้นแล้ว” (หน้า 162)


5

“หนูรู้ไหมว่าครูอยากทำอะไรมากที่สุดในตอนนี้?” ‘ผม’ คุยกับแคร็อต—ลูกศิษย์ในชั้นเรียนที่เพิ่งขโมยของในห้างสรรพสินค้า “ครูอยากจะปีนขึ้นไปยังที่สูง เช่น ยอดพีระมิด สูงที่สุดเท่าที่จะหาได้ จะได้มองไปให้ไกลที่สุด ยืนอยู่บนยอดสุดสูง กวาดสายตามองรอบโลก มองภาพทิวทัศน์ มองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตาตนเองว่ามีสิ่งใดสูญหายไปจากโลกนี้บ้างแล้ว ไม่รู้ซี...จริงแล้วครูอาจจะไม่ต้องการมองอะไรอีก ไม่อยากเห็นอะไรอีกแล้วในชีวิตนี้” (หน้า 189)

การตามหาสิ่งที่ ‘สูญหาย’ เป็นสาระสำคัญอีกอย่างหนึ่งในนวนิยายของมูราคามิ ใน Sputnik Sweetheart นอกจากการหายตัวไปของสุมิเระแล้ว เรายังพบกับมิวที่สูญเสียมิวคนเดิมไปตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อน พบกับสุมิเระที่ฝันซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงแม่ของเธอที่ถูกดูดหายไปในโลกอีกฟาก พบกับแมวที่กระโจนขึ้นต้นไม้โดยไม่ยอมกลับลงมาอีก พบกับ ‘ผม’ ในวัยเด็กที่สูญเสียเพื่อนที่ดีที่สุดไป และพบกับเพื่อนสาวของ ‘ผม’ ที่ต้องเสีย ‘เพื่อนร่วมทาง’ ในท้ายที่สุด

การสูญเสียแต่ละครั้งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง และหน้าที่ของมนุษย์ก็คือการก้มหน้ารับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น มันอาจจะดูเหมือนไร้ความหมายหากเรามีหน้าที่เพียงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอันไร้ที่สิ้นสุด ยอมให้ความไม่แน่นอนกลายเป็นสัจธรรมหุ้มห่อชีวิต แต่ใครจะกล้าปฏิเสธ ว่าแท้จริงแล้ว คุณค่าที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่การดลบันดาล แต่อยู่ที่ความสามารถในการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น

มูราคามิตอบคำถามที่ถามถึงแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ว่า “อะไรที่ทำให้ผมเขียนนวนิยายเรื่องนี้หรือ? ผมไม่รู้ เรื่องราวมันเดินทางมาหาผมอย่างเป็นธรรมชาติมาก มันเป็นมากกว่า ‘เรื่องประหลาดที่เกิดขึ้นกับคนประหลาด’ หรือ ‘เรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับคนธรรมดา’ ผมชอบ ‘เรื่องประหลาดที่เกิดขึ้นกับคนธรรมดา’ ”


6

‘ผม’ พบแผ่นฟล็อปปี้ในกระเป๋าเดินทางของสุมิเระ ในแผ่นมีไฟล์สองไฟล์ และมันอาจเป็นกุญแจดอกสุดท้ายที่จะใช้ไขปริศนาการหายไปของตัวเธอได้

ทั้งสองไฟล์มีจุดร่วมบางอย่าง ไฟล์แรกบอกเล่าความฝันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับแม่ของสุมิเระ เธอไต่บันไดขึ้นไปพบกับแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อขึ้นไปถึง ร่างของแม่ถูกดูดหายเข้าไปในโลกฟากโน้น สุมิเระไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้ ไฟล์ที่สองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับมิวเมื่อ 14 ปีก่อน เธอติดอยู่ในกระเช้าชิงช้าสวรรค์ตลอดทั้งคืน เธอใช้กล้องส่องหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ของเธอ มองเห็นตัวเธอเองอีกคนหนึ่งอยู่ในห้อง ประสบการณ์นี้ทำลายความเป็นมนุษย์ของเธอ “...อย่างน้อยที่สุด บาดแผลการทำลายล้างก็สาหัสจับต้องได้ ร่างของเธอแตกเป็นสองเสี่ยง มีกระจกเงากางกั้นคั่นระหว่างกลาง...” (หน้า 161)

หลังจากการครุ่นคิดใคร่ครวญ ทฤษฎีที่ว่าสุมิเระเดินข้ามไปยังโลกฟากโน้นแล้วจึงถือกำเนิด

“แนวคิดนี้อธิบายเรื่องราวได้เกือบทั้งหมด สุมิเระทำลายกระจกเงา เดินข้ามไปยังโลกฟากโน้น เดินทางไปเสาะหามิวอีกครึ่งซีกที่ยังหลงอยู่ที่นั่น...หากมิวในโลกนี้ไม่รับรักเธอ ทางเลือกเช่นว่าก็น่าจะสมเหตุสมผลเป็นที่สุด” (หน้า 162)

โลกฟากนี้ โลกฟากโน้น โลกฟากไหนคือโลกที่เราอาศัยอยู่

หรือเราต่างมีโลกคนละสองฟาก โลกที่เปิดเผยกับโลกที่ซ่อนเร้น โลกแห่งความจริงกับโลกแห่งความฝัน โลกที่งดงามกับโลกที่โหดร้าย

โลกของมิวในทุกวันนี้กับโลกของมิวเมื่อ 14 ปีก่อน โลกของ ‘ผม’ ก่อนและหลังการหายตัวไปของสุมิเระ ...หรือโลกของสุมิเระกับมิวสองคนที่อยู่คนละฟาก

“ฟ้าเหนือยอดเขาโปร่ง ดวงจันทร์ขยายขนาด มหึมาแทบเต็มฟ้า ลอยดวงหินแกร่งกลางอวกาศเวิ้งว้าง ผิวหน้าปุปะกร่อนหายไปในห้วงเวลาไร้เมตตา เงาดำมืดลายเค้าโครงน่าสะพรึงกลัว เป็นมะเร็งเนื้อร้ายที่ยื่นรยางค์ออกมาคว้าจับไออุ่นของสิ่งที่มีชีวิต แสงจันทร์ดัดเสียงให้ผิดเพี้ยน ชำระล้างความหมายทั้งมวลให้เหลือเพียงความสับสนโกลาหลจู่โจมเข้ามา ขับห้วงความคิดให้กระเจิง นี่เองที่ทำให้มิวมองเห็นร่างอีกซีกของเธอ นี่เองที่เป็นตัวการลักพาตัวแมวของสุมิเระ นี่เองที่ทำให้สุมิเระหายตัวไป และนี่เองที่เชื้อเชิญให้ผมเดินเท้ามาถึงยอดเขา กล่อมด้วยดนตรีแว่วหวานกลางดึก ...ดนตรีที่อาจไม่มีอยู่จริง เบื้องหน้าของผมเป็นหล่มความมืดล้ำลึกไร้ก้น เบื้องหลังเป็นโลกแสงเรื่องซีดจาง ผมยืนอยู่บนยอดเขาต่างแดน ร่างอาบอยู่ในแสงจันทร์ขาวโพลน บางทีเรื่องราวทั้งหมดผ่านการวางแผนไว้รอบคอบ...ตั้งแต่เริ่มต้น” (หน้า 168)


เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์ open through ใน www.onopen.com

Wednesday, June 21, 2006

เมื่อวาน หลังจากเขียนเสร็จ เรื่องราวในอดีตก็วิ่งพลุ่งพล่านวุ่นวายอยู่เต็มหัว ผมพบว่ายังมีหนังสืออีกตั้งหลายเล่มที่น่าจะกลับไปอ่านใหม่อีกครั้ง หรือไม่ก็เอามาปัดฝุ่นเขียนแนะนำบอกต่อๆ กัน

เอาล่ะครับ หลังจากก้มๆ เงยๆ เปิดกล่องนั้นกล่องนี้อยู่หลายรอบ ในที่สุดผมก็ค้นพบหนังสือเล่มประวัติศาสตร์ทั้งสองเล่มที่ว่า แต่กว่าจะหาเจอก็เล่นเอาผมใจหายเหมือนกัน เพราะหลังจากเปิดดูครบทุกกล่องแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นวี่แววของป๋า ส. เปิดดูแต่ละกล่องใหม่อีกรอบ ป๋า ส. ของผมก็ยังหลบหน้าไปอยู่ดี ผมนั่งนิ่งๆ นึกย้อนกลับไปว่าให้ใครยืมไปหรือเปล่า หรือย้ายเอาไปเก็บไว้ที่ไหน อุตส่าห์โฆษณาเสียดิบดี เห็นท่าต้องหน้าแตกกันคราวนี้

หลังจากนั่งฟังรายละเอียดก่อนการเผชิญหน้ากันระหว่างเยอรมันกับเอกวาดอร์ ผมตัดสินใจค้นหาใหม่อีกรอบ คราวนี้ทำใจสบายๆ คิดว่าถ้าไม่เจอก็คงต้องทำใจ แต่เรื่องไม่คาดฝันก็มักจะเกิดขึ้นถูกที่ถูกเวลาเสมอ ผมหยิบกล่องกระดาษสีแดง หน้าปกเขียนว่า "ฤทธิ์มีดสั้น" ของจอมยุทธ์น้ำเมาโก้วเล้งขึ้นมาดู เพราะการตามหาป๋า ส. ที่ผ่านมาสองรอบ ผมไม่ได้หยิบมันขึ้นมาดูเลย เนื่องจากคิดว่าหนังสือที่อยู่ในกล่องก็คงเป็น "ฤทธิ์มีดสั้น" สามเล่มหนาปึ้กแน่ๆ แต่ที่ไหนได้ ผมดันลืมไปเสียสนิทว่าผมไม่ได้เอา "ฤทธิ์มีดสั้น" เก็บไว้ในกล่องนี้

ครับ ป๋า ส. ของผมทั้งสองเล่มซ่อนตัวอยู่ในกล่องนี้นั่นเอง เวลาจะเจอก็เจอเอาง่ายๆ แถมยังเจอในกล่องของผลงานในความทรงจำอีกเรื่องหนึ่งของผมด้วย

โอกาสต่อๆ ไป ผมจะแปลงกายเป็นอาฮุย นำพาทุกท่านย้อนกลับไปรำลึกถึงแม่นางลิ่มเซียนยี้--หญิงงามในความทรงจำของใครหลายๆ คนครับ


"ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า" ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในนิตยสาร "ดิฉัน" ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2534 ก่อนจะตีพิมพ์รวมเล่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

ผมมีโอกาสหยิบหนังสือขึ้นมาพลิกๆ ดูอีกรอบก็เมื่อคืนนี้เอง เป็นครั้งแรกในรอบ 4-5 ปี ทุกครั้งที่เห็นหนังสือทั้งสองเล่มนี้ ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาก็หนีไม่พ้นฉากชีวิตที่โรงเรียนประจำ คิดๆ ดูก็น่าแปลกนะครับ หนังสือเล่มหนึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชีวิตของคนเรา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การที่ผมนั่งดูทีมชาติเยอรมันลงฟาดแข้งเมื่อคืนนี้น่าจะช่วยให้ผมย้อนรำลึกถึงชีวิตในช่วงนั้นได้ดีกว่า แต่มันก็ไม่ใช่ เรื่องราวของป๋า ส. กลับทำให้ภาพในอดีตของผมแจ่มชัดขึ้น มันทำให้ย้อนกลับไปรำลึกถึงความรู้สึกกดดันในสนามหญ้าสีเขียวๆ ได้ดีกว่าการนั่งดูฟุตบอลระดับโลกเสียอีก

ก่อนจะเฉไฉไปเรื่องฟุตบอล (ซึ่งผมสามารถเฉไฉไปได้อีกหลายหน้ากระดาษ) กลับมาที่ป๋า ส. กันดีกว่านะครับ


การเขียนความจริงบางอย่างนั้น มัน 'จริง' เกินไปจนดู 'เพรื่อ' และหยาบคาย

แต่ก็เสียดาย 'ความชั่วชาติ' และ 'บัดซบ' ของตนเองที่มีอยู่มากมาย น่าจะ 'คาย' ออกมาตีแผ่ให้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลังได้ตระหนัก


นี่เป็นข้อความที่อยู่บนแผ่นพับของหน้าปก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเขียนหนังสือในช่วงบั้นปลายชีวิตของป๋า

จุดเริ่มต้นของหนังสือชุดนี้ ป๋าเล่าไว้ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.29 น. ของวันที่ 23 มกราคม 2531 ที่ห้องอาหารเรือนต้นของโรงแรมมณเฑียร ป๋าได้พบกับคุณ "ชาลี" บรรณาธิการบริหารนิตยสาร "ดิฉัน" ซึ่งอยากรู้จักและพูดคุยกับป๋ามานาน เมื่อพบป๋าแล้ว คุณชาลีก็บอกว่าอยากจะสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตของป๋า ติดอยู่ตรงที่ว่าเห็นฉบับอื่นเขาทำกันมามากแล้ว ไม่พูดพร่ำทำเพลง ว่าแล้วคุณชาลีก็เอ่ยปากขอ "เรื่อง" ป๋าเสียเลย

"ได้ครับ" ป๋าตอบกลับทันควัน


ทันใด เธอก็ควักนามบัตรของเธอส่งให้ข้าพเจ้า

นามบัตรนี้ค่อนข้างแปลกตาสำหรับ 'คนเก่า' อย่างข้าพเจ้า ก็คือมันพิมพ์สองสี (แดง-น้ำเงิน...เอ...หรือดำก็ไม่รู้...) อยู่บนแผ่นพลาสติกบางๆ แต่แข็ง...อ่านลำบาก เพราะมันสะท้อนแสงกับไฟ

เลยพูดไปอย่างกันเองว่า

"หาเรื่องให้คนแก่อ่านลำบากแท้ๆ"

(หัวเราะกันนิดหน่อย...)

แต่เมื่อมาอ่าน (เขม้น) ออกแล้วก็เห็นชื่อจริงของเธอ...มัน-'ชุลิตา...'

ข้าพเจ้าก็ว่า...(เงยมองคุณจุรีแล้วถาม--คุณจุรีเป็นคนพาคุณชาลีมาพบป๋า)

"เอ...ไหนว่าชื่อชาลี ทำไมนามบัตรนี่พิมพ์ว่า...ชุลิตาล่ะ"

คุณจุรีไม่ทันได้ตอบ บรรณาธิการบริหารของ 'ดิฉัน' ก็ตอบเองว่า

"เขาเรียกผวนกันค่ะ...ชุลิตา...ก๊อ...ชาลีตุ๊ไงคะ"

ทันทีที่ได้ยินคำว่า 'ตุ๊' ...ตนเองก็ 'ทะลึ่ง' พูดขึ้นว่า

"ชื่อเหมือนเมียผมเลย"

(เสียง...ใครต่อใครก็ไม่รู้...หัวเราะทั้งฮาทั้งเฮขึ้นมาทันที)

และใครก็ไม่รู้เปรยว่า

"เอาเข้าแล้วไหมล่ะ"


เอาเข้าแล้วไหมล่ะ ผมต้องรีบไปก่อนซะแล้ว หนีงานมาเขียนก็อย่างนี้ ค่อยๆ คืบหน้าไปทีละนิดทีละหน่อยคงไม่ว่ากันนะครับ

Tuesday, June 20, 2006

ผมอ่าน “สดับลมขับขาน” (Hear the Wind Sing) ครั้งแรกเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่สามหรือปีที่สี่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่ยังพอจำความรู้สึกในขณะที่อ่านและตอนที่อ่านจบแล้วได้ ซึ่งก็ทำให้ผมตามอ่านหนังสือของมูราคามิต่อมาเรื่อยๆ

ตั้งแต่จำความได้ ผมมีหนังสือเป็นเพื่อนมาเนิ่นนานหลายปี เริ่มตั้งแต่หนังสือนิทานสำหรับเด็ก ขายหัวเราะ มหาสนุก หนังสือโป๊ (จำได้ขึ้นใจอยู่สองยี่ห้อ คือนวลนางกับไทยเพลบอย และ "อากังฟู" ยังเป็นนามปากกาแสนคลาสสิกติดหนึบในความทรงจำ) ก่อนที่จะเริ่มอ่านหนังสือเล่มอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นตอนชั้นประถมปลายหรือมัธยมต้น ผมยังจำความรู้สึกตอนอ่าน "ตามล่า" (ไม่แน่ใจว่ามี "ล่าปลาวาฬ" ด้วยหรือเปล่า) ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาได้ดี โดยเฉพาะฉากท้องทุ่งและวิถีชีวิตของชนเผ่าในแอฟริกา

ความหนักหนาสาหัสของชีวิตในช่วงนั้นบีบบังคับให้ผมเดินเข้าห้องสมุดโดยไม่รู้ตัว และ "ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า" เล่ม 1 และ 2 เขียนโดย ส. อาสนจินดา ก็เป็นจุดเริ่มต้นนำพาให้ผมหันหน้าเข้าหาหนังสือในเวลาว่างอย่างจริงจัง ผมพบหนังสือทั้งสองเล่มนี้โดยบังเอิญในห้องสมุดของโรงเรียน และฉากชีวิตในวัยหนุ่มของสมชาย อาสนจินดา ก็ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา

ครับ เขียนไปเขียนมาเรื่องก็ทำท่าว่าจะย้อนกลับไปยืดยาว เอาเป็นว่าก่อนจะเขียนถึงประสบการณ์การอ่านหนังสือของฮารูกิ มูราคามิ ผมขออนุญาตกลับไปสำรวจประสบการณ์การอ่านของตัวเองก่อนก็แล้วกันนะครับ เพราะเมื่อนึกย้อนกลับไปแล้ว มีหลายเรื่องราวซุกซ่อนอยู่เต็มไปหมด

ผมแอบหยิบ "ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า" เล่ม 2 ติดมือกลับมาจากห้องสมุดของโรงเรียนหลังจากตัดสินใจลาออก ความจริงก็ไม่ได้ตั้งใจจะขโมยหรอกครับ พอดีกำหนดวันที่จะต้องคืนหนังสือมันอยู่หลังจากวันที่ผมต้องเก็บข้าวของกลับบ้าน จะเอาไปคืนก่อนกำหนด ผมก็ยังอ่านไม่จบ เลยถือโอกาสเก็บไว้เป็นที่ระลึก ลูกหลานมาเห็นเข้าจะได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้มันมีที่มายังไง

ด้วยความเคารพในประสบการณ์ชีวิตอันเข้มข้นของป๋า ส. ผมเหน็บหนังสือเล่มนี้เข้ากรุงเทพฯ ก่อนจะตระเวนตลาดหนังสือเก่าหลังตลาดนัดสวนจตุจักรตามหาเล่ม 1 และ "พรุ่งนี้จะรดน้ำศพ" ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของชุดนี้ (และจนบัดนี้ผมก็ยังตามหาเล่มนี้ไปพบ ไม่ทราบว่ามีท่านใดเก็บไว้บ้างหรือเปล่า) จำได้ว่าผมเอาเล่ม 2 ไปให้พ่อค้าแม่ค้าดู และถามว่ามีเล่ม 1 หรือเปล่า ถามอยู่หลายร้านเขาก็บอกว่าไม่มี จนในที่สุด แม่ค้าคนหนึ่งก็บอกว่าให้ผมลองเข้ามาค้นดูในร้าน

หนังสือเก่านับร้อยเล่มวางสุมรวมกันอยู่ ผมเข้าไปหยิบดูทีละเล่มสองเล่มพร้อมกับทำใจว่าถ้าหาเจอก็คงเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งในชีวิต แต่สุดท้ายแล้ว...

ครับ... สุดท้ายแล้วผมก็หาเจอ น้ำเสียงดูไม่ตื่นเต้นเลยใช่ไหมครับ ตอนที่หาเจอผมก็รู้สึกแบบนี้แหละครับ มันงงๆ ยังไงพิกล จะดีใจก็ไม่ใช่ จะตกใจก็ไม่เชิง ใครจะไปคิดล่ะครับว่าจะหาหนังสือเล่มนี้เจอ ปีที่พิมพ์ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ผู้เขียนถึงแม้จะเป็นศิลปินแห่งชาติและนับเป็นครูคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย แต่ก็คงไม่น่าสนใจเท่าพิธีกรเล่าข่าวหรือนายกรัฐมนตรีมหาเศรษฐี

ผมลาออกจากโรงเรียนประจำตอนเรียนจบชั้น ม.2 และหยิบหนังสือเล่ม 2 ขึ้นมาอ่านอีกครั้งตอนเรียนอยู่ ม.5 ตอนนั้นน่าจะหยิบขึ้นมาพลิกดูเล่นๆ แก้เบื่อจากการอ่านหนังสือเตรียมสอบ แต่อ่านไปอ่านมาผมก็อ่านจบไปทั้งเล่ม และอยู่ๆ ก็นึกขึ้นมาปัจจุบันทันด่วนว่าน่าจะลองออกตามหาเล่ม 1 ดู เพราะได้อ่านเล่ม 1 ครั้งสุดท้ายและครั้งเดียวตอนเรียนอยู่ ม.2 ผ่านมาจนถึงเวลานั้นผมก็จำไม่ได้แล้วว่ามันมีเรื่องอะไรบ้าง และเล่ม 2 ที่เพิ่งอ่านจบไปอีกครั้งก็ทำให้ผมทนคิดถึงเล่ม 1 ไม่ไหว

แม่ค้าคิดราคาหนังสือ 100 บาท ผมเดินยิ้มกลับบ้านราวกับได้รางวัลจากสรวงสวรรค์

ผมจำได้ว่าหลังจากคุณสมชาย อาสนจินดา เสียชีวิตไป มีรายการโทรทัศน์ไปถ่ายทำเรื่องราวของภรรยาและมรดกที่คุณสมชายทิ้งเอาไว้ ตอนนั้นผมยังไม่ได้อ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ เลยไม่ได้ตั้งใจดูนัก และเรื่องราวของคุณสมชายและภรรยาก็เงียบหายไปเรื่อยๆ จนแทบไม่มีใครพูดถึงอีกแล้วในปัจจุบัน

แต่เรื่องราวความรักของคุณสมชายและภรรยาเป็นหนึ่งในความทรงจำที่มีคุณค่าที่สุดอย่างหนึ่งของผม

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ขอผมกลับไปค้นหนังสือทั้งสองเล่มนี้ก่อนก็แล้วกันครับ

Saturday, June 17, 2006

ผมไปพบบทวิจารณ์ชิ้นนี้เข้าโดยบังเอิญ (http://www.faylicity.com/book/book1/elephant.html) เลยทำให้มีแรงกระตุ้นอยากเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับฮารูกิ มูราคามิ ขึ้นมาอีกซักครั้ง

The Elephant Vanishes เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่ผมพยายามอ่านจนจบ หลังจากตั้งใจอยู่นานว่าจะพยายามหาหนังสือภาษาอังกฤษของเขามาอ่านบ้าง หลังจากอ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยมาครบแล้ว

ผมจำไม่ได้แล้วว่าทำไมถึงเลือกเล่มนี้เป็นเล่มแรก ไม่รู้ว่าเพราะมันเหลืออยู่เล่มเดียวบนชั้นหรือเพราะเหตุผลอย่างอื่น แต่สุดท้ายแล้วผมก็อ่านจบจนได้ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็พอจะซึมซับอรรถรสที่แตกต่างจากการอ่านนวนิยายที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยพอสมควร

ผมคิดว่าเรื่องสั้นของมูราคามิอ่านสนุกมาก แม้จะมีหลายๆ เรื่องที่อาจเชื่อมโยงกับนวนิยายของเขาได้ทั้งในเชิงแนวคิดและตัวละคร แต่ในบริบทของเรื่องสั้นมันกลับสร้างบรรยากาศที่ต่างออกไป--แปลกประหลาด เพ้อฝัน พิกล ตลก เสียดสี เย้ยหยัน ฯลฯ แล้วแต่จะให้คำจำกัดความ ซึ่งแม้เราจะพบลักษณะแบบเดียวกันนี้ได้ในนวนิยายของเขา แต่ผมก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกันซะทีเดียว

เสียดายที่ตอนนี้ผมไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ ถ้ามี ผมจะเปิดหาบางตอนมาให้อ่านเป็นตัวอย่าง

หรือบางทีเงื่อนไขของเรื่องสั้นอาจเปิดโอกาสให้มูราคามิสามารถทำแบบนี้ได้ เรื่องสั้นอาจไม่จำเป็นต้องบอกเล่าที่มาอะไรมากนัก อาจมองผ่านความเป็นเหตุเป็นผลบางอย่างได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรืออาจใช้สถานการณ์หนึ่งเป็นตัวแทนของอีกสถานการณ์หนึ่ง และสามารถสื่อความหมายของสถานการณ์นั้นได้ชัดเจนกว่าการพูดถึงสถานการณ์นั้นเอง--เขียนให้งงเหมือนกับตัวเองมีความรู้ไปอย่างนั้นแหละครับ

ผมเคยอ่านเรื่องสั้นเพื่อชีวิตมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับเรื่องสั้นทั้งหมดที่นักเขียนเขียนออกมา สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ เรื่องสั้นเพื่อชีวิตอาจจะหมดพลังในการสื่อสารกับสังคมโดยรวมไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร (ผมพยายามคิดว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง หรือการ "เปลี่ยนไป" ของคนรุ่นใหม่แล้ว มันยังมีสาเหตุมาจากอะไรได้อีกบ้าง หรือมันอาจจะไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงข้างต้นเลยก็ได้) และถึงแม้ผมจะชอบเรื่องสั้นเหล่านั้นมากแค่ไหน ผมก็ยังไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วมหรือเห็นถึงความจริงแท้ของการกดขี่ขูดรีดอยู่ดี นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมจึงคิดว่าการใช้สถานการณ์หนึ่งเป็นตัวแทนของอีกสถานการณ์หนึ่ง บางทีมันอาจจะสามารถสื่อความหมายของสถานการณ์ที่เราต้องการพูดถึงได้ดีกว่า

เปรียบเทียบจากเรื่องสั้นของมูราคามินั่นแหละครับ ผมอ่านไปก็คิดไปว่ามูราคามิต้องการจะบอกอะไรนอกเหนือจากการโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินของปิศาจตัวเขียว, ลมกรรโชกแรงในบ่ายวันอาทิตย์กับการขอจับหน้าท้องของแฟน, การปล้นร้านแมคโดนัลด์, การตามหาแมวที่หายไป, ความหลงใหลในการตัดหญ้า ฯลฯ

หรือมันอาจจะไม่มีความหมายอื่นเลย... ก็เป็นไปได้

และหากคิดไกลไปกว่านั้น หากวันหนึ่งวันใดมีใครต้องการพูดถึงการกดขี่ขูดรีด ความอยุติธรรมทางสังคม การล่มสลายของระบบศีลธรรม หรือปัญหาใหญ่โตที่กำลังคุกคามโลกและมนุษย์อยู่ในทุกวันนี้ เราจะสามารถใช้การบรรยายถึงการมีชีวิตอยู่ของเจ้าสัตว์มหัศจรรย์อย่างแมลงสาปในท่อระบายน้ำของกรุงเทพฯเป็นตัวแทนของปัญหาในระดับโลกและระดับจิตวิญญาณได้หรือเปล่า

ผมคิดไปเล่นๆ ครับ แต่ถ้าทำแบบนั้นได้ก็คงน่าตื่นเต้นไม่เบาทีเดียว

เรื่องสั้นและนวนิยายของมูราคามิอาจอยู่นอกเหนือจากขนบของ "เพื่อชีวิต" ไปไกลโข (เอาไว้มีโอกาสเราค่อยกลับมาคุยเรื่อง "เพื่อชีวิต" กันอีกทีนะครับ) และอาจไม่มีคุณค่าความหมายใดๆ ในทางปรัชญาให้ต้องขบคิดตีความ แต่อย่างน้อย สำหรับผม ผลงานของมูราคามิก็ทำให้ผมมีเรื่องต้องขบคิดมากขึ้น

อย่างน้อยการเขียนบทความถึงนวนิยายเรื่อง Sputnik Sweetheart ก็เล่นเอาผมปวดหัวไปหลายรอบ และจนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถเขียนออกมาได้ตามที่ตั้งใจ

คุณคิดว่าการหายตัวไปของสุมิเระเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในนวนิยายเรื่องนี้หรือไม่ เพราะอะไร?

จงอธิบายคำว่า "โลกคู่ขนาน" ในบริบทของนวนิยายเรื่องนี้ และเหตุใดผู้แปลจึงเลือกใช้คำนี้เป็นส่วนประกอบในการตั้งชื่อภาษาไทย (รักเร้นในโลกคู่ขนาน) ?

การที่มิวเห็นร่างของตัวเองในอีกสถานที่หนึ่ง จงอธิบายว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร?

นึกย้อนกลับไปในสมัยเรียน คำถามข้างต้นคงสร้างความตื่นเต้นปนหวาดวิตกให้กับนักเรียนอยู่พอสมควร ยิ่งถ้าลองถามคำถามนี้กับนักเรียนเศรษฐศาสตร์ "จงใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคอธิบายการประสบความสำเร็จทางธุรกิจของมิว?" น่าสนุกดีเหมือนกันนะครับ

ผมคิดว่าจะสามารถหาคำตอบเหล่านั้นได้ หรืออย่างน้อยก็เอาสีข้างถูๆ ไถๆ ไปได้ในระหว่างนั่งเขียนบทความ แต่จนแล้วจนรอดผมก็นึกไม่ออก และไม่รู้จะเขียนให้ดีกว่าที่เขียนไปแล้วได้อย่างไร สุดท้าย บทความที่เสร็จเรียบร้อยก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ ได้แต่ใช้รูปแบบช่วยให้ดูฉลาดปราดเปรื่องไปแค่นั้น

ครับ คิดในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ก็เล่นเอาปวดหัวไปวันสองวันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าคิดในเรื่องชีวิตจิตใจของมนุษย์จริงๆ มันจะน่าปวดหัวและกลัดกลุ้มแค่ไหน

เขียนมาถึงตรงนี้ผมก็คิดจนสมองตื้อแล้ว เอาไว้ผมจะรวบรวมสมาธิกลับมาเขียนต่อก็แล้วกันครับ